ปอเต่าไห้
ปอเต่าไห้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Enkleia malaccensis Griff. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Enkleia malayana Griff., Enkleia siamensis (Kurz) Nevling, Linostoma scandens var. cambodiana Lecomte, Linostoma siamensis Kurz) จัดอยู่ในวงศ์กฤษณา (THYMELAEACEAE)[1],[3]
สมุนไพรปอเต่าไห้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอตับเต่า (เลย), เต่าไห้ พญาไม้ผุ (ราชบุรี), พันไฉน พันไสน (กรุงเทพมหานคร), ปอตับเต่า (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1]
ลักษณะของปอเต่าไห้
- ต้นปอเต่าไห้ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มรอเลื้อยตั้งตรง หรือเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีความสูงได้ประมาณ 2-5 เมตร เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลเข้ม เหนียว มีมือเกาะออกตรงข้าม ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นประปราย มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นแทบทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ ขึ้นทั่วไปตามชายป่า บริเวณที่ค่อนข้างชื้น ตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง โดยมักพบขึ้นปะปนอยู่กับต้นไม้พวกยางชนิดต่าง ๆ ที่ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงที่ความสูงประมาณ 500 เมตร[1],[2],[3]
- ใบปอเต่าไห้ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม พบบ้างที่ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี พบบ้างที่มีลักษณะกลม ปลายใบแหลมหรือมน มักมีติ่งหนามเล็ก ๆ โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นสีเขียว มีขนสีเทาสั้นนุ่มขึ้นประปรายถึงหนาแน่นตามร่องเส้นกลางใบ ด้านล่างเป็นสีเทา มีขนสั่นนุ่มขึ้นประปรายถึงแน่น โดยเฉพาะตรงเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ 15-25 เส้น เห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้าน ก้านใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ยาวได้ประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร เป็นร่องทางด้านบน[1],[3]
- ดอกปอเต่าไห้ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นแบบช่อซี่ร่ม มีจำนวนดอกประมาณ 3-15 ดอก ดอกเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ใบประดับเป็นเยื่อบางสีครีมแกมสีเขียวอ่อน ลักษณะเป็นรูปรี ปลายและโคนมน มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีขนทั้งสองด้านติดทน ส่วนใบประดับย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปแถบ ติดทน กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีขนทั้งสองด้าน สำหรับกลีบดอกนั้นจะมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปลิ้น มีความยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร อวบน้ำ ที่ปลายเป็นแฉกลึก 2 แฉก ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เรียงเป็น 2 วง ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง ยาวได้ประมาณ 0.5-1.5 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร รังไข่เป็นรูปรี อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนคล้ายเส้นไหมหนาแน่น มี 1 ช่อง มีออวุล 1 เมล็ด ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยาวได้ประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม[1]
- ผลปอเต่าไห้ เป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ผิวเกลี้ยงหรือมีขนละเอียด ผนังชั้นในแข็ง ผลเป็นสีเขียว มีขนาดกว้างประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีก้านผลยาว มักพบร่องรอยของกลีบเลี้ยงที่โคนผล มีใบประดับสีน้ำตาลอ่อน 2 ใบ ขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ ขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร จะออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน[1]
สรรพคุณของปอเต่าไห้
- ตำรายาไทยจะใช้แก่นปอเต่าไห้ เป็นยาแก้หืด, แก้ไอ, ขับเสมหะ, ขับลม, แก้ประดง (อาการของโรคผิวหนัง เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด มีอาการคันมาก และมักมีไข้ร่วมด้วย), แก้ผื่นคันตามผิวหนัง, แก้โรคเรื้อน, คุดทะราด (แก่น)[1]
- ใบนำมาต้มเป็นยารักษาโรคตา (ใบ)[1]
- ผลใช้เป็นยาถ่าย (ผล)[1]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ยาพื้นบ้านจะใช้รากประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย (ราก)[1],[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของปอเต่าไห้
- รากปอเต่าไห้ พบสาร linobiflavonoid, chamaejasmin, 7-O-β-d-glucopyranosyl chamaejasmin, ormocarpin , ( – )-wikstromol, matairesinol, (+)-lariciresinol, carthamidin สารกลุ่มคูมาริน ได้แก่ clausarin, daphnoretin, nordentatin, umbelliferone[1]
- สาร daphnoretin จากรากปอเต่าไห้ มีฤทธิ์กดการแสดงออกของยีนไวรัสตับอักเสบบีในเซลล์ตับของมนุษย์และในหลอดทดลองได้[1]
ประโยชน์ของปอเต่าไห้
- เส้นใยที่ได้จากเปลือกสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกได้ มีความเหนียวทนทาน รวมถึงใช้ทำเครื่องจักสานและเครื่องใช้สอยต่าง ๆ[1],[3]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ปอเต่าไห้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [23 ก.ย. 2015].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ปอเต่าไห้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [23 ก.ย. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ปอเต่าไห้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [23 ก.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Tony Rodd), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.magnoliathailand.com (by สมศักดิ์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)