ประยงค์
ประยงค์ ชื่อสามัญ Chinese rice flower[5]
ประยงค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaia odorata Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)[1]
สมุนไพรประยงค์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขะยง ขะยม พะยงค์ ยม (ภาคเหนือ), ประยงค์บ้าน ประยงค์ใบใหญ่ (ภาคกลาง), หอมไกล (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[6]
ลักษณะของประยงค์
- ต้นประยงค์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มทึบค่อนข้างกลม มีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตรและสูงไม่เกิน 5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง และวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ ทนความแห้งแล้งได้ดีมาก แต่ควรปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดตลอดทั้งวัน เพราะจะช่วยทำให้มีทรงพุ่มสวยงาม[1],[5],[6]
- ใบประยงค์ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับ ใบย่อยมี 5 ใบ (บางใบอาจมีใบย่อยเพียง 3 ใบ) ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบแผ่ออกเป็นปีก[1],[2],[6]
- ดอกประยงค์ ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ในแต่ละช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กมากกว่า 10 ดอก ดอกย่อยเป็นสีเหลืองและมีกลิ่นหอมแรง ลอยไปได้ไกล (แม้ดอกแห้งก็ยังมีกลิ่นหอมอยู่) มีกลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกซ้อนกันไม่บานออก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมเล็กคล้ายไข่ปลาสีเหลือง สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตลอดทั้งวัน[1],[2],[5],[6]
- ผลประยงค์ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี มีขนาดประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มเกือบดำ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล 1-2 เมล็ด[1],[2],[6]
สรรพคุณของประยงค์
- ในประเทศฟิลิปปินส์จะใช้รากและใบนำมาต้มเป็นยาบำรุงร่างกาย (รากและใบ)[4]
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้ผอมแห้งแรงน้อย (ราก)[5]
- ดอกมีรสเฝื่อนขมเล็กน้อย ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้หูตาสว่าง จิตใจปลอดโปร่ง แก้อาการเมาค้าง (ดอก)[1],[4]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[5]
- ดอกช่วยดับร้อน แก้อาการกระหายน้ำ (ดอก)[1],[4] ยาชงจากดอกใช้ดื่มแบบน้ำชาจะเป็นยาเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พุพอง (ดอก)[4]
- ช่วยแก้อาการไอ (ดอก)[1] แก้ไอหืด (ดอก)[9]
- รากช่วยแก้เลือด แก้กำเดา (ราก)[5]
- รากมีรสเฝื่อนเย็น ใช้รับประทานเป็นยาทำให้อาเจียน (ราก)[1],[2],[3],[4]
- ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (ราก)[5]
- ใช้เป็นยากวาดเด็ก แก้เสมหะด่าง (ดอก)[9]
- ช่วยลดอาการอึดอัดแน่นหน้าอก (ดอก)[1]
- ช่วยฟอกปอด (ดอก)[4]
- รากและใบใช้แก้โรคที่เกี่ยวกับทรวงอก อาการชัก และแก้ไข้ (รากและใบ)[4]
- ช่วยแก้ลมจุกเสียด (ดอก)[9]
- ช่วยแก้ริดสีดวงในท้อง (ดอก)[9]
- ช่วยรักษากามโรค (ใบ)[5]
- ใบใช้เป็นยาสำหรับสตรีที่มีประจำเดือนมากผิดปกติ (ใบ)[5]
- ช่วยเร่งการคลอด (ดอก)[4]
- ก้านและใบมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยาพอกแก้แผลบวมฟกช้ำจากการหกล้มหรือถูกกระทบกระแทก และช่วยรักษาแผลฝีหนองทั้งหลาย (ใบ, ก้าน)[1],[4]
- รากใช้เป็นยาถอนพิษเบื่อ ยาเมา (ราก)[1],[2],[3],[4]
- ช่วยแก้อัมพาต (ดอก)[9]
หมายเหตุ : การใช้ตาม [4] ดอก ก้าน และใบ ให้ใช้แบบแห้ง 3-10 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม หากนำมาใช้ภายนอกให้นำมาเคี่ยวให้ข้น แล้วนำมาใช้ทาแผลบวมฟกช้ำ ส่วนวิธีการเก็บช่อดอกและใบให้เก็บในช่วงฤดูร้อนตอนออกดอก แล้วนำมาตากให้แห้ง แยกเก็บไว้ใช้[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของประยงค์
- ใบพบว่ามีสาร Aglaiol, Aglaiondiol, (24 S) – Aglaitriol (24 R) – Aglaitriol, อัลคาลอยด์ Odoratine และ Odoratinol[4]
- ในประยงค์มีสารออกฤทธิ์อยู่หลายชนิด เช่น สารในกลุ่ม Cyclopentabenzofuran (เป็นอนุพันธ์ของสาร Rocaglamide, Odorine, Aglain, Lignanes และ Triterpenes) ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงวันผลไม้ได้[7]
- สารสกัดด้วยน้ำจากกิ่งอ่อนของต้นประยงค์มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของผักโขมและหญ้าข้าวนกได้[8]
- มีข้อมูลระบุว่าประยงค์มีฤทธิ์ยับยั้งการกินอาหารของแมลง มีฤทธิ์ฆ่าแมลง ฆ่าตัวอ่อนของแมลง เป็นพิษต่อปลา ช่วยยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ช่วยเสริมฤทธิ์การยับยั้งเนื้องอก เป็นพิษต่อเซลล์ (ไม่มีข้อมูลยืนยัน)
ประโยชน์ของประยงค์
- ดอกประยงค์แห้งสามารถนำมาใช้อบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม และใช้แต่งกลิ่นใบชาเช่นเดียวกับดอกมะลิ ซึ่งชาวจีนจะนิยมกันมาก[4],[6]
- นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้าน สวนหย่อม สวนในป่าอนุรักษ์ หรือใช้ปลูกประดับรั้ว เนื่องจากดอกมีกลิ่นหอมแรง กลิ่นลอยไปไกล ออกดอกให้ชมได้บ่อย เป็นพันธุ์ไม้ที่มีใบและทรงพุ่มสวยงาม (แต่ต้องคอยตัดแต่งกิ่งก้านสาขาบ้าง) มีความแข็งแรงทนทาน ปลูกได้ง่าย และมีอายุยืนยาว[4],[5],[6]
- นอกจากนี้ต้นประยงค์ยังถือเป็นต้นไม้มงคล ด้วยเชื่อว่าหากปลูกไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้แก่ชีวิต ช่วยปกป้องคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ช่วยเสริมดวงทางคงกระพันชาตรี เพิ่มเดชให้ตัวเอง และเพื่อความเป็นสิริมงคลให้ปลูกต้นประยงค์ในวันเสาร์เพื่อเอาคุณ และควรปลูกในทางทิศตะวันตกของบริเวณบ้าน
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรประยงค์
- สตรีมีครรภ์ห้ามดื่ม เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ประยงค์ (Prayong)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 169.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “ประยงค์”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 132.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ประยงค์”. หน้า 39.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ประยงค์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [19 เม.ย. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ประยงค์”. (นพพล เกตุประสาท, ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [19 เม.ย. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 273 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “ประยงค์ช่อน้อยลอยกลิ่นไกล”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [19 เม.ย. 2014].
- การประชุมวิชาการนเรศวรวิจัยครั้งที่ 3 วันที่ 28-29 ก.พ. 2550. “ผลของสารสกัดจากใบประยงค์ต่อจำนวนเม็ดเลือด ของแมลงวันผลไม้ระยะตัวหนอน”. (กิตติ ตันเมืองปัก, พาคิน ฝั่งไชยสงค์, อาทิตย์ พิมมี).
- การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 41. “การเปรียบเทียบผลของสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นประยงค์ด้วยน้ำที่มีต่อการงอกและการเจริญเติบโตของวัชพืชสองชนิด”. (ยิ่งยง เมฆลอย, วิรัตน์ ภูวิวัฒน์, จำรูญ เล้าสินวัฒนา, พัชนี เจริญยิ่ง). หน้า 311-317.
- สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์,โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ประยงค์”. อ้างอิงใน: หนังสือต้นไม้ยาน่ารู้ (ธงชัย เปาอินทร์, นิวัตร เปาอินทร์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: uttaradit.uru.ac.th/~botany/. [19 เม.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Forest and Kim Starr, Nelindah, guzhengman, SierraSunrise, 潘立傑 LiChieh Pan, Karl Gercens)