10 สรรพคุณและประโยชน์ของผักกาดนอ ! (ผักกาดนก)

ผักกาดนอ

ผักกาดนอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Rorippa indica (L.) Hiern (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nasturtium montanum Wall. ex Hook. f. & Thomson, Rorippa montana (Wall. ex Hook. f. & Thomson) Small) จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)[1]

สมุนไพรผักกาดนอ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักกาดนก ผักกาดน้ำ ผักกาดน้ำดอกเหลือง (ไทย), เหล็กเต่าเช่า (จีนแต้จิ๋ว), ซกไก้ช่าย ลู่โต้วเฉ่า ฮั่นช่าย (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของผักกาดนอ

  • ต้นผักกาดนอ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้ 1 ปี สูงได้ประมาณ 25-60 เซนติเมตร ลำต้นอ่อนไหว เกลี้ยงไม่มีขน ตามกิ่งก้านเป็นเหลี่ยมสีเขียวอมม่วงแดง พบขึ้นได้ทั่วไปตามข้างทาง พื้นที่ชายขอบป่า และบริเวณใกล้ริมลำธาร[1],[2]

ต้นผักกาดนอ

  • ใบผักกาดนอ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบที่โคนต้นมีก้านใบมน ไม่มีก้านใบ ลักษณะของใบเป็นรูปกลมรี รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบหยัก ไม่สม่ำเสมอ ส่วนบริเวณยอดต้นขอบใบจะเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-12 เซนติเมตร[1],[2]

ใบผักกาดนอ

  • ดอกผักกาดนอ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง มีกลีบดอก 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน[1]

ดอกผักกาดนอ

  • ผลผักกาดนอ ผลออกเป็นฝักบริเวณยอดต้น ลักษณะของฝักเป็นรูปกลมยาว มีขนาดยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ด[1]

ผลผักกาดนอ

สรรพคุณของผักกาดนอ

  1. ทั้งต้นมีรสขมเผ็ดเล็กน้อย เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[1]
  2. ตำรับยาแก้ร้อนใน ไข้หวัดตัวร้อน จะใช้ผักกาดนอ 35 กรัม และน้ำนมราชสีห์ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)[1]
  3. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไอร้อนในปอด ด้วยการใช้ต้นผักกาดนอสด 70 กรัม และกวยแฉะ 10 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)[1]
  4. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการเจ็บคอ เสียงแหบ หลอดลมอักเสบ (ทั้งต้น)[1]
  1. ใช้เป็นยารักษาปากลิ้นเปื่อย เป็นแผลมีฝ้า (ทั้งต้น)[1]
  2. ใช้เป็นยาขับลมชื้น (ทั้งต้น)[1]
  3. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ด้วยการใช้ต้นสด 70 กรัม นำมาต้มใส่น้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย รับประทานเป็นยา (ทั้งต้น)[1]
  4. ช่วยแก้ตับอักเสบ ดีซ่าน บวมน้ำ (ทั้งต้น)[1]
  5. ใช้เป็นยาแก้ไขข้ออักเสบเฉียบพลัน (ทั้งต้น)[1]
  6. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย แก้ฝีหนอง (ทั้งต้น)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ยาแห้งใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้านำมาใช้ภายนอกให้กะปริมาณตามความเหมาะสม[1]

ข้อควรระวัง : ไม่ควรนำผักกาดนอมาผสมเข้ายากับคนทีสอ เพราะจะทำให้เกิดอาการเป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้มีอาการมือเท้าและแขนขาชาได้ ส่วนคนที่ธาตุไฟอ่อน ตัวเย็น เลือดเย็น ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักกาดนอ

  • ในต้นพบสาร Rorifone ส่วนในเมล็ดพบน้ำมัน เป็นต้น[1]
  • น้ำต้มที่ได้จากผักกาดนอ มีฤทธิ์ละลายเสมหะของกระต่ายที่ทดลองได้ แต่ไม่มีผลแก้ไอและไม่มีผลต่อคน ถ้าหากจะให้ได้ผลดี ต้องให้คนรับประทานวันละ 200-300 มิลลิกรัม ติดต่อกันอย่างน้อย 20 วัน จึงจะเห็นผลในการแก้ไอและขับเสมหะได้ดี[1]
  • สารที่สกัดได้จากผักกาดนอ สามารถยับยั้งเชื้อในหลอดทดลองได้หลายชนิด เช่น เชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นหวัด เชื้อ Columbacillus ของลำไส้ และเชื้อ Staphelo coccus, Steptro coccus กับเชื้อ Coccus ในปอดที่ทำให้ปอดอักเสบได้ด้วย[1]

ประโยชน์ของผักกาดนอ

  • ยอดอ่อนนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริกรับประทานเป็นอาหาร[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ผักกาดนอ”.  หน้า 334.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ผักกาดน้ำดอกเหลือง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [30 ส.ค. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด