บานบุรีเหลือง
บานบุรี ชื่อสามัญ Allamanda, Common allamanda, Golden trumpet, Golden trumpet vine, Yellow bell
บานบุรี ชื่อวิทยาศาสตร์ Allamanda cathartica L. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[4],[8]
ดอกบานบุรีเหลือง เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนราธิวาส
บานบุรี มีอยู่ด้วยหลายชนิด โดยบานบุรีสีเหลือง บานบุรีสีกุหลาบ และบานพารา จะอยู่ในสกุลเดียวกันคือ สกุล Allamanda ส่วนบานบุรีสีแสด (บ้างเรียกว่า “บานบุรีหอม“) จะอยู่ในสกุล Odontadenia และบานบุรีสีม่วง จะอยู่ในสกุล Saritaea แต่ทั้งหมดนี้จะอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ วงศ์ตีนเป็ด ยกเว้นบานบุรีม่วงที่จะจัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE) (ผู้เขียน)
ลักษณะของบานบุรีเหลือง
- ต้นบานบุรี จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเลื้อย หรือเป็นไม้เถาอาศัยต้นไม้อื่นเพื่อพยุงตัวขึ้นไป ลำต้นหรือเถามีลักษณะกลมเรียบและเป็นสีน้ำตาล ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น ลำต้นไม่มีขน ลำต้นมีความสูงประมาณ 2-4.5 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ การตอน และการเพาะเมล็ด ชอบน้ำปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยหรือดินร่วนปนทราย ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เติบโตเร็ว ทนความแล้งและดินเค็มได้ดี มักขึ้นกลางแจ้ง ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน แต่อยู่ได้ทั้งในที่ร่มรำไรและที่มีแสงแดดจัด โดยพรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิลและอเมริกาเขตร้อน และจะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ในแต่ละชนิดก็จะมีสีของดอกที่แตกต่างกันออกไป[1],[2],[4],[8]
- ใบบานบุรี ใบเป็นใบเดี่ยว และจะติดเป็นคู่อยู่ตรงข้ามกัน หรืออาจจะติดอยู่รอบ ๆ ข้อ ข้อละประมาณ 3-6 ใบ ลักษณะของใบบานบุรีเป็นรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปหอก รูปรี หรือเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-16 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเรียบเป็นมัน มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า ก้านใบยาวประมาณ 2-9 เซนติเมตร[1],[2],[8]
- ดอกบานบุรี ดอกมีขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อกระจุกบริเวณยอด โดยจะออกตามวอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ส่วนดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือเป็นรูปหอก ปลายกลีบดอกมนใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 16 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อสั้นหรือเป็นหลอดแคบ ดอกตูมนั้น กลีบดอกจะบิดไปในทางเดียวกัน ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 5 อัน ติดอยู่ด้านในใกล้กับโคนท่อดอก ส่วนเกสรเพศเมียนั้นมีช่องเดียว ภายในมีรังไข่อ่อนเป็นจำนวนมาก ก้านเกสรมีขนาดสั้นและมีขน ส่วนอับเรณูมีลักษณะเป็นรูปคล้ายหัวลูกศร ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนจะออกดอกดกเป็นพิเศษ[1],[2],[4],[8]
- ผลบานบุรี ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เป็นหนาม เมื่อแก่จะแตกออกได้ ภายในผลมีเมล็ดรูปไข่จำนวนมาก[1],[2]
สรรพคุณของบานบุรีเหลือง
- ใบมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ใบ)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ใบ)[1],[2]
- ใบมีรสเมาร้อน ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ทำให้กล้ามเนื้อของลำไส้หดเกร็ง (ใบ)[1],[2],[6]
- เปลือกและยาง มีรสเมาร้อน ใช้ปริมาณน้อยมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ช่วยขับน้ำดี ถ้าใช้ในปริมาณมากจะเป็นพิษต่อหัวใจ และทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ (เปลือกและยาง)[1],[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบานบุรีเหลือง
- สมุนไพรบานบุรีเหลือง มีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเซลล์ ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา และต้านเนื้องอก แต่ฤทธิ์ดังกล่าวยังต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป[6]
ข้อควรระวังในการสมุนไพรบานบุรี
- บานบุรีเหลืองเป็นพืชมีพิษ การใช้เป็นยาสมุนไพรจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะทุกส่วนของต้นบานบุรีเหลืองใช้ปริมาณน้อยเป็นยาระบายและทำให้อาเจียน หากนำมาใช้มาก ๆ จะมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรงและทำให้อาเจียนไม่หยุด ร่างกายอ่อนเพลีย และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้[1],[2],[5]
- หากรับประทานยางหรือผลเข้าไปจะทำให้อาเจียน ท้องเสีย ท้องเดิน ท้องร่วงอย่างรุนแรง มีอาการหายใจไม่สม่ำเสมอ มีไข้สูง ถ้าหากสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากก็อาจทำให้เสียชีวิตได้[3]
- ทั้งต้นและยางมีสารพิษ digitalis (ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อหัวใจและเลือด) หากรับประทานเข้าไปจะเกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุในปากและในกระเพาะอาหารก่อน แล้วตามด้วยอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง และปวดศีรษะ ถ้าหากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากและล้างท้องไม่ทัน สารพิษดังกล่าวจะถูกดูดซึมผ่านทางลำไส้และแสดงความเป็นพิษต่อหัวใจ (จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับชนิดของไกลโคไซด์) โดยวิธีการรักษาขั้นต้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด แล้วให้ทำการล้างท้องและรักษาไปตามอาการ ถ้าจาก EKG พบว่ามี Ventricular tachycardia ก็ควรให้ Potossium chloride ประมาณ 5-10 กรัม หรือให้ K+ (80 mEq/L) ส่วนอาการการเจ็บแขนอาจช่วยด้วยการนวดและประคบด้วยน้ำร้อน[7]
- ผลและยางจากต้นมีพิษ (สารที่เป็นพิษคือ Resin ซึ่งเป็นส่วนผสมของ Phenol และ Polycyclic acid) หากยางจากต้นถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการอักเสบ คัน แดง[3]
ประโยชน์ของบานบุรีเหลือง
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวน ริมถนน ริมทะเล ตามทางเดิน หรือปลูกคลุมดิน สามารถตัดแต่งให้เป็นทรงพุ่มได้ อีกทั้งยังมีดอกที่สวยงาม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนจะออกดอกดกมากเป็นพิเศษ[3],[4],[8]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “บานบุรีเหลือง”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 424-425.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “บานบุรีเหลือง (Banburi Lueang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 163.
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “บานบุรีเหลือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [01 เม.ย. 2014].
- หนังสือชุดพรรณไม้เมืองไทย : ไม้ต่างถิ่นในเมืองไทย 1. “บานบุรี”. (ปรัชญา ศรีสง่า).
- ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา. “พืชมีพิษในประเทศไทย (2)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_main.asp. [01 เม.ย. 2014].
- วิทยานิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์ระดับโมเลกุลและเครื่องหมายดีเอ็นเอแบบบาร์โค้ดของพืชสกุล Allamanda”. (สโรชา อังคปัทมากุล, ดร.อรุณรัตน์ ฉวีราช, ดร.ธวัดชัย ธานี, ดร.รุ่งลาวัลย์ สุดมูล).
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “บานบุรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [01 เม.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “บานบุรีสีเหลือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [01 เม.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Botanizing & Scenaries, Reinaldo Aguilar, André Cardoso, Simone Raad, Oriolus84, Karl Gercens, Tony Rodd, SierraSunrise)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)