นาคราช
นาคราช ชื่อสามัญ Rat tail Cactus, Rat’s tail Cactus[1]
นาคราช ชื่อวิทยาศาสตร์ Disocactus flagelliformis (L.) Barthlott (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aporocactus flagelliformis (L.) Lem.) จัดอยู่ในวงศ์กระบองเพชร (CACTACEAE)[1]
สมุนไพรนาคราช มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ไส้หนุมาน (กรุงเทพฯ), นาคราช ว่านนาคราช (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]
หมายเหตุ : ต้นนาคราชที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับว่านนาคราชหรือต้นพญานาคราช
ลักษณะของต้นนาคราช
- ต้นนาคราช เดิมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเม็กซิโก แต่ขึ้นได้ทั่วไปในประเทศไทย ตามป่าดงดิบแล้ง โดยจัดเป็นพรรณไม้เถาจำพวกตะบองเพชร มีลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดิน หรืออาจห้อยย้อยลงมาก็ได้ ในระยะแรกลำเถาจะเป็นสีเขียวมัน ต่อมาก็จะเปลี่ยนเป็นสีอมเทา ตามลำต้นมีสันนูนประมาณ 8-14 สัน ในแต่ละสันจะมีรูขนเป็นปุ่ม ปุ่มนี้จะมีหนามงอกออกมาเป็นกระจุก กระจุกละประมาณ 15-20 เส้น มีความยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร หนามเมื่อยังออกใหม่ ๆ จะเป็นสีแดง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีทอง และสีน้ำตาล ส่วนลำต้นนั้นมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 นิ้วหรือใหญ่กว่านี้เล็กน้อย และมีความยาวประมาณ 2 เมตร และเนื่องจากต้นนาคราชเป็นพรรณไม้จำพวก Cactus จึงไม่มีใบ เพราะลำต้นได้ทำหน้าที่เป็นใบพร้อมกันไปในตัวแล้ว พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีส่วนผสมของไม้ผุ ๆ หรือหินปูนเก่า ๆ[1]
- ดอกนาคราช ออกดอกตามลำต้น ห่างกันเป็นระยะ ๆ ไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าดอกจะออกเองตรงไหน ดอกเป็นสีแดงแก่ เมื่อออกดอกแล้วดอกจะอยู่ได้ประมาณ 7 วัน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1 นิ้ว และยาวประมาณ 2 นิ้ว[1]
- ผลนาคราช ผลมีขนาดเล็ก ทำให้เมล็ดมีขนาดเล็กตาม โดยผลจะมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม สีน้ำตาลอมแดง ตามผลจะมีขนยาวนุ่มปกคลุมอยู่[1]
สรรพคุณของนาคราช
- ต้นนำมาเผาหรือสุมไฟให้เป็นถ่าน ใช้ผสมกับยาเย็น ปรุงเป็นยาเย็นถอนพิษแก้พิษงู พิษแมงป่อง พิษตะขาบ และพิษทั้งปวง (ต้น)[1]
ประโยชน์ของนาคราช
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “นาคราช”. หน้า 392-393.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Frank Ebinger, nowhereonearth, oneatza, Stuart)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)