นิ่วในท่อไต
นิ่วในท่อไต นิ่วท่อไต หรือ นิ่วที่ท่อไต (Ureteric stone, Ureteral stone, Ureteric calculi, Kidney Stone in Ureter) เป็นก้อนนิ่วขนาดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นที่ไตแล้วตกลงมาอยู่ในท่อไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ต่อจากไต เป็นเหตุให้ท่อไตเกิดการบีบตัวเพื่อขับนิ่วออก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง
โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในคนทั่วไป โดยพบได้ประมาณ 10% ของประชากรทั่วโลก และเนื่องจากเป็นโรคที่สืบเนื่องจากนิ่วในไต จึงมักพบนิ่วในท่อไตได้ในผู้ใหญ่ช่วงอายุ 30-40 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า โดยเฉพาะคนทางภาคเหนือและภาคอีสาน เช่นเดียวกับโรคนิ่วในไต
ท่อไต (Ureter) เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่นำส่งน้ำปัสสาวะจากไตเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ โดยเป็นอวัยวะคู่ที่มีทั้งท่อไตด้านซ้ายและท่อไตด้านขวา มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กขนาบอยู่ด้านข้างของกระดูกสันหลังช่วงเอวทั้งซ้ายและขวา มีความยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ผนังของท่อเป็นเยื่อเมือกและกล้ามเนื้อ เพื่อบีบตัวช่วยการเคลื่อนตัวของน้ำปัสสาวะจากไตสู่กระเพาะปัสสาวะ
นิ่วในท่อไตส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร แต่อาจพบก้อนที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตรได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนิ่วในท่อไตถ้ามีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร จะมีโอกาสหลุดออกมาได้เองกับน้ำปัสสาวะประมาณ 87% ถ้าก้อนนิ่วมีขนาด 2-4 มิลลิเมตร, 5-7 มิลลิเมตร, 7-9 มิลลิเมตร และมีขนาดใหญ่กว่า 9 มิลลิเมตร ก็จะมีโอกาสหลุดออกมาได้เองกับน้ำปัสสาวะประมาณ 76%, 60%, 58% และ 25% ตามลำดับ ซึ่งนอกจากขนาดของก้อนนิ่วแล้ว โอกาสที่นิ่วจะหลุดออกมาเองได้ยังขึ้นอยู่กับตำแหน่งด้วย โดยก้อนนิ่วที่อยู่บริเวณส่วนปลายท่อไตจะหลุดออกมาได้ง่ายกว่าก้อนนิ่วที่อยู่บริเวณส่วนต้นหรือส่วนกลางของท่อไต
สาเหตุของนิ่วในท่อไต
เนื่องจากนิ่วในท่อไตเป็นก้อนนิ่วที่หล่นมานิ่วในไต ดังนั้นชนิดของนิ่วจึงเป็นเช่นเดียวกับนิ่วในไต* กล่าวคือ ส่วนใหญ่ประมาณ 75-80% จะเป็นนิ่วแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate stones), เป็นนิ่วสตรูไวท์ (Struvite stones) ซึ่งเป็นสารประกอบของแอมโมเนียม แมกนีเซียม และฟอสเฟต ประมาณ 15%, เป็นนิ่วกรดยูริก (Uric acid stones) ประมาณ 6% และเป็นนิ่วซีสทีน (Cystine stones) ประมาณ 2%
กลไกการเกิดนิ่วเหล่านี้ คือ การตกตะกอนของสารเหล่านี้แบบเรื้อรังจนในที่สุดรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่ว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สารเหล่านี้ตกตะกอนเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การมีสารเหล่านี้เข้มข้นในปัสสาวะผิดปกติ (เช่น จากการดื่มน้ำน้อย การอยู่ในสถานที่ร้อนทำให้ร่างกายเสียเหงื่อและขาดน้ำ การรับประทานอาหารที่มีสารก่อนิ่วในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง ความเครียด การใช้ยาบางชนิด), การอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ซึ่งทำให้ปัสสาวะแช่ค้างอยู่นานในไต (เช่น ท่อปัสสาวะตีบมาแต่กำเนิด ท่อปัสสาวะตีบจากท่อปัสสาวะอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง), ผู้ป่วยโรคเกาต์ (ทำให้กรดยูริกในเลือดสูง), ผู้ป่วยต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (ทำให้แคลเซียมในเลือดสูง), การติดเชื้อเรื้อรังในทางเดินปัสสาวะ, พันธุกรรม (พบโรคนี้ในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นนิ่วในไตสูงกว่าคนในครอบครัวปกติ 2.5 เท่า), เพศชาย (ผลจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่เพิ่มการสร้างออกซาเลตในตับ), วัยผู้ใหญ่ช่วงอายุ 30-60 ปี (ในเด็กจะมีปริมาณของสารยับยั้งการเกิดนิ่วในปัสสาวะสูงกว่าผู้ใหญ่), ความอ้วน (BMI สูงเกินค่ามาตรฐาน) ฯลฯ
หมายเหตุ : ภาพประกอบของนิ่วแต่ละชนิดและสาเหตุของการเกิดนิ่วสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่บทความ นิ่วในไต
อาการของนิ่วในท่อไต
ถ้าก้อนนิ่วยังมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดง และนิ่วมักจะหลุดออกมาทางปัสสาวะได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเมื่อมีการติดเชื้อในไตหรือในกระเพาะปัสสาวะ ก็จะส่งผลให้ท่อไตอักเสบบวม รูท่อไตจึงหรือตีบแคบลง จึงง่ายที่ก้อนนิ่วจะติดค้างอยู่ภายในท่อไต ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยของโรคนี้ คือ
- ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง โดยจะมีลักษณะปวดบิดเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว (ตรงข้างที่มีนิ่วคาอยู่) นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ซึ่งลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวไปที่หลังและต้นขาด้านใน (ปวดไปที่อัณฑะหรือช่องคลอดข้างเดียวกับท้องน้อยที่ปวด) ผู้ป่วยมักจะปวดจนดิ้นไปดิ้นมา แต่เมื่อเอามือกดไว้จะรู้สึกดีขึ้น อาการปวดอาจทุเลาได้เอง แต่ก็อาจกำเริบซ้ำได้เป็นช่วง ๆ ตราบเท่าที่ก้อนนิ่วยังไม่หลุดออกมา
- ผู้ป่วยบางรายอาจปวดมากจนมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น ใจหวิว คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
- เมื่อมีอาการติดเชื้อร่วมด้วย มักมีไข้เกิดขึ้น ซึ่งมีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ
- ผู้ป่วยจะไม่มีอาการขัดเบา ปัสสาวะมักใสเป็นปกติ ไม่ขุ่น ไม่แดง ยกเว้นบางรายที่อาจมีปัสสาวะขุ่นแดงได้
- อาจมีปัสสาวะน้อยลง และมักพบร่วมกับปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ตรวจได้จากการตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ
การวินิจฉัยโรคนิ่วในท่อไต
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ ประวัติการเคยเป็นโรคนิ่วในไตหรือในท่อปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีก้อนนิ่วปนออกมา จากการตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ (พบว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ) การตรวจไต หลอดไต ด้วยการเอกซเรย์หรืออัลตราซาวนด์ และอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
ในผู้ป่วยนิ่วในท่อไต แพทย์มักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ บางรายอาจพบว่า กล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังมีอาการเกร็งตัว หรือมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณที่ปวด
อนึ่ง อาการของโรคนิ่วในท่อไตมักคล้ายคลึงกับการปวดท้องจากหลายสาเหตุ เช่น
- โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) จะมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังตรงบริเวณกลางยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ เวลาที่ปวดมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร ลักษณะการปวดอาจปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียด หรือมีความรู้สึกหิวข้าวก่อนเวลาอาหาร และบางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วย
- กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) จะมีอาการปวดตรงบริเวณบั้นเอวหรือสีข้างด้านใดด้านหนึ่ง ร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น เมื่อใช้กำปั้นทุบเบา ๆ บริเวณที่ปวดจะรู้สึกเจ็บจนสะดุ้ง
- ปีกมดลูกอักเสบ (Adnexitis) จะมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อย เมื่อเอามือกดจะรู้สึกเจ็บ ผู้ป่วยอาจมีไข้สูงร่วมด้วย
- ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) จะมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อยด้านขวาติดต่อกันเป็นชั่วโมง ๆ เมื่อเอามือกดดูจะรู้สึกเจ็บ และผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วย
- ตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) จะมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อย ใจสั่น เป็นลม หน้าตาซีดเซียว และมักมีประวัติการขาดประจำเดือนร่วมด้วย
- ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) จะมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณท้องน้อยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือน เมื่อใช้มือกดจะไม่รู้สึกเจ็บ
- นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) จะมีอาการปวดบิดรุนแรงเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวมาที่ไหล่ขวา หรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในท่อไต
ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่และหลุดออกเองไม่ได้ นอกจากจะทำให้มีอาการปวดท้อง เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ยังอาจทำให้มีการติดเชื้ออักเสบของทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งไตอักเสบเรื้อรัง และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายพิการได้ ดังนั้น นิ่วในท่อไตที่มีขนาดใหญ่ จำเป็นต้องรีบรักษาให้หายขาดก่อนที่จะเกิดอันตรายร้ายแรง
วิธีรักษานิ่วในท่อไต
แนวทางการรักษาโรคนิ่วในท่อไตจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนนิ่ว การที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อร่วมด้วย และโรคของไต เช่น เมื่อมีไตบวมร่วมด้วย
- รับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่งจ่าย ได้แก่ ยากลุ่มแอนติสปาสโมดิก (Antispasmodics) เช่น อะโทรปีน (Atropine) หรือไฮออสซีน (Hyoscine) 1-2 เม็ด แต่ถ้ามีอาการปวดรุนแรงแพทย์จะให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 1/2-1 หลอด และ/หรือให้ยาไฮออสซีน (Hyoscine) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำครั้งละ 1/2-1 หลอด ถ้าอาการดีขึ้นแพทย์จะให้ยากลับไปรับประทานต่อที่บ้านครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง แล้วนัดติดตามดูผลการรักษาภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้านิ่วหลุดออกมาทางปัสสาวะก็ถือว่าหายดีแล้ว แต่ถ้านิ่วยังไม่หลุด และยังมีอาการปวดท้องกำเริบอีกก็แสดงว่าอาจเป็นนิ่วขนาดใหญ่คาอยู่ในท่อไต
- ถ้าให้ยาแล้วอาการยังไม่ทุเลาลงภายใน 6 ชั่วโมง หรือกลับมามีอาการปวดซ้ำอีก ถ้าแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นนิ่วก้อนเล็ก แพทย์จะให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และ/หรือแอนติสปาสโมดิก (Antispasmodics) เพื่อบรรเทาอาการปวดเช่นเดียวกัน ร่วมกับแนะนำให้ดื่มมาก ๆ เพื่อรอให้นิ่วหลุดออกมาเอง แต่ถ้าพบว่าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่อาจต้องรักษาด้วยการใช้เครื่องสลายนิ่วหรือผ่าตัดออก เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้มีโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ได้แก่
- Extracorporeal shock wave lithotripsy (ESWL) หรือ เครื่องสลายนิ่ว จะเป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงส่งพลังผ่านผิวหนังไปสู่ก้อนนิ่วเพื่อให้ก้อนนิ่วแตกตัว เป็นวิธีที่สะดวก มีอัตราความสำเร็จสูง หายเร็ว ไม่ทำให้เกิดอันตรายหรือมีแผลเป็น ไม่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และเป็นการรักษาแต่ภายนอก แต่จะมีอาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ อาจเป็นรอยช้ำในบริเวณที่รักษา มีเลือดปนในปัสสาวะ รู้สึกปวด 2-3 วันหลังการรักษา
- Ureterorenoscopic stone removal (URS) เป็นการใช้กล้อง Ureteroscope ที่มีขนาดเล็กส่องผ่านทางกระเพาะปัสสาวะเข้าสู่ท่อไต และใช้เครื่องมือคล้องนิ่ว (Basket) หรือกรอนิ่วให้แตกโดยใช้ Laser หรือ Ballistic lithotripsy มักใช้กับนิ่วที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร
- Extracorporeal shock wave lithotripsy (ESWL) หรือ เครื่องสลายนิ่ว จะเป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงส่งพลังผ่านผิวหนังไปสู่ก้อนนิ่วเพื่อให้ก้อนนิ่วแตกตัว เป็นวิธีที่สะดวก มีอัตราความสำเร็จสูง หายเร็ว ไม่ทำให้เกิดอันตรายหรือมีแผลเป็น ไม่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และเป็นการรักษาแต่ภายนอก แต่จะมีอาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ อาจเป็นรอยช้ำในบริเวณที่รักษา มีเลือดปนในปัสสาวะ รู้สึกปวด 2-3 วันหลังการรักษา
- รักษานิ่วในไต เพราะตราบใดที่ยังมีนิ่วในไต ก็จะมีโอกาสเกิดนิ่วในท่อไตย้อนกลับมาเป็นซ้ำได้เสมอ
- การดูแลตนเองเมื่อมีนิ่วในท่อไต ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
- ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ ในปริมาณที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะอย่างผู้ที่เคยเป็นนิ่วในไตหรือในท่อไตมาก่อน แต่ถ้าไม่เคยเป็นนิ่วมาก่อน ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
- ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
- ไม่ควรซื้อวิตามินและเกลือแร่เสริมอาหารมารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดนิ่วในไตและในท่อไตได้ เช่น วิตามินซี วิตามินดี และแคลเซียม
- นิ่วในท่อไตส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีด (เล็กกว่า 6 มิลลิเมตร) ซึ่งมักจะหลุดออกมาได้เอง ถ้าเป็นไปได้ผู้ป่วยควรถ่ายปัสสาวะลงกระโถน เพื่อสังเกตดูว่ามีก้อนนิ่วหลุดปนออกมาด้วยหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ก้อนนิ่วมักจะหลุดออกมาได้เองภายในไม่กี่วัน ส่วนอาการปวดท้องจะหายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อนิ่วหลุดออกมา (แต่อย่าลืมว่ายังมีโอกาสเกิดนิ่วก้อนใหม่ในภายหลังได้อีกหากดูแลรักษาไม่ดี)
- เมื่อรักษาหายแล้ว ควรป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ โดยการดื่มน้ำวันละ 3-4 ลิตร ดื่มน้ำมะนาววันละ 1 แก้ว เพื่อช่วยเพิ่มสารซิเทรตในปัสสาวะที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดนิ่ว รวมไปถึงการจำกัดหรือลดการรับประทานอาหารที่มีสารออกซาเลต กรดยูริก และสารซีสทีนสูง
- ไปพบแพทย์ตามนัด แต่เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมากขึ้น หรือมีไข้สูงควรรีบไปพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อไต
- ในกรณีที่เป็นโรคนิ่วกำเริบซ้ำบ่อย แพทย์อาจส่งตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบของก้อนนิ่ว เพื่อใช้เป็นแนวทางในการรักษาและให้คำแนะนำที่ถูกต้องต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารการกิน เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้กลับมาเป็นนิ่วซ้ำอีก
วิธีป้องกันนิ่วในท่อไต
- ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- จำกัดหรือลดการรับประทานอาหารที่มีสารต่าง ๆ ที่เป็นต้นเหตุของนิ่วในไต เช่น อาหารที่สารออกซาเลตสูง (เช่น ชะพลู แคร์รอต ผักกระโดน ผักกระเฉด ผักกะหล่ำ ผักโขม ผักแพว ผักเสม็ด บรอกโคลี บีตรูต ใบมันสำปะหลัง มะเขือ มะเขือเทศ มะเดื่อ มันเทศ หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม ยอดผักทั้งหลาย น้ำชา โยเกิร์ต ช็อกโกแลต ถั่วรูปไต ถั่วเหลือง งา ลูกนัต ผลเบอร์รี่ต่าง ๆ), อาหารที่มีกรดยูริกสูง (เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล สาหร่าย หอยแครง น้ำเกรวี่ หน่อไม้ฝรั่ง ผักขม ยอดผัก ถั่วรูปไตอย่างถั่วดำและถั่วแดง), อาหารที่มีสารซีสทีนสูง (เช่น เนื้อสัตว์ นม ไก่ เป็ด) เป็นต้น
- การรับประทานวิตามินและเกลือแร่เสริมอาหาร โดยเฉพาะวิตามินซี วิตามินดี และแคลเซียม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
โดยทั่วไปนิ่วในท่อไตเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและรักษาให้หายได้ แต่ก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก ดังนั้น จึงควรปรับสมดุลของอาหารการกินให้เหมาะสม คือ การรับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย และลดอาหารที่มีสารก่อนิ่ว ร่วมกับการดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- นิ่วในไต อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคนิ่วในไต 8 วิธี !!
- นิ่วกระเพาะปัสสาวะ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 7 วิธี !!
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “นิ่วท่อไต (Ureteric stone/Ureteral stone)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 857-858.
- หาหมอดอทคอม. “นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [02 ก.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 182 คอลัมน์ : แนะยา-แจงโรค. “นิ่วในท่อไต”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [02 ก.ค. 2016].
ภาพประกอบ : www.webmd.com, www.kidneystoner.org, www.consultant360.com, www.consultant360.com, medchrome.com, lifeinthefastlane.com, www.westchesterurology.com, www.urologistindia.com, www.urology-textbook.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)