ประจำเดือนไม่มา
ประจําเดือนไม่มา, ประจําเดือนขาด หรือ ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยของผู้หญิงทั่วไป ซึ่งโดยปกติผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนมาครั้งแรกในระหว่างอายุ 11-14 ปี* ถ้าเลยอายุ 15 ปีไปแล้วและประจำเดือนยังไม่มาก็ถือว่าผิดปกติ ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า “ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา” (Primary amenorrhea) ส่วนในผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาแล้ว แล้วอยู่ ๆ ประจำเดือนก็ไม่มาหรือขาดหายไปติดต่อกัน 3 เดือน ด้วยสาเหตุต่าง ๆ จะเรียกว่า “ภาวะประจำเดือนขาด” (Secondary amenorrhea) ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยกว่าภาวะประจำเดือนไม่เคยมา (ถ้ายังไม่ถึง 3 รอบเดือนจะเรียกว่า “ประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด“)
การที่ผู้หญิงมีเลือดประจำเดือนออกมาทุกเดือนเป็นปกตินั้น จะต้องมีระบบการสร้างฮอร์โมนและมีระบบโครงสร้าง (กายวิภาค) ของระบบสืบพันธุ์เป็นปกติ โดยฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน คือ Gonadrotropin releasing hormone (GnRH) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากสมองส่วนลึกในสมองใหญ่ (Hypothalamus) ซึ่งจะไปกระตุ้นเนื้อเยื่อส่วนหน้าของต่อมใต้สมอง (Anterior pituitary gland) ให้สร้างฮอร์โมนเอฟเอสเอช (Folli cular stimulating hormone – FSH) และฮอร์โมนแอลเอช (Luteinizing hormone – LH) ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้จะไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่จะไปทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรอรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับตัวอสุจิเพื่อที่จะตั้งครรภ์ต่อไป แต่หากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ดังกล่าวจะลดลง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกและมีการฉีกขาดของหลอดเลือดในโพรงมดลูกออกมาเป็นเลือดประจำเดือนต่อไป นอกจากนั้นระบบโครงสร้าง (กายวิภาค) ของระบบสืบพันธุ์จะต้องมีมดลูก ปากมดลูก และช่องคลอดที่ปกติด้วย เพื่อจะให้เลือดประจำเดือนไหลออกมาได้
หมายเหตุ : ประจำเดือน (Menstruation) หมายถึง การมีเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุก ๆ เดือน เป็นเวลาครั้งละ 2-7 วัน ซึ่งเป็นอาการแสดงของการเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น (อายุ 11-14 ปี) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ ภายในร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจริญพันธุ์ โดยอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนครั้งแรกของเด็กผู้หญิงไทยจะอยู่ที่ประมาณ 12 ปี 7 เดือน เด็กผู้หญิงทางภาคเหนือจะมีอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนเร็วกว่าภาคอื่น ๆ ส่วนเด็กทางภาคใต้จะมีอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนช้ากว่าภาคอื่น ๆ ในช่วง 1-2 ปีแรกที่เริ่มมีประจำเดือน ประจำเดือนจะมาแบบไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากการทำงานของรังไข่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ
สาเหตุที่ประจำเดือนไม่มา
ภาวะขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ หรือ ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา (Primary amenorrhea) เป็นอุบัติการณ์ที่พบได้ค่อนข้างน้อย คือการที่สตรีไม่เคยมีประจำเดือนมาก่อน โดยใช้เกณฑ์อายุ 15 ปีที่ยังไม่เคยมีประจำเดือน (เกณฑ์เดิมใช้อายุ 16 ปี) หรือใช้เกณฑ์อายุ 13 ปีที่ยังไม่มีลักษณะทางเพศของสตรี เช่น มีการขยายของเต้านม สะโพกผาย มีขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศขึ้นตามปกติ (เกณฑ์เดิมใช้อายุ 14 ปี) ส่วนสาเหตุการขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมินี้อาจมีสาเหตุเกี่ยวกับความผิดปกติของรังไข่หรือฮอร์โมนภายในร่างกาย หรืออาจเกิดจากความผิดปกติทางโครงสร้าง (กายวิภาค) ของมดลูกหรือช่องคลอดมาแต่กำเนิด เช่น เยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด ไม่มีมดลูก รังไข่ หรือช่องคลอดมาตั้งแต่กำเนิด เป็นต้น หรือมีความผิดปกติของโครโมโซมทำให้มีผลต่อการทำงานของรังไข่ แต่ส่วนมากจะมีสาเหตุมาจากการเจริญเติบโตเป็นสาวที่ช้าโดยธรรมชาติ โดยไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น และมักจะมีประจำเดือนมาก่อนอายุครบ 15 ปี แต่ถ้าเลยจากนี้ไปแล้ว ก็น่าจะเกิดจากสาเหตุที่ผิดปกติดังที่กล่าวมา
- สาเหตุการขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ คือ
- เยื่อพรหมจารีไม่เปิด (Imperforate hymen) เยื่อพรหมจารีคือเยื่อบาง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ปากช่องคลอดและมีขนาดความหนาประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ในกรณีนี้จัดเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่เยื่อพรหมจารีไม่ขาดเป็นรูหรือเป็นช่องเปิดสู่ภายนอกเพื่อเตรียมให้เลือดประจำเดือนไหลออกมาเมื่อถึงเวลาที่ประจำเดือนมา โดยผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นจนกว่าจะเข้าสู่วัยที่ควรมีประจำเดือน
- กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome) หรือ ภาวะต่อมเพศหรือรังไข่ไม่เจริญ (Gonadal dysgenesis) เป็นกลุ่มอาการที่อาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายแบบ ซึ่งแบบที่พบบ่อยที่สุดคือการมีโครโมโซมเดี่ยว X ซึ่งเพศหญิงปกติจะมีโครโมโซม X สองแท่ง แต่ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโครโมโซม X หนึ่งแท่งที่หายไปหรือมีความผิดปกติ จึงทำให้ต่อมเพศ (รังไข่) ไม่เจริญ ไม่มีประจำเดือน เป็นหมันหรือมีลูกยาก ฯลฯ
- ภาวะไม่มีการสร้างของระบบท่อมุลเลอเรียน ( Müllerian agenesis) โรคนี้เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของภาวะไม่มีประจำเดือนแบบปฐมภูมิรองจากภาวะต่อมเพศหรือรังไข่ไม่เจริญ โดยเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อในตัวอ่อนชนิดที่เรียกว่า Mullerian duct ซึ่งในภาวะปกติเนื้อเยื่อนี้จะเจริญไปเป็นมดลูก แต่ไม่มีการพัฒนาหรือเจริญไปเป็นมดลูกตามปกติ ทั้งนี้อาจไม่มีการพัฒนาทั้งหมดหรือมีการพัฒนาแต่เพียงบางส่วน แต่รังไข่ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังคงเป็นปกติ เพราะมีการพัฒนามาจากเนื้อเยื่อคนละส่วนกัน ผู้ป่วยจึงมีลักษณะทางเพศของสตรีเป็นปกติ แต่จะไม่มีมดลูกและช่องคลอด
- กลุ่มอาการต่อต้านแอนโดรเจน (Androgen insensitivity syndrome – AIS) เป็นกลุ่มของความผิดปกติทางการเจริญทางเพศอย่างหนึ่งที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่สร้างแอนโดรเจน รีเซพเตอร์ (Androgen recepter) ซึ่งผลของความผิดปกติเหล่านี้มีหลายอย่างขึ้นกับโครงสร้างและความไว (Sensitivity) ของรีเซพเตอร์ที่ผิดปกติ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีโครโมโซมเป็น XY คือ เป็นชาย จึงไม่มีการสร้างมดลูก และมีต่อมเพศซึ่งเป็นของเพศชายที่คอยสร้างฮอร์โมน แต่เนื้อเยื่อทั่วไปของผู้ป่วยจะไม่มีการตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชาย จึงทำให้ลักษณะภายนอกของผู้ป่วยยังคงเป็นหญิงตามปกติ
- เนื้องอกของสมอง (เนื้องอกและมะเร็งสมอง) โตกดเบียดทับสมองหรือต่อมใต้สมองที่สร้างฮอร์โมนเพื่อการมีประจำเดือน หรือมีเนื้องอกของต่อมใต้สมอง จึงทำให้ระบบการทำงานของฮอร์โมนเสีย ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน
ภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ หรือ ภาวะประจำเดือนขาด (Secondary amenorrhea) เป็นอุบัติการณ์ที่พบได้เป็นส่วนมาก เป็นการที่สตรีเคยมีประจำเดือนมาก่อนแล้วต่อมาประจำเดือนเกิดขาดหายไปไม่มาติดต่อกัน 3 รอบเดือน ซึ่งในภาวะนี้ยังแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ การขาดประจำเดือนตามธรรมชาติ (Physiologic secondary amenorrhea) เช่น การตั้งครรภ์ ระยะหลังคลอดในช่วงที่ให้นมลูก ช่วงวัยทอง เป็นต้น และการขาดประจำเดือนเนื่องจากมีพยาธิสภาพหรือโรคภายในร่างกาย (Pathologic secondary amenorrhea)
- สาเหตุการขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิที่พบได้บ่อย ๆ คือ
- การตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการขาดประจำเดือน เมื่อประจำเดือนที่เคยมาปกติทุกเดือนกลับไม่มา ควรสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ (ควรหาทางพิสูจน์ก่อนเสมอ ก่อนที่จะคิดถึงสาเหตุอื่น ๆ)
- ความเครียดทางด้านจิตใจ (Stress) อาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนอาจขาดหายไปได้คราวละหลาย ๆ เดือน เนื่องจากความเครียดนั้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน (GnRH)
- โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) โรคอารมณ์แปรปรวน (Mood disorders) ทำให้ประจำเดือนไม่มา ไม่มีความรู้สึกทางเพศ
- การใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาดได้เป็นธรรมดา
- ระยะหลังคลอดบุตรหรือการให้นมบุตร จะเป็นหลังแท้งบุตรหรือหลังคลอดบุตรก็ตาม ถ้ายังมีน้ำนมอยู่ก็เป็นเรื่องปกติที่ประจำเดือนจะยังไม่มาจนกระทั่งหย่านม
- วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน (Menopausal syndrome)
- สาเหตุการขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิที่พบได้เป็นส่วนน้อย คือ
- กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง (PCOS) พบเป็นสาเหตุทำให้สตรีในวัยรุ่นมีประจำเดือนผิดปกติบ่อยที่สุด เพราะการที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบจะทำให้กลไกการทำงานของระบบเจริญพันธุ์ผิดปกติไป ทำให้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ที่พบได้บ่อยคือ หลาย ๆ เดือนประจำเดือนจะมาสักครั้ง แต่ละครั้งที่มีประจำเดือนเลือดจะออกมากและนาน แต่สตรีบางรายที่มีอาการมากก็อาจทำให้ประจำเดือนขาดหายไปเป็นปี ๆ เลยก็ได้ หรือบางรายก็อาจมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยนานเป็น 10-20 วัน
- มีน้ำนมไหลโดยไม่ได้ตั้งครรภ์ (Galactorrhea) เป็นภาวะที่มีน้ำนมไหลโดยไม่ได้อยู่ในระยะให้นมบุตร เกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง เช่น อาจมีเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ทำให้ขัดขวางฮอร์โมนที่ห้ามการสร้างน้ำนม จึงมีผลทำให้มีการสร้างน้ำนม ซึ่งจะไปกระทบต่อระบบประจำเดือนอีกทอดหนึ่ง หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ทำให้น้ำนมไหลได้ เช่น ยาทางจิตเวชบางชนิด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เป็นต้น
- ภาวะการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (โรคของต่อมไทรอยด์) ทั้งต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) และต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (Hypothyroidism) จะมีผลไปกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน (GnRH) จึงทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
- เนื้องอกของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไตหรือรังไข่
- ภาวะโลหิตจาง ในรายที่โลหิตจางมาก ๆ อาจทำให้มีอาการหน้ามืด วิงเวียน หรือมีประจำเดือนออกน้อยกว่าปกติได้
- ภาวะไตวายเรื้อรัง หากเกิดขึ้นในสตรีก็อาจทำให้มีประจำเดือนผิดปกติได้
- ตับแข็ง โรคนี้ในผู้หญิงอาจทำให้มีอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีเสียงแหบห้าวคล้ายผู้ชายได้
- โรคชีแฮน (Sheehan’s syndrome) ทำให้ในช่วงหลังคลอดไม่มีประจำเดือนมาเลยในระยะเวลาที่ประจำเดือนควรจะมาแล้ว ซึ่งเกิดจากต่อมใต้สมองไม่สามารถผลิตฮอร์โมนที่จะไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้
- โรคคุชชิง (Cushing’s syndrome) ทำให้ประจำเดือนผิดปกติจากการเพิ่มการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมีน้อยหรือไม่มีเลย
- การตีบตันของช่องคลอด ปากมดลูก หรือโพรงมดลูก เนื่องจากพังผืดหลั่งการอักเสบในโพรงมดลูกหรือหลังการขูดมดลูก
- การมีรูปร่างผอมหรืออ้วนเกินไป (Obesity) โดยเฉพาะในสตรีที่อ้วนเกินไป ประจำเดือนมักมาไม่ปกติ สามารถทำให้ขาดประจำเดือนไปได้คราวละหลาย ๆ เดือน เพราะในคนอ้วนผิวหนังสามารถเปลี่ยนเซลล์ไขมันไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะไปมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- โรคกลัวอ้วน (Anorexia nervosa) คือ ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเบื่ออาหารและน้ำ ไม่ยอมรับประทานอาหารจากการกลัวน้ำหนักที่จะเพิ่มมากเกินไป ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างมาก จึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน (GnRH)
- นักกีฬามาราธอนหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการหลั่งของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน (GnRH)
- การฉายรังสี โดยเฉพาะการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะไปทำลายรังไข่ ทำให้รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ ประจำเดือนจึงไม่มา
- การให้ยาเคมีบำบัด ในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด ซึ่งจะมีผลไปทำลายรังไข่ ทำให้รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ ประจำเดือนจึงไม่มา
- การใช้ยาบางชนิด อาจทำให้ประจำเดือนไม่มาได้ เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้า, ยารักษาโรคไทรอยด์, antidepressants, antipsychotics, corticosteroids เป็นต้น
- การผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
- ร่างกายอ่อนแอจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง
- ภาวะขาดอาหาร จะเนื่องมาจากภายใน เช่น การดูดซึมอาหารของลำไส้ไม่ดีเอง หรือจากภาวะภายนอก เช่น ในระหว่างสงครามที่อาหารขาดแคลน หรือแม้แต่ในศูนย์อพยพต่าง ๆ จะพบว่ามักมีการขาดหายประจำเดือนร่วมด้วยเป็นประจำ
อาการประจำเดือนไม่มา
- ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา (ภาวะขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ) ผู้ปกครองควรสังเกตการมาของประจำเดือนของบุตรสาวด้วย ถ้าประจำเดือนครั้งแรกยังไม่มาทั้ง ๆ ที่เลยอายุที่ควรจะมีประจำเดือนแล้ว (อายุเลย 14 ปี) โดยทั่วไปมักจะไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่เกี่ยวกับรังไข่หรือฮอร์โมน ซึ่งอาจทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตทางเพศ เช่น หน้าอกแฟบเหมือนผู้ชาย ไม่มีขนรักแร้ หรือขนที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
- ในรายที่เกิดจากเยื่อพรหมจารีไม่เปิด (Imperforate hymen) ผู้ป่วยมักจะมีเลือดประจำเดือนออกมาทุกเดือน แต่จะคั่งอยู่ในช่องคลอดเพราะเยื่อพรหมจารีปิดกั้นไว้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดท้องเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 3-5 วัน และอาการปวดจะมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีประจำเดือนออกมาให้เห็น อาจมีอาการคัดตึงเต้านมร่วมด้วยในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการมีอาการปวดท้องน้อย และอาจตรวจพบเยื่อพรหมจารีโป่งพองขึ้นเนื่องจากมีก้อนเลือดที่คั่งอยู่ในช่องคลอดคอยดันเยื่อนี้ให้โป่งออก
- ภาวะประจำเดือนขาด (ภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ) ผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาเป็นประจำทุกเดือน อยู่ ๆ ก็ไม่มีประจำเดือนมา ส่วนมากจะไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ นอกจาก
- ในรายที่เกิดการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจทำให้มีอาการแพ้ท้อง
- ในรายที่เกิดจากโรคกังวลหรือซึมเศร้า ก็มักจะมีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ เบื่อหน่าย ท้อแท้สิ้นหวัง
- ในรายที่เกิดจากเนื้องอกของรังไข่ เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง ตามืดมัวลงเรื่อย ๆ มีหนวดและขนขึ้นผิดธรรมชาติ น้ำนมออกผิดธรรมชาติ เป็นต้น
- ในรายที่เป็นโรคชีแฮน (Sheehan’s syndrome) อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เฉื่อยเนือย เต้านมแฟบ ขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศร่วง
- นอกจากนี้ อาจมีอาการแสดงต่าง ๆ ตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง (PCOS), ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism), ภาวะไตวายเรื้อรัง, โรคคุชชิง (Cushing’s syndrome), ซีด เป็นต้น
ผลข้างเคียงจากการขาดประจำเดือน
ผลข้างเคียงที่เกิดจากภาวะขาดประจำเดือนที่ไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ขาดประจำเดือน หากเกิดจากรังไข่ไม่ทำงานก็จะมีอาการคล้ายกับคนวัยหมดประจำเดือน เช่น มีอาการร้อนวูบวาบตามตัว แต่หากเกิดจากเยื่อบุมดลูกบางจนไม่มีเลือดออก เช่น จากการขูดมดลูก การฉีดยาคุมกำเนิด ก็อาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยในวัยรุ่นที่เกิดภาวะขาดประจำเดือนคือ ไม่มีการตกไข่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเปลี่ยนแปลงแบ่งตัวมากผิดปกติ เป็นสาเหตุทำให้มีเลือดออกจากโพรงมดลูกแบบกะปริดกะปรอยได้
การวินิจฉัยหาสาเหตุของการขาดประจำเดือน
แพทย์สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุได้จากอายุ ประวัติการมีประจำเดือน ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาโดยเฉพาะยาคุมกำเนิดและยาฮอร์โมนต่าง ๆ ประวัติอาการร่วมต่าง ๆ (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน) ร่วมกับการตรวจร่างกายและการตรวจภายใน นอกจากนั้นอาจมีการตรวจอื่น ๆ ทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ซึ่งมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ความผิดปกติที่ตรวจพบ และดุลยพินิจของแพทย์ (ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเหมือนกันทุกราย) เช่น
- การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ โดยเป็นการตรวจที่ง่ายและสะดวก สามารถตรวจได้ด้วยตนเองจากการหาซื้อเครื่องตรวจตามร้านขายยา ซึ่งจะมีความไวของตัวทดสอบสูงมากถึง 99% อาจตรวจได้ผลบวกหรือผลลบของการตั้งครรภ์ก็ได้ตั้งแต่ประจำเดือนเลยกำหนดไปได้เพียง 1 วัน เป็นการตรวจที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกหากสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่เคยมีประจำเดือนมาปกติแต่แล้วเกิดขาดหายไป
- การตรวจระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (Serum beta hCG) ในเลือด เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่หากตรวจปัสสาวะแล้วยังไม่แน่ใจ หรือเนื่องจากมีบางกรณีที่การตั้งครรภ์ยังอ่อนมาก จึงตรวจไม่พบฮอร์โมนในปัสสาวะ ก็อาจมีความจำเป็นต้องตรวจเลือด แต่ต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีการตรวจปัสสาวะ
- การตรวจอัลตราซาวนด์ โดยเฉพาะการตรวจผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานได้ชัดเจนขึ้นว่ามีก้อนเนื้องอกต่าง ๆ หรือเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ รอบรังไข่ (PCOS) หรือรังไข่มีความผิดปกติหรือไม่
- การตรวจไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid function test) เป็นการตรวจเพื่อดูภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามีมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งแพทย์มักตรวจเมื่อมีผลการตรวจเบื้องต้นต่าง ๆ ออกมาแล้วไม่พบความผิดปกติ
- การตรวจฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin hormone) เป็นการตรวจเพื่อดูระดับฮอร์โมนว่าสูงมากน้อยเพียงใด หากพบว่าอยู่ในระดับสูง อาจบ่งบอกว่ามีเนื้องอกในสมอง ซึ่งแพทย์มักจะตรวจเมื่อผลการตรวจเบื้องต้นอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วไม่พบความผิดปกติ
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอที่สมอง ( Magnetic Resonance Imaging Brian) เป็นการตรวจเฉพาะในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีเนื้องอกในสมอง
- การตรวจฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH เพื่อดูว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วหรือยัง
- การตรวจหาโครโมโซม (Chromosome study) เป็นการตรวจที่มักทำให้รายที่มีการขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิเพื่อดูว่า มีโครโมโซมผิดปกติเป็นชนิดใด 45XO, 46XX, หรือ 46XY ซึ่งจะใช้เป็นตัวแยกโรคต่าง ๆ ออกจากกันได้
วิธีรักษาประจำเดือนไม่มา
- ในรายที่ประจำเดือนไม่เคยมา ถ้ามีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด ซึ่งแพทย์อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่น ๆ แล้วให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
- ในรายที่เกิดจากเยื่อพรหมจารีไม่เปิด อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเปิดให้มีทางระบายของเลือดประจำเดือน
- ในรายที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตตามปกติเช่นเด็กสาวทั่วไป เช่น มีเต้านมโต มีขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศตามปกติ และไม่มีอาการปวดท้องหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจให้รอดูจนอายุ 15 ปี แต่ถ้าเลยจากนี้ไปแล้วและประจำเดือนยังไม่มา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูกหรือช่องคลอด
- ในรายที่ประจำเดือนขาด (เคยมีประจำเดือนมาแล้ว) ต้องตรวจปัสสาวะว่า มีการตั้งครรภ์หรือไม่ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งในปัจจุบันแถบตรวจการตั้งครรภ์สามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวก หากไม่มีการตั้งครรภ์ และ/หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือสงสัยว่ามีสาเหตุร้ายแรง ควรไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เสมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยการตรวจภายในช่องคลอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ หรืออาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย แล้วให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
- ถ้าเกิดจากการตั้งครรภ์ หรือโรคกังวลใจ ก็ให้การรักษาไปตามสาเหตุนั้น ๆ
- หากไม่มีการตั้งครรภ์ แพทย์อาจให้ยาโปรเจสโตเจน (Progestogen) เพื่อทดสอบดูว่ารังไข่ยังทำงานเป็นปกติดีหรือไม่ เรียกว่า Progestin challenge test โดยให้รับประทานยาพริมโมลูท เอ็น (Primolut N®) 5 มิลลิกรัม เช้า 1 เม็ด และเย็น 1 เม็ด เป็นเวลา 7 วัน หรือให้รับประทานยาโปรเวรา (Provera®) 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน แล้วรอสังเกตว่าหลังยาหมด 2-3 วัน จะมีเลือดประจำเดือนออกมาหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปหากการทำงานของรังไข่ยังเป็นปกติ จะมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนไปกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น เมื่อได้รับฮอร์โมนโปรเจสตินจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เยื่อบุโพรงมดลูกแล้วหลุดออกมาเป็นประจำเดือนเลียนแบบธรรมชาตินาน 3-7 วัน แต่หากหลังจากหยุดรับประทานยาแล้วยังไม่มีประจำเดือนออกมา อาจมีสาเหตุมาจากรังไข่ทำงานไม่ดี จึงไม่สามารถกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวได้ หรืออาจมีความผิดปกติที่ช่องทางออกของประจำเดือน ซึ่งต้องมีการทดสอบกันต่อไป โดยการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน+ฮอร์โมนโปรเจสติน (Estrogen –Progestin challenge test) หรือให้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมไปรับประทานแทนประมาณ 15-20 วัน เมื่อยาหมด 2-3 วัน ให้สังเกตว่ามีเลือดประจำเดือนออกมาหรือไม่ ถ้ามีประจำเดือนออกมาก็แสดงว่า “ขาดฮอร์โมนจากรังไข่” ซึ่งอาจเกิดจากรังไข่ไม่ทำงาน ซึ่งต้องสืบหาสาเหตุและพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนต่อไป แต่หากไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาก็แสดงว่าน่าจะมีการอุดตันหรือขัดขวางทางออกของเลือดประจำเดือน ซึ่งอาจเกิดจากตัวมดลูกมีพังผืดหรือตีบ ซึ่งต้องสืบหาสาเหตุต่อไปเช่นเดียวกัน
- หากมีอาการอื่นที่ชวนสงสัยว่าเป็นโรคของต่อมไทรอยด์ ก็ต้องตรวจดูการทำงานของต่อมไทรอยด์และรักษาไปตามแนวทางนั้น ๆ
- หากมีน้ำนมไหล ต้องตรวจฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin hormone) เพื่อดูว่ามีเนื้องอกในสมองหรือไม่ ถ้ามีก็ให้รักษาไปตามแนวทางของสาเหตุนั้น ๆ
- สำหรับกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง (PCOS) ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน ระดับฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าในสตรีทั่วไป ทำให้หน้าเป็นสิว ผิวมัน ไม่มีการตกไข่ จึงไม่มีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะมาทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน นอกจากนั้นกลไกการเกิดภาวะนี้ยังอาจเกิดจากการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินไม่มีประสิทธิภาพพอ คนเหล่านี้ส่วนมากจึงมีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ให้ยาต้านเบาหวาน ให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด แต่หากผู้ป่วยต้องการมีบุตร แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยากระตุ้นการตกไข่แทนการรับประทานยาคุมกำเนิด
- ในรายที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัดและร่างกายยังเป็นปกติดีทุกอย่าง แพทย์อาจให้รออาการสัก 3 เดือน ถ้ายังไม่มีประจำเดือนก็ควรรีบกลับมาพบแพทย์อีกครั้งเพื่อตรวจหาสาเหตุที่อาจรุนแรงได้
- คำแนะนำในการดูแลตนเองเมื่อประจำเดือนขาดหาย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- หลีกเลี่ยงความเครียด ปรับพฤติกรรมการทำงาน การออกกำลังกาย และการพักผ่อนอย่างเหมาะสม
- ควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างพอประมาณไม่หักโหม แต่สม่ำเสมอ เพื่อคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- เน้นการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และใช้สารเสพติด
- สังเกตใบหน้าตนเองว่ามีสิวมากขึ้น ผิวหน้ามัน หรือมีขนขึ้นผิดปกติหรือไม่ เพราะอาจเป็นอาการจากโรคของรังไข่
- สังเกตว่าตนเองมีน้ำนมไหลทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ให้นมบุตร หรือมีอาการตาพร่ามัว ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคเนื้องอกสมอง (เนื้องอกและมะเร็งสมอง) หรือเนื้องอกต่อมใต้สมอง
- พยายามสังเกตว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นกับตนเองหรือไม่ เช่น มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่ายหรือไม่ หรือเป็นคนขี้ร้อนหงุดหงิดง่าย รู้สึกผิวหนังชื้นมาก เหงื่อออกเยอะ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ หรือรู้สึกเฉื่อยชา เหนื่อยง่าย ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติก็ได้
- เมื่อดูแลตนเองในเบื้องต้นเป็นอย่างดีแล้ว และ/หรือมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เสมอ
- เป็นภาวะขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิและมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย
- เป็นภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิและตรวจไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์
- มีการขาดประจำเดือนร่วมกับเป็นโรคอ้วนหรือผอมมาก, มีน้ำนมไหล ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ให้นมบุตร, มีอาการขี้ร้อน ผิวหนังชื้นมาก เหงื่อออกเยอะ, เหนื่อยง่าย ใจสั่น, ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว, มีขนหรือหนวดขึ้นมากผิดปกติ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ประจำเดือนไม่มา/ประจำเดือนขาด (Amenorrhea)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 883-884.
- หาหมอดอทคอม. “ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea)”. (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [06 ก.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 12, 17 คอลัมน์ : หญิงอ่านดี..ชายอ่านได้. “ประจำเดือนขาด”. (นพ.พนิตย์ จิวะนันทประวัติ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [07 ก.ค. 2016].
- Siamhealth. “ภาวะไม่มีประจำเดือน Amenorrhea”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [07 ก.ค. 2016].
ภาพประกอบ : www.newhealthadvisor.com, womenshealtharticles.com, www.healthguide.net
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)