บัวเผื่อน
บัวเผื่อน ชื่อสามัญ Water lily
บัวเผื่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphaea nouchali Burm.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nymphaea stellata Willd.) จัดอยู่ในวงศ์บัวสาย (NYMPHAEACEAE)
สมุนไพรบัวเผื่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น นิโลบล (กรุงเทพฯ), ป้านสังก่อน (เชียงใหม่), ปาลีโป๊ะ (มลายู นราธิวาส), บัวผัน บัวขาบ (ภาคกลาง), บัวแบ้ เป็นต้น
บางครั้งนักวิทยาศาสตร์จะแบ่งแยกระหว่างบัวเผื่อนและบัวผันออกจากกันเป็น 2 ชนิด แต่บางครั้งก็บอกว่าเป็นชนิดเดียวกันแต่เป็นคนละสายพันธุ์ โดยบัวเผื่อนจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea stellata Wild. (สาเหตุที่เรียกว่าบัวเผื่อนนั้นมาจากสีของดอกเผื่อนระหว่างสีขาวครามและชมพูอ่อน) ส่วนบัวผัน จะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea Cyanea Roxb. (บัวผันมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น นิลุบล นิลอุบล บัวนิล) ซึ่งสรรพคุณทางยาก็น่าจะเหมือนกัน
ลักษณะของบัวเผื่อน
- ต้นบัวเผื่อน เป็นพันธุ์ไม้น้ำคล้ายบัวสาย เป็นพืชที่มีอายุหลายปี มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน ส่วนใบและดอกจะขึ้นอยู่บนผิวน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยการใช้หน่อหรือเหง้า และใช้เมล็ด พบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยสามารถพบได้ตามหนองน้ำ บึงคลอง ริมแม่น้ำที่มีกระแสน้ำอ่อน และขอบพรุ
- ใบบัวเผื่อน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นกลุ่ม แผ่นใบลอยอยู่บนผิวน้ำ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบทู่ถึงกลมมน ส่วนโคนเว้าลึก ขอบใบเรียงถึงหยักตื้น ๆ ใบมีความกว้างประมาณ 8-18 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียว ท้องใบสีเขียวอ่อนจนถึงสีม่วงจาง ผิวใบเกลี้ยง มีเส้นใบราว 10-15 เส้น แยกจากจุดเชื่อมกับก้านใบ ส่วนก้านใบมีความสั้นยาวไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำเป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีความยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร
- ดอกบัวเผื่อน ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขึ้นอยู่เหนือน้ำ ดอกมีสีขาวแกมชมพูถึงสีอ่อนคราม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ถ้าดอกมีสีขาวแกมเหลือง ปลายกลีบดอกเป็นสีครามอ่อน แล้วเผื่อนเป็นสีขาวหรือปลายกลีบเป็นสีชมพูเมื่อใกล้โรย แต่ละดอกจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร มีกลีบดอกซ้อนกัน 2-3 ชั้น ปลายกลีบแหลม มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก รังไข่มีช่องประมาณ 10-20 ช่อง ฝังตัวแน่นอยู่ใต้แผ่นรองรับ ส่วนเกสรตัวเมียเป็นรูปถ้วย มีก้านดอกคล้ายกับก้านใบและมีความยาวไล่เลี่ยกัน สามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี และดอกจะบานตอนช่วงสายและจะหุบตอนช่วงบ่าย ส่วนผลจะจมอยู่ใต้น้ำหลังจากการผสมเกสรแล้ว
- ดอกบัวเผื่อน มีกลีบดอกสีขาว ปลายกลีบดอกเป็นสีครามอ่อน แล้วเผื่อนเป็นสีขาวหรือเป็นสีชมพูเมื่อใกล้โรย
- ดอกบัวผัน ดอกเป็นสีชมพู
- ดอกบัวนิล ดอกจะเป็นสีม่วงเข้ม
- ดอกบัวขาบ ดอกจะมีสีฟ้าคราม
สรรพคุณของบัวเผื่อน
- ช่วยบำรุงกำลัง (ดอก, เมล็ด, หัว)
- เมล็ดใช้คั่วช่วยบำรุงร่างกาย (เมล็ด, หัว)
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เมล็ด, หัว)
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก, เมล็ด, หัว)
- ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน (ดอก)
- ช่วยบำรุงครรภ์ (ดอก, หัว)
- ในตำราสมุนไพรไทย บัวเผื่อนถูกจัดให้อยู่ในตำรับยา “พิกัดบัวพิเศษ” ซึ่งประกอบไปด้วย บัวเผื่อน, บัวขม, บัวหลวงแดง, บัวหลวงขาว, บัวสัตตบงกชแดง, และบัวสัตตบงกชขาว ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้อันเกิดเพื่อธาตุทั้ง 4 ช่วยขับเสมหะ แก้ไข้ตัวร้อน อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ลม ช่วยบำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น และช่วยบำรุงครรภ์ (ดอก)
- ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ดอกบัวเผื่อนเป็นส่วนประกอบในตำรับยากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือตำรับยา “ยาหอมเทพจิตร” โดยมีดอกบัวเผื่อนเป็นส่วนประกอบร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ลมกองละเอียด หรืออาการหน้ามืดตาลาย แก้อาการสวิงสวาย (อาการใจหวิว วิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม), แก้อาการใจสั่น, และช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ทำให้สุขใจ สบายใจ ช่วยคลายเครียด ทำให้มีอารมณ์แจ่มใส (ดอก)
- สาร Nymphagol จากดอกบัวเผื่อน มีฤทธิ์ในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยเพิ่มระดับอินซูลินในหนูทดลองได้ (ดอก)
- สารสกัดจากดอกบัวเผื่อน มีฤทธิ์ช่วยปกป้องตับหนูจากการถูกทำลายด้วยสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (ดอก)
ประโยชน์ของบัวเผื่อน
- เนื่องจากดอกบัวเผื่อนและดอกบัวผันมีดอกที่สวยงาม จึงมีการปลูกไว้ตัดดอกเพื่อขาย
- นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับไว้ในอ่างหรือสระน้ำเพื่อความสวยงาม โดยสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แถมยังปลูกเลี้ยงดูแลง่าย และมีความทนทานต่อสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี
- ก้านดอกสามารถใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือใช้จิ้มกินกับน้ำพริก หรือนำไปประกอบอาหาร เช่น ผัดสายบัวกับหมูหรือกุ้ง ต้มสายบัวกับปลาทู เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, พรรณไม้น้ำในประเทศไทย (สุชาดา ศรีเพ็ญ), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)
ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.pantip (by zeda), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)