บานเย็น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นบานเย็น 28 ข้อ !

บานเย็น

บานเย็น ชื่อสามัญ Marvel of peru, Four o’clock, False Jalap

บานเย็น ชื่อวิทยาศาสตร์ Mirabilis jalapa L. จัดในอยู่ในวงศ์บานเย็น (NYCTAGINACEAE)

สมุนไพรบานเย็น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บานเย็น (ทั่วไป), จำยาม จันยาม ตามยาม (ภาคเหนือ), ตีต้าเช่า (จีน), จีปักหลี (จีน-แต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[2],[6]

คำว่า Mirabilis เป็นภาษาละตินที่มีความหมายว่า “สวยงาม” ส่วนคำว่า Jalapa นั้นเป็นชื่อเมืองแห่งหนึ่งในประเทศเม็กซิโก จุดเด่นของดอกไม้ชนิดนี้ก็คือ ดอกจะบานในช่วงบ่ายแก่ ๆ หรือในช่วงเย็นเป็นต้นไป จึงเป็นที่มาของชื่อไทยว่า “บานเย็น” หรือในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า “ดอกสี่โมง” (Four o’clock flower) เมื่อดอกบานจะมีกลิ่นหอม ส่วนในประเทศจีนจะเรียกดอกบานเย็นว่า “ดอกสายฝน” (Shower flower) หรือเรียกว่า “ดอกหุงข้าว” (Rice boiling flower) สำหรับในฮ่องกง จะเรียกดอกบานเย็นว่า “มะลิม่วง” (Purple jasmine) และความน่าสนใจของดอกบานเย็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นไม้ดอกที่สามารถมีดอกได้หลายสีอยู่บนต้นเดียวพร้อม ๆ กันได้ แต่ละดอกอาจมีหลายสีปนกันอยู่ก็ได้ และดอกยังสามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อต้นมีอายุมากขึ้น เช่น พันธุ์ดอกเหลืองจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม หรือพันธุ์ดอกขาวจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วงอ่อน เป็นต้น[7]

ลักษณะของต้นบานเย็น

  • ต้นบานเย็น มีถิ่นกำเนิดในประเทศเปรู เม็กซิโก อเมริกากลาง และมีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ และบางครั้งอาจขึ้นเป็นวัชพืช โดยจัดเป็นไม้พุ่มเนื้ออ่อนมีอายุหลายปี มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร มีลำต้นสีแดงออกนวลเล็กน้อย แตกกิ่งก้านจำนวนมาก เป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง เป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ควรปลูกไว้กลางแจ้งและดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนมีธาตุอาหารสมบูรณ์ ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง[1],[2],[3]

ต้นไม้บานเย็น

ต้นบานเย็น

  • รากบานเย็น มีลักษณะพองเป็นหัว หรือเรียกว่าเหง้า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร[5]
  • ใบบานเย็น ใบออกเป็นคู่ ๆ สลับกันไปตามลำต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือเป็นรูปใบหอก หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีขนประปราย ใบมีความกว้างประมาณ 2-9 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ส่วนโคนใบตัดหรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ มีเส้นกลางใบเป็นสีเหลืองอ่อนเห็นได้ชัดเจน และก้านใบมีความยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร[1],[2],[3] โดยในใบจะประกอบด้วยสาร B-sitosterol, 12-tricosanone, n-hexacosanol, กรดไขมัน (Tetracosanoic acid), กรดอะมิโน (Alanine, Glycine, Leucin, Tryptophan, Valine) และกรดอินทรีย์ (Citric acid, Tartaric acid)[6]

ใบบานเย็น

  • ดอกบานเย็น ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ลักษณะของดอกที่ยังไม่บานจะเป็นรูปหลอด เมื่อบานแล้วจะเป็นรูปแตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ โดยดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร ดอกมีกลีบประดับเป็นรูประฆังติดอยู่ที่ฐาน มีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกเกือบไร้ก้าน แต่ละช่อดอกมีดอกอยู่ประมาณ 4-5 ดอก ดอกจะบานตอนเย็นเรื่อยไปจนถึงตอนเช้าแล้วจะหุบ ส่วนวงกลีบหรือกลีบดอกมีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก เช่น ดอกสีชมพู สีม่วง สีแดง สีขาว สีเหลือง สีส้ม สีด่าง หรือแม้กระทั่งมีสองสีในดอกเดียวกัน มีความยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร โดยปากกลีบจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ดอกมีเกสรตัวผู้ 5 ก้าน ยื่นยาวออกมาประมาณ 1 เซนติเมตร มีก้านเกสรเป็นสีแดง ส่วนอับเรณูมีลักษณะเป็นทรงกลม รังไข่เป็นรูปรี ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะยาวเท่ากับก้านเกสรตัวผู้ และมีสีแดง ปลายเกสรเป็นตุ่ม เป็นพูตื้น ๆ และสามารถออกดอกได้ตลอดปี[1],[2],[4],[5] โดยในดอกจะสารจำพวกฟลาโวนอยด์ และสาร Betaxanthins[6]

ลักษณะบานเย็น

บานเย็น

รูปบานเย็น

ภาพบานเย็น

ลักษณะดอกบานเย็น

สีของดอกบานเย็น

  • ผลบานเย็น หรือ เมล็ดบานเย็น มีลักษณะทรงกลม มีสีดำ ผิวขรุขระหยาบ ๆ มีขนาดยาวประมาณ 0.5-0.9 เซนติเมตร เปลือกบาง มีสัน 5 สัน ภายในจะมีแป้งอยู่เป็นจำนวนมาก โดยประกอบไปด้วยไขมันประมาณ 4.3%, linolenic acid ประมาณ 15.1% และยังประกอบด้วยสาร Kaempferol glycoside และสาร Quercetin[1],[3],[6]

ลักษณะของต้นบานเย็น

ผลบานเย็นเมล็ดบานเย็น

สรรพคุณของบานเย็น

  1. ช่วยแก้ไข้ ระงับความร้อนในร่างกาย (หัว)[1],[5],[6]
  2. หัวบานเย็นใช้รับประทานเป็นยาขับเหงื่อ (หัว)[1],[5],[6]
  3. หัวหรือรากช่วยแก้โรคเบาจืด (หัว)[5]
  4. ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด แก้กระอักเลือด (ดอก, หัว)[5],[6] ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 120 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกินแก้อาการ[6]
  5. ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้รากหรือหัวสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้กวาดคอ (หัว)[5],[6]
  6. หัวหรือรากบานเย็น มีสาร “Alkaloid Trigonelline” ที่มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ยาระบาย (หัว)[1],[7]
  7. ช่วยขับปัสสาวะ (หัว, ใบ)[5],[6]
  8. เชื่อว่ารากหรือหัวของบานเย็นช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ (หัว)[7]
  9. ใบนำมาใช้ภายในเป็นยารักษาโรคหนองในได้ หรือจะใช้รากหรือหัวจากต้นดอกสีขาวนำมาหั่นเป็นแผ่น ผสมกับโป่งรากสน นำมาต้มกินก่อนอาหารวันละ 2 เวลา (หัว, ใบ)[6]
  10. ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี ด้วยการใช้รากหรือหัวจากต้นดอกสีขาวนำมาหั่นเป็นแผ่น ผสมกับโป่งรากสน นำมาต้มกินก่อนอาหารวันละ 2 เวลา (หัว)[5],[6]
  11. ช่วยรักษาอาการบวมน้ำ (หัว)[7]
  12. น้ำคั้นจากใบใช้ชะล้างบาดแผลหรือแผลฟกช้ำให้หายเร็วยิ่งขึ้นได้ (ใบ)[6]
  13. ใบสดนำมาตำพอกหรือคั้นเอาแต่น้ำมาทาเป็นยารักษากลากเกลื้อน (ใบ)[1],[5],[6]
  14. ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปอุ่นไฟให้ร้อนพอทนได้ นำมาใช้พอกรักษาฝี แผลมีหนองต่าง ๆ ช่วยทำให้หนองออกมา แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (ใบ)[1],[5],[6]
  15. ช่วยรักษาแผลเรื้อรังได้ (ใบ, หัว)[5] หากเป็นแผลเรื้อรังบริเวณหลังให้ใช้รากหรือหัวสดจากต้นดอกสีแดง ผสมกับน้ำตาลทรายแดงพอประมาณ นำมาตำแล้วพอก และให้หมั่นเปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง[6] และหัวยังช่วยรักษาหนองได้อีกด้วย (หัว)[5]
  16. แป้งจากเมล็ดใช้รักษาแผลมีน้ำเหลือง ผิวหนังพองมีน้ำเหลือง ด้วยการใช้เมล็ดนำมาแกะเอาเปลือกออก แล้วเอาแป้งมาบดเป็นผงให้ละเอียด นำใช้ทาถูภายนอก (เมล็ด)[5],[6]
  17. น้ำคั้นจากใบใช้ทารักษาผื่นแดงที่มีอาการคัน ใช้ทาช่วยบรรเทาอาการคัน และยังลดอาการแสบร้อนได้ด้วย (ใบ)[1],[5],[6]
  18. ใบบานเย็นช่วยลดอาการอักเสบได้ (ใบ)[7]
  19. ช่วยแก้บวม แก้อักเสบ (หัว)[5]
  20. รากหรือหัวจากต้นดอกสีแดงนำมาใช้รักษาอาการปวดตามข้ออย่างเฉียบพลันได้ ด้วยการเอาขาหมูหรือเต้าหู้นำมาต้มกิน (หัว)[6]
  21. หัวใช้รับประทานจะทำให้ผิวหนังชา อยู่คงกระพันเฆี่ยนตีแล้วไม่แตกกลับทำให้รู้สึกคัน (หัว)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบานเย็น

  1. สารสกัดที่ได้จากใบ (เรซิน) มีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยรักษาอาการบวมน้ำ และมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย[6]
  2. ส่วนรากก็มีสารเรซินที่มีฤทธิ์ระคายเยื่อเมือก เยื่อบุผนังลำไส้[6]
  3. ดอกมีกลิ่นหอมฉุน อาจทำให้เกิดอาการมึนเมาได้ จึงสามารถใช้ไล่ยุงและแมลงได้[6]
  4. น้ำสกัดจากใบหรือทั้งต้น เมื่อนำมาใส่เอทานอลลงไปจะตกตะกอน แล้วกรองเอาน้ำสกัดที่ได้จะมีตัวยาเทียบเท่ากับยาสด เมื่อนำมาใช้ฉีดกระต่าย มีผลทำให้หัวใจกระต่ายเต้นเร็วขึ้น มีการบีบตัวแรงขึ้น แต่กลับสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็ว เมื่อนำมาฉีดเข้าไปในหลอดเลือดแมว พบว่ามีความดันเลือดสูงขึ้นประมาณ 75% และจะกลับสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ฤทธิ์ดังกล่าวจะไม่มีผลอะไรต่อลำไส้เล็กของหนูตะเภา ส่วนลำไส้เล็กของกระต่ายจะมีผลเป็นการยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้เล็ก และจากการตรวจสอบทางเคมีของน้ำสกัดจะไม่พบสารอัลคาลอยด์[6]
  5. นักวิจัยฮ่องกงได้ทำการแยกสาร MAPs อีกตัวหนึ่งที่อยู่ในรากของบานเย็น โดยพบว่ามีฤทธิ์เป็น Antiviral และยังพบว่ามีฤทธิ์ทำให้แท้งในหนู, ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน ยับยั้งการเจริญเติบโตของ Tumor cell และรบกวนกระบวนการอื่น ๆ ในเซลล์ของไวรัส และยังพบว่าในส่วนของเมล็ดมี Peptide บางชนิดที่มีฤทธิ์คล้ายกับพิษแมงมุม[9]
  6. ในปี 2001 นักวิจัยได้ค้นพบสารประกอบ Phenolic ที่มีฤทธิ์ต้าน Candida albican เมื่อทดลองในหลอดทดลอง และจากการสกัดดอก ใบ และรากด้วยน้ำร้อนจะได้สารที่ออกฤทธิ์เป็น Antifungal ในการทดลองอื่น ๆ และในการวิจัยอื่น ๆ ในส่วนของใบบานเย็นและกิ่งก้านของต้นไม่มีการยืนยันว่ามีฤทธิ์ Antimicrobial ดังนั้นคุณสมบัตินี้อาจมีอยู่แค่เพียงในรากเท่านั้น[9]
  7. สารสกัดจากส่วนรากด้วยน้ำและ Ethanol จะแสดงฤทธิ์ Mild uterine stimulant ในหนูทดลอง และ Antispasmodic ใน Guinea pigs[9]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรบานเย็น

  • เมล็ดบานเย็นส่วนใหญ่จะมีความเป็นพิษมาก (สาร Neurotoxic) ไม่ควรนำมารับประทาน หากได้รับพิษอาจทำให้เกิดอาการอาเจียนและมีอาการท้องเสีย หากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้[8],[9]
  • ไม่ควรใช้สมุนไพรบานเย็นในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีรายงานพบว่ามันทำให้เกิดการแท้งบุตรได้[9]

ประโยชน์ของบานเย็น

  1. ต้นไม้บานเย็น นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยเฉพาะต้นที่มีดอกสีชมพูและดอกสีขาว[1]
  2. แป้งจากเมล็ดใช้ทารักษาสิว ฝ้า ลบรอยด่างดำบนใบหน้าได้ โดยภายในเมล็ดจะมีแป้งสีขาวเป็นผงละเอียด หญิงไทยในอดีตจะนำมาใช้ผัดหน้า ให้ผิวสวย และไม่เป็นสิว นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าหญิงชาวจีนและญี่ปุ่นก็เคยใช้แป้งชนิดนี้เพื่อผัดหน้าแก้สิวเช่นกัน[4],[5]
  3. เมล็ดของบานเย็นบางสายพันธุ์ เมื่อนำมาบดละเอียดเป็นผงแล้วสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในสีย้อม ในเครื่องสำอาง[7]
  4. ผงจากรากนำมาใช้ผสมกับแป้งข้าวเจ้าและผงไม้จันทน์ นำมาทำเป็นเครื่องสำอางได้[6]
  5. ใบบานเย็นสามารถรับประทานแบบสุกได้ แต่ควรรับประทานเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น[7]
  6. ดอกนิยมนำมาใช้ทำเป็นสีผสมอาหาร โดยจะให้สีแดงเข้ม ซึ่งมักนำมาใช้ในการแต่งสีเค้กและเจลลี[7]
  7. เมล็ด ราก และยอดอ่อน มีสาร Mirabilis antiviral proteins (MAPs) ที่ช่วยปกป้องพืชจากพวกไวรัสที่ก่อโรคในพืชและเชื้อราบนดินได้ มีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันพืชผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้หลายชนิด เช่น ข้าวโพด ยาสูบ จาก มันฝรั่ง เป็นต้น[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [9 พ.ย. 2013].
  2. คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ .  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.natres.psu.ac.th.  [9 พ.ย. 2013].
  3. สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.il.mahidol.ac.th.  [9 พ.ย. 2013].
  4. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  “พันธุ์ไม้ที่ใช้ในการประทินผิว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th.  [9 พ.ย. 2013].
  5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [9 พ.ย. 2013].
  6. สวนสมุนไพร โรงเรียนบ้านสันป่าสัก.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: school.obec.go.th/bansanpasak/herbal/.  [9 พ.ย. 2013].
  7. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/บานเย็น.  [9 พ.ย. 2013].
  8. h2g2.  “Four O’Clocks – Night Blooming Beauties“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.h2g2.com.  [9 พ.ย. 2013].
  9. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: drug.pharmacy.psu.ac.th.  [9 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Anulal’s Natural Photos, Lynda_2008, Nemo’s great uncle, Nikki-Dee, fiberartsfanatic, Vivi_Goo, henna lion, TartanHearts, J Centavo, idalingi, Carrot Mama, Cat Sidh, maya_dragonfly, maemolina)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด