ปลายสาน
ปลายสาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Eurya acuminata DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eurya acuminata var. acuminata) จัดอยู่ในวงศ์ PENTAPHYLACACEAE (เดิมอยู่ในวงศ์ THEACEAE)[1],[2]
สมุนไพรปลายสาน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แฮพันจั้น แพปั้นจั่น[2] ตับไส้ (เชียงใหม่), ไม้ไหล (เพชรบูรณ์), ขี้หนอนใบเล็ก สร้อยนกเขา (ตราด), ลูกถ่อง (ตรัง), ขี้ไต้ (ปัตตานี), ขี้หนอน รังไก่ (ภาคกลาง), ปลายกะสาน (ภาคใต้) เป็นต้น[1]
ลักษณะของปลายสาน
- ต้นปลายสาน จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงได้ประมาณ 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นรูปพีระมิด แตกกิ่งก้านต่ำ ตามกิ่งก้านมีขน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผิวต้นเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดรูปสี่เหลี่ยม พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ ชอบความชื้นและแสงแดดแบบเต็มวัน จัดเป็นไม้ป่าที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือและภาคตะวันตก มีเขตแพร่กระจายพันธุ์ในอินเดีย ยูนนาน และในภูมิภาคอินโดจีน (บริเวณที่พบได้ในพื้นที่อุทยานฯ คือ บริเวณป่าดิบแล้งใกล้ลำน้ำ ก่อนเดินตัดขึ้นสันดอยเขากำแพง)[1],[2]
- ใบปลายสาน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ขอบใบบริเวณส่วนบนใกล้ปลายใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น ส่วนใบแก่มีขนยาวปกคลุมที่เส้นใบ[1],[2]
- ดอกปลายสาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกบริเวณซอกใบและกิ่งก้าน มีช่อละประมาณ 2-6 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็กและเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้นกัน ดอกมีขนาดประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาว สีขาวนวล สีเหลือง หรือสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน กลีบดอกไม่บานดูคล้ายเป็นรูปถ้วย ดอกเพศผู้จะมีเกสรเพศผู้ 20 อัน สีแดงอมน้ำตาล ส่วนดอกเพศเมียจะมีเกสรเพศเมีย 3 อัน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2]
- ผลปลายสาน เป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 0.3-0.6 เซนติเมตร เนื้อผลบางเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง ส่วนผลแก่เป็นสีดำ ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก ออกผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม[1],[2]
สรรพคุณของปลายสาน
- ใบใช้เป็นยารักษาโรคท้องร่วง (ใบ)[2]
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ต้นปลายสาน นำมาปักไว้ในทุ่งนาเพื่อไล่แมลงศัตรูพืช (ต้น)[1]
ประโยชน์ของปลายสาย
- นกชอบกินผล[3]
- ใบใช้ทำปุ๋ยและเป็นอาหารสัตว์[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ปลายสาน”. หน้า 109.
- พรรณไม้และสัตว์ป่า ณ เขากำแพง อุทยานฯ เฉลิมรัตนโกสินทร์. “แพปั้นจั่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.e-travelmart.com. [28 พ.ย. 2014].
- การศึกษาพันธุ์ไม้ ณ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. “ปลายสาน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pg.pharm.su.ac.th. [28 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Johannes Lundberg, Cerlin Ng, Yeoh Yi Shuen, Plant.Hunter)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)