ปอกระสา
ปอกระสา ชื่อสามัญ Paper mulberry[1]
ปอกระสา ชื่อวิทยาศาสตร์ Broussonetia papyrifera (L.) L’Hér. ex Vent. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1]
สมุนไพรปอกระสา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฉำฉา ชำสา (นครสวรรค์), ปอกะสา (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หมอมี หมูพี (ภาคกลาง), ปอฝ้าย (ภาคใต้), ส่าแหล่เจ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เซงซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ชะดะโค ชะตาโค (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), สายแล (เงี้ยว-ภาคเหนือ), ป๋อสา (คนเมือง), ไม้ฉายเล (ไทใหญ่), ไม้สา (ไทลื้อ), ลำสา (ลั้วะ), หนั้ง (เมี่ยน), เตาเจ (ม้ง), ตุ๊ดซาแล (ขมุ), ตู๋ซิก จูซิก (จีนแต้จิ๋ว), โกวสู้ ชู่สือ (จีนกลาง), ปอสา เป็นต้น[1],[4],[5],[6],[8]
ลักษณะของปอกระสา
- ต้นปอกระสา จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 6-10 เมตร แตกกิ่งก้านโปร่งกว้าง กิ่งเปราะหักง่าย เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนเรียบบางเป็นเส้นใย ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีขาว เมื่อกรีดลำต้นจะมีน้ำยางสีขาวคล้ายนมไหลออกมา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น ทางตอนเหนือของประเทศพม่าและไทย ชอบขึ้นในบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ตามริมน้ำและที่ชื้น ในป่าที่ค่อนข้างโปร่ง ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ความสูงประมาณ 50-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2],[4],[5],[7],[9]
- ใบปอกระสา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้างหรือรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเล็กน้อยหรือเว้าลึกคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันตลอดทั้งขอบใบ มีแตกเป็น 3-5 แฉกบ้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร แผ่นใบบางนิ่ม หลังใบเรียบเป็นสีเขียวแก่สากระคายมือ ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อนออกเทามีขนหนานุ่มขึ้นปกคลุม ก้านใบยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร และมีขน (ปอกระสาจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ติด ชนิดใบหยัก (3-4 แฉก) และชนิดใบมน แต่โดยปกติแล้วทั้ง 2 ชนิดจะแยกต้นกันอยู่ แต่มีบ้างที่พบว่าใบมีทั้ง 2 ลักษณะในต้นเดียวกัน แต่จากการสังเกตจะพบว่าใบปอกระสาที่มีอายุมากขึ้นจะมีใบมนมากกว่าใบหยัก)[1],[2],[4],[9]
- ดอกปอกระสา ดอกเป็นแบบแยกเพศกันอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อห้อยลงมา ยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมากเรียงตัวอัดกันหนาแน่น โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือออกตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีขาว กลีบรองดอกเป็นกาบ มี 4 กลีบ ส่วนช่อดอกเพศเมียจะออกเป็นช่อกลม มีดอกย่อยจำนวนมาก โดยจะออกตามซอกใบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเขียวอัดกันแน่นเป็นรูปทรงกลม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ก้านเกสรเป็นเส้นฝอยยาวสีม่วง และมีหลอดรังไข่อยู่กลางดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[4],[5]
- ผลปอกระสา ผลเป็นผลรวม ออกตามบริเวณซอกใบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมสีส้มอมแดง ฉ่ำน้ำ มีเนื้อผลมาก เนื้อนิ่ม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่บนก้านยาว เมล็ดมีลักษณะแบน ออกผลในช่วงประมาณเดือนเมษายน[1],[2],[4]
สรรพคุณของปอกระสา
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทาน (ผล)[4],[5],[9]
- ผลมีรสหวานชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม และไต มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงสายตา ช่วยทำให้ตาสว่าง (ผล)[4]
- เปลือกลำต้นนำมาเผาไฟให้เป็นเถ้าแล้วบดให้ละเอียดใช้แต้มตา แก้ตาเป็นต้อ หรือจะใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้เช่นกัน (เปลือก, ผล)[4],[5]
- ใช้รักษาอาการหูอื้อ ตามัว หรือตาไม่สว่าง ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดรับประทาน (ใบ)[4],[5]
- น้ำคั้นจากเปลือกกิ่งก้านอ่อนใช้รับประทานเป็นยาแก้โรคตาแดง (กิ่งก้านอ่อน)[5]
- เปลือกกิ่งก้านอ่อน นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำรับประทานแก้ก้างปลาหรือกระดูกติดคอ (กิ่งก้านอ่อน)[5]
- ใบใช้เป็นยาแก้ร้อนในตับ ในกระเพาะ (ใบ)[4]
- รากและเปลือกมีรสหวานฝาด เป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ หรือจะใช้รากและเปลือกรากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ แก้ไข้ก็ได้เช่น (รากและเปลือก)[4],[5]
- เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน (เปลือก)[9]
- ใช้เป็นยาขับลมชื้นในร่างกาย (รากและเปลือก)[4]
- ช่วยแก้เลือดกำเดาไหลไม่หยุด แก้อาเจียนออกมาเป็นเลือด กระอักเลือด ตกเลือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มแล้วคั้นเอาน้ำรับประทาน (ใบ)[4],[5]
- ใช้เป็นยาแก้บิด บิดเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด สตรีตกเลือด สามารถห้ามเลือดได้ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน (รากและเปลือก)[4],[5]
- ผล รากและเปลือก มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากและเปลือกรากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน (ผล, รากและเปลือก)[2],[3],[4],[5]
- ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นมีหนอง ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดรับประทาน (ใบ)[4],[5]
- ราก ต้น และใบ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ราก, ต้น, ใบ)[1],[2],[3]
- ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มแล้วคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน ส่วนอีกวิธีใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาลดอาการบวมน้ำ (ใบ, รากและเปลือก, ผล)[4],[5]
- ผลใช้เป็นยาบำรุงตับและไต ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้ (ผล)[4],[5] ส่วนรากและเปลือกก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงไตเช่นกัน (รากและเปลือก)[2]
- ใบนำมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็นบาดแผลมีเลือด จะเป็นยารักษาแผลสด ช่วยห้ามเลือด หรือจะใช้เปลือกกิ่งก้านอ่อนที่นำมาตำให้ละเอียด เอากากมาพอกบาดแผลที่มีเลือดออก (กิ่งก้านอ่อน, ใบ)[4],[5] ส่วนรากและเปลือกใช้ภายนอกก็มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผลสดเช่นกัน ด้วยการใช้รากแห้งนำมาหั่นและบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ใส่บริเวณที่เป็นแผลสด แผลฟกช้ำ (รากและเปลือก)[4],[5]
- ยางนำมาใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน หรือจะใช้ยางสด 10 ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์หรือวาสลิน 90 ส่วน ผสมให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น (ยาง)[4],[5] ส่วนใบใช้เป็นยา
- แก้กลากเกลื้อนหรือประสาทผิวหนังอักเสบ แก้ผื่นคัน ด้วยการนำใบมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[4],[5]
- ใช้เปลือกกิ่งก้านอ่อนที่นำมาตำให้ละเอียด เอากากมาพอกบริเวณที่เป็นผื่นคัน (กิ่งก้านอ่อน)[5]
- ผลนำมาตำแล้วใช้พอกบริเวณที่มีฝีหนอง (ผล)[4],[5]
- ใช้รากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ปวดฝี (รากและเปลือก)[4],[5]
- ใบใช้ตำพอกรักษาแผลจากตะขาบ งู แมงป่อง และแมลงที่มีพิษกัดต่อย ด้วยการนำใบมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5]
- ยางก็ใช้เป็นยาทาแก้พิษงู แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ยาง)[4],[5]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงเส้นเอ็นและกระดูก (ผล)[4]
- นอกจากนี้หากมีอาการปวดเวียนศีรษะบ่อย ๆ กระหายน้ำ ปากขม ท้องผูก มีอาการการหลั่งน้ำอสุจิยามนอนหลับ หรือมีอาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ก็ให้ใช้ถั่วดำประมาณ 1 ถ้วยชา นำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้แช่ผลปอกระสาที่แห้งแล้ว จากนั้นนำมาตากให้น้ำถั่วแห้งสนิท ใส่เมล็ดเก๋ากี้ แล้วคั่วรวมกันให้เกรียม บดให้เป็นผงละเอียด ใช้รับประทานวันละ 15 กรัม (ผล)[5]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [4] ราก เปลือก และใบ ให้นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ครั้งละ 10-18 กรัม ส่วนรากสดและใบ ใช้ต้มน้ำประมาณ 30-70 กรัม ส่วนผลให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม (ยาจีนส่วนมากจะใช้ผลเป็นยามากกว่า)[4]
ข้อควรระวัง : ไม่ควรรับประทานผลปอกระสาในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้กระดูกอ่อน อีกทั้งยังทำให้ท้องร่วงได้อีกด้วย[4],[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของปอกระสา
- ในผลปอกระสามีวิตามินบีและมีน้ำมัน ประมาณ 31.7% และในน้ำมันยังพบสาร Saponin อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบสาร Oleic acid, Linoleic acid, Fructose ส่วนใบและเปลือกปอกระสา พบสาร Flavonoid Glycoside, Phenols, Carboxylicaid และมีสาร Tannin[4]
- จากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง จำนวน 233 คน โดยการใช้เปลือกสด หลังจากที่ขูดเอาผิวนอกออกแล้วประมาณ 30 กรัม นำมาต้มรวมกับพลูคาวสด 15 กรัม และต้นเสี้ยวหนี่อั้ง (Oldenlandia lancea (Thunb.) O.Ktze) สด 15 กรัม แล้วกรองเอาแต่น้ำกินวันละ 3 ครั้ง พบว่าหายขาดคิดเป็น 17.6% และมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คิดเป็น 27.4%[5]
- จากการรักษาผู้ที่เป็นโรคกลากเกลื้อน จำนวน 9 ราย โดยใช้น้ำยางสดมาทาบริเวณที่เป็น วันละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน พบว่ามีผู้หายทันทีจำนวน 4 ราย ส่วนที่เหลือจะหายขาดในเวลาต่อมา[5]
- จากการทดสอบกับผู้ที่ถูกผึ้งต่อยจนอักเสบ จำนวน 22 ราย โดยใช้ใบปอกระสาแห้ง นำมาบดให้ละเอียด จากนั้นก็ใช้น้ำตาลทรายและน้ำข้าว นำมาทาบริเวณแผล ผลการทดสอบพบว่าได้ผล แก้อาการบวมอักเสบได้ทุกราย[5]
ประโยชน์ของปอกระสา
- เปลือกใช้ทำกระดาษสา ทอผ้า เส้นใย ใช้ในงานศิลปะต่าง ๆ เส้นใยจากเปลือกใช้ทำผ้าตาปาซึ่งใช้ในฟิจิ ตองกา ซามัว และตาฮิติ (กระดาษสาที่ได้จะมีคุณสมบัติทนทานไม่กรอบและไม่เปื่อยยุ่ยง่าย สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน โดยกระดาษสาสามารถนำมาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์และของใช้ได้มากมาย เช่น กระดาษห่อของขวัญ กระดาษห่อของกันแตก ร่ม ว่าว พัด ดอกไม้ โคมไฟ ตุ๊กตา ของชำร่วย บัตรอวยพรต่าง ๆ เป็นต้น)[7],[9] ทางภาคเหนือจะใช้เส้นใยจากเปลือกลำต้นปอกระสา นำมาทำเป็นกระดาษหรือกระดาษทำร่ม โดยมีกรรมวิธีในการทำคือ ให้นำเปลือกสดมาทุบให้อ่อน แล้วนำไปแช่ในน้ำปูนขาว จากนั้นก็นำมาต้มน้ำให้เดือดจนได้เส้นใยออกมา แล้วนำมาล้างด่างออกให้หมด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง ก็จะได้กระดาษชนิดหยาบ ถ้าเอามาเผาบนพื้นแก้วหรือนำมารีดให้เรียบก็จะได้เป็นกระดาษ ใช้ทาน้ำมันทำเป็นกระดาษทำร่มกันฝน กันแดดได้ นอกจากนี้เปลือกต้นยังสามารถนำมาทำเป็นเชือกหรือใช้ทอผ้าได้อีกด้วย[5]
- แกนของลำต้นที่เหลือจากการลอกเปลือกออกไปแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ทำเยื่อกระดาษได้ โดยใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ซึ่งจะมีปริมาณเยื่อกระดาษอยู่ในระดับสูงประมาณร้อยละ 50 และ 70 ในการผลิตเยื่อโซดาและเยื่อนิวทรัลซัลไฟต์เซมิเคมิคัล ตามลำดับ[9]
- เปลือกต้นใช้ทำเชือกหรือนำมาลอกออกแล้วนำไปขายได้ประมาณกิโลกรัมละ 10-20 บาท[6]
- ใบหรือยอดอ่อนนำมาหั่นหยาบ ๆ ใช้เป็นอาหารหมู หรือต้มให้หมูกิน หรือนำมาหั่นแล้วต้มผสมรำเป็นอาหารหมู หรือใช้ใบเป็นอาหารเลี้ยงวัว เลี้ยงปลา[6],[9]
- ผลสุกหรือเมล็ดใช้เป็นอาหารของนกและกระรอก[7],[9]
- น้ำมันจากเมล็ดใช้สำหรับทำเครื่องเขิน สบู่[7]
- ใช้เป็นแหล่งสีธรรมชาติ โดยการนำใบมาสกัดจะได้สีเหลือง[9]
- เนื้อไม้ใช้ทำตะเกียบและไม้จิ้มฟัน[8]
- ต้นปอกระสาจัดเป็นไม้เนื้ออ่อนเจริญเติบโตได้รวดเร็ว จึงเหมาะปลูกเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว ปลูกเป็นสวนป่า นอกจากจะเป็นไม้โตเร็วแล้วยังมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ขยายพันธุ์ได้ง่าย และช่วยลดมลภาวะได้อีกด้วย[7],[9]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ปอกระสา (Po Kra Sa)”. หน้า 187.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ปอกระสา”. หน้า 133.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ปอกระสา”. หน้า 52.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ปอกระสา”. หน้า 320.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ปอกะสา”. หน้า 454-457.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ปอกระสา”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [26 พ.ย. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ปอกระสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [27 พ.ย. 2014].
- พืชให้เส้นใย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ปอสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/fiber1.htm. [27 พ.ย. 2014].
- วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ฉบับที่ 154 กันยายน 2543. (จิระศักดิ์ ชัยสนิท). “ปอสา”.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Arnold Arboretum, 石川 Shihchuan, Shih-Shiuan Kao, Jean René Garcia), en.wikipedia.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)