น้ำเต้าน้อย
น้ำเต้าน้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyathostemma micranthum (A.DC.) J.Sinclair จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]
สมุนไพรน้ำเต้าน้อย ยังมีชื่ออื่นอีกว่า นมแมว (ประจวบคีรีขันธ์), เถาฤาษี ผสมแก้ว (สุราษฎร์ธานี), นมแมวน้อย, พญามีฤทธิ์, น้ำเต้าน้อย (ปราจีนบุรี) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]
ลักษณะของน้ำเต้าน้อย
- ต้นน้ำเต้าน้อย จัดเป็นไม้พุ่มแกมไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพาดอาศัยกับต้นไม้อื่น ๆ พยุงตัวขึ้นไปยาวได้ประมาณ 10-15 เมตร เปลือกเถาเป็นสีน้ำตาล ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ ต้นน้ำเต้าน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศพม่าและหมู่เกาะอันดามันไปจนถึงประเทศมาเลเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด สามารถพบได้ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ที่ระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลประมาณ 300-800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง[1],[2],[3]
- ใบน้ำเต้าน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-14 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเช่นกัน ใบค่อนข้างหนาและเหนียว ก้านใบยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[3]
- ดอกน้ำเต้าน้อย ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือตามกิ่ง ช่อดอกมีดอกย่อยประมาณ 2-5 ดอก ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน สีเหลืองแกมเขียว หรือสีน้ำตาลแกมเหลือง ก้านดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 6 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบเป็นสีเขียว ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมและมีขน เมื่อดอกบานออกกลีบจะกางออกและปลายโค้งเข้าหากัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]
- ผลน้ำเต้าน้อย ออกผลเป็นกลุ่ม ก้านช่อผลยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร มีผลย่อยประมาณ 10-20 ผล ก้านผลยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมเรียว ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ผิวผลมีขนปกคลุม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม โดยจะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[3]
สรรพคุณของน้ำเต้าน้อย
- เนื้อไม้มีรสฝาดเฝื่อน สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้หวัด แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้ไข้ทับระดู แก้ไข้กลับ (เนื้อไม้)[1]
- รากใช้ฝนกับน้ำทาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก)[1],[2]
- รากมีรสฝาดเฝื่อน สรรพคุณเป็นยาแก้กาฬผอมแห้งของสตรีที่อยู่ไฟไม่ได้ (ราก)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “นมแมว (Nom Maeo)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 150.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “นมแมว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [26 มี.ค. 2014].
- หนังสือพรรณไม้และพันธุ์สัตว์ในหุบเขาลำพญา ฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ. (มหาวิทยาลับราชภัฏยะลา). “น้ำเต้าน้อย”. หน้า 80.
- พืชอาหารของหนอนผีเสื้อกลางวัน, ส่วนประสานงานโครงการพระราชดำริ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา). “นมแมวน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th. [26 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.qsbg.org, www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/, www.magnoliathailand.com (by ANS160)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)