นิ่วในถุงน้ําดี (Gallstone) อาการ สาเหตุ การรักษานิ่วในถุงน้ำดี 7 วิธี !!

นิ่วในถุงน้ําดี (Gallstone) อาการ สาเหตุ การรักษานิ่วในถุงน้ำดี 7 วิธี !!

นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วน้ำดี, นิ่วถุงน้ำดี หรือนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone หรือ Cholelithiasis) คือ โรคที่เกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารประกอบในน้ำดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอเลสเตอรอล สารบิลิรูบิน (สารให้สีในน้ำดี) และเกลือแคลเซียมชนิดต่าง ๆ จึงเกิดการตกผลึกเป็นก้อนนิ่ว ซึ่งก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นอาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ และอาจมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนไปจนถึงหลายร้อยก้อนก็ได้ โดยทั่วไปโรคนี้จัดเป็นโรคไม่รุนแรงและรักษาได้เสมอ แต่โรคจะรุนแรงขึ้นเมื่อก้อนนิ่วหลุดเข้าไปในท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อน

นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคของผู้ใหญ่ที่พบได้มากขึ้นตามอายุ โดยมักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป (มักไม่พบในคนอายุต่ำกว่า 20 ปี) และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า

ชนิดของนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีแบ่งออกเป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. นิ่วในถุงน้ำดีชนิดคอเลสเตอรอล (Cholesterol gallstones) ในคนไทยพบผู้ป่วยนิ่วชนิดนี้ได้เพียงประมาณ 14% โดยเป็นนิ่วที่มีส่วนประกอบหลักเป็นคอเลสเตอรอลมากกว่า 75% ก้อนนิ่วชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นก้อนแข็งสีขาว เหลือง หรือเขียว อาจมีลักษณะเป็นก้อนกลมหรือหน้าตัด ก้อนนิ่วจะมีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 2-3 มิลลิเมตรต่อปี และมักจะเริ่มก่อให้เกิดอาการเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 8 ปีโดยเฉลี่ย

    นิ่วในถุงน้ําดี
    IMAGE SOURCE : liverandpancreassurgeon.com, www.flickr.com (by Jian-Hua Qiao)

  2. นิ่วในถุงน้ำดีชนิดเม็ดสี (Pigment gallstones) เป็นนิ่วชนิดที่พบได้มากที่สุดในคนไทยประมาณ 80% ก้อนนิ่วชนิดนี้จะมีขนาดเล็ก มีสีคล้ำเป็นสีน้ำตาลหรือดำ และมีความแข็งน้อยกว่าชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล ส่วนใหญ่จะมีสารบิลิรูบินเป็นส่วนประกอบหลักประมาณ 40-60% มีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบประมาณ 3-25% และส่วนประกอบอื่น ๆ คือ เกลือแคลเซียม มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็งหรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD นิ่วชนิดนี้แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ Black stone และ Brown stone ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแง่ของสี ลักษณะรูปร่าง ความแข็งของก้อนนิ่ว และส่วนประกอบย่อย ๆ
    • Black pigment stone หรือ Black stone เป็นนิ่วที่มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ มีความแข็ง เปราะ ผิวไม่เรียบ มักพบเป็นก้อนเล็กหลายก้อน (มักพบได้มากในผู้ป่วยที่มีภาวะ Hemolytic condition หรือตับแข็ง) การเกิดนิ่วชนิดนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อของน้ำดี

      โรคนิ่วในถุงน้ําดี
      IMAGE SOURCE : keywordsuggest.org

    • Brown pigment stone หรือ Calcium bilirubinate stone เป็นนิ่วที่มีสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะเป็นเหลี่ยม ๆ พบได้ทั้งเป็นก้อนเดี่ยว ๆ และหลายก้อนพร้อมกัน มักพบได้มากในคนเอเชีย การเกิดนิ่วชนิดนี้มักมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี และเป็นนิ่วที่เกิดได้ทั้งในถุงน้ำดีและในท่อทางเดินน้ำดี

      อาการนิ่วในถุงน้ําดี
      IMAGE SOURCE : www.flickr.com (by Jian-Hua Qiao)

  3. นิ่วในถุงน้ำดีชนิดผสม (Mixed gallstones) เป็นนิ่วที่มีส่วนผสมของสารหลายชนิดร่วมกัน เช่น คอเลสเตอรอล สารบิลิรูบิน และเกลือแคลเซียมชนิดต่าง ๆ

    Gallstone คือ
    IMAGE SOURCE : www.slideshare.net (Shashidhar Venkatesh Murthy), www.sages.org, www.flickr.com (by Jian-Hua Qiao)

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

สาเหตุของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีจะขึ้นอยู่กับชนิดของนิ่ว

  • นิ่วในถุงน้ำดีชนิดคอเลสเตอรอลและชนิดผสม ซึ่งมีคอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบหลักร่วมกับเกลือแคลเซียม กรดน้ำดี (Bile acids) ฟอสโฟไลปิด (Phospholipids) และสารอื่น ๆ เกิดจากการมีสัดส่วนของคอเลสเตอรอลต่อกรดน้ำดีและฟอสโฟไลปิดสูงกว่าปกติ จึงเกิดการตกตะกอนเป็นผลึกและกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด ทั้งนี้อาจเกิดจากมีการหลั่งคอเลสเตอรอลมาที่ถุงน้ำดีมากกว่าปกติ (เช่น ในคนอ้วน ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันหรือมีแคลอรีสูง ผู้ที่ลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้น ๆ หรือกินยาโคลไฟเบรตในการลดไขมันในเลือด) หรือมีการหลั่งกรดน้ำดีน้อยกว่าปกติ (เช่น ผู้ที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งหรือโรคลำไส้เล็กส่วนปลาย) หรือเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 อย่าง (เช่น ในผู้สูงอายุ ผู้ที่กินฮอร์โมนเอสโตรเจน) นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากปัจจัยเสริม เช่น ถุงน้ำดีมีการทำงานน้อย (Hypomotility) จึงเกิดการสะสมของผลึกนิ่ว (เช่น ในผู้ที่อดอาหาร หญิงตั้งครรภ์)
  • นิ่วในถุงน้ำดีชนิดเม็ดสี ซึ่งมีแคลเซียมบิลิรูบิเนต (Calcium bilirubinate) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญนั้น เกิดจากการมีสารบิลิรูบินชนิดไม่ละลายน้ำ (Unconjugated bilirubin) ในน้ำดีสูงเกินไป จึงเกิดการตกผลึกเป็นก้อนนิ่วชนิดเม็ดสี หรืออาจจับตัวกับผลึกคอเลสเตอรอลกลายเป็นนิ่วชนิดผสม นิ่วชนิดนี้พบได้มากในผู้ป่วยตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง (เช่น ธาลัสซีเมีย) ผู้ที่มีการติดเชื้อของทางเดินน้ำดีเรื้อรัง หรือเป็นโรคพยาธิในทางเดินน้ำดี หรือพบในผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ก้อนนิ่วในถุงน้ำดีอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลาย ๆ ก้อน และก้อนนิ่วอาจมีขนาดใหญ่มากเท่าลูกกอล์ฟหรือมีขนาดเล็กเป็นเหมือนเม็ดทรายละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ อายุ และพันธุกรรม

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี

  • เพศหญิง เพราะพบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า โดยมักพบในหญิงตั้งครรภ์ หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิด หรือกินฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนจากภาวะหมดประจำเดือน ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยดังกล่าวจะมีผลเพิ่มปริมาณของคอเลสเตอรอลในน้ำดีและลดการเคลื่อนตัวของถุงน้ำดี จึงทำให้ตกตะกอนได้ง่าย
  • ผู้สูงอายุ เพราะพบโรคนี้ได้ในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และพบได้มากขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปจะพบได้สูงมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะคนในช่วงอายุนี้เป็นโรคไขมันในเลือดสูง สูงกว่าอายุช่วงอื่น ๆ
  • เชื้อชาติ เพราะพบโรคนี้ได้สูงในบางเชื้อชาติ โดยเฉพาะในคนตะวันตกอย่างคนอเมริกาที่พบว่ามีพันธุกรรมที่ทำให้มีคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง (พบเป็นโรคนี้ประมาณ 10-20% ของประชากรผู้ใหญ่)
  • พันธุกรรม เพราะพบโรคนี้ได้สูงเมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • อาหาร ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและมีใยอาหารต่ำจะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น
  • ภาวะอ้วน (โดยเฉพาะในผู้หญิง) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลเป็นอย่างมาก เนื่องจากความอ้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณของคอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มขึ้น
  • การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะจะทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น รวมถึงถุงน้ำดีจะบีบตัวน้อยลง น้ำดีจึงคั่งอยู่ในถุงน้ำดีนานขึ้น จึงมีโอกาสเกิดการตกตะกอนได้ง่ายขึ้น
  • การกินยาลดไขมันในเลือดบางชนิด โดยเฉพาะยาโคลไฟเบรต (Clofibrate) เพราะจะส่งผลทำให้มีการเพิ่มปริมาณของคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงขึ้น
  • โรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะมีระดับของไขมันทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride ซึ่งเป็นไขมันอีกชนิดที่เพิ่มโอกาสการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี) สูงขึ้น และถุงน้ำดีจะมีการบีบตัวน้อยในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ง่ายขึ้น
  • มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง (เช่น ธาลัสซีเมีย) ซึ่งจะทำให้มีสารบิลิรูบินในน้ำดีสูงขึ้น สารนี้จึงตกตะกอนในถุงน้ำดีได้มากขึ้น จึงเกิดเป็นนิ่วได้สูงขึ้น
  • มีการอักเสบติดเชื้อของทางเดินน้ำดีเรื้อรัง เพราะจะส่งผลให้การบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง
  • โรคตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอล์
  • โรคของลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) หรือผ่าตัดลำไส้ส่วนนี้ออกไป
  • ผู้ที่อดอาหารหรือผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่ส่งผลให้กินไม่ได้และต้องให้อาหารทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่อง เพราะถุงน้ำดีจะไม่หดตัวจากการไม่มีการย่อยอาหาร (ลดการเคลื่อนไหวของถุงน้ำดี) จึงเกิดการตกตะกอนของสารต่าง ๆ ในน้ำดีได้ง่ายขึ้นและเกิดนิ่วตามมา
  • ผู้ที่เป็นโรคพยาธิในทางเดินน้ำดี

อาการของนิ่วในถุงน้ำดี

ส่วนใหญ่ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็นแต่อย่างใด และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายด้วยโรคอื่น ๆ แต่เมื่อมีอาการเกิดขึ้น อาการที่พบได้บ่อย คือ (ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ)

  • ในบางรายที่ก้อนนิ่วเคลื่อนไปอุดในท่อน้ำดี (Bile duct) จะมีอาการปวดแบบปวดดิ้นหรือปวดบิดรุนแรงเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงด้านขวา ซึ่งอาจปวดร้าวมาที่ไหล่ขวา หรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย บางรายอาจปวดรุนแรงจนเหงื่อออก เป็นลม
  • อาการปวดท้องมักเกิดขึ้นหลังจากที่รับประทานอาหารมัน ๆ หรือรับประทานอาหารมื้อหนัก หรือตอนกลางคืน ซึ่งในแต่ละครั้งผู้ป่วยจะมีอาการปวดนานประมาณ 15-30 นาที (บางรายอาจนาน 2-6 ชั่วโมง) และจะทุเลาไปเอง เมื่อเว้นไปนานเป็นแรมสัปดาห์ แรมเดือน หรือแรมปีอาการปวดก็อาจกำเริบขึ้นมาได้อีก (ถ้าปวดท้องทุกวันมักจะไม่ใช่นิ่วในถุงน้ำดี)
  • บางรายอาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อบริเวณเหนือสะดือ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาการอาหารไม่ย่อยได้ ซึ่งมักจะเป็นหลังจากที่รับประทานอาหารมัน ๆ หรือหลังอาหารมื้อใหญ่ เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
  • เมื่อมีการอักเสบติดเชื้อของถุงน้ำดีร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำ
  • บางรายอาจมีอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม) จากสารบิลิรูบินที่คั่งอยู่ในถุงน้ำดีอย่างต่อเนื่องในตับและในเลือด เพราะถุงน้ำดีไม่บีบตัว ปัสสาวะจึงมีสีเหลืองเข้ม และลำไส้ขาดน้ำดี อุจจาระจึงมีสีซีดลง

อาการนิ่วในถุงน้ำดี
IMAGE SOURCE : www.ehealthstar.com, hubpages.com

ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในถุงน้ำดี

อาจทำให้เกิดถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) ท่อน้ำดีอักเสบ (Ascending cholangitis) และตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) ซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวอาจเป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจเอกซเรย์หรืออัลตราซาวนด์ภาพถุงน้ำดีที่ช่องท้องส่วนบน ซึ่งจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้เป็นอย่างดี และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูการติดเชื้อ, การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ, การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic retrograde cholangiopancreatography – ERCP) เมื่อสงสัยว่ามีนิ่วในท่อน้ำดี, การใช้เข็มเจาะผ่านตับเข้าไปในท่อน้ำดี (Percutaneous transhepatic cholangiography – PCT) ซึ่งจะทำในกรณีที่ท่อน้ำดีอุดตัน เป็นต้น

นิ่วในถุงน้ําดีอาการ
IMAGE SOURCE : gallbladderpictures.com, www.stefajir.cz, www.med-ed.virginia.edu, londongallstoneclinic.com

สำหรับการตรวจร่างกาย แพทย์มักไม่พบสิ่งผิดปกติและผู้ป่วยมักไม่มีไข้ แต่บางครั้งอาจตรวจพบอาการกดเจ็บเล็กน้อยบริเวณใต้ลิ้นปี่และใต้ชายโครงด้านขวา และบางรายอาจมีอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง)

วิธีรักษานิ่วในถุงน้ำดี

  1. ไปพบแพทย์ ถ้ามีอาการปวดท้องที่ชวนให้น่าสงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หรือไปพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หลังจากพบแพทย์ การดูแลตนเองของผู้ป่วยให้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
  1. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการท้องอืดท้องเฟ้อให้กินยาลดกรด หรือยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ, ถ้ามีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ ให้ใช้ยาแอนติสปาสโมดิก (Antispasmodics) เช่น อะโทรปีน (Atropine) ไฮออสซีน (Hyoscine) ซึ่งอาจใช้เป็นชนิดฉีดหรือกินก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของผู้ป่วย, ให้ยาปฏิชีวนะเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียของถุงน้ำดีร่วมด้วย และให้ผู้ป่วยงดการรับประทานอาหารมัน ๆ
  2. การใช้ยาละลายนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งมักไม่ค่อยได้ผล ใช้ได้เฉพาะกับนิ่วบางชนิด และไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยส่วนใหญ่ในบ้านเราที่นิ่วมักมีส่วนประกอบหลักเป็นแคลเซียมซึ่งเป็นนิ่วที่แข็ง อีกทั้งผู้ป่วยยังต้องรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน และเมื่อหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีกประมาณ 10% ต่อปี หรือประมาณ 50% ในระยะเวลา 5 ปี ฉะนั้นการรักษาที่แน่นอนจึงคือการตัดถุงน้ำดีออกไป
    • ยาละลายนิ่วในถุงน้ำดีที่ว่า คือ “กรดชีโนดีโอออกซีโคลิก” (Chenodeoxycholic acid – CDCA) ซึ่งพบว่าใช้ได้ผลดีและเหมาะกับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น (ส่วนประกอบหลักของนิ่วเป็นคอเลสเตอรอล) และผู้ป่วยอาจต้องกินยานี้นานเป็นปี ๆ โดยตัวยานี้จะช่วยปรับสมดุลของน้ำดีจากน้ำดีที่มีคอเลสเตอรอลอิ่มตัวมาเป็นน้ำดีที่ด้อยไปด้วยคอเลสเตอรอล ซึ่งคอเลสเตอรอลที่ประกอบอยู่ในก้อนนิ่วจะละลายมาอยู่ในน้ำดีทำให้ก้อนนิ่วมีขนาดเล็กลงจนหมดไป
    • ข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยในการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ ถุงน้ำดียังทำหน้าที่ได้เป็นปกติ, เป็นนิ่วที่ไม่ทึบรังสี (ส่วนประกอบหลักของนิ่วเป็นคอเลสเตอรอล), เป็นก้อนนิ่วขนาดเล็ก ๆ หลายก้อน (เล็กกว่า 1.7 เซนติเมตร), เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเจ็บปวดรุนแรงหรือมีอาการเจ็บปวดอยู่บ่อย ๆ, เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด แต่ผู้ป่วยปฏิเสธการผ่าตัดหรือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัด, ผู้ป่วยต้องไม่มีโรคตับ
    • ระยะเวลาการรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนนิ่ว ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ประมาณ 70-80% จะละลายได้ภายใน 6 เดือน แต่ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่อาจจะต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี ประมาณ 60% ของผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้ ก้อนนิ่วจะละลายหมดไปแต่ยังคงต้องกินยานี้ต่อไปอีกหลาย ๆ ปี ถ้าหยุดยาก้อนนิ่วก็จะเกิดขึ้นได้อีกในอัตราที่ค่อนข้างสูง
    • ยานี้มีผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ อาการท้องเสีย (เพราะต้องใช้ยาในขนาดสูง) และตับมีการอักเสบเล็กน้อย
    • ในบางรายแพทย์อาจรักษาโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสลายนิ่วก่อนแล้วจึงค่อยให้ยาละลายนิ่วตาม
  3. การใช้วิธีสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Extracorporeal shock wave lithotripsy – ESWL) เป็นการใช้คลื่นเสียงกระแทกนิ่วให้แตก หลังการทำผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง และมีอัตราสำเร็จต่ำ ในปัจจุบันแพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในการสลายนิ่วในถุงน้ำดีกับผู้ป่วยไทยแล้ว เพราะนิ่วของคนไทยส่วนใหญ่จะไม่ใช่นิ่วที่มีส่วนประกอบหลักเป็นคอเลสเตอรอล แต่มักจะเป็นนิ่วที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมที่สูง ทำให้ก้อนนิ่วมีความแข็งและแตกได้ยาก แม้จะสลายนิ่วให้แตกได้ นิ่วที่เคลื่อนลงมาก็จะมีโอกาสมาติดและทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินน้ำดีจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรงได้ นอกจากนี้หลังการรักษาผู้ป่วยยังต้องรับประทานยาละลายนิ่วต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ปี และการที่มีถุงน้ำดีเหลืออยู่ก็มักจะทำให้เกิดนิ่วขึ้นใหม่ได้อีกดังที่กล่าวไป
    • ข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยในการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ เป็นนิ่วที่ไม่ทึบต่อรังสี (หรือเข้าใจว่าเป็นนิ่วคอเลสเตอรอล) และถุงน้ำดียังทำหน้าที่ได้เป็นปกติ, สามารถใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ตรวจพบก้อนนิ่วได้ชัดเจนและสามารถใช้เครื่อง ESWL เล็งเข้าที่ก้อนนิ่วได้, เป็นนิ่วที่มีอาการ และก้อนนิ่วมีขนาดไม่เกิน 30 มิลลิเมตร (แม้จะมีหลายก้อน ขนาดรวมกันทุกก้อนแล้วก็ต้องไม่เกิน 30 มิลลิเมตร)
    • ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาละลายนิ่ว (CDCA) ก่อนการรักษาด้วยวิธีนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีอาการแพ้ยา เพราะหลังจากยิงนิ่วให้แตกแล้วผู้ป่วยจะต้องกินยานี้ต่อไปอีกสักพักเพื่อให้นิ่วหมดไปโดยสมบูรณ์
  4. การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก (Cholecystectomy) เป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวรเพื่อไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นอีกต่อไป และป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ ได้ ซึ่งการผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ
    • การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง (Open cholecystectomy) ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดแบบเดิม ในปัจจุบันแพทย์จะเลือกใช้ในการผ่าตัดถุงน้ำดีที่มีอาการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง (หลังการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยไม่ควรทำงานหนักหรือยกของหนักอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์)
    • การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic cholecystectomy) ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่และได้กลายเป็นการรักษามาตรฐานเพื่อรักษาภาวะนิ่วในถุงน้ำดีมานานแล้ว โดยจะเป็นการเจาะรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง 4 จุด ทำให้เจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว 1-2 วันก็กลับบ้านได้ และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติตราบที่ผู้ป่วยยังมีความรู้สึกเป็นปกติ (ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ถ้าเป็นมากบางครั้งอาจจำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ด้วยวิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องหรือแบบเดิม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป) แต่การผ่าตัดควรทำโดยศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ (เช่น การผ่าตัดโดนท่อน้ำดี ท่อน้ำดีรั่ว หรือท่อน้ำตัน) ในการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ถ้าผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันก็สามารถทำได้สำเร็จถึง 90% ถ้าถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเกิน 3 วัน โอกาสผ่าตัดโดยวิธีนี้ก็จะสำเร็จได้น้อยลง
      • วิธีการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้อง ศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้องด้วยเครื่องมือที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการเจาะหน้าท้องอย่างปลอดภัย รวม 4 แห่ง (ขนาดของรู 1 เซนติเมตร ที่สะดือ 1 แห่ง และขนาดของรูประมาณ 0.5 เซนติเมตร อีก 3 แห่ง) และใส่กล้องที่มีก้านยาว ๆ และเครื่องมือต่าง ๆ ผ่านรูที่ผนังหน้าท้องลงไป (ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นถุงน้ำดีและอวัยวะต่าง ๆ ได้จากหน้าจอโทรทัศน์ที่กล้องส่งสัญญาณภาพมา) แล้วจึงเลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตับ และใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนการใช้ไหมเย็บแผล ก่อนจะตัดขั้วของถุงน้ำดี แล้วเลาะส่วนที่เหลือให้ออก เมื่อตัดถุงน้ำดีได้แล้ว จะบรรจุใส่ถุงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ แล้วดึงออกจากร่างกายบริเวณรูสะดือ จากนั้นศัลยแพทย์จะตรวจความเรียบร้อยเป็นขั้นสุดท้ายก่อนที่จะดึงเครื่องมือและกล้องออกแล้วค่อยเย็บปิดแผล (ในผู้ป่วยบางรายถ้ามีการอักเสบมาก อาจต้องมีการใส่ท่อระบายไว้ 2-3 วัน)
      • ข้อดีของการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้อง คือ อาการปวดแผลหลังการผ่าตัดจะน้อยกว่า (เพราะแผลมีขนาดเล็กกว่า), แผลมีขนาดเล็ก ดูแลได้ง่าย และมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่าแผลขนาดใหญ่จากการผ่าตัดแบบเดิม, เมื่อแผลหายจะเป็นรอยเล็ก ๆ บนหน้าท้องเท่านั้น, ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน (การผ่าตัดแบบเดิมจะต้องอยู่โรงพยาบาลนาน 7-10 วัน), ใช้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดเพียง 1 สัปดาห์ (ทำให้กลับไปทำงานตามปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิมที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 เดือน)

        ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี
        IMAGE SOURCE : www.mayoclinic.org

  5. รอเวลาที่เหมาะสม ในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดีที่ยังไม่มีอาการแสดงอะไรเลย แต่ตรวจพบโดยบังเอิญในขณะที่ตรวจรักษาโรคอื่น อาจจะยังไม่จำเป็นต้องรีบทำการผ่าตัด เนื่องจากมักเป็นนิ่วก้อนเล็กและอยู่ลึกที่ก้นถุงน้ำดี ซึ่งจะไม่ก่ออันตรายแก่ผู้ป่วย และแพทย์จะนัดติดตามดูเป็นระยะ ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการ (เช่น ปวดท้อง) หรือมีโรคแทรกซ้อนจากถุงน้ำดี แล้วจึงค่อยทำการผ่าตัดให้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ซึ่งจะพิจารณากับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป (ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดอาการปวดท้องจากนิ่วในถุงน้ำดีที่ซ่อนอยู่ประมาณร้อยละ 1-2 ต่อปี) เพราะแพทย์บางท่านอาจเห็นว่าควรทำการผ่าตัดไปเลยก่อนที่จะมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะการผ่าตัดในขณะที่ยังไม่มีอาการจะมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัดน้อยกว่าเมื่อผ่าตัดในช่วงที่มีอาการ เช่น โอกาสติดเชื้อในทางเดินน้ำดี
  6. การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic retrograde cholangiopancreatography – ERCP) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย เพื่อเอานิ่วที่อยู่ในท่อน้ำดีออกมา

คำแนะนำและข้อควรรู้เกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี

  1. ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งถุงน้ำดี มักพบว่ามีนิ่วร่วมด้วยเป็นส่วนใหญ่
  2. นิ่วในถุงน้ำดีไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้เครื่องสลายนิ่ว
  3. การรักษาโดยใช้ยาละลายนิ่วจะใช้ได้เฉพาะกับนิ่วบางชนิดเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน และเมื่อหยุดยาแล้วก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก อีกทั้งนิ่วของคนไทยส่วนใหญ่ก็มักจะไม่สามารถละลายได้ด้วยยา ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุดจึงคือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไป
  4. ผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่าตัดถุงน้ำดีออกทุกรายหรือไม่ ?
    • ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย มีสุขภาพแข็งแรงดี และยังไม่มีอาการแสดงของโรค อาจรอสังเกตอาการดูกับแพทย์ทุก 6 เดือน
    • ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งหากปล่อยให้มีการอักเสบของถุงน้ำดีเกิดขึ้นและต้องผ่าตัดฉุกเฉิน จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น แพทย์จึงมักจะแนะนำให้ผ่าตัดถุงน้ำดีออกเลยในขณะที่ยังไม่มีอาการ เนื่องจากมีความปลอดภัยกว่าและการผ่าตัดโดยการส่องกล้องมีโอกาสสำเร็จสูงกว่า
    • ผู้ป่วยที่มีอาการต้องผ่าตัดทุกราย
    • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงมาก ๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนที่คุมอาการไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้การผ่าตัดตามความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป
  5. เมื่อผ่าตัดถุงน้ำดีออกแล้วจะมีผลอะไรหรือไม่ จะทำให้พิการหรือเปล่า ?
    • น้ำดีถูกสร้างจากตับและมาเก็บไว้ในถุงน้ำดี (ถุงน้ำดีจึงเป็นเพียงตัวเก็บพักน้ำดีเท่านั้น) เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป (เช่น อาหารที่มีไขมันอย่างข้าวขาหมู) ถุงน้ำดีจะบีบตัวไล่น้ำดีออกมาเพื่อช่วยย่อยไขมัน ดังนั้น ในกรณีที่มีการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไปแล้ว น้ำดีก็จะยังคงถูกสร้างจากตับและไหลลงมาตามท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยไขมันได้ตามปกติ เพียงแต่อาจจะไม่เข้มข้นเท่าเดิม จึงทำให้เรารับประทานอาหารพวกมัน ๆ ได้น้อยลง และอาจจะต้องเน้นการรับประทานผักผลไม้และปลาให้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีก็มักจะมีอายุ 40-60 ปีขึ้นไป และต้องจำกัดการรับประทานอาหารประเภทมัน ๆ อยู่แล้ว ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารพวกมัน ๆ มากเกินไปก็อาจทำให้มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อหรือถ่ายอุจจาระเป็นมันได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะสามารถปรับตัวเองได้ครับ จึงไม่ต้องเป็นกังวลครับ
  6. หลังการผ่าตัดผู้ป่วยควรมาติดตามให้แพทย์ตรวจหลังการผ่าตัดอีก 1-2 ครั้ง ตามคำแนะนำที่เหมาะสม และควรสังเกตภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เช่น แผลอักเสบ เป็นไข้ มีอาการปวดท้อง มีภาวะดีซ่าน ควรกลับมาแจ้งและให้แพทย์ตรวจซ้ำ
  7. ประมาณ 10% ของผู้ที่ไม่มีถุงน้ำดี อาจมีอาการท้องเสียจากการที่น้ำดีไหลออกมาตลอดจากการที่ไม่มีถุงน้ำดีเป็นตัวพักเก็บน้ำดีได้

วิธีป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี

การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้

  • รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไปหรือเป็นโรคอ้วน
  • ลดอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง
  • ถ้าต้องการลดน้ำหนักตัว ควรหาวิธีลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง และไม่ลดน้ำหนักเร็วจนเกินไป
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “นิ่วน้ำดี (Gallstone)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 512-515.
  2. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “นิ่วในถุงน้ำดี”.  (รศ.นพ.ดรินทร์ โล่ห์สิริวัฒน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [21 ก.พ. 2017].
  3. หาหมอดอทคอม.  “นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี (Gallstone)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [22 ก.พ. 2017].
  4. Siamhealth.  “นิ่วในถุงน้ำดี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [22 ก.พ. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด