นิ่วกระเพาะปัสสาวะ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 7 วิธี !!

นิ่วกระเพาะปัสสาวะ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 7 วิธี !!

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือ นิ่วกระเพาะปัสสาวะ (Bladder stone, Urinary bladder stone, Vesical calculi, Vesical calculus) เป็นนิ่วที่พบได้ประมาณ 5% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะทั้งหมด (ไต หลอดไต และกระเพาะปัสสาวะ) เป็นโรคที่พบได้บ้างประปรายในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่พบได้บ่อยในบ้านเรา โดยเฉพาะคนทางภาคอีสานและภาคเหนือ

โรคนี้สามารถพบเกิดได้ในคนทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ พบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในเด็กผู้ชายที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี และในหมู่ชาวชนบทที่มีฐานะยากจน ทั้งนี้สาเหตุการเกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนี้มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของประชาชนในท้องถิ่นเหล่านี้ เช่น การป้อนข้าวเหนียวหรือข้าวย้ำแก่ทารกเล็ก ๆ โดยได้รับอาหารที่มีโปรตีนเพียงเล็กน้อย

สาเหตุของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

จากการศึกษาของศูนย์วิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่านิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่พบในภาคอีสานและภาคเหนือ มีสาเหตุมาจากการขาดสารฟอสเฟต ซึ่งมีมากในอาหารประเภทโปรตีน ร่วมกับการรับประทานผักที่มีสารออกซาเลต (Oxalate) สูง และดื่มน้ำน้อย จึงทำให้มีการสะสมผลึกของสารแคลเซียมออกซาเลตในกระเพาะปัสสาวะ จนกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด

นอกจากสาเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว ในคนทั่วไปยังอาจพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะร่วมกับภาวะอุดกั้นของท่อปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะหย่อน (Cystocele) กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานเนื่องจากเป็นอัมพาต (Neurogenic bladder) เป็นต้น

ก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะอาจมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่มีขนาดเท่าเม็ดทรายไปจนขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร อาจมีเพียงก้อนเดียวหรือมีหลายก้อน และก้อนนิ่วอาจมีลักษณะค่อนข้างนุ่ม แข็งพอประมาณ ไปจนถึงแข็งมากก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดหรือสารที่เป็นส่วนประกอบของนิ่ว ซึ่งนิ่วแต่ละก้อนอาจประกอบด้วยสารชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียวหรือสารหลาย ๆ ชนิดผสมปนกันก็ได้ ได้แก่

  • แคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดประมาณ 80%
  • แคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate)
  • แมกนีเซียมฟอสเฟต (Magnesium phosphate)
  • แอมโมเนียมฟอสเฟต (Ammonium phosphate)
  • แอมโมเนียมแมกนีเซียมฟอสเฟต (Ammonium magnesium phosphate)
  • แคลเซียมไฮดรอกซีฟอสเฟต (Calcium hydroxyphosphate)
  • กรดยูริก (Uric acid)
  • ซีสทีน (Cystine)
  • แซนทีน (Xanthine)
  • อื่น ๆ เช่น Indigotin, Urostealith, Sulfonamide

อาการนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

สำหรับกลไกการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้นมาจากมีการตกตะกอนของสารที่ประกอบขึ้นเป็นนิ่วดังกล่าวในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อเกิดเรื้อรัง สารเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นก้อน (เรียกว่า “ก้อนนิ่ว“) โดยสาเหตุที่ทำให้สารเหล่านี้ตกตะกอนได้ง่ายมักเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน (แต่อาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียวก็ได้) ได้แก่

  • มีปริมาณของสารตกตะกอนต่าง ๆ ดังกล่าวสูงในปัสสาวะ เช่น จากการดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นของเกลือแร่มาก, จากการรับประทานอาหารบางประเภทที่มีสารดังกล่าวสูง (เช่น เครื่องในสัตว์ แคลเซียมจากการเสริมอาหารด้วยเกลือแร่แคลเซียมในปริมาณสูง), จากการรับประทานอาหารที่มีสารออกซาเลต (Oxalate) สูงหรือสูงปานกลางอย่างต่อเนื่อง
  • การกักค้างของปัสสาวะเรื้อรังในกระเพาะปัสสาวะ ที่พบได้บ่อยคือ มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น จากท่อปัสสาวะตีบแคบซึ่งอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด เป็นสาเหตุหนึ่งของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะในเด็กหรือจากโรคต่อมลูกหมากโตในผู้ชายตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป หรือจากโรคสมองหรือโรคทางเส้นประสาทที่ทำให้ปัสสาวะไม่คล่อง เช่น โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคกะบังลมหย่อนในผู้หญิง หรือจากการดื่มน้ำน้อย (ส่วนการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ ประมาณ 6-8 ชั่วโมง จะไม่ทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แต่การคั่งของน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะในผู้ป่วยที่ถ่ายไม่หมดนั้น จะต้องใช้เวลานานเป็นเดือนถึงจะมีนิ่วเกิดขึ้นได้)
  • กระเพาะปัสสาวะมีการระคายเคืองเรื้อรัง เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง การใส่สายสวนปัสสาวะเรื้อรัง เช่น ในผู้ป่วยอัมพาต หรือมีโรคถุงในกระเพาะปัสสาวะ (Diverticulum)
  • มีนิ่วหลุดลงมาจากไตแล้วมาสะสมจนโตขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งในกรณีจะตรวจพบนิ่วในไตร่วมด้วยเสมอ

อาการของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการแสดง แพทย์มักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการเอกซเรย์ช่องท้องจากโรคอื่น ๆ เช่น ปวดท้องหรือปวดหลัง ส่วนในรายที่แสดงอาการ จะมีอาการที่พบได้บ่อยคือ

  • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจร่วมกับปวดหลังเรื้อรัง
  • การปัสสาวะผิดปกติหรือมีอาการขัดเบา (เนื่องจากก้อนนิ่วลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ) ทำให้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะลำบาก ปวดเบ่งคล้ายว่ายังถ่ายปัสสาวะไม่สุด ปวดแสบปวดร้อน ปัสสาวะสะดุดและออกเป็นหยด ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ผู้ป่วยบางรายอาจปัสสาวะออกเป็นเลือดหรือมีสีน้ำตาลล้างเนื้อ หรืออาจถ่ายปัสสาวะเป็นก้อนนิ่วหรือเม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ หรือปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปนอยู่
  • หากก้อนนิ่วตกลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะไม่ออก และมีปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปัสสาวะแสบปวดร้อน โดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด มีไข้ ปวดเนื้อตัว และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

  • ทางเดินปัสสาวะอุดตันจากก้อนนิ่วหลุดเข้าท่อปัสสาวะ ทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดเบ่งปัสสาวะมาก ปัสสาวะไม่ออก ทั้งนี้อาการต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและมักรุนแรงจนต้องพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน
  • มักทำให้มีอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะจากการติดเชื้อ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังหรือก้อนนิ่วอยู่ในตำแหน่งอุดกั้นปากท่อไตที่เปิดเข้ากระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้กรวยไตอักเสบและไตวาย
  • การอักเสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะจากนิ่วอาจลุกลามจนเกิดการอักเสบติดเชื้อของไต และ/หรือการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อได้

โดยทั่วไปนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง และสามารถรักษาให้หายได้เสมอ แต่โรคจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีนิ่วในไตร่วมด้วย หรือมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเกิดขึ้น

การวินิจฉัยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้จากประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ การตรวจเอกซเรย์ช่องท้อง ตรวจอัลตราซาวนด์ และถ้าจำเป็นอาจต้องมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เป็นต้น

การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

อาการขัดเบาหรือถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด นอกจากนิ่วแล้วยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอก ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

วิธีรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

แนวทางการรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ขนาดของก้อนนิ่ว และสาเหตุของการเกิดนิ่ว ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อรักษาหายแล้ว มักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยมีแนวทางในการรักษาดังนี้

  • รักษาโดยดื่มน้ำให้มาก ๆ เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร เพื่อช่วยให้ขับนิ่วออกมาเอง
  • การสลายก้อนนิ่วด้วยคลื่นเสียง
  • การรักษาด้วยการใช้กล้องส่องหรือเครื่องมือเข้าไปขบ กรอนิ่ว หรือคีบเอานิ่วออก เหมาะสำหรับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่มีขนาดเล็ก สามารถสอดกล้องเข้าไปตามท่อปัสสาวะได้เลย และไม่ทำให้มีแผลผ่าตัด
  • การรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะเพื่อเอานิ่วออกมา เหมาะสำหรับก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่
  • การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ถ้าโรคเกิดจากการดื่มน้ำน้อย หรือผ่าตัดต่อมลูกหมากเมื่อมีต่อมลูกหมากโตจนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีสารประกอบของนิ่วต่ำ (แพทย์ทราบได้จากการสอบถามเรื่องอาหารการกินของผู้ป่วย และจากการตรวจก้อนนิ่วทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูสารประกอบของนิ่ว)
  • การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวด หรือให้ยาปฏิชีวนะเมื่อมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
  • การดูแลตนเองเมื่อเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
    1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    2. ดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม หรือดื่มน้ำตามที่แพทย์แนะนำ
    3. จำกัดการรับประทานอาหารที่มีสารออกซาเลตสูง (Oxalate)
    4. ผู้ป่วยไม่ควรซื้อแคลเซียมเสริมอาหารมารับประทานเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
    5. ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวร้ายลงหรือผิดปกติไปจากเดิม
    6. ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการทางปัสสาวะและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังจากดูแลตนเอง เช่น ปวด เบ่ง ขัด สะดุด มีเลือด
    7. เมื่อรักษาหายแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นนิ่วซ้ำอีก ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในหัวข้อวิธีป้องกัน

วิธีป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

  • รับประทานอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งอาหารเหล่านี้จะมีปริมาณของสารฟอสเฟตสูง
  • ลดการรับประทานผักที่มีสารออกซาเลตสูง (Oxalate) หรือสูงปานกลางอย่างต่อเนื่อง เช่น ชะพลู แคร์รอต ผักกระโดน ผักกระเฉด ผักกะหล่ำ ผักโขม ผักแพว ผักเสม็ด บรอกโคลี บีตรูต ใบมันสำปะหลัง มะเขือ มะเขือเทศ มะเดื่อ หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม ยอดผักทั้งหลาย โยเกิร์ต ถั่วเหลือง ถั่วรูปไต งา ลูกนัต ผลเบอร์รี่ต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร หรือไม่ต่ำกว่าวันละ 10 แก้ว
  • รับประทานแคลเซียมเสริมเฉพาะตามคำแนะนำของแพทย์
  • เมื่อมีอาการผิดปกติทางการถ่ายปัสสาวะ ควรไปพบแพทย์เสมอหลังจากดูตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน เพื่อป้องกันการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง
คำถามที่พบบ่อย

1.) อาหารที่รับประทานจะเป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วมากน้อยเพียงใด ?
ตอบ การรับประทานอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์หรือประเภทเนื้อปริมาณมาก จะพบว่ามีการขับเกลือแร่ชนิดหนึ่งคือ กรดยูริก (Uric acid) ออกมาในน้ำปัสสาวะมาก หรือรับประทานยอดผักหรือหน่อไม้มาก ๆ ก็จะมีโอกาสทำให้เกิดนิ่วจากสารออกซาเลต (Oxalate) ได้อีก ฉะนั้นผู้ป่วยที่เคยเป็นนิ่วด้วยสาเหตุนี้มาก่อนก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกและเป็นบ่อย ๆ ถ้ายังไม่ลดหรือจำกัดการรับประทานอาหารเหล่านี้

2.) ผู้ป่วยโรคนิ่ว ถ้ารับประทานผักมาก ๆ ไม่ได้ จะได้รับวิตามินจากผักที่ไหน ?
ตอบ ขึ้นอยู่กับชนิดของนิ่วและไม่ใช่ผักทุกชนิดจะรับประทานไม่ได้ เพราะมีผักบางประเภทเท่านั้นที่คาดว่าเป็นสาเหตุของการเกิดนิ่ว เพราะฉะนั้นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์จะดีกว่าว่าเป็นนิ่วชนิดใด

3.) การดื่มน้ำที่มีตะกอนจะมีส่วนทำให้เป็นนิ่วได้หรือไม่ ?
ตอบ การดื่มน้ำที่มีตะกอนหรือไม่ได้แกว่งสารส้มนั้น ไม่คิดว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดนิ่วได้ เพราะตะกอนจะเข้าไปอยู่ในลำไส้ จึงไม่น่าจะทำให้เกิดเป็นนิ่วได้

4.) การกระโดดเชือกจะช่วยรักษาโรคนิ่วได้จริงหรือ ?
ตอบ การกระโดดเชือกนั้นเป็นการให้คำแนะนำโดยแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในหลอดไตในขณะที่รอให้หลุดเองเท่านั้น ซึ่งวิธีนี้อาจมีส่วนช่วยทำให้นิ่วหลุดเร็วขึ้นได้ แต่การดื่มน้ำให้มาก ๆ เพียงอย่างเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้ว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “นิ่วกระเพาะปัสสาวะ (Vesical calculus/Bladder stone)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 859-860.
  2. S. Materazzi, R. Curini, G. D’Ascenzo, and A. D. Magri (1995), TG-FTIR coupled analysis applied to the studies in urolithiasis: characterization of human renal calculi. Termochimica Acta, volume 264, 75–93.
  3. หาหมอดอทคอม.  “นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Vesical calculi)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [29 มิ.ย. 2016].
  4. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “นิ่วทางเดินปัสสาวะ”.  (ศ.นพ.ธงชัย พรรณลาภ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [30 มิ.ย. 2016].

ภาพประกอบ : www.webmd.com, wikipedia.org (by Steven Fruitsmaak), dxline.org, radiopaedia.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด