ปีบฝรั่ง
ปีบฝรั่ง ชื่อสามัญ Star of bethlehem[3], Madam fate[4]
ปีบฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Hippobroma longiflora (L.) G.Don (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Isotoma longiflora (L.) C.Presl, Laurentia longiflora (L.) Peterm., Lobelia longiflora L.) จัดอยู่ในวงศ์พระจันทร์ครึ่งซีก (CAMPANULACEAE)[1],[2],[4]
สมุนไพรปีบฝรั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แสนประสะ (กรุงเทพฯ) เป็นต้น[1]
ลักษณะของปีบฝรั่ง
- ต้นปีบฝรั่ง มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 20-30 เซนติเมตร โคนของลำต้นเป็นแกนแข็ง ตามลำต้นมีขนขึ้นประปราย ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ขึ้นได้ดีในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลาง แสงแดดแบบเต็มวันถึงร่มรำไร เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขึ้นได้ดีในที่รกร้างหรือที่ชุ่มชื้น และมีปลูกบ้างทั่วไป[1],[2],[3],[4]
- ใบปีบฝรั่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปยาวรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมนหรือสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยหรือหยักเว้าไม่สม่ำเสมอ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-16 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม เส้นกลางใบเป็นสีขาว[1],[2],[3]
- ดอกปีบฝรั่ง ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นสีขาว มีกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ ปลายกลีบดอกแหลม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ มีขนาดยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ปลายกลีบแหลม ขอบกลีบหยักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ขนาดของกลีบเลี้ยงยาวได้ประมาณ 0.8-2 เซนติเมตร บริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่ข้างในท่อดอก ยาวเท่าหรือเลยหลอดกลีบ อับเรณูโค้ง ยาวประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร รังไข่เป็นรูประฆัง เป็นริ้ว มีขนปกคลุมหนาแน่น ส่วนเกสรเพศเมียยื่นยาวเท่า ๆ อับเรณู ปลายเกสรมี 2 แฉก ก้านดอกยาวประมาณ 0.3-1.5 เซนติเมตร บริเวณโคนก้านดอกมีใบประดับ 2 ใบ ลักษณะเป็นรูปปลายแหลมเรียว เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร[1],[2],[3],[4]
- ผลปีบฝรั่ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี เป็นผลแห้งแตก เมื่อแก่จะโป่งออกและโค้งลง ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปรีจำนวนมาก[1],[2],[3]
สรรพคุณของปีบฝรั่ง
- ทั้งต้นมีรสเฝื่อนร้อน นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยารักษาโรคลมบ้าหมู (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียดเอามาอุดบริเวณฟันที่ปวด เป็นยาแก้ปวดฟัน (ใบสด)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้โรคหอบหืด รักษาหลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้ลำต้นหรือทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
- ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยารักษากามโรค (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
- ใบมีรสเฝื่อนร้อน ใช้เป็นยาถูทาให้ร้อนแดง (ใบสด)[1],[2]
ข้อควรระวัง : น้ำยางจากต้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเป็นอัมพาตและระคายเคืองต่อปากและคอ[5] ไม่ควรให้ถูกปาก คอ และตา เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง ถ้าถูกตาอาจทำให้ตาบอดได้[1],[2]
ประโยชน์ของปีบฝรั่ง
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปเป็นกลุ่ม ๆ ปลูกตามริมน้ำตก ลำธาร แต่ไม่ควรปลูกใกล้กับสนามเด็กเล่น เพราะน้ำยางจากต้นเมื่อสัมผัสจะทำให้ผิวหน้าคันหรือถ้าเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ปีบฝรั่ง (Pip Farang)”. หน้า 174.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ปีบฝรั่ง”. หน้า 460-461.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ปีบฝรั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [25 พ.ย. 2014].
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ปีบฝรั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [25 พ.ย. 2014].
- ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา. “พืชมีพิษในประเทศไทย (2)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_display.asp. [25 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Toni Corelli, Ahmad Fuad Morad, Benjamin Naden, Ruud de Block)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)