นุ่น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นนุ่น 30 ข้อ !

นุ่น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นนุ่น 30 ข้อ !

นุ่น

นุ่น ชื่อสามัญ White silk cotton tree[3], Ceiba, Kapok, Java cotton, Java kapok, Silk-cotton

นุ่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceiba pentandra (L.) Gaertn.[1],[2] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)

สมุนไพรนุ่น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ง้าว งิ้วสาย งิ้วสร้อย งิ้วน้อย (ภาคกลาง), งิ้ว (คนเมือง), ปั้งพัวะ (ม้ง), นุ่น (ไทลื้อ), ต่อเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง) เป็นต้น[1],[4]

ลักษณะของต้นนุ่น

  • ต้นนุ่น จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ลำต้นสูงใหญ่เปลาตรง สูงได้ประมาณ 10-30 เมตร ตรงยอดแผ่เป็นพุ่มกว้าง ลำต้นเป็นสีเขียวและมีหนามขึ้นอยู่ทั่วไปบริเวณโคนต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มีถิ่นดั้งเดิมอยู่ในแถบอันดามัน และมีปลูกมากในเขตร้อนทั่วไปเพื่อใช้ปุยจากผลนำมาทำหมอนและที่นอน[1],[2],[3] ชอบขึ้นตามริมลำธาร พบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบเขา[4]

ต้นนุ่น

เปลือกต้นนุ่น

  • ใบนุ่น ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-11 ใบ ก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบร่วมยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอกหรือรูปหอกเรียวแหลม ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 นิ้ว และยาวประมาณ 2-5 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบและเส้นก้านใบเป็นสีแดงอมน้ำตาล[1],[2]

ใบนุ่น

  • ดอกนุ่น ออกดอกเป็นช่อกระจะบริเวณซอกใบ ขนาดประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก หรือช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 1-5 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปถ้วย ปลายดอกแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลือง กลีบดอกติดกันที่ฐาน กลีบด้านนอกเป็นสีขาวนวลและมีขน ส่วนด้านในกลีบเป็นสีเหลือง กลางดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 5-6 อัน ก้านเกสรเพศเมียไม่แยก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3]

ดอกนุ่น

  • ผลนุ่น ลักษณะของผลเป็นรูปยาวรี ปลายและโคนผลแหลม เปลือกแข็ง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 2 นิ้ว และยาวประมาณ 4-5 นิ้ว เมื่อแห้งจะแตกออกได้เป็น 5 พู ภายในผลจะมีนุ่นสีขาวเป็นปุยอยู่ และมีเมล็ดจำนวนมาก[1],[2]

ผลนุ่น

ฝักนุ่น

  • เมล็ดนุ่น เมล็ดเป็นสีดำ มีเส้นใยสีขาวคล้ายเส้นไหมยาวหุ้มเมล็ดเป็นปุยนุ่นอยู่[2]

เมล็ดนุ่น

ปุยนุ่น

สรรพคุณของนุ่น

  1. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง ส่วนยางไม้มีรสฝาดเมา ก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังเช่นกัน (ราก, ยางไม้)[1],[2]
  2. รากสดนำมาคั้นเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคเบาหวาน (ราก)[1],[2]
  3. เปลือกต้นมีรสเย็นเอียน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน (เปลือก)[1],[2]
  4. ต้น เปลือกต้น หรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ หรือจะใช้เปลือกต้นผสมกับยาอื่นปรุงเป็นยาแก้ไข้ก็ได้ ส่วนชาวมาเลย์จะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ต้น, เปลือก,ใบ, ดอกแห้ง, ทั้งต้น)[1][2]
  1. ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
  2. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้หวัดในเด็ก (เปลือก)[2]
  3. ชาวสิงคโปร์จะใช้ใบนำมาตำผสมกับหัวหอม ขมิ้น และน้ำ ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้งเป็นยาแก้ไอ แก้หวัดลงคอ แก้เสียงแหบห้าว (ใบ)[1],[2]
  4. ช่วยทำให้อาเจียน (เปลือก, ราก)[1],[2]
  5. ชาวฟิลิปปินส์จะใช้เปลือกต้นเป็นยาโป๊ ต้มดื่มแก้หืด (เปลือก)[1],[2]
  6. ยางไม้มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง (ยางไม้)[2]
  7. รากมีรสจืดเอียน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย แก้บิด บิดเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ (ราก)[2]
  8. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้อาหารเป็นพิษ (เปลือก)[2]
  9. น้ำมันจากเมล็ดมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาระบาย (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2]
  10. เปลือกต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ชาวชวาจะใช้เปลือกต้นนำมาผสมกับหมาก ลูกจันทน์เทศ และน้ำตาลทำเป็นยาขับปัสสาวะ (ใช้ได้ดีในรายที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ) ส่วนเมล็ดและน้ำมันจากเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (เปลือก, ราก, เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2]
  11. ใบนำมาตำผสมกับหัวหอม และขมิ้น ผสมกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท่อปัสสาวะอักเสบ (ใบ)[1],[2]
  12. ช่วยแก้ระดูขาวที่มากเกินไปของสตรี (ยางไม้)[2]
  13. ใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด (เปลือก)[2]
  14. ผลอ่อนใช้กินเป็นยาฝาดสมาน ส่วนยางไม้ก็มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมานเช่นกัน (ผลอ่อน, ยางไม้)[1],[2]
  15. ใช้เป็นยาแก้โรคเรื้อน (ใบ)[1],[2]
  16. รากใช้เป็นยาแก้พิษแมลงป่อง (ราก)[2]
  17. ใบนำมาเผาไฟผสมกับขมิ้นอ้อยและข้าวสุกใช้เป็นยาพอกฝีให้แตกหนอง (ใบ)[1],[2]
  18. ใบมีรสเย็นเอียน ใช้ตำพอกแก้ฟกช้ำ (ใบ)[2]
  19. ใบอ่อนใช้กินเป็นยาแก้เคล็ดบวม (ใบอ่อน)[1],[2]
  20. ดอกแห้งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวด (ดอกแห้ง)[2]

หมายเหตุ : ภายในเมล็ดนุ่นจะมีน้ำมันอยู่ประมาณ 20-25%[1]

ประโยชน์ของนุ่น

  1. ฝักที่ยังอ่อนมาก ๆ (เนื้อในผลยังไม่เป็นปุยนุ่น) ใช้เป็นอาหารได้ โดยนำมารับประทานสด ๆ หรือใส่ในแกง[2]
  2. เมล็ดใช้สกัดทำเป็นน้ำมันพืช ส่วนกากที่เหลือจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์[3]
  3. ไส้นุ่นสามารถนำมาใช้เพาะเห็ดฟางได้[3]
  4. ขนที่ติดอยู่ที่เมล็ดซึ่งเรียกว่า “นุ่น” หรือ “เส้นใยนุ่น” สามารถนำมาใช้ยัดหมอน ฟูก และที่นอนได้[1],[2],[4]
  5. เนื้อไม้ใช้ทำกระสวยทอผ้า เยื่อกระดาษ ส้นรองเท้า และนำมาบดทำไส้ในไม้อัด[3]
  6. นิยมนำมาปลูกเป็นพืชสวนเพื่อเก็บผลมาใช้ประโยชน์[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “นุ่น”.  หน้า 400-401.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “นุ่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [01 ธ.ค. 2014].
  3. พืชให้เส้นใย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “นุ่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/fiber1.htm.  [01 ธ.ค. 2014].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “นุ่น”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [01 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Yeoh Thean Kheng, José Ramón Fernández C., Toby Garden, Paulo Pedro P. R. Costa, Scamperdale, soma-samui.com, Daniel Ruyle, Otterman)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด