นางพญาเสือโคร่ง
นางพญาเสือโคร่ง ชื่อสามัญ Wild Himalayan Cherry, Sour cherry
นางพญาเสือโคร่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cerasus cerasoides (Buch.-Ham. ex D. Don) S.Y. Sokolov (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Prunus cerasoides Buch.-Ham. ex D. Don, Prunus majestica Koehne, Prunus puddum (Roxb. ex Ser.) Brandis) จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ (ROSACEAE)[1]
สมุนไพรนางพญาเสือโคร่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ซากุระดอย (เชียงใหม่), ฉวีวรรณ ชมพูภูพิงค์ (ภาคเหนือ), คัวเคาะ เส่คาแว่ เส่แผ่ แส่ลาแหล (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ยาแก่ะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[3]
หมายเหตุ : ต้นนางพญาเสือโคร่ง ได้รับฉายาว่า “ซากุระเมืองไทย” เนื่องจากมีลักษณะคล้ายซากุระ และในประเทศญี่ปุ่นจะเรียกดอกไม้ของพรรณไม้ชนิดนี้ว่า “ฮิมาลายาซากุระ” (ヒマラヤザクラ)
ลักษณะของนางพญาเสือโคร่ง
- ต้นนางพญาเสือโคร่ง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมโปร่ง เปลือกต้นเรียบเป็นมัน สีเหลือบน้ำตาล เยื่อผิวบาง หลุดลอกง่าย ตามกิ่งอ่อนมีขนละเอียด พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติทางตอนใต้ของประเทศจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น โดยพบขึ้นในป่าที่ระดับความสูงประมาณ 500-1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000-2,000 เมตร เช่น บนดอยเชียงดาว ดอยอินทนนท์ ฯลฯ[1],[2],[3]
- ใบนางพญาเสือโคร่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือสอบแคบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยละเอียด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ปลายก้านใบมีต่อมประมาณ 2-4 ต่อม หูใบแตกแขนงเป็นรูปคล้ายเขากวางหรือคล้ายเป็นริ้วเล็ก ๆ ใบร่วงได้ง่าย[1],[2],[3]
- ดอกนางพญาเสือโคร่ง ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง ก้านดอกยาวประมาณ 0.7-2 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกนางพญาเสือโคร่งจะมีหลายเฉดสี ทั้งสีชมพูอ่อน สีชมพูเข้ม สีชมพูแดง สีแดง หรือสีขาว แต่ที่หาได้ยากที่สุดคือสีขาว ขอบริ้วประดับจักไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และจะทิ้งใบก่อนการออกดอก[1],[2],[3]
- ผลนางพญาเสือโคร่ง เมื่อดอกได้รับการผสมจะติดเป็นผล ซึ่งจะเป็นผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยผลจะเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน รูปกระสวย รูปไข่หรือกลม ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ฉ่ำน้ำ ผิวผลเกลี้ยง ผลสุกเป็นสีแดงแบบลูกเชอร์รี่ มีรสเปรี้ยว[1],[2]
หมายเหตุ : ต้นนางพญาเสือโคร่งมีความแตกต่างจากซากุระญี่ปุ่นตรงที่ช่วงเวลาการออกดอก คือ นางพญาเสือโคร่งจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ (ฤดูหนาว) ส่วนซากุระในญี่ปุ่นจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน (ฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น) และยังมีข้อสันนิษฐานว่าพรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้มีบรรพบุรุษร่วมกันทางตอนใต้ของจีน และมีวิวัฒนาการออกไปจนมีหลากหลายสายพันธุ์
สรรพคุณของนางพญาเสือโคร่ง
- ชาวเขาเผ่ามูเซอจะใช้เปลือกต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นยาแก้ไอ ลดน้ำมูก แก้อาการคัดจมูก (เปลือกต้น)[1]
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำ ดื่มรักษาอาการหนาวสั่นจากอาการไข้ (เปลือกต้น)[2]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้เลือดกำเดาไหล (เปลือกต้น)[1]
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น)[2]
- เปลือกต้นใช้ตำคั้นเอาน้ำทาหรือพอกแก้ฟกช้ำ แก้ข้อแพลง ปวดข้อ (เปลือกต้น)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของนางพญาเสือโคร่ง
- สารสกัดจากลำต้นนางพญาเสือโคร่งด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้สัตว์ทดลอง[1]
ประโยชน์ของนางพญาเสือโคร่ง
- ผลของนางพญาเสือโคร่งมีรสเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานได้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก และไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ท้องเสียได้[2]
- เนื้อไม้อ่อน สามารถนำมาใช้ทำด้ามเครื่องมือการเกษตรได้
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากออกดอกดกและมีความสวยงาม และยังใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำ เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว ทนทานต่อไฟป่า และต้องการแสงมาก จึงเหมาะนำไปปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าดิบเขาในพื้นที่ต้นน้ำ หรือปลูกในพื้นที่ที่ผ่านการทำไร่เลื่อนลอยบนพื้นที่สูง แต่ไม่ควรนำไปปลูกบนพื้นที่ที่มีลมพัด เพราะจะทำให้กิ่งก้านหักได้ง่าย[2]
ซากุระเมืองไทย
สำหรับสถานที่เที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่งในประเทศไทยก็มีอยู่หลายที่ด้วยกัน เช่น ขุนช่างเคี่ยน จ.เชียงใหม่ (เป็นสถานที่เที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่งยอดฮิตของภาคเหนือ), ขุนแม่ยะ (หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ) จ.แม่ฮ่องสอน, สถานีเกษตรหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่, ดอยช้าง-ดอยวาวี จ.เชียงราย, ดอยแม่ตะมาน จ.เชียงใหม่, ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่, ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่, ภูลมโล จ.เลย เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ฉวีวรรณ”. หน้า 177.
- สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “นางพญาเสือโคร่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [08 ม.ค. 2015].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ชมพูภูพิงค์, นางพญาเสือโคร่ง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [07 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by kampee patisena, Jeeranan R, Min Sheng Khoo, Tassaphon Vongkittipong, Jim Mayes, Saroj Kumar Kasaju, norsez, Nareerat Klinhom, kampee patisena)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)