ประดู่ป่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นประดู่ป่า 20 ข้อ !

ประดู่ป่า

ประดู่ป่า ชื่อสามัญ Burmese Padauk[2], Burmese ebony[4], Burma Padauk, Narva[5]

ประดู่ป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus macrocarpus Kurz[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pterocarpus parvifolius Pierre[1]) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1]

สมุนไพรประดู่ป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ประดู่เสน (ราชบุรี, สระบุรี), ดู่ ดู่ป่า (ภาคเหนือ), ประดู่ ประดู่ป่า (ภาคกลาง), จิต๊อก (ฉาน-แม่ฮ่องสอน), ตะเลอ เตอะเลอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ฉะนอง (เขมร) เป็นต้น[1]

ข้อควรรู้ : ปัจจุบันต้นประดู่ป่า เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดชลบุรี

ลักษณะของต้นประดู่ป่า

  • ต้นประดู่ป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือเป็นรูปร่ม ไม่แผ่กว้าง ลำต้นตั้งตรงมีความสูงได้ประมาณ 15-30 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.3-2.1 เมตร ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลดำแตกเป็นระแหงทั่วไป ส่วนเปลือกในชั้นในมีน้ำเลี้ยงสีแดงดูแตกเป็นช่องไม่เหมือนกับต้นประดู่บ้าน กิ่งและก้านอ่อนมีขนนุ่มขึ้นทั่วไป ส่วนกิ่งแก่ผิวจะเกลี้ยง มีรากตอนโคนต้นเป็นสันนูนขึ้นมาเหนือพื้นดิน เข้าใจว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย แต่ได้นำเข้ามาปลูกในประเทศแถบทะเลอันดามัน เบงกอลตะวันตก เพื่อประโยชน์ในการเป็นไม้ร่มตามข้างถนนและในสวน ประดู่ชนิดนี้ยังจัดเป็นไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอีกด้วย คนไทยจะรู้จักกันดีมาแต่โบราณ โดยมักจะขึ้นอยู่ในป่าเขตเบญจพรรณและป่าเต็งรังทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันตกของประเทศไทย (ยกเว้นภาคใต้) และยังพบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ฯลฯ[1],[2],[5] ส่วนใหญ่จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติเขตร้อน สามารถขึ้นได้ตามไหล่เขา ที่ราบ ยอดเขาเตี้ย ๆ ใกล้บริเวณแหล่งน้ำที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-600 เมตร ชอบดินร่วนปนทราย ดินตะกอน หรือดินที่เกิดจากภูเขาไฟ มีความลึก และระบายน้ำได้ดี[3]

ต้นประดู่ป่า

รูปต้นประดู่

  • ใบประดู่ป่า ใบมีขนาดใหญ่กว่าใบประดู่บ้านเล็กน้อย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ แต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 5-11 ใบย่อย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปค่อนข้างมน หรือรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบมนหรือค่อนข้างแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร แผ่นใบเหนียวคล้ายหนัง ใบอ่อนมีขนเล็กน้อย ส่วนใบแก่จะเกลี้ยง ผิวใบจะมีขนสั้น ๆ ปกคลุมท้องใบมากกว่าหลังใบ ก้านใบอ่อนมีขนอ่อนปกคลุมเล็กน้อย ใบจะร่วงในช่วงฤดูร้อน และจะเริ่มผลิใบใหม่ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[3]

ใบประดู่ป่า

  • ดอกประดู่ป่า ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีลักษณะห้อยลง ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร และมีขนาดใหญ่กว่าประดู่บ้าน แต่จะไม่มีค่อยมีดอก ออกดอกไม่ดก หรือออกประปราย ดอกเป็นสีเหลือง รูปร่างของดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีน้ำตาลอมเขียวหรือเป็นสีเขียว มี 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็น 2 แฉก แบ่งเป็นอันบน 2 กลีบติดกัน และอันล่าง 3 กลีบติดกัน กลีบยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองแกมแสด ขนาดเล็ก ลักษณะของกลีบเป็นรูปผีเสื้อ กลีบยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูติดกัน เป็น 2-3 กลุ่ม ก้านยาวประมาณ 7-13 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่ superior ovary สีเขียว มีขนเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุม ก้านเกสรเพศเมียมีลักษณะโค้งเล็กน้อย ยอดเกสรเป็นตุ่ม ดอกประดู่จะมีกลิ่นหอมแรง ส่งกลิ่นไปได้ไกล ดอกจะบานและร่วงพร้อมกันทั้งต้น และโดยปกติแล้วจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3]

รูปดอกประดู่ป่า

ดอกประดู่ป่า

  • ผลประดู่ป่า ออกผลเป็นฝักกลมแบน ผลมีขนาดใหญ่กว่าผลประดู่บ้านและมีขนปกคลุมอยู่ ผลมีปีกคล้ายจานบิน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมเทา ตรงกลางมีเปลือกคลุม แข็งและหนา มีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลแดง มีขนาดยาวประมาณ 0.4-0.5 นิ้ว ผลจะแก่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[1],[3]

ผลประดู่ป่า

สรรพคุณของประดู่ป่า

  1. สารสกัดจากใบสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ตามตำรับยาระบุให้ใช้ใบประดู่ป่า 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ใบ)[1]
  2. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือกต้น)[1],[2]
  3. แก่นมีรสขมฝาดร้อน มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)[2],[4]
  4. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยแก้โลหิตจาง (แก่น)[1],[2],[4]
  5. ตำรายาไทยจะใช้แก่นเป็นยาแก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมซูบผอม โลหิตจาง ปวดเมื่อย) (แก่น)[4]
  1. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (แก่น)[1],[2]
  2. แก่นใช้เป็นยาแก้เสมหะ แก้โลหิตและกำเดา (แก่น)[1],[2]
  3. ผลมีรสฝาดสมาน มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน (ผล)[1],[2]
  4. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง (ผล)[1],[2]
  5. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกต้น)[1],[2]
  6. ช่วยขับปัสสาวะ (แก่น)[2]
  7. เปลือกต้นมีรสฝาดจัด มีสรรพคุณเป็นยาสมานบาดแผล (เปลือกต้น)[1],[2]
  8. ใบใช้เป็นยาพอกฝีให้สุกเร็ว ใช้พอกบาดแผล (ใบ)[1],[2]
  9. ใบใช้เป็นยาพอกแก้ผดผื่นคันได้ (ใบ)[1],[2] ส่วนแก่นก็มีสรรพคุณช่วยแก้ผื่นคันได้เช่นกัน (แก่น)[2]
  10. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้คุดทะราด (แก่น)[1],[2]
  11. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษเมาเบื่อ (แก่น)[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของประดู่ป่า

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ สารอีปิแคทเทซิน ในเนื้อไม้ประกอบไปด้วยสารที่มีชื่อว่า Narrin ซึ่งเป็น Amorphous และสีแดงเข้ม สารนี้เมื่อนำมาหลอมกับด่างจะให้ phloroglucinol และ resocicinol และยังมีสารสี santalin และ angolensin อีกด้วย ส่วนเปลือกต้นมี gum kino เหมือนกับประดู่บ้าน และมี tannic acid เป็นส่วนผสมอยู่ด้วย[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.1986 ที่ประเทศอินเดีย ได้มีการทดลองนำสารอิปิแคทเทซินที่สกัดได้จากประดู่บ้านมาใช้ โดยพบว่าสารดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่ทำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร Alloxan (สาร Alloxan จะเข้าไปทลายเซลล์ต่อมตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน ทำให้หนูเป็นเบาหวาน)[1]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า เมื่อสารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นประดู่บ้านด้วย 50% เอทานอล นำมาฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตาย 50% มีขนาดมากกว่า 1 กรัมต่อกิโลกรัม[1]

ประโยชน์ของประดู่ป่า

  1. ใบมีรสฝาด นำมาชงกับน้ำใช้สระผมได้[1],[2]
  2. ไม้ประดู่ เป็นไม้ที่มีคุณภาพดี มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้ละเอียดปานกลาง ปลวกไม่ทำลาย มีเนื้อไม้ที่มีสีสวยและลวดลายสวยงาม สีแดงอมเหลืองถึงสีแดงอิฐเข้ม มีเส้นสีแก่กว่าสีพื้น เสี้ยนสนเป็นริ้วไสกบตกแต่งชักเงาได้ดี สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเสา คาน ฝาบ้าน พื้นบ้าน ไม้ปาร์เกต์ ไม้ประสาน ไม้อัด แผ่นไม้ชุบซีเมนต์ ฯลฯ ใช้ทำเกวียน ทำเรือคานและเรือทั่ว ๆ ไป รวมไปถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรือ เพราะประดู่เป็นไม้ที่มีคุณสมบัติทนน้ำเค็มได้ดี นอกจากนี้ยังนิยมนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนต่าง ๆ เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ด้ามมีด จานรองแก้ว ทัพพี ฯลฯ หรือนำมาทำเป็นเครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ระนาด เป็นต้น ส่วนต้นประดู่บางต้นจะเกิดปุ่มตามลำต้น หรือที่เรียกว่า “ปุ่มประดู่” ทำให้ได้ไม้ที่มีเนื้อไม้งดงาม มีราคาแพงมากและหาได้ยาก โดยมากนิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ[2],[3] ไม้ประดู่มีความแข็งมากกว่าไม้สัก 2 เท่า และหนักกว่าประมาณ 24% มีค่าความแข็ง 925 กิโลกรัม มีความทนทานตามธรรมชาติเฉลี่ยสูงถึง 14 ปี (เมื่อทดลองนำมาฝังดิน)[3]
  3. ใช้เป็นฟืนและถ่าน โดยไม้ประดู่จะให้ความสูงถึง 5,022 และ 7,539 แคลอรีต่อกรัม ตามลำดับ[3]
  4. เปลือกไม้ประดู่สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีน้ำตาล และยังให้น้ำฝาดสำหรับใช้ฟอกหนัง ส่วนแก่นก็สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าได้เช่นกัน โดยใช้ให้สีแดงคล้ำ[3] แต่ในปัจจุบันแก่นประดู่ค่อนข้างจะหาได้ยาก จึงนิยมใช้เปลือกต้นแทนในด้านการนำมาใช้ย้อมสีเส้นไหม โดยลอกเอาส่วนของเปลือกต้นมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากให้แห้ง เปลือกของต้นประดู่แห้ง 3 กิโลกรัม สามารถย้อมสีเส้นไหม 1 กิโลกรัม ต้มสกัดสีกับน้ำในอัตราส่วน 1:10 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำนำไปใช้ย้อมเส้นไหมด้วยกรรมวิธีการย้อมร้อนนาน 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็นำเส้นไหมมาแช่ในสารละลายช่วยติดสีจุนสี ก็จะได้เส้นไหมสีน้ำตาลเข้ม[5]
  5. ประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้นประดู่ป่าเป็นไม้เรือนยอดกลมโต มีความแข็งแรง สามารถช่วยป้องกันลมและคลุมดินให้ร่มเย็นชุ่มชื้นได้ อีกทั้งยังช่วยรองรับน้ำฝนลดแรงปะทะหน้าดินให้น้อยลง ประกอบกับมีระบบรากที่หยั่งลึกแผ่กว้าง จึงช่วยยึดหน้าดินไม่ให้พังทลายได้ง่าย นอกจากนี้ปมรากที่มีขนาดใหญ่ของต้นประดู่ยังช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศมาเก็บไว้ในรูปของไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์อีกด้วย ใบที่หนาแน่นของต้นเมื่อร่วงหล่นจะเกิดการผุพังและเพิ่มธาตุอาหารอินทรียวัตถุให้แก่ดินเป็นอย่างมาก[3]

ไม้ประดู่ป่า

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ประดู่”.  หน้า 100-101.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 291 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “ประดู่ : ตำนานความหอมและบิดาแห่งราชนาวี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [05 ก.ย. 2014].
  3. ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ประดู่ป่า”.
  4. ข้อมูลพรรณไม้ในพระตำหนักเทา สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี.  “ประดู่ป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rbru.ac.th/db_arts/rbruflower/.  [04 ก.ย. 2014].
  5. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม.  “ประดู่ป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : qsds.go.th/webtreecolor/.  [04 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Tony Rodd, autan)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด