30 สรรพคุณและประโยชน์ของผักกาดน้ำ ! (หญ้าเอ็นยืด)

ผักกาดน้ำ

ผักกาดน้ำ ชื่อสามัญ Common plantain, Greater plantain, Waybread (ในภาษาอังกฤษคำว่า Plantain จะหมายถึง ต้นกล้วย ซึ่งต้นกล้วยชนิดนี้เมื่อสุกแล้วจะต้องเอาไปเผาถึงจะใช้ปรุงเป็นอาหารได้)[1],[5]

ผักกาดน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago major L. จัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)[1]

สมุนไพรผักกาดน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าเอ็นยืด[1] หญ้าเอ็นหยืด[2] หญ้าเอ็นอืด (เชียงใหม่), หมอน้อย (กรุงเทพฯ), ผักกาดน้ํา ผักกาดน้ำไทย ผักกาดน้ำใหญ่ (ไทย), เชียจ่อยเช่า ตะปุกชี้ ยั้วเช่า ฮำผั่วเช่า เซียแต้เฉ้า (จีน), ต้าเชอเฉียนเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4]

ในพืชวงศ์เดียวกันยังพบอีกพันธุ์คือ ผักกาดน้ำเล็ก ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plantago asiatica L. ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่คล้ายกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ จะแตกต่างกับผักกาดน้ำที่กล่าวถึงในบทความนี้ตรงที่ผักกาดน้ำจะมีขนาดของใบใหญ่กว่า ลำต้นสูงกว่า และมีเมล็ดมากกว่าผักกาดน้ำเล็ก[3]

ลักษณะของผักกาดน้ำ

  • ต้นผักกาดน้ำ หรือ หญ้าเอ็นยืด จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่มีเนื้ออ่อน มีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงประมาณ 30-120 เซนติเมตร โคนต้นติดอยู่กับดิน รากสั้น แตกแขนงเป็นฝอยมาก พืชชนิดนี้เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีส่วนผสมพิเศษ ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นตามทุ่งหญ้า พื้นที่โล่งแจ้งที่มีความชุ่มชื้น[1],[3],[5]

ต้นผักกาดน้ำ

  • ใบผักกาดน้ำ ใบจะแทงขึ้นมาจากใต้ดินคล้ายกับใบผักกาด แต่จะมีก้านใบที่ยาวกว่า ก้านใบยาวเท่ากับแผ่นใบ ใบเป็นใบเรียงสลับ โคนลำต้นมีกาบใบห่อหุ้มอยู่ แผ่นใบผักกาดน้ำมีลักษณะหนาคล้ายกับใบผักคะน้า ใบเป็นรูปไข่กลับและมีขนาดกว้าง โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 12-16 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีเส้นใบตามยาวประมาณ 5-7 เส้น โดยลักษณะของใบจะคล้ายกับช้อนสังกะสีขนาดใหญ่ และใบจะแตกออกรอบ ๆ บริเวณต้น[1],[3] ที่เรียกว่าหญ้าเอ็นยืดก็เพราะเมื่อนำก้านใบมาหักแล้วค่อย ๆ ดึงออกจะเห็นเส้นเอ็นยืดออกมา[10],[11]

ใบผักกาดน้ำ

หญ้าเอ็นยืด

  • ดอกผักกาดน้ำ ออกดอกเป็นช่อ โดยช่อดอกจะชูขึ้นมาจากกลางกอ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และมีดอกย่อยขนาดเล็ก แห้ง เป็นสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาล และไม่มีก้านดอก[1]

ดอกผักกาดน้ำ

  • ผลผักกาดน้ำ ผลพบได้ในดอก เป็นผลแห้ง ลักษณะค่อนข้างกลม มีรูปร่างไม่แน่นอน ผลมีขนาดเล็กสีเขียวอมสีน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ เมื่อสุกแล้วจะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 8-15 เมล็ด หรืออาจมีมากถึง 15 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร[3],[4]

ผลผักกาดน้ำผลหญ้าเอ็นยืด
เมล็ดผักกาดน้ำ

สรรพคุณของผักกาดน้ำ

  1. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ดอกเก๊กฮวย ว่านกาบหอย กล้วยหอมดิบ รากบัวหลวง สนหมอก ฯลฯ (ทั้งต้น)[1]
  2. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กระษัย (ราก)[5]
  3. ใช้แก้ความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้ผักกาดน้ำและพลูคาวอย่างละ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เข้าใจว่าคือส่วนของต้นและใบ)[3]
  4. ช่วยทำให้ตาสว่าง (เมล็ด)[3]
  5. ช่วยรักษาตาแดงเฉียบพลัน ตาเป็นต้อ (ต้น)[3] แก้ขอบตาเป็นเม็ดบวม (ทั้งต้น)[4]
  6. ทั้งต้นนำไปต้มกับน้ำตาลกรวด ใช้กินเป็นยาแก้อาการร้อนใน แก้เจ็บคอ มีฤทธิ์เป็นยาเย็น (ต้น)[1],[3] ส่วนเมล็ดก็เป็นยาแก้ร้อนในเช่นกัน (เมล็ด)[3]
  7. ช่วยแก้ไอหวัด หลอดลมอักเสบ (ต้น)[3] ช่วยขับเสมหะ แก้อาการไอ (เมล็ด)[3] รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก)[7]
  8. ใบใช้ต้มกินเป็นยาแก้เลือดกำเดาไหล (ใบ)[11]
  9. ช่วยขับน้ำชื้น (ต้น)[3]
  10. ช่วยแก้ท้องร่วง (ทั้งต้น)[4] ต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ (ต้น)[3]
  1. แก้บิด ให้นำมาต้มร่วมกับผักพลูคาว (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[11]
  2. ตำรายาไทยใช้ทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ละลายก้อนนิ่วในไต แก้นิ่วในถุงน้ำดี ขับล้างทางเดินปัสสาวะ แก้ช้ำรั่ว หรือทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ทั้งต้นที่ได้มาใส่ในเครื่องปั่นแล้วปั่นให้ละเอียด นำไปผสมกับน้ำซาวข้าวประมาณ 1 ขวดแม่โขง แล้วนำมาดื่มให้หมดภายใน 1 วัน และให้ดื่มติดต่อกัน 2-3 วัน ก้อนนิ่วจะละลายหลุดออกมาตามท่อปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[10] ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้เมล็ด 500 กรัมนำมาต้มกับน้ำ 3 ลิตร โดยต้มจนเหลือน้ำ 1 ลิตรแล้วนำมาแบ่งกิน 3 ครั้ง เป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)[3]
  3. ช่วยแก้ปัสสาวะแดง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น (ทั้งต้น)[4] ส่วนเมล็ดก็เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือดเช่นกัน (เมล็ด)[3]
  4. ช่วยแก้กามโรค หนองใน (ทั้งต้น)[4],[7]
  5. มีบางข้อมูลที่ระบุว่าสามารถนำมาใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ โดยใช้ได้ทั้งต้นและใบ แต่ส่วนของใบจะมีสรรพคุณมากที่สุด วิธีก็คือให้นำไปตากแดดให้แห้งแล้วทำเป็นชาชงดื่ม หรือจะกินเป็นผักสดก็ได้ และยังใช้เป็นยาขับประจำเดือนของตรี โดยช่วงที่สรรพคุณตัวยาดีที่สุด คือ ช่วงการออกดอกใหม่ ๆ (ช่วงฤดูฝน) ข้อมูลนี้ไม่ขอยืนยันนะครับ เพราะแหล่งข้อมูลไม่ได้อ้างอิงไว้ว่าเอาข้อมูลมาจากที่ไหน (ใบ)[12]
  6. ช่วยแก้ไตอักเสบ บวมน้ำ ขาบวมน้ำ (ต้น)[3]
  7. ใบผักกาดน้ำเป็นยาห้ามเลือดภายนอก แต่ห้ามเลือดภายในไม่ได้ โดยมีการศึกษาจนเป็นที่ยอมรับแล้วว่า ผักกาดน้ำมีประสิทธิภาพในการรักษาบาดแผลจากการที่ทำให้เลือดหยุดไหลและช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ อีกทั้งยังช่วยลดอาการอักเสบและช่วยลดอาการบวมได้อีกด้วย (ใบ)[1],[7],[8]
  8. ใช้ตำพอกรักษาแผลที่หายยาก (ทั้งต้น)[4]
  9. ใช้รักษาแผลสด แผลเรื้อรัง ผิวหนังอักเสบ แก้อาการคัน ลดอาการแพ้ ต้านการอักเสบจากการแพ้พืชต่าง ๆ เช่น อาการคันจากการถูกต้นตำแย หรือจะใช้แก้พิษจากการถูกผึ้งต่อยหรือแมลงสัตว์กัดต่อยก็ได้ และยังเชื่อว่าการใช้ผักกาดน้ำรักษาแผลจะช่วยทำให้ไม่เกิดแผลเป็น โดยการนำใบมาตำใช้เป็นยาพอกบริเวณที่มีอาการแล้วให้เปลี่ยนยาบ่อย ๆ (ใบ)[1],[2],[4],[8]
  10. ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังได้หลายชนิด เช่น อาการอักเสบของผิวหนังของทารกที่เรียกว่า “ผ้าอ้อมกัด” ด้วยการใช้ใบผักกาดน้ำแห้ง นำมาแช่ในน้ำมันแล้วนำไปตากแดด เพื่อสกัดสารออกมาจากใบ แล้วนำน้ำมันที่ได้มาใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ)[8]
  11. ใช้แก้โรคเชื้อราที่เท้า ด้วยการใช้ใบสดนำมาบดใส่และห่อผ้าพอกทิ้งไว้ (ใบ)[11]
  12. ช่วยดับพิษฝี (ทั้งต้น)[4]
  13. น้ำคั้นจากใบใช้ทารักษาอาการไหม้จากการถูกแสงแดด ถูกลม (ใบ)[8]
  14. ผักกาดน้ำหรือหญ้าเอ็นยืดเป็นยาสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ช่วยแก้อาการปวดตึงบริเวณคอ หลัง เอว แขน ขา แก้ฟกช้ำบวมจากการหกล้มกระทบกระแทก แก้ข้อเท้าแพลง ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวก็ให้นำหญ้าเอ็นยืดมาทุบให้น้ำออกแล้วนำไปพอกบริเวณที่เป็น เชื่อว่าจะช่วยทำให้เส้นเอ็นคลายตัว ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ โดยลูกประคบหรือยาจู้ของหมอเมืองนอกที่นอกเหนือไปจากการขมิ้นและไพล ยังมีสมุนไพรหลักอีกตัวหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ หญ้าเอ็นยืด (ต้น)[8]
  15. ทั้งต้นใช้เป็นยาพอกรักษาอาการนิ้วซ้น เคล็ดขัดยอก เส้นเอ็นพลิก ช่วยรักษาอาการปวดเมื่อย หรือใช้พอกบริเวณที่เอ็นยึด จะช่วยคล้ายเส้นได้ (ทั้งต้น)[7] ส่วนรากก็นำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ปวดหลัง ปวดเอว แก้อาการช้ำใน (ราก)[5] ส่วนใบก็แก้ปวดหลังปวดเอวได้เช่นกัน (ใบ)[7] และยังมีการใช้เป็นยารักษาอาการปวดเข่า ใช้พอกต่อเส้นเอ็น (ใบ)[7] หรือนำใบ ลำต้น และรากมานึ่งทำเป็นยาประคบเพื่อคลายเส้น (ทั้งต้น)[5]
  16. นอกจากนี้ยังใช้ผักกาดน้ำหรือหญ้าเอ็นยืดเป็นยารักษากระดูกหัก กระดูกแตก โดยใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น เช่น หญ้าถอดปล้อง เถาวัลย์ปูน ตะไคร้ บอระเพ็ด เป็นต้น[8]
  17. หากใครกระดูกหักหรือแตกจากอุบัติเหตุ เส้นเอ็นตึง ก็ให้เอาน้ำมันมะพร้าวเทใส่กระทะพอประมาณ แล้วเอาหญ้าเอ็นยืดประมาณ 4-5 ต้น นำมาโขลกให้พอแหลก เอามาทอดเคี่ยวกับน้ำมัน แล้วเอามาทาบริเวณที่เส้นเอ็นตึงจะช่วยทำให้เอ็นยืดและสมานกระดูกที่แตกและหักได้เป็นอย่างดี (ต้น)[10]

วิธีใช้สมุนไพรผักกาดน้ำ

  • การใช้ต้นตาม [3] ถ้าเป็นต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-18 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน แต่ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ตามความเหมาะสม หรือใช้ตำคั้นเอาแต่น้ำดื่ม หากใช้ภายนอกให้นำมาตำแล้วพอก (ต้น)[3]
  • การใช้เมล็ดตาม [3] ให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา[3]
  • ผู้ที่เป็นโรคกามเคลื่อนห้ามรับประทาน[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักกาดน้ำ

  • ต้นและเมล็ดมีรสหวาน เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ส่วนเมล็ดออกฤทธิ์ต่อไตและกระเพาะปัสสาวะ[3]
  • สารที่พบคือสาร Aucubin, Glycoside, Plantaginin, Plantaglucide, Saponin, Ursolic acid, วิตามินบี 1, วิตามินซี, วิตามินเค ส่วนในเมล็ดพบสาร Holoside Planteose Plantagluqde[3] และยังพบสารไอริดอยด์ส (iridoids) และสารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) อีกหลายชนิด[4]
  • ในใบผักกาดน้ำจะมีสารไกลโคไซด์ สารซาโปนิน และสารที่มีรสขม ในเมล็ดมี 0.183% ของ holoside planteose[1]
  • เมื่อนำสารที่สกัดได้จากผักกาดน้ํามาให้สุนัขทดลองกินในอัตราส่วน 0.5 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าสามารถช่วยขับเสมหะในหลอดลมได้[3]
  • สารสกัดจากผักกาดน้ำสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียในหลอดทดลองได้[3]
  • มีการทดลองใช้ใบเพื่อขับนิ่วในไต ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกิน โดยใช้ใบสด 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำ 1 ลิตร นาน 15 นาที แล้วกรองให้เหลือ 750 มิลลิเมตร ใช้ดื่มวันละ 50 มิลลิลิตร (หรือครั้งละครึ่งถ้วยกาแฟ) ก่อนอาหารเช้าและเย็น โดยใช้เวลาระหว่าง 2-6 เดือน จะสามารถช่วยขับปัสสาวะและแก้นิ่วได้ และยังช่วยแก้อาการท้องร่วงได้อีกด้วย[4]
  • จากการทดลองทางคลินิกกับคนไข้จำนวน 2 คนที่เป็นนิ่วในท่อไตที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยการใช้ต้นผักกาดน้ำสด 130 กรัมนำมาต้มกับน้ำ 1 ลิตร แล้วกรองเอาน้ำยาประมาณ 750 ซีซี แล้วนำมาให้คนไข้ดื่มให้หมดใน 1 วัน ติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน ถ้านิ่วยังไม่หลุด ก็ให้ดื่มซ้ำอีกทุกอาทิตย์ ผลการทดลองพบว่า นิ่วจะหลุดออกมาโดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ[9]
  • เมื่อนำเมล็ดมาให้หนูทดลองที่มีอาการไตอักเสบและมีอาการบวมน้ำกินในขนาด 0.5-1 กรัมต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าอาการอักเสบและอาการบวมน้ำของสัตว์ลดลง[3]

ประโยชน์ของต้นผักกาดน้ำ

  • ใบอ่อนใช้กินเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก โดยคุณค่าทางโภชนาการของใบผักกาดน้ำต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 61 แคลอรี, น้ำ 81.4%, โปรตีน 2.5 กรัม, ไขมัน 0.3 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 14.6 กรัม, วิตามินเอ 4,200 หน่วยสากล, วิตามินบี2 0.28 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 0.8 มิลลิกรัม, วิตามินซี 8 มิลลิกรัม, แคลเซียม, 184 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 52 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม[6] คนในแถบภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางหลายพื้นที่จะกินผักกาดน้ำเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก มีบ้างที่นำไปปรุงสุกก่อนรับประทาน อีกทั้งผักกาดน้ํายังอุดมไปด้วยเบตาแคโรทีน วิตามินบี วิตามินซี และโอสถสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยกำจัดพิษออกจากร่างกาย และเป็นยาระบายอ่อน โดยจะรับประทานช่อดอกอ่อน ๆ ใบอ่อน ๆ (ต้องรีบเก็บตอนเป็นใบอ่อนจริง ๆ เพราะใบจะแก่เร็วมาก)[8]
  • นอกจากจะใช้รับประทานเป็นผักแล้ว ยังใช้ผักกาดน้ำในการรักษาโรคกันอย่างกว้างขวางมานานนับพันปีแล้ว เพราะถือเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงมากชนิดหนึ่ง และได้รับการยอมรับในการใช้เป็นยาสมุนไพรในเภสัชตำรับในต่างประเทศ เพื่อใช้รักษาอาการไอและหลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อ รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบ ใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบ และยังใช้เป็นสมุนไพรเพื่อการเลิกบุหรี่ เป็นต้น[8]
  • ผักกาดน้ำเป็นสมุนไพรที่หมอนวดมักนำมาปลูกไว้หน้าบ้านเพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนาม หากใครเข้ามานวดที่นี่แล้วเอ็นต้องยืดสมดังชื่อ[8]
  • ปัจจุบันมีการนำมาใช้ทำเป็นครีมหรือโลชันบำรุงผิวเพื่อช่วยลบรอยเหี่ยวย่น หรือนำมาทำเป็นยาสมุนไพรสำเร็จออกจำหน่าย[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ผักกาดน้ํา”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 464-465.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ผักกาดน้ำ Common Plantain”.  หน้า 167.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ผักกาดน้ำใหญ่”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 336.
  4. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “เรื่องผักกาดน้ำ”.  (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [23 เม.ย. 2014].
  5. หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1.  (เกรียงไกรและคณะ).
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักกาดน้ํา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [23 เม.ย. 2014].
  7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “หมอน้อย”.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [23 เม.ย. 2014].
  8. ไตรย (THRAI) ฐานข้อมูลตำรายาสมุนไพรไทย, หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “เรื่องน่ารู้ของผักกาดน้ำ : ยาเอ็น ยากระดูก ยานิ่ว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: thrai.sci.ku.ac.th. [23 เม.ย. 2014].
  9. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ผักกาดน้ํา, หมอน้อย, หญ้าเอ็นหยืด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [23 เม.ย. 2014].
  10. จำรัส เซ็ลนิล.  “หญ้าเอ็นยืด “ยาเอ็น-ยากระดูก-ยานิ่ว” ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [23 เม.ย. 2014].
  11. ข่าวสดออนไลน์.  “อจ.เภสัชมช.เผยประโยชน์หญ้าเอ็นยืด ”.  (ภญ.รศ.ดร.พาณี ศิริสะอาด อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th. [23 เม.ย. 2014].
  12. กรีนคลินิก.  “ผักกาดน้ำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.greenclinic.in.th. [23 เม.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Flora of the Great Lakes Region of NSW, Wayne Weber, Flora, Fauna y Paisajes de Andalucía, Antony_j, joysaphine)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด