นมช้าง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นนมช้าง 4 ข้อ !

นมช้าง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นนมช้าง 4 ข้อ !

นมช้าง

นมช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Uvaria cordata (Dunal) Alston (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Guatteria cordata Dunal) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]

สมุนไพรนมช้าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กาเลียบ นมควาย (นครศรีธรรมราช), นมแมวใหญ่ (ชุมพร), นมวัว (สุราษฎร์ธานี), กล้วยหมูสัง (ตรัง), ลาเกาะ (มลายู-นราธิวาส), ชูเบียง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1]

ลักษณะของนมช้าง

  • ต้นนมช้าง จัดเป็นพรรณไม้เถาขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 20 เมตร เนื้อไม้แข็ง กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบแสงแดดและน้ำในระดับปานกลาง มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และตามป่าผสมผลัดใบ[1],[2]

ต้นนมช้าง

  • ใบนมช้าง ใบเป็นเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14-23 เซนติเมตร แผ่นใบหนาแข็ง ท้องใบมีขนสีน้ำตาล เส้นใบค่อนข้างถี่ ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีขน[1],[2]

ใบนมช้าง

  • ดอกนมช้าง ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกประมาณ 1-3 ดอก โดยจะออกบริเวณซอกใบใกล้กับปลายยอด ดอกเป็นสีแดงเข้ม มีกลีบดอก 6 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปเกือบกลม ปลายมน สีแดงเข้ม ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กลีบดอกมีขนทั้งด้านนอกและด้านใน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ กว้างเกือบกลม ปลายมน และมีขนสั้นหนานุ่มทั้งสองด้าน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก รูปทรงกลม ปลายมน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน[1],[2]

รูปนมช้าง

ดอกนมช้าง

  • ผลนมช้าง ออกผลเป็นกลุ่ม ๆ มีผลย่อยประมาณ 20-35 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอกแกมรี ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมเหลือง ส่วนผลสุกเป็นสีเหลืองอมส้มหรือสีม่วงแดง ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้ม[1],[2]

ผลนมช้าง

เมล็ดนมช้าง

สรรพคุณของนมช้าง

  • แก่นหรือเปลือกต้นนำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต (แก่น, เปลือกต้น)[1]
  • เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กระษัยเส้น แก้อาการปวดเมื่อย (เปลือกต้น)[1]

ประโยชน์ของนมช้าง

  • ผลสุกใช้รับประทานได้[1]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “นมช้าง”.  หน้า 123.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “นมช้าง”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้เลื้อยในสวนพฤกษศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [02 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Yeoh Yi Shuen, Cerlin Ng), www.magnoliathailand.com (by Na-Mee)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด