บวบหอม
บวบหอม ชื่อสามัญ Sponge gourd, Smooth loofah, Vegetable sponge, Gourd towel
บวบหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Luffa cylindrica (L.) M.Roem. จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)[1]
สมุนไพรบวบหอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บวบ (คนเมือง), มะบวบอ้ม มะนอยขม มะนอยอ้ม มะบวบ บวบกลม บวบอ้ม (ภาคเหนือ), บวบกลม บวบขม บวบหอม (ภาคกลาง), ตะโก๊ะสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เบล่จูจ้า (ปะหล่อง), เล่ยเซ (เมี่ยน), เต้าหยัวเยี่ยะ (ม้ง), กะตอร่อ (มลายู-ปัตตานี), เทียงล้อ ซีกวย (จีนแต่จิ๋ว) ซือกวา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[4]
ลักษณะของบวบหอม
- ต้นบวบหอม หรือ ต้นบวบกลม จัดเป็นพรรณไม้เถาล้มลุกมีอายุได้เพียง 1 ปี มักเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้ชนิดอื่น ๆ หรือตามร้านที่ปลูกทำไว้ ลำต้นมีลักษณะเป็นเถาสี่เหลี่ยมหรือเป็นเถากลมและมีร่องเป็นเส้นตามยาว เถามีความยาวได้ประมาณ 7-10 เมตร และจะมีมือสำหรับยึดเกาะเป็นเส้นยาวประมาณ 3 เส้น ตามลำต้นอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนที่อ่อนนุ่ม เมื่อลำต้นแก่ขนเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ หลุดร่วงไป ทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้ดมดูจะมีกลิ่นเหม็นเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1],[2]
- ใบบวบหอม ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบค่อนข้างกลม ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ แผ่นใบจะมีรอยเว้าเข้าประมาณ 3-7 รอย และริมขอบใบจะเป็นรอยหยักหรือคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน ใบอ่อนจะมีขนมาก เมื่อใบแก่แล้วขนเหล่านั้นจะค่อย ๆ หลุดร่วงไป เห็นเส้นใบนูนได้ชัดเจนประมาณ 3-7 เส้น ส่วนก้านใบนั้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยมและมีขนอ่อนนุ่ม โดยมีความยาวของก้านใบประมาณ 4-9 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกบวบหอม ในต้นเดียวกันหรือในช่อดอกเดียวกันจะทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย โดยดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร กลีบรองกลีบดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อสั้น ๆ ส่วนปลายแยกเป็นกลีบเล็ก ๆ 5 กลีบ และมีขน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลีบหรือเป็นรูปรี กลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ขอบกลีบดอกมีรอยย่นเป็นคลื่น ๆ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร โดยกลีบดอกจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 3 ก้าน ส่วนดอกเพศเมียมักจะออกดอกเป็นดอกเดี่ยว และบางครั้งอาจออกติดกับดอกเพศผู้ในช่อดอกเดียวกัน ก้านดอกยาวประมาณ 1-7 เซนติเมตร กลีบดอกและกลีบรองดอกมีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ประมาณ 3-5 ก้าน ส่วนอับเรณูมีอยู่ประมาณ 2 ห้อง และจะงอเป็นลักษณะรูปตัวเอส (S) บริเวณโคนก้านของเกสรเพศผู้มีลักษณะพองออกและมีขนอ่อนนุ่ม ส่วนเกสรเพศเมียนั้นจะฝ่อหายไป ก้านดอกมีความยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร และหลังจากที่ผสมเกสรแล้วก้านเกสรก็จะยาวขึ้นอีก ส่วนรังไข่มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมและยาวอยู่ต่ำกว่าส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด ภายในรังไข่จะมีอยู่ประมาณ 3 ห้อง และจะมีแนวขั้วติดไข่อ่อนประมาณ 3 แนวและมีไข่อ่อนเป็นจำนวนมาก โดยก้านเกสรเพศเมียจะมีลักษณะเป็นเส้นกลมสั้น ปลายเกสรจะแยกออกเป็น 3 ส่วน[1],[2],[4]
- ผลบวบหอม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 16-60 เซนติเมตร ที่ปลายผลจะมีรอยของกลีบรองกลีบดอกเหลืออยู่ ผลอ่อนเป็นสีเขียวและมีลายเป็นสีเขียวแก่ ผิวผลด้านนอกมีนวลเป็นสีขาว ส่วนผลแก่จะเป็นสีเขียวออกเหลืองหรือเป็นสีเขียวเข้มออกเทา เนื้อด้านในมีเส้นใยที่เหนียวมาก มีลักษณะเป็นร่างแห เนื้อผลนิ่มเป็นสีขาว และมีเมล็ดลักษณะแบนรีหรือกลมแบน มีขนาดกว้างประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร โดยผลแก่นั้นจะมีเมล็ดข้างในเป็นสีดำ หรืออาจมีปีกออกทั้งสองข้างเมล็ด และผลบวบชนิดนี้จะมีรสขม ผลมีลักษณะกลมสั้น มีความยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร อันนั้นจะเรียกว่า “บวบขม“[1],[2],[4]
สรรพคุณของบวบหอม
- เถาบวบหอมช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี (เถา)[1]
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใยบวบ)[2]
- ใบ ผล ใยบวบ และเมล็ดเป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ใบ, ผล, ใยบวบ, เมล็ด)[2],[3] ส่วนดอกมีรสชุ่มและเย็นจัด ช่วยดับร้อนในร่างกาย (ดอก)[1] ผลช่วยทำให้เลือดเย็น (ผล)[3]
- เมล็ดช่วยลดความร้อนในปอด ทำให้ปอดชุ่มชื่น (เมล็ด)[2]
- ใยบวบมีรสหวาน คุณสมบัติไม่ร้อนไม่เย็น ช่วยทะลวงเส้นลมปราณ (ใยบวบ[2],[3], เถา[3])
- หากมีอาการเหงื่อออกมาก ให้ใช้ใบสดผสมกับเมนทอลแล้วนำมาตำใช้เป็นยาทาหรือใช้พอก (ใบ)[1]
- น้ำจากเถาใช้ผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณเป็นยาบรรเทาอาการร้อนใน (น้ำจากเถา)[1] ราก ใบ เถา ผล และใยบวบ ช่วยแก้อาการร้อนใน (ราก, ใบ, เถา, ผล, ใยบวบ)[2],[6]
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ราก, ใบ, เถา, เมล็ด)[2]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ โดยใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณ (น้ำจากเถา)[1] หรือหากมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ก็ให้ใช้รากนำมาต้มใส่ไข่เป็ด 2 ฟองแล้วนำมากิน (ราก)[1],[6]
- น้ำคั้นจากใบสด นำมาหยอดตาเด็ก เพื่อใช้รักษาเยื่อตาอักเสบ (ใบ)[1]
- ช่วยรักษาโพรงจมูกอักเสบ ด้วยการใช้เถานำมาคั่วให้เหลืองแล้วบดให้เป็นผง ทำเป็นยานัตถุ์เป่าเข้าจมูก โดยให้ใช้ติดต่อกันประมาณ 2-4 วัน หรือจะใช้ดอกสดผสมกับฮั่วเถ่าเช่าสด นำไปตำพอกรักษาโพรงจมูกอักเสบ หรือถ้าใช้รักษาเยื่อจมูกอักเสบและเสื่อมสมรรถภาพ จมูกอักเสบจนกลายเป็นโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ก็ให้ใช้รากนำมาต้มกับน้ำกิน (เถา, ราก, ดอก)[1],[2] ราก ใบ และเถาช่วยรักษาจมูกอักเสบหรือเป็นแผล รักษาอาการอักเสบเรื้อรังในจมูก (ราก, ใบ, เถา)[2]
- เถามีรสขมและเย็นจัด มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยารักษาจมูกมีหนองและมีกลิ่นเหม็นที่อาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ด้วยการใช้เถาบริเวณใกล้กับรากเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผง ใช้ผสมกับเหล้ากิน (เถา)[1]
- ใช้รักษาคางทูม ให้ใช้ผลนำไปเผาให้เป็นถ่าน บดให้เป็นผง ใช้ผสมกับน้ำเป็นยาทา หรือจะใช้ใยผล (รังบวบ) ที่เผาเป็นถ่านแล้วนำมาผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวด (ผล, ใยผล)[1]
- เมล็ดมีรสหวานมัน ใช้เป็นยารักษาอาการปวดเสียวฟัน โดยเลือกใช้ผลที่แก่นำไปเผาให้เป็นเถ้าแล้วบดให้เป็นผง ใช้เป็นยาทาบริเวณที่ปวด ส่วนเถาก็เป็นยาแก้อาการปวดเสียวฟันเช่นกัน (เถา, เมล็ด)[1]
- ขั้วผลช่วยรักษาเด็กที่ออกหัด ช่วยทำให้ออกหัดได้เร็วขึ้น (ขั้วผล)[1]
- ผลอ่อนและใยบวบเป็นยาลดไข้ (ผล, ใยบวบ)[2],[6]
- น้ำคั้นจากเถาใช้ผสมกับน้ำตาลทรายกินพอประมาณเป็นยาแก้หวัดได้ (น้ำจากเถา)[1]
- น้ำคั้นจากเถานำมาผสมกับน้ำตาลทรายกินพอประมาณเป็นยาแก้ไอ หรือจะใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมนำมาผสมกับน้ำผึ้งแล้วต้มจิบกิน หรือจะใช้เถานำไปต้มกับน้ำ หรือใช้น้ำคั้นจากเถาสดกินเป็นยาแก้ไอ (ซึ่งวิธีนี้ได้ทดลองกับหนูพบว่าสามารถช่วยระงับอาการไอได้) ส่วนอีกวิธีให้ใช้เถาประมาณ 100-150 กรัม นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ต้มกับน้ำ 1,000 ซีซี โดยต้มจนเหลือน้ำประมาณ 400 ซีซี เสร็จแล้วพักไว้ก่อน นำกากที่ต้มครั้งแรกมาต้มกับน้ำอีก 800 ซีซี แล้วต้มจนเหลือ 400 ซีซี แล้วนำน้ำที่ต้มทั้งสองมารวมกัน เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ จนเหลือน้ำประมาณ 150 ซีซี ใช้แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 50 ซีซี ติดต่อกันกัน 10 วัน (เถา, น้ำจากเถา, ดอก)[1],[2],[6] ส่วนราก ใบ และเถาก็เป็นยาแก้ไอเช่นกัน (ราก, ใบ, เถา)[2],[3] บ้างก็ว่าใช้น้ำคั้นจากเถาบวบ ให้ใช้ครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมกับน้ำอุ่นดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้เมล็ดที่อบแห้งแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ดื่มครั้งละ 9 กรัม วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ใยบวบนำมาคั่วให้เกรียมแต่อย่าให้ไหม้ แล้วนำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำตาล ใช้กินครั้งละ 2 ช้อน วันละ 3 ครั้ง (น้ำคั้นจากเถา, ใยบวบ, เมล็ด)[3]
- ช่วยแก้อาการไอร้อยวัน ด้วยการใช้น้ำคั้นจากบวบสดผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อย ใช้กินครั้งละ 60 มิลลิลิตร วันละ 2-3 ครั้ง (ผล)[3]
- ดอกมีรสชุ่ม ขมเล็กน้อย และเย็นจัด ใช้แก้อาการเจ็บคอได้ โดยใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัม นำมาผสมกับน้ำผึ้ง แล้วต้มจิบกินเป็นยา หรือจะใช้ผลอ่อนคั้นเอาแต่น้ำ ใช้กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2-3 ครั้ง และผสมกับน้ำใช้กลั้วคอ หรือจะใช้ขั้วผลนำไปเผาไฟให้เป็นเถ้า บดให้เป็นผง ใช้เป่าคอรักษาอาการเจ็บคอ หรือจะใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทรายใช้กินพอประมาณก็ได้ หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำรากมาแช่กับน้ำในภาชนะกระเบื้องแล้วเทเอาแต่น้ำกินก็เป็นยาแก้อาการเจ็บคอเช่นกัน (น้ำจากเถา, ราก, ดอก, ผล, ขั้วผล)[1],[3],[6]
- เถานำไปต้มกับน้ำหรือใช้น้ำคั้นจากเถาสดกินเป็นยาขับเสมหะ (เถา, น้ำคั้นจากเถา)[1],[3] ใบและเมล็ดช่วยขับเสมหะ ละลายเสมหะ (ใบ, เมล็ด)[2],[3]
- เมล็ดใช้กินเป็นยาทำให้อาเจียน (เมล็ด)[4]
- ใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมผสมกับน้ำผึ้ง แล้วต้มจิบกินเป็นยาแก้หอบ (ดอก)[1],[6]
- เถาใช้เป็นยารักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง อาการอักเสบเรื้อรังในคนแก่ ด้วยการใช้เถาแห้งประมาณ 100-250 กรัม นำมาหั่นเป็นฝอย แล้วนำไปแช่กับน้ำจนพองตัว แล้วนำไปต้มและแยกกากออก ใส่น้ำตาลพอประมาณ ใช้กินเป็นยาวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 วัน ส่วนอีกวิธีให้ใช้เถาประมาณ 100-150 กรัม นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ต้มกับน้ำ 1,000 ซีซี โดยต้มจนเหลือน้ำประมาณ 400 ซีซี เสร็จแล้วพักไว้ก่อน นำกากที่ต้มครั้งแรกมาต้มกับน้ำอีก 800 ซีซี แล้วต้มจนเหลือ 400 ซีซี แล้วนำน้ำที่ต้มทั้งสองมารวมกัน เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ จนเหลือน้ำประมาณ 150 ซีซี ใช้แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 50 ซีซี ติดต่อกันกัน 10 วัน แล้วจะเห็นผล (เถา)[1],[2],[3],[6] ส่วนราก ใบ และเถาก็ช่วยรักษาหลอดลมอักเสบเช่นกัน (ราก, ใบ, เถา)[2]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณ (น้ำจากเถา)[1]
- ผลมีรสชุ่มและเย็น ใช้เป็นยารักษาโรคบิดถ่ายเป็นเลือด ช่วยแก้อาการปวดท้องเนื่องจากดื่มเหล้ามาก ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 1 ผล นำไปเผาให้เป็นถ่านแล้วบดเป็นผง ใช้ผสมกับเหล้าดื่มครั้งละประมาณ 6 กรัม หรือจะใช้ใบเป็นยารักษาโรคบิดก็ได้ โดยให้ใช้ใบในขนาดประมาณ 300-600 มิลลิกรัม เข้าใจว่านำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ, ผล)[1]
- ผลช่วยขับลม (ผล)[4]
- เมล็ดช่วยแก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย (เมล็ด)[2],[3],[4] ส่วนผลอ่อนก็เป็นยาระบายเช่นกัน (ผล)[4],[6]
- รากใช้ในขนาดน้อย ๆ มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (ราก)[1],[6] น้ำต้มกับรากใช้ดื่มเป็นยาระบาย (ราก)[4]
- เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม โดยนำเมล็ดแก่ (เมล็ดแก่เปลือกดำจะได้ผลดี ส่วนเปลือกขาวจะไม่ได้ผล) นำมาเคี้ยวกินตอนท้องว่าง หรือจะนำเมล็ดมาบดให้ละเอียดใส่ในแคปซูลกินวันละครั้ง แล้วพยาธิตัวกลมก็จะถูกขับออกมา หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 40-50 เมล็ด (ถ้าเป็นเด็กให้ใช้ 30 เม็ด) นำมาตำให้ละเอียด แล้วใช้กินกับน้ำเปล่าตอนท้องว่าง โดยให้กินวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน ส่วนเถาก็ใช้เป็นยาขับพยาธิได้เช่นกัน (เถา, เมล็ด)[1],[2],[3],[6]
- ผลช่วยแก้อาการเลือดออกตามทางเดินอาหารและจากกระเพาะปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ผล)[4],[6]
- ผลอ่อน ใยบวบ เมล็ด และดอก มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ดอก, ผล, ใยบวบ, เมล็ด)[1],[3],[6] น้ำต้มใบใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะอื่น ๆ หรือน้ำต้มจากใบสดเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด หากใช้ใบแห้งให้ใช้ขนาด 5 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ใบ)[4],[6]
- ช่วยรักษาทางเดินปัสสาวะอักเสบ ด้วยการใช้ใยบวบหรือรังบวบ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยกินเป็นยา หรือจะใช้ผลบวบ 1 ผล นำมาผิงไฟให้เหลืองแห้งแล้วบดเป็นผง แบ่งเป็น 2 ส่วน ใช้กินกับเหล้าเหลือง (ผล, ใยบวบ)[3]
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร โดยใช้ใบนำมาตำแล้วพอกหรือจะบดเป็นผงผสมเป็นยาทาบริเวณที่เป็น หรือจะใช้ดอกสดผสมกับฮั่วเถ่าเช่าสดนำไปตำใช้เป็นยาพอก หรืออีกวิธีให้ใช้ใยผลนำไปเผาไฟให้เป็นเถ้า นำไปผสมกับปูนขาวที่เก็บไว้นาน ๆ และผสมกับหย่งอึ้งบดเป็นผง แล้วนำไปต้มกับดีหมู ใส่ไข่ขาวผสมน้ำมันหอมใช้ทาบริเวณที่เป็น แต่หากเป็นโรคริดสีดวงทวารที่เกิดจากการดื่มเหล้ามาก ๆ ก็ให้ใช้ใยบวบที่เผาเป็นถ่านแล้วนำมาบดเป็นผงผสมกับเหล้า ใช้ดื่มครั้งละ 6 กรัม (ใบ, ดอก, ใยผล)[1],[6]
- ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี ด้วยการใช้ผลบวบแห้ง 1 ผล นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ผล)[3]
- หากเลือดน้อย ประจำเดือนของสตรีมาผิดปกติ ให้นำผลมาเผาให้เป็นถ่าน ใช้ผสมกับเหล้าดื่มหลังอาหารตอนที่สบายใจ ส่วนเถาก็ช่วยแก้ประจำเดือนที่ผิดปกติของสตรีเช่นกัน (เถา, ผล)[1] หรือจะใช้เมล็ดที่อบแห้งแล้วนำมาบดให้เป็นผง เติมน้ำตาลแดงและเหล้าเหลืองเล็กน้อย นำมาอุ่นให้พอร้อน ใช้ดื่มเช้าและเย็นเป็นยาแก้ประจำเดือนผิดปกติ (เมล็ด)[3] ส่วนใยบวบและน้ำคั้นจากใบสดเป็นยาฟอกเลือด ช่วยขับประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ (ใบ, ใยบวบ)[2],[4],[6]
- ใช้แก้ประจำเดือนของสตรีมามากผิดปกติ ให้ใช้ผลบวบแก่ 1 ผล นำมาผิงไฟให้ดำแต่อย่าให้ไหม้ แล้วบดเป็นผงกินกับเกลือครั้งละ 9 กรัม (ผล)[3]
- ใช้เป็นยารักษาสตรีที่มีอาการตกเลือด ด้วยการนำใบไปคั่วให้เป็นถ่าน บดให้เป็นผง ใช้ผสมกับเหล้าดื่มครั้งละ 6-15 กรัม (ใบ)[1]
- ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทราย ใช้กินพอประมาณ (น้ำจากเถา)[1]
- ใยบวบใช้เป็นยาช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย ช่วยลดอาการบวม (ใยบวบ)[2],[3]
- เถาช่วยบำรุงม้าม (เถา)[1]
- ราก ใบ และเถา ใช้ภายนอกเป็นยาใส่แผลช่วยห้ามเลือดได้ (ราก, ใบ, เถา)[2] หากเป็นแผลมีเลือดออก ให้ใช้ใบตากแห้งนำมาบดเป็นผง แล้วนำมาใช้โรยบริเวณแผล (ใบ)[3] ใบนำมาตำใช้เป็นยาพอกแก้อาการอักเสบและฝี (ใบ)[3],[4]
- รากมีสรรพคุณช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อยอักเสบ ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ราก)[3]
- ช่วยรักษาผดผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ ใช้เป็นยาทาบริเวณที่เป็น หรือจะใช้ใบสดผสมกับเมนทอล นำมาตำใช้เป็นยาพอกหรือทาบริเวณที่เป็น (ใบ)[1],[3],[6]
- ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ฝีหนอง (ราก, ใบ, เถา)[2] ใบนำมาตำใช้เป็นยาพอกรักษากลาก บาดแผลเรื้อรัง รักษาแผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย หรือจะใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้าง หรือบดเป็นผงผสมเป็นยาทาก็ได้ (ใบ)[1] ใช้รักษาเกลื้อน ให้ใช้ใบสดนำมาล้างให้สะอาด นำมาขยี้แล้วใช้ถูบริเวณที่เป็นจนผิวหนังเริ่มแดงก็หยุดสักพัก แล้วทำใหม่ติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง โดยบริเวณที่ถูไม่ต้องล้างน้ำออกจนกว่าเกลื้อนจะหาย หรือจะเด็ดบวบอ่อนที่มีน้ำค้างเกาะในตอนเช้า นำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณที่เป็นก็ได้ (ใบ, ผล)[3]
- น้ำคั้นจากใบสดใช้เป็นยาทาแก้กลากบนศีรษะ (ใบ)[3]
- ใช้เปลือกผลนำไปเผาไฟให้แห้ง แล้วบดให้เป็นผงผสมเป็นยาทารักษาฝี ฝีไม่มีหัว แผลมีหนอง และแผลที่เกิดจากการกดทับนาน ๆ หรือใช้ผลสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาทารักษาฝีบวม (ผล, เปลือกผล)[1],[3] หรือหากใช้รักษาฝีบวมแดงและมีหนอง รักษาฝีไม่มีหัว ก็ให้ใช้ดอกสดผสมกับฮั่วเถ่าเช่าสด นำไปตำใช้เป็นยาพอกก็ได้ (ดอก)[1]
- หรือถ้าหากเป็นแผลมีหนองและมีเนื้อนูน ก็ให้ใช้ผลสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับผงเบญกานี Gall จากต้น Rhus chinensis Mill. แล้วนำมาใช้เป็นยาทา (ผล)[1] ส่วนรากนำมาเคี่ยวเอาแต่น้ำใช้ชะล้างแผลมีหนองเรื้อรังและช่วยรักษาฝี (ราก)[1
- หากเป็นหูด ให้ใช้ดอกสดประมาณ 2-5 ดอก ใส่เกลือลงไปเล็กน้อยแล้วตำให้ละเอียด ใช้เช็ดถูบริเวณที่เป็นจนเริ่มรู้สึกร้อน แล้วให้ถูบ่อย ๆ จะได้ผลดี โดยให้ใช้จนกากแห้ง เททิ้งแล้วเปลี่ยนใหม่ (ดอก)[3
- ราก ใบ และเถาใช้เป็นยาแก้อาการปวดหลัง (ราก, ใบ, เถา)[2]
- ช่วยแก้อาการปวดเอว ด้วยการใช้ใยบวบ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำเติมเหล้าเหลืองเล็กน้อยใช้กินเป็นยา หรือถ้าจะใช้รักษาอาการปวดเอวเรื้อรัง ก็ให้นำเมล็ดมาคั่วจนเหลือง แล้วบดให้เป็นผง ใช้ผสมกับเหล้าดื่ม แล้วให้นำกากมาพอกบริเวณที่มีอาการปวด (ใยบวบ, เมล็ด)[1],[3],[6]
- ใยบวบมีสรรพคุณแก้อาการปวดเส้น ปวดกระดูก (ใยบวบ)[2]
- เถาช่วยรักษาแขนขาเป็นเหน็บชา (เถา)[1]
- ใช้ใยผลหรือรังบวบที่เผาเป็นถ่านแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ผสมกับเหล้าดื่ม แล้วห่มผ้าห่มให้เหงื่อออกด้วย จะช่วยขับน้ำนมของสตรีที่มีน้ำนมน้อยหลังการคลอดบุตรได้ ส่วนผลก็ช่วยขับหรือเรียกน้ำนมได้เช่นกัน ด้วยการใช้ผลแก่ 1 ผลนำมาตากในที่ร่มให้แห้ง ผิงให้แห้งแล้วบดเป็นผง ใช้ชงกับเหล้าเหลืองดื่มครั้งละ 9 กรัม หรือจะใช้ผลประมาณ 1-2 ผล นำมาประกอบอาหารให้แม่ลูกอ่อนรับประทานก็ได้ (ผล, ใยผล)[1],[2],[3],[6]
ข้อมูลทางเภสัชวิทาของบวบหอม
- ทั้งต้นพบสาร Citrulline, Cucurbitacin, Glucolin, Mannangalactan, Luffein, Xylan และยังพบโปรตีน ไขมัน วิตามินบี 1 และวิตามินซี[2]
- รากมีสารขมจำพวก Cucurbitacin B และ Cucurbitacin D เล็กน้อย[1]
- ใบและเถามีสารซาโปนิน (Saponins)[1]
- ในเกสรดอกเพศผู้จะมีสาร Alanine และสาร Lysine มาก ส่วนดอกเพศเมียมีสาร Aspartic acid, Asparagine, Arginine, และ Glutamine มากกว่าเกสรเพศผู้[1]
- ในผลบวบหอมมีสาร Mucilage, Luffein และสาร Saponins เป็นจำนวนมาก และยังมีสารจำพวก Citrulline อีกด้วย[1],[2]
- ใยผลหรือรังบวบมีสาร Cellulose, Xylan และมีสารจำพวก Galactan, Mannan, และ Lignin[1]
- เมล็ดบวบหอมมีสารประเภทไขมันอยู่ประมาณ 23.5-38.9% โดยประกอบไปด้วยกรดไขมันที่สำคัญ ได้แก่ Glycerol, Oleic acid, Palmitic acid, Linoleic acid, Stearic acid เป็นต้น และยังมี Phosphatide, Phospholipid และ Phospholipin รวมกันอีกประมาณ 0.47%[1]
- น้ำที่สกัดได้จากเถาและใบของบวบหอมมีฤทธิ์ในการกระตุ้นลำไส้เล็กของหนูตะเภาและกระต่ายเพียงเล็กน้อย แต่จะมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของกระต่ายที่แยกออกมาจากตัวอย่างเห็นได้ชัด และยังมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อหน้าท้องของคางคกได้อย่างชัดเจนเช่นกัน[1]
- เมื่อนำน้ำที่ต้มได้จากเถาให้สัตว์ทดลองกิน พบว่าสามารถช่วยแก้อาการไอ แก้หืดหอบ และขับเสมหะในสัตว์ทดลองได้[2]
- น้ำต้มที่ได้จากเถา หรือเหล้าที่ดองกับเถา มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Coccus[2]
- เมล็ดมีฤทธิ์ในการขับพยาธิตัวกลม[2]
ประโยชน์ของบวบหอม
- ผลอ่อนและยอดอ่อนสามารถนำไปประกอบอาหารได้ เช่น แกง แกงเลียง ผัด หรือนำไปลวกกินกับน้ำพริก[1],[4]
- น้ำมันจากเมล็ดบวบหอมสามารถนำมาใช้ทำอาหารได้[6]
- ใยผล ใยบวบ หรือรังบวบสามารถนำมาใช้ในการทำความสะอาดเครื่องแก้ว เครื่องครัว รถยนต์ ทำใยขัดหม้อ เอามาขัดถูตัวหรือใช้ล้างจานได้ ฯลฯ หรือจะใช้เป็นที่บุรองภายในของหมวกเหล็ก ทำเบาะรองไหล่ ยัดในหมอน ในรถหุ้มเกาะ ใช้ใส่ในหีบห่อเพื่อป้องกันการกระทบกระแทก ใช้ผสมทำแผ่นเก็บเสียง ฯลฯ อีกทั้งใยผลหรือรังบวบยังมีคุณสมบัติที่ทนความร้อนได้ดี ใช้ทำหน้าที่สำหรับจับหม้อที่ร้อน ๆ หรือใช้รองหม้อนึ่งข้าว หรือใช้ในการกรองน้ำมันของเรือเดินทะเลและเครื่องยนต์ที่มีระบบการเผาไหม้ภายในต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังนำมาใช้สานเป็นเสื่อ หมวก ผ้าปูโต๊ะ ใช้ผสมในปูนปลาสเตอร์ ในสารเคลือบทำแผ่นเก็บความร้อน อีกทั้งใยผลหรือรังบวบก็ยังเป็นแหล่งที่ให้ Cellulose ที่นำมาใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย[1],[4]
คุณค่าทางโภชนาการของผลบวบหอม ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 16 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 0.7 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 3.0 กรัม
- เส้นใยอาหาร 0.2 กรัม
- เถ้า 0.3 กรัม
- น้ำ 95.9 กรัม
- วิตามินเอรวม 1 RE
- วิตามินบี 1 0.37 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.2 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 15 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 3 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 3 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม
แหล่งที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข[5]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรบวบหอม
- หากกินติดต่อกันมากเกินไปจะส่งผลทำให้ไตพร่องและทำให้สมรรถภาพทางเพศของผู้ชายเสื่อมลงด้วย[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “บวบกลม“. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 405-410.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “บวบหอม“. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 298.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 66 คอลัมน์: อาหารสมุนไพร. “บวบหอม“. (วิทิต วัณนาวิบูล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [29 มี.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Smooth loofah“. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 มี.ค. 2014].
- สำนักโภชนาการ, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. “ผักและผลิตภัณฑ์ (Vegetables and products)“. เข้าถึงได้จาก: nutrition.anamai.moph.go.th/FoodTable/Html/gr_04_2.html. [29 มี.ค. 2014].
- บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “บวบหอมและบวบเหลี่ยม“. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [29 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by International Institute of Tropical Agriculture, Katie Soltysiak, Scamperdale, 영철 이, Nemo’s great uncle, lh_foh, 3Point141)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)