นมผึ้ง (Royal Jelly) สรรพคุณและประโยชน์ของนมผึ้ง 28 ข้อ !

นมผึ้ง

         นมผึ้ง เป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้งอีกชนิดหนึ่งที่มาแรงในยุคกระแสนิยมธรรมชาติบำบัด[1] หลายประเทศมีการใช้นมผึ้งในฐานะยารักษาโรค อาหารเสริม หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนผสมของครีมบำรุงและเครื่องสำอาง[2]

นมผึ้งคืออะไร ?

         นมผึ้ง หรือ รอยัลเยลลี (Royal Jelly) คือ ผลผลิตที่หลั่งออกมาจากต่อมไฮโปฟาริงจ์ (Hypopharyngeal Gland) ของผึ้งงาน เป็นอาหารของหลักผึ้งนางพญาและตัวอ่อนผึ้งเพื่อช่วยกระตุ้นในการเจริญเติบโต ช่วยให้ผึ้งนางพญาจะมีรูปร่างใหญ่โตและสวยกว่าผึ้งตัวอื่น ๆ และที่สำคัญยังช่วยให้ผึ้งนางพญามีอายุยืนมากกว่าผึ้งงานถึง 20 เท่า และช่วยให้ผึ้งนางพญาสามารถวางไข่เพื่อสืบพันธุ์ได้ประมาณ 2,500 ฟองต่อวันตลอดจนสิ้นอายุขัย[9]

         ส่วนสาเหตุที่ได้ชื่อว่า “นมผึ้ง” นี้ ก็มาจากลักษณะและหน้าที่ของมัน คือมีลักษณะเป็นครีมสีขาวคล้ายนมข้นหวานและใช้เลี้ยงดูตัวอ่อนเช่นเดียวกับนมที่ใช้เลี้ยงทารกครับ หลายคนจึงกันเชื่อว่า นมผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยรักษาความเป็นหนุ่มเป็นสาว บรรเทาอาการวัยทอง กระตุ้นระบบภูมิต้านทานร่างกาย ลดความเครียด รักษาอาการนอนไม่หลับ ลดอาการหลงลืม และใช้รักษาโรคอื่น ๆ[1],[2]

ลักษณะของนมผึ้ง

         นมผึ้งมีลักษณะเหลวเป็นครีมข้นเหนียวสีขาวคล้ายนมข้นหวาน มีรสหวานเผ็ดเล็กน้อย กลิ่นออกเปรี้ยวเล็กน้อย เป็นอาหารหลักของผึ้งนางพญาและตัวอ่อนผึ้งเพื่อช่วยกระตุ้นในการเจริญเติบโต


         สำหรับนมผึ้งที่ผลิตได้ต่อรังนั้นจะมีปริมาณน้อยมาก ๆ โดย 1 รังจะสามารถผลิตนมผึ้งได้เพียงวันละ 2-3 กรัมเท่านั้น ซึ่งวิธีการเก็บรักษานั้นจะเก็บในอุณหภูมิห้องหรือในอุณหภูมิเย็นประมาณ 3-8 องศา[9]

ลักษณะนมผึ้ง
IMAGE SOURCE : 123RF

สารอาหารในนมผึ้ง

         นมผึ้งมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักประมาณ 60-70% และอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญต่าง ๆ เช่น โปรตีน 12-15%, น้ำตาล 10-16%, กรดไขมัน 3-6% และสุดท้ายประมาณ 2-3% คือ วิตามินต่าง ๆ วิตามินบีรวม (บี 1-9) เกลือแร่ และกรดอะมิโน นอกจากนี้ ยังพบสารอื่นในนมผึ้ง ได้แก่ สารซีติลโคลีน (Acetylcholine) สารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกและกลไกการทำงานของร่างกาย, กรดไขมันเอชดีเอ (10-Hydroxy-Trans-2-Decenoic Acid) ที่มีบทบาทในการเจริญเติบโตของผึ้ง, ฮอร์โมนเพศ เช่น เทสโทสเตอโรน โปรเจสเตอโรน เป็นต้น[2],[7]

         ทั้งนี้สถานที่ ภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศเป็นตัวแปรที่ทำให้ส่วนประกอบของนมผึ้งแตกต่างกันออกไป[2]

รอยัลเยลลี
IMAGE SOURCE : 123RF

ประโยชน์ของนมผึ้ง

  1. ใช้เป็นยารักษาโรคหรือบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ เช่น ใช้ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต รักษาอาการตาแห้งเรื้อรัง ลดอาการวัยหมดประจำเดือน ใช้สมานแผล เสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ฯลฯ
  2. ใช้นมผึ้งสดชงดื่มเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ โดยใช้ดื่มโดยตรงหรือผสมกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:3 ส่วน หรือนำไปผสมกับเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ได้ตามต้องการ
  3. ทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสุขภาพในหลายรูปแบบ ทั้งนมผึ้งแบบซอฟต์เจล แคปซูล และแบบเม็ด นมผึ้งแบบเม็ดฟู่ นมผึ้งแบบทาผิว หรือนำไปผสมกับส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น น้ำผึ้ง เกสรผึ้ง ฯลฯ รวมไปถึงคอลลาเจน วิตามินซี กลูต้าไธโอน หรือสมุนไพรอย่างกระชายดำ
  4. ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ครีมหรือโลชั่นบำรุงผิว ครีมทาหน้า ครีมทาตัว โฟมล้างหน้า แชมพู ฯลฯ
  5. ใช้นมผึ้งสดพอกหน้าทำทรีตเมนต์เพื่อบำรุงผิว ยับยั้งริ้วรอย ลดการอักเสบของผิวหน้า กระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ ด้วยการนำน้ำนมผึ้งแบบสดมาทาลงผิวหน้า ทิ้งเอาไว้ประมาณ 20 นาที แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือนำนมผึ้งสดมาผสมกับโยเกิร์ต น้ำผึ้ง หรือนมสดให้เข้ากัน นำมาพอกทาบนใบหน้า โดยนวดคลึงเล็กน้อยให้ทั่วใบหน้า และพอกทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

สรรพคุณของนมผึ้ง

  1. บำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ บรรเทาอาการโรคเสื่อมต่าง ๆ อันเนื่องจากความชรา รวมไปถึงอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร สุขภาพทรุดโทรม[4] ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารและมีออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ช่วยให้แคลเซียมดูดซึมได้ดีขึ้น (มีผลช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุน เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก)[9] เนื่องจากนมผึ้งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย[4]
  2. ช่วยลดเลือนริ้วรอยแห่งวัย เพราะมีการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองแล้วพบว่า นมผึ้งอาจเข้าไปช่วยในกระบวนการสร้างคอลลาเจน กระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ และช่วยป้องกันความเสียหายของผิวหนังที่ถูกทำลายจากแสงยูวี และยังมีการศึกษาบางชิ้นในหนูทดลองที่แสดงให้เห็นว่าหนูทดลองมีอายุขัยที่เพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น[9]
  3. ลดและต่อต้านความเครียด นมผึ้งมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเครียดและช่วยต่อต้านความเครียด[9]
  4. บรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน การรับประทานนมผึ้งติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน อาจช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้ เพราะมีการศึกษาวิจัยที่ให้นักศึกษาแพทย์จำนวน 110 คน รับประทานนมผึ้งขนาด 1,000 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง (เริ่มทานในวันแรกที่มีประจำเดือนและทานต่อเนื่องจนหมดประจำเดือนในรอบถัดไป) แล้วพบว่าอาการก่อนมีประจำเดือนลดลง[9]
  5. อาจช่วยบรรเทาอาการบางอย่างของวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความจำเสื่อม อาการปวดหลัง เพราะมีการศึกษาที่พบว่า นมผึ้งมีประสิทธิภาพในการลดภาวะซึมเศร้าและเพิ่มความจำในหนูทดลอง ส่วนการศึกษาอื่นที่ทดลองในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จำนวน 42 ราย ก็พบเช่นกันว่าการรับประทานนมผึ้งทุกวัน วันละ 800 มิลลิกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์จะช่วยลดอาการปวดหลังและความวิตกกังวลได้ (โปรดทราบด้วยว่ายังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม)[7]
  6. บรรเทาอาการเกี่ยวกับช่องคลอดของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เช่น ช่องคลอดแห้ง แสบร้อน หรือคันในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการใช้สารหล่อลื่น แต่สารหล่อลื่นส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์เพียงชั่วคราว แต่นมผึ้งมีคุณสมบัติต้านจุลชีพและมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยมีการศึกษาที่ให้ผู้หญิงวัยทองอายุ 50-65 ปี จำนวน 90 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของนมผึ้ง 15%, กลุ่มที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนชนิดครีม และกลุ่มที่ใช้สารหล่อลื่นทาบริเวณช่องคลอดเป็นเวลา 3 เดือน ผลการศึกษาพบว่า ครีมที่มีส่วนผสมของนมผึ้งมีประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงวัยทองได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ[2]
  7. ปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง นมผึ้งมีส่วนช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างการทำงานและปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง[9]
  8. ช่วยเรื่องภาวะเจริญพันธุ์ในผู้ชาย เนื่องจากสารอาหารในนมผึ้งช่วยเรื่องการเคลื่อนที่ของสเปิร์มและมีส่วนเพิ่มจำนวนสเปิร์ม จึงช่วยให้มีโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้น[6]
  9. ลดระดับไขมันในเลือดและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ โดยมีการศึกษาในผู้หญิงวัยทองสุขภาพดีจำนวน 36 คน ที่ให้รับประทานนมผึ้งขนาด 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือน โดยตรวจปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงระดับไขมันในเลือดทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบว่าระดับคอเลสเตอรอลรวม (TC) ลดลง 3.09%, คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลดลง 4.1% และคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มขึ้น 7.7% นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งการศึกษาที่ให้อาสาสมัครที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงชนิดไม่รุนแรงจำนวน 40 คน รับประทานนมผึ้งขนาด 350 มิลลิกรัมวันละ 9 แคปซูล เป็นเวลา 3 เดือน ก็แสดงให้เห็นถึงระดับไขมันในเลือดที่ลดลงเช่นเดียวกัน จึงอาจสรุปได้ว่าการรับประทานนมผึ้งอาจมีส่วนช่วยลดระดับไขมันในเลือดและอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมอาการวัยทองที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง[2]
  10. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความไวต่ออินซูลิน โดยช่วยลดสภาวะเครียดออกซิเดชันและการอักเสบของผู้ป่วยเบาหวาน (มีการศึกษาในสัตว์ทดลองหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความไวของอินซูลินที่เพิ่มขึ้น ส่วนการศึกษาในมนุษย์เป็นเวลา 6 เดือน ก็ชี้ให้เห็นว่าระดับน้ำตาลในเลือดลง 20% ในผู้ที่มีสุขภาพดีที่ได้รับนมผึ้งทุกวัน)[7]
  11. ช่วยลดความดันโลหิต นมผึ้งอาจช่วยปกป้องหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตได้ โดยมีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า โปรตีนจำเพาะในนมผึ้งสามารถช่วยผ่อนคลายเซลล์กล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดต่าง ๆ จึงช่วยลดความดันโลหิตได้[7]
  12. อาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เพราะมีการศึกษาทดลองในสัตว์ที่พบว่า โปรตีนหลัก (MRJPs) และกรดไขมันในนมผึ้งมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ เชื้อแบคทีเรียและไวรัส สามารถลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อและช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน[7]
  13. ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ โดยการมีการศึกษาในหลอดทดลองหลายชิ้น ที่พบว่ากรดอะมิโนจำเพาะ กรดไขมัน และสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic Compound) ในนมผึ้ง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนการศึกษาอื่นพบว่า นมผึ้งสามารถช่วยยับยั้งสารเคมีที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่หลั่งจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน[7]
  14. บำรุงสมองและระบบประสาท เนื่องจากนมผึ้งอุดมไปด้วยสารอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญในการคิด กระบวนการทำงานของความจำ หรือความสามารถของสมองในการเก็บข้อมูลชั่วคราว การได้รับสารนี้เพิ่มขึ้นจะมีประโยชน์ในแง่การช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคความจำเสื่อม ช่วยให้สมองแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ[1] มีงานวิจัยในหนูทดลองที่ได้รับนมผึ้ง แล้วพบว่ากลุ่มที่ได้รับนมผึ้งมีระฮอร์โมนความเครียดต่ำกว่า ระบบประสาทส่วนกลางแข็งแรงกว่า มีความจำดีขึ้น และมีอาการซึมเศร้าลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และการศึกษาในสัตว์อีกชิ้นก็พบด้วยว่าหนูที่ได้รับนมผึ้งสามารถขจัดสารเคมีบางชนิดในสมองที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ได้ดีขึ้น[7]
  15. บรรเทาอาการตาแห้งเรื้อรัง ในปี 2017 วารสารทางการแพทย์ PLOS ONE ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณน้ำตาในคนที่กินนมผึ้ง งานวิจัยนี้ทำกัน 8 สัปดาห์ แบ่งกลุ่มการทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้กินนมผึ้ง และอีกกลุ่มให้กินยาหลอก ผลการทดลองพบว่าปริมาณน้ำตาในกลุ่มที่กินนมผึ้งมีมากกว่าคนที่กินยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การได้รับนมผึ้งจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ปัญหาที่มีความเสี่ยงน้อยสำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งเรื้อรัง[5],[7]
  16. มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์เนื้องอกและเซลล์มะเร็ง มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ได้รายงานผลสนับสนุนฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง ตั้งแต่งานวิจัยแรกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่คณะผู้ทดลองได้ทำการผสมนมผึ้งกับเซลล์มะเร็ง Leukemia ก่อนที่จะปลูกลงในหนูทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถหยุดยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งนี้ได้อย่างสมบูรณ์ และถัดมา Tamura T และคณะก็ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของนมผึ้งในการต้านการเจริญของเนื้องอกชนิดอื่นที่ปลูกถ่ายลงในหนูทดลอง และพบว่าสามารถต้านการเจริญของเซลล์เนื้องอกได้ประมาณ 50% ขณะเดียวกันก็มีงานรายการวิจัยในไทยที่ทำการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งปากมดลูกลงในหนูทดลองและก็พบว่านมผึ้งทำให้ขนาดของก้อนเนื้องอกลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม[8]
  17. อาจช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งบางอย่าง เช่น ลดความเสียหายของหัวใจที่เกิดจากการทำเคมีบำบัด ผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งที่ทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร แต่ยังเป็นการศึกษาที่มีขนาดเล็กมาก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม[7]
  18. บรรเทาอาการอ่อนแรงจากโรคมะเร็งการฉายรังสีหรือการทำเคมีบำบัด โดยมีการศึกษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 52 คน แล้วพบว่า กลุ่มที่ได้รับนมผึ้งแปรรูปและนมผึ้งขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ มีอาการอ่อนแรงจากโรคมะเร็งดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ได้รับน้ำผึ้งบริสุทธิ์[2]
  19. รักษาไข้ละอองฟาง (โรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง) ก่อนหน้านี้นมผึ้งถูกนำมาเพื่อรักษารักไข้ละอองฟาง แต่จากการศึกษาวิจัยล่าสุดก็พบว่านมผึ้งอาจไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาไข้ละอองฟางและไม่สามารถบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้ (เป็นการศึกษาทดลองในเด็กอายุ 5-16 ปี ที่เป็นไข้ละอองฟาง เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน และจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูของเกสรดอกไม้ แล้วพบว่ากลุ่มที่ได้รับนมผึ้งกับไม่ได้รับมีอาการไม่ต่างกันมากนัก)[2]
  20. อาจช่วยสมานแผลและซ่อมแซมผิวหนัง เพราะนมผึ้งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถรักษาบาดแผลให้สะอาดและปราศจากการติดเชื้อ สอดคล้องกับการศึกษาในสัตว์ทดลองที่พบว่า หนูที่ได้รับนมผึ้งมีการผลิตคอลลาเจนมากขึ้น ซึ่งคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างผิว [7] นอกจากนี้บางข้อมูลยังระบุด้วยว่า นมผึ้งมีส่วนช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส ช่วยลดปัญหาของสิว ฝ้า กระ[9]
  21. รักษาแผลเบาหวาน โดยการมีการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเบาหวานกลุ่มเล็ก ๆ แล้วพบว่า เมื่อทายาที่มีความเข้มข้นของนมผึ้ง 5% แล้วแผลหายเร็วขึ้น แต่การศึกษาอีกชิ้นกลับเห็นผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไป ที่ใช้ยาซึ่งมีความเข้มข้นของนมผึ้ง 5% เช่นกัน แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่านมผึ้งมีประสิทธิภาพในการรักษาแผลเบาหวานได้มากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก[2]
  22. มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ปัจจุบันมีการค้นพบโปรตีนชนิดหนึ่งในนมผึ้งที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ชื่อ “Royalisin” ซึ่งพบว่ามันมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวกได้เป็นอย่างดี แม้ในความเข้มข้นต่ำ แต่ไม่มีผลต่อแบคทีเรียแกรมลบ[4]
  23. อื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความพยายามนำนมผึ้งมาใช้กับผู้ป่วยในกลุ่ม เช่น ตา หู คอ จมูก โดยนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังชนิด ChNPD แล้วพบว่าอาการดีขึ้น, รวมไปถึงใช้กับกลุ่มอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าเรื้อรัง (CFS) เพื่อบำบัดอาการและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น[8], ใช้ลดการอักเสบของก้อนมะเร็งในระยะแพร่กระจาย, ใช้ป้องกันการเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร[9]

ผลข้างเคียงจากการรับประทานนมผึ้ง

         การรับประทานนมผึ้งค่อนข้างมีความปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม คือ วันละไม่เกิน 4.8 กรัม ระยะเวลา 1 ปี แต่ในบางคนหรือผู้ป่วยบางกลุ่ม การทานนมผึ้งก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้[7] เช่น

  • หอบหืด
  • ภูมิแพ้
  • ผื่นแพ้สัมผัส
  • เลือดออกในลำไส้ ปวดท้อง หรือถ่ายเป็นเลือด

         ซึ่งปฏิกิริยารุนแรงเหล่านี้บางอย่างเหล่านี้ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยจากการสำรวจการใช้นมผึ้ง ปี พ.ศ. 2536-2540 พบการเกิดปฏิกิริยาตอบสนองไวเกิน จากการได้รับนมผึ้งเกือบ 40 ราย ทำให้มีอาการหอบหืด หลอดลมหดเกร็ง หลอดเลือดบวม ความดันโลหิตต่ำ ผื่นคัน เยื่อบุตาอักเสบ เมื่อทำการทดสอบก็พบว่าโปรตีนในนมผึ้งไปกระตุ้นแอนติบอดี (Antibody) ชนิด IgE หรือในปี พ.ศ.2537 มีรายงานจากประเทศออสเตรเลียที่พบการเสียชีวิตในเด็กอายุ 11 ปี เนื่องจากอาการหืดหลังจากได้รับนมผึ้ง 500 มิลลิกรัม ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการไปกระตุ้น IgE ทำให้เกิดปฏิกิริยาไวเกินขึ้น[3]

ข้อควรระวังในการรับประทานนมผึ้ง

         บุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้ควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานนมผึ้งหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีนมผึ้งเป็นส่วนประกอบ

  • ผู้ป่วยโรคหอบหืด ภูมิแพ้รุนแรง เป็นผื่นแพ้สัมผัส และผู้ที่มีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์ที่มีนมผึ้งเป็นส่วนประกอบ ห้ามรับประทานหรือทาผลิตภัณฑ์ที่มีนมผึ้งเป็นส่วนประกอบ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงหรือเสียชีวิตได้[2]
  • เนื่องจากนมผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เช่น น้ำผึ้ง ไขผึ้ รวมถึงผู้ที่แพ้ผึ้งต่อย แพ้ละอองเกสร หรือแพ้เกสรดอกไม้ และสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ก็ห้ามรับประทานทานนมผึ้งด้วยเช่นกัน[7]
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงนมบุตร เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยของนมผึ้ง ดังนั้นจึงยังไม่ควรรับประทานนมผึ้ง[2]
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากการทานนมผึ้งอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงมากเกินไปอีก [2]
  • ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบ การทาหรือทานนมผึ้งอาจทำให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น[2]
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงทานยารักษาโรค เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลฟกช้ำได้ง่าย[2]
  • แม้การใช้นมผึ้งทาที่บริเวณผิวหนังจะค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ก็ไม่ควรนำทาบริเวณหนังศีรษะเพื่อหวังผลช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมหรือช่วยบำรุงเส้นผมให้มีสุขภาพแข็งแรง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นคัน หรือมีอาการอักเสบได้[2]
นมผึ้งสด
IMAGE SOURCE : 123RF

วิธีรับประทานนมผึ้ง

         เนื่องจากยังมีการวิจัยค่อนข้างจำกัด จึงยังไม่มีการกำหนดปริมาณที่แนะนำชัดเจนสำหรับใช้ แต่เมื่อสังเกตจากในหลากหลายงานวิจัยเกี่ยวกับปริมาณของนมผึ้งที่ใช้แล้วได้ผล คือ วันละ 300-6,000 มิลลิกรัม

         อย่างไรก็ตาม นมผึ้งในรูปของอาหารเสริมมักมีจำหน่ายทั่วไปในรูปของแคปซูลและแบบซอฟต์เจล ซึ่งมักจะมีปริมาณนมผึ้งอยู่ที่ 500-3,000 มิลลิกรัมต่อแคปซูล/ซอฟต์เจล สำหรับขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันประมาณ 300-500 มิลลิกรัม หรือวันละ 1 แคปซูล/ซอฟต์เจล และในกรณีเร่งด่วนให้รับประทานวันละ 1,000 มิลลิกรัม โดยแนะนำให้ทานหลังอาหารเช้า (ไม่ควรทานในขณะที่ท้องว่าง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและท้องเสียได้)

         แต่หากคุณไม่เคยทานนมผึ้งมาก่อน ควรเริ่มทานจากปริมาณน้อย ๆ ก่อน เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาการแพ้และผลข้างเคียงที่รุนแรง

แนะนำผลิตภัณฑ์นมผึ้ง

         [เนื้อหาส่วนนี้ได้รับการสนับสนุน] Nature’s King Royal Jelly ผลิตภัณฑ์นมผึ้งจากแหล่งธรรมชาติ จำหน่ายมานานมากกว่า 20 ปี นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล GMP, HALAL, HACCP, FDA Thailand มีให้เลือกทานด้วยกัน 3 สูตร คือ

  1. นมผึ้งเนเจอร์คิงสูตรออริจินัล : กระปุกสีทอง (ขนาด 120 เม็ด และ 365 เม็ด) มาในรูปแบบซอฟต์เจล เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการบำรุงร่างกายอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ที่เริ่มมีปัญหาในเรื่องการนอนหลับยาก สามารถทานนมผึ้งสูตรออริจินัลได้
  2. นมผึ้งเนเจอร์คิงสูตรพรีเมียม : กระปุกสีขาว (ขนาด 180 เม็ด) ปรับสูตรใหม่ให้มีความเข้มข้นของนมผึ้งมากขึ้น มาในรูปแบบซอฟต์เจล เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเน้นการบำรุงร่างกายอย่างล้ำลึกและกลุ่มคนที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายอย่างเร่งด่วน
  3. นมผึ้งเนเจอร์คิงสูตรแบบเม็ดฟู่ : ไอเทมใหม่น่าลอง นมผึ้งความเข้มข้นสูง ผสานด้วยวิตามินซี ซึ่งจะมีส่วนช่วยปรับฮอร์โมนภายในร่างกายให้สมดุล พร้อมทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มภายในร่างกายให้แข็งแรง และยังทำให้ผิวพรรณสดใสอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์นมผึ้ง
นมผึ้งเนเจอร์คิงทั้ง 3 สูตร

         สำหรับผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ LINE@ (@nkthailand), Facebook (Nature’s King Thailand), Instagram (naturesking_thailand) หรือโทร 062-249-4454, 062-249-4464

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสืออาหารและยาจากแมลง. “นมผึ้ง”. (รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร เพชรรัตน์). หน้า 20.
  2. พบแพทย์. “นมผึ้งและคุณประโยชน์ที่น่ารู้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [7 พ.ย. 2021].
  3. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร”. (รองศาสตราจารย์ ภญ. ยุวดี วงษ์กระจ่าง และเภสัชกร วสุ ศุภรัตนสิทธิ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pharmacy.mahidol.ac.th. [18 พ.ย. 2021].
  4. วารสารเภสัชศาสตร์​ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของ Royalisin ในนมผึ้ง:โปรตีนต้านแบคทีเรียอย่างดีจากนมผึ้ง”. (ผู้วิจัย : รุ้งตะวัน สุภาพผล).
  5. PLOS ONE. “Clinical Evaluation of a Royal Jelly Supplementation for the Restoration of Dry Eye: A Prospective Randomized Double Blind Placebo Controlled Study and an Experimental Mouse Model”. (Sachiko Inoue,Motoko Kawashima ,Ryuji Hisamura,Toshihiro Imada,Yusuke Izuta,Shigeru Nakamura,Masataka Ito,Kazuo Tsubota). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://journals.plos.org/plosone/. [18 พ.ย. 2021].
  6. Thi-Qar Medical Journal (TQMJ). “Effect of Royal Jelly on male Infertility”. (Ali E. Al-Sanafi, Safaa.A. Mohssin, Senan M. Abdulla).
  7. healthline. “12 Potential Health Benefits of Royal Jelly”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.healthline.com. [19 พ.ย. 2021].
  8. Vajira Medical Journal. “เรียนรู้เรื่องนมผึ้ง”. (รุ้งตะวัน สุภาพผล). Vol. 46, No. 1 January 2002. หน้า 80.
  9. หนังสือวิตามินไบเบิล. “นมผึ้ง”. (ดร.เอิร์ล มินเดลล์).

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด