บอระเพ็ด
บอระเพ็ด ชื่อวิทยาศาสตร์ Tinospora crispa (L.) Hook. f. & Thomson จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)
สมุนไพรบอระเพ็ด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เจตมูลหนาม (หนองคาย), ตัวเจตมูลยานหรือเถาหัวดำ (สระบุรี), หางหนู (อุบลราชธานี), จุ่งจิงหรือเครือเขาฮอ (ภาคเหนือ) เป็นต้น
บอระเพ็ด เป็นไม้เลื้อยที่พบได้ตามป่าดิบแล้ง จัดเป็นสมุนไพรไทยบ้าน ๆ ที่มีสรรพคุณทางยาสารพัด
โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นยาจะคือส่วนของ “เถาเพสลาก” เพราะมีลักษณะไม่แก่หรืออ่อนเกินไปนัก และมีรสชาติขมจัด แต่ถ้าเป็นเถาแก่จะแตกแห้ง รสเฝื่อน ไม่ขม หรือถ้าอ่อนเกินไปก็จะมีรสไม่ขมมาก
สรรพคุณของบอระเพ็ด
- บอระเพ็ดช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส หน้าตาสดชื่น (ใบ)
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยในการชะลอวัย
- ประโยชน์ของบอระเพ็ด ช่วยให้ผมดกหนาขึ้นและอาการผมหงอก ผมร่วงก็จะลดน้อยลง ซึ่งจะได้ผลดีอย่างมากกับผู้ที่มีอาการผมหงอกก่อนวัย หากรับประทานผงบอระเพ็ดวันละ 600 mg. เป็นเวลา 1 เดือน
- แก้อาการคันหนังศีรษะ รังแค ชันนะตุ
- ใช้แก้อาการกระหายน้ำ (เถา, ต้น)
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย (ต้น, ใบ)
- บอระเพ็ดสรรพคุณใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ราก, ต้น, ใบ) ด้วยการใช้บอระเพ็ด / เมล็ดข่อย / หัวแห้วหมู / เมล็ดพริกไทย / เปลือกต้นทิ้งถ่อน / เปลือกต้นตะโกนา ในสัดส่วนเท่ากันนำมาบดเป็นผง ปั้นเป็นยาลูกกลอนเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานก่อนนอนครั้งละ 2-3 เม็ด หรือจะนำเถาบอระเพ็ดมาหั่นตากแห้งแล้วนำมาบดให้เป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนก็ได้
- ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เสริมสร้างภูมิต้านทาน (ราก)
- บอระเพ็ดลดความอ้วน (ใบ)
- ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด (ราก)
- สรรพคุณของบอระเพ็ดช่วยรักษาโรคเบาหวาน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้เถาสดที่โตเต็มที่ตากแห้งแล้วบดเป็นผง นำมาชงน้ำร้อนดื่มครั้งละ 1 ช้อน เช้าและเย็น (เถาสด, ทุกส่วน)
- มีสารลดความดันโลหิต ได้แก่ อะดีโนซีน(adenosine), ซาลโซลีนอล(salsolinol), ไฮเจนนามีน (higenamine) (ต้น)
- แก้โรคดีซ่าน (ทุกส่วน)
- ช่วยรักษาอาการโลหิตคั่งในสมอง (ใบ)
- ช่วยให้เจริญอาหาร (ราก, ต้น)
- แก้อาการร้อนใน (เถา, ต้น)
- สรรพคุณบอระเพ็ดช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย (ราก)
- ช่วยขับเหงื่อ (เถา)
- ช่วยฆ่าแมลงในหู (เถา)
- แก้รำมะนาด (เถา)
- แก้ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต ไข้พิษ ไข้จับสั่น (ราก, ต้น, ใบ)
- ใช้ถอนพิษไข้ (ราก)
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ (เถา, ผล) ด้วยการใช้เถาสดประมาณ 30 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือใช้วิธีต้มเคี่ยว (ใส่น้ำ 3 ส่วน ต้มให้เหลือ 1 ส่วน) แบ่งครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ก่อนอาหารวันละ 2-3 ครั้งเมื่อตอนมีไข้ หรือจะนำเถาบอระเพ็ดมาตากแห้ง บดให้เป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอนก็ได้
- แก้ไข้มาลาเรียด้วยการกินบอระเพ็ดวันละ 2 องคุลีทุกวัน (เถา)
- แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้เลือดพิการ (ต้น)
- แก้อาการแทรกซ้อนขณะเป็นไข้ทรพิษ (ต้น)
- ช่วยให้เสียงไพเราะ (ใบ)
- แก้อาการเสมหะเป็นพิษ (ผล)
- ช่วยรักษาฟัน (ทุกส่วน)
- แก้อาการปวดฟัน (เถา)
- แก้สะอึก (ต้น, ผล)
- แก้โรคกระเพาะอาหารด้วยการใช้บอระเพ็ด 5 ส่วน / มะขามเปียก 7 ส่วน / เกลือ 3 ส่วน / น้ำผึ้งพอควร นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วรับประทานก่อนอาหาร 3 เวลา
- แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ราก)
- รักษาโรคริดสีดวงทวาร (ทุกส่วน)
- รักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ (ทุกส่วน)
- แก้อาการมดลูกเสีย (ราก)
- ช่วยบำรุงน้ำดี (เถา)
- ช่วยขับพยาธิ (ใบ)
- ช่วยฆ่าพยาธิไส้เดือน (เถา)
- ช่วยฆ่าพยาธิในท้อง ในฟัน และในหู (ดอก)
- แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ทุกส่วน)
- แก้อาการเกร็ง (ทุกส่วน)
- ดับพิษปวดแสบปวดร้อน (เถา)
- ใช้ล้างแผลที่เกิดจากโรคซิฟิลิส (เถา)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เถา,ใบ)
- รักษาผดผื่นตามร่างกาย (ใบ)
- รักษาบาดทะยัก (ทุกส่วน)
- แก้อาการปวดฝี (ใบ)
- แก้พิษฝีดาษ (ต้น)
- แก้ฝีมดลูด ฝีมุตกิด (ทุกส่วน)
- นำมาแปรรูปเป็นบอระเพ็ดแคปซูล
แม้บอระเพ็ดจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคและอาการต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ยังมีงานศึกษาวิจัยที่สนับสนุนสรรพคุณดังกล่าวอยู่น้อย ซึ่งสรรพคุณทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากบทเรียนที่ใช้ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จึงเกิดเป็นความเชื่อถือและใช้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จนองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตบอระเพ็ดแคปซูลออกมาจำหน่ายเพื่อใช้เป็นยาช่วยในการเจริญอาหาร
สมุนไพรบอระเพ็ดสำหรับการรับประทานในส่วนของรากอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจมีผลต่อหัวใจ เนื่องจากเป็นยารสขม สิ่งที่ต้องระวังก็คือไม่ควรใช้ติดกันต่อเนื่องเกิน 1 เดือน ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ในเดือนถัดไปก็ควรเว้นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อยเพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสภาพได้ก่อน ถ้าใช้ไปแล้วมีอาการมือเท้าเย็น แขนขาหมดเรี่ยวแรงก็ควรหยุดรับประทาน
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.rspg.or.th (ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพตามเครดิต)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)