นมแมวซ้อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นนมแมวซ้อน 3 ข้อ !

นมแมวซ้อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นนมแมวซ้อน 3 ข้อ !

นมแมวซ้อน

นมแมวซ้อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Anomianthus dulcis (Dunal) J.Sinclair จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]

สมุนไพรนมแมวซ้อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตบหู ตีนตังน้อย (นครพนม), ตีนตั่ง (อุบลราชธานี), นมวัว เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของนมแมวซ้อน

  • ต้นนมแมวซ้อน จัดเป็นไม้เถาเลื้อยที่อาศัยไม้อื่นพยุงตัวขึ้นไป สามารถเลื้อยไปได้ไกลประมาณ 4-8 เมตร เปลือกเถาเรียบเป็นสีเทา ลำต้นเหนียว เนื้อไม้แข็ง มีกิ่งที่ปลายเป็นหนามแข็งอยู่ทั่วไปตามลำต้น ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ได้ทั้งการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง[1],[2]

ต้นนมแมวซ้อน

  • ใบนมแมวซ้อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับสองด้านในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับแกมขอบขนาน หรือรูปหอกกลับแกมขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบจะมีขนาดกว้างกว่าส่วนที่ค่อนมาทางโคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร หรือหลังใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนท้องใบด้านล่างมีขน ก้านใบป่องเล็กน้อยและมีขนสาก ๆ ขึ้นปกคลุม ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร ใบอ่อนมีขนนุ่มทั้งสองด้าน[1],[2]

ใบนมแมวซ้อน

  • ดอกนมแมวซ้อน ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบและปลายยอด ประมาณ 2-4 ดอก ก้านช่อดอกเรียว ดอกเป็นสีเหลือง สีชมพูอ่อน หรือสีเหลืองอมชมพู ดอกมีลักษณะห้อยลง กลีบดอกมี 6 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ วางสับหว่างกัน กลีบดอกบางเป็นรูปไข่ ปลายกลีบดอกแหลม ขอบกลีบดอกบิดเป็นลอนหรือเป็นคลื่น มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีขนนุ่มทาด้านนอก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวรูปไข่ มี 3 กลีบ มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลขึ้นหนาแน่น ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม ดอกจะบานและโรยภายในวันเดียว มีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว ช่วงกลางวันมีกลิ่นหอมอ่อน และจะหอมมากในช่วงเย็นจนถึงกลางคืน[1],[2]

ดอกนมแมวซ้อน

  • ผลนมแมวซ้อน ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 8-15 ผล ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือรูปทรงกระบอก ผิวผลเรียบ ผลสดเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีแดงเข้ม มีรสหวาน ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด[1],[2]

ผลนมแมวซ้อน

สรรพคุณของนมแมวซ้อน

  • ลำต้นหรือรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมขณะอยู่ไฟของสตรี (ลำต้น, ราก)[1],[2]

ประโยชน์ของนมแมวซ้อน

  • ผลสุกมีรสหวาน ใช้รับประทานได้[1],[2]
  • นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามรั้วหรือซุ้ม[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “นมแมวซ้อน (Nom Maeo Son)”.  หน้า 151.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “นมแมวซ้อน”.  หน้า 124.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “นมวัว”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้เมืองไทย ไม้ต่างถิ่นในเมืองไทย 1.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [02 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Tony Rodd), www.magnoliathailand.com (by นายไม้ล้านนา)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด