บอนส้ม
บอนส้ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Homalomena rostrata Griff. จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]
สมุนไพรบอนส้ม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กลาดีมาแซ้ (มะลายู-นราธิวาส-มาเลย์), บอนหอม ส่วนชาวปัตตานีเรียก “บอนส้ม” เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของบอนส้ม
- ต้นบอนส้ม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นสั้นป้อมเป็นกาบหุ้มคล้ายบอน แต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยจะมีความยาวได้ประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหัว พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นตามที่ชื้นในป่าทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคใต้[1],[2]
- ใบบอนส้ม ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอกกลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือแคบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-60 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกบอนส้ม ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะของดอกเป็นแท่งกลมยาว ดอกเพศผู้จะอยู่ตอนบน ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ตอนล่างถัดจากดอกเพศผู้ แต่จะมีเป็นจำนวนน้อยกว่าดอกเพศผู้ หรืออาจจะมีดอกไม่มีเพศคั่นอยู่ระหว่างกลาง หรืออาจจะไม่มีก็ได้ ก้านช่อดอกยาว เมื่อดอกยังอ่อนอยู่จะเป็นสีขาว เมื่อดอกแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว มีกาบหุ้มช่อดอกยาวประมาณ 12.5-15 เซนติเมตร กาบนี้จะมีลักษณะป่องออกตรงช่วงที่เป็นดอกเพศเมีย ตรงปลายจะเป็นรูปจะงอย ส่วนตรงกลางจะคอดและตอนบนแคบ[1],[2]
สรรพคุณของบอนส้ม
- ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาอาการไอ (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยากัดเสมหะ (ทั้งต้น)[1]
ประโยชน์ของบอนส้ม
- ช่อดอก ยอดอ่อน และก้านใบ นำมาลอกเปลือกออกใช้ปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงเลียง แกงส้ม เป็นต้น[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “บอนส้ม”. หน้า 414.
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “บอนส้ม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [30 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Araceae of Sunda)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)