ปืนนกไส้
ปืนนกไส้ ชื่อสามัญ Spanish needle[3], Beggar’s tick, Beggar-ticks, Black-jack, Broom stick, Broom stuff, Cobbler’s pegs, Devil’s needles, Hairy beggar-ticks, Hairy bidens, Farmers friend (ข้อมูลจาก : www.hear.org)
ปืนนกไส้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Bidens pilosa L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bidens pilosa var. minor (Blume) Sherff)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
สมุนไพรปืนนกไส้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กี่นกไส้ หญ้าก้นจ้ำขาว (สระบุรี), ด่อกะหล่อง (ปะหล่อง), บานดี่ (ลั้วะ) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของปืนนกไส้
- ต้นปืนนกไส้ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 15-100 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมาก กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม[1],[2]
- ใบปืนนกไส้ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบกลางมีขนาดใหญ่กว่าใบข้าง บางครั้งใบอาจเชื่อมติดกันดูเหมือนเป็นใบเดียวกัน ใบกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-9 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกปืนนกไส้ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกช่อมีประมาณ 1-3 ดอก ดอกเดี่ยวขนาด 1 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองหรือสีครีม กลีบดอกประกอบด้วยกลีบดอกวงนอกสีขาวครีม ดอกเป็นหมัน และดอกวงในเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว มีริ้วประดับลักษณะเป็นรูปช้อน มีเกสรเพศผู้สีน้ำตาลปลายสีเหลืองโผล่พ้นระดับกลีบดอกวงนอก ก้านดอกยาว[1],[2]
- ผลปืนนกไส้ ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน แบน เป็นสัน 3-4 สัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแห้งเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ปลายแยกเป็นแฉกหนามสีเหลือง 2 อัน ขนาดยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร[1],[2]
สรรพคุณของปืนนกไส้
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หวัด (ราก)[1],[2]
- ปืนนกไส้ทั้งต้น (อีกตำราระบุว่าใช้ราก) ใช้ผสมกับรากสาบเสือ รากมะเหลี่ยมหิน ก้นจ้ำทั้งต้น และผักปลาบทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอมีน้ำมูกข้น (ทั้งต้น)[1],[2]
- ใบใช้เป็นยาห้ามเลือด รักษาบาดแผล แผลบวม แผลเน่า (ใบ)[1]
- มีบางข้อมูลระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่กล่าวมาว่าทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง จุกเสียด ส่วนใบสดใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน (ใบ, ทั้งต้น)[4]
ประโยชน์ของปืนนกไส้
- ยอดอ่อนนำมาต้มรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือนำไปแกง[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ปืนนกไส้”. หน้า 135.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ปืนนกไส้”. หน้า 47.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ปืนนกไส้”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [25 พ.ย. 2014].
- สวนสวรส. “ปืนนกไส้” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.suansavarose.com. [25 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Proyecto-Panambi, 澎湖小雲雀, John Poulakis, Harry Rose, Noel Parsons, giveawayboy, Jorge)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)