นมควาย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นนมควาย 15 ข้อ ! (พีพวนน้อย)

นมควาย

นมควาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Uvaria rufa Blume จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1],[3]

สมุนไพรนมควาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นมแมวป่า (เชียงใหม่), ติงตัง (นครราชสีมา), สีม่วน (ชัยภูมิ), พีพวน ผีพวนน้อย (อุดรธานี), พีพวนน้อย (ชุมพร), ตีนตั่ง ตีนตั่งเครือ (ศรีษะเกษ, อุบลราชธานี, นครราชสีมา), นมวัว นมควาย บุหงาใหญ่ หมากผีผวน (พิษณุโลก, กระบี่), บุหงาใหญ่ นมแมวป่า หมากผีผ่วน (ภาคเหนือ), หำลิง พีพวนน้อย (ภาคอีสาน), นมแมว นมวัว (ภาคกลาง), นมควาย (ภาคใต้), ลูกเตรียน กรีล (เขมร, ศรีสะเกษ, สุรินทร์), บักผีผ่วน (ลาว) เป็นต้น[1],[3],[4]

ลักษณะของต้นนมควาย

  • ต้นนมควาย มีถิ่นกำเนิดในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยจะพบได้ทุกภาค โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นไปได้ไกลประมาณ 5 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีม่วงอมเทา เนื้อไม้แข็ง กิ่งและยอดอ่อนปกคลุมไปด้วยขนละเอียดสีน้ำตาลแดงหนาแน่น แต่ถ้าแก่ไปผิวจะเกลี้ยงและไม่มีขน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดตลอดวัน โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด สามารถพบได้ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง หรือตามป่าผลัดใบทั่วไป[1],[2],[3],[4]

ต้นนมควาย

พีพวนน้อยบักผีผ่วน
  • ใบนมควาย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปยาวรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลมและเป็นติ่ง โคนใบมนหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีเส้นใบประมาณ 8-15 คู่ หลังใบมีขนรูปดาวแข็ง ส่วนท้องใบมีขนอ่อนนุ่มสีน้ำตาลแดงอยู่หนาแน่น ก้านใบยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร มีขนหนาแน่น[1],[2],[3]

ใบนมควาย

  • ดอกนมควาย ออกดอกเป็นช่อสั้นตรงข้ามกับใบหรือเหนือซอกใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกประมาณ 2-3 ดอก ช่อดอกยาวประมาณ 1.1-1.5 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร มีขนกระจายอยู่หนาแน่น ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร มีขนหนาแน่น มีใบประดับ 1 ใบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายมน ติดอยู่ตรงกลางก้านดอก มีขนาดกว้างประมาณ 3-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-13 มิลลิเมตร มีขนอยู่หนาแน่น ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ กลีบมีลักษณะคล้ายกระดาษและมีขนปกคลุม เชื่อมติดกันที่โคนเล็กน้อย ปลายแยกเป็น 3 แฉก ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ ส่วนที่โคนกว้างประมาณ 5-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 6 กลีบ แยกจากกัน และบางครั้งอาจมีถึง 8 กลีบ โดยแยกเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ขนาดเท่า ๆ กัน โดยดอกจะเป็นสีแดงสดแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดนกภายหลัง ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปรีแกมรูปไข่กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ปลายกลีบมนหรือกลม มีขนทั้งสองด้าน เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกมักโค้งลงไปทางก้านดอก ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลืองจำนวนมากอัดกันแน่นประมาณ 30-45 อัน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โคนและปลายตัด ขอบเรียบ วงนอกมักเป็นหมัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีประมาณ 10-12 อัน เรียงซ้อนเหลื่อมและแยกกันในชั้นนอกสุดของวง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ มีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร โคนตัด ปลายกลมหรือมน ส่วนขอบเป็นเยื่อบาง ๆ เป็นจักฟันเลื่อยถี่ มีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เกลี้ยง ส่วนเกสรเพศเมียมีประมาณ 7-12 อัน ในแต่ละอันจะมีออวุลประมาณ 20-25 ออวุล ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตรหรือมากกว่าเล็กน้อย และยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร โคนและปลายตัด เป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน มีขนขึ้นหนาแน่นตามก้านเกสรเพศเมีย และมีรังไข่เหนือวงกลีบ คาร์เพลแยกจำนวนมาก ดอกมีกลิ่นหอมและออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3]

รูปนมควาย

ดอกนมควาย

รูปดอกนมควาย

  • ผลนมควาย ออกผลเป็นกลุ่ม แต่ละช่อผลมีผลย่อยประมาณ 4-20 ผล ผลมีลักษณะกลมรี รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปทรงกระบอก ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.7-4 เซนติเมตร ผิวผลย่นและมีขนสีน้ำตาลสั้น ๆ ขึ้นปกคลุม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด ก้านผลยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร ก้านผลย่อยยาวประมาณ 1.8-2.6 เซนติเมตร เนื้อข้างในผลเป็นสีขาว ในแต่ละผลจะมีเมล็ดจำนวนมากประมาณ 14-18 เมล็ด เมล็ดเรียงตัวกันเป็น 2 แถว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี ปลายมน โคนเว้า ส่วนขอบเรียบ ผิวเมล็ดเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลมัน มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2],[3]

ผลพีพวนน้อย

ผลนมควาย

สรรพคุณของนมควาย

  1. แก่นและรากนำมาต้มรวมกันกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้กลับหรือไข้ซ้ำ ต้มกินแก้ไข้อันเนื่องมาจากรับประทานของแสลงที่เป็นพิษเข้าไป (แก่นและราก)[1],[2],[3]
  2. ช่วยรักษาอาการไข้ไม่สม่ำเสมอ (รากและเนื้อไม้)[3]
  3. ผลสุกเป็นยารักษาโรคหืด (ผล)[3]
  4. ผลสุกเมื่อนำมาตำผสมกับน้ำใช้เป็นยาทาแก้เมล็ดผดผื่นคันตามตัว (ผล)[1],[2],[3]
  5. ผลเป็นยาเย็นใช้ถอนพิษได้ (ผล)[2],[3]
  1. มีผู้ใช้เถาแห้งของต้นนมควาย นำมาปิ้งเหลือง แล้วหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ชงกับน้ำดื่มยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต (พุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) (เถา)[4]
  2. แพทย์พื้นบ้านอีสานจะนิยมใช้นมควายเป็นหนึ่งในสมุนไพรรักษากามโรค (ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  3. รากใช้เป็นยากระตุ้นการคลอดบุตรของสตรี ซึ่งชาวบ้านในแถบหมู่เกาะลูซอนและมินดาเนาของประเทศฟิลิปปินส์จะใช้รากนมควายนำมาแช่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ให้หญิงที่จะคลอดบุตรรับประทาน
  4. เป็นยาเพิ่มการบีบตัวของมดลูก ช่วยเร่งการคลอดบุตร (ราก)[3]
  5. รากนมควายกะจำนวนพอประมาณนำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มครั้งละแก้ว วันละ 1-2 ครั้ง เป็นยาแก้โรคไตพิการได้ดีในระดับหนึ่ง (ราก)[4]
  6. รากช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก)[1],[3],[4]
  7. รากมีรสเย็นช่วยแก้ผอมแห้ง โรคผอมแห้งของสตรีหลังการคลอดบุตรและอยู่ไฟไม่ได้ (ราก)[1],[2],[3] ในตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานจะใช้รากนมควาย รากหญ้าคา เหง้าต้นเอื้องหมายนา และลำต้นอ้อยแดง อย่างละเท่ากัน กะใช้ตามความเหมาะสม นำมาต้มกับน้ำเดือด ใช้ดื่มขณะอุ่น ๆ ให้สตรีที่ผอมแห้งแรงน้อย และบำรุงเลือดได้ดี (ราก)[4]

ประโยชน์ของนมควาย

  • ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ อีกทั้งยังให้วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระที่ประโยชน์ต่อร่างกาย และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลากหลายชนิด เช่น น้ำผลไม้ ไวน์ และผลไม้อบแห้ง เป็นต้น[2],[3],[4]
  • ชาวชนบททางภาคอีสานจะนิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเตรียมสีย้อมฝ้ายหรือไหม โดยการสกัดสีจากกิ่งของต้นด้วยตัวทำละลาย[5]
  • ต้นนมควายเป็นไม้หายาก มีผลรับประทาน ให้ดอกสวยงาม จึงเหมาะแก่การนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “นมควาย”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 122.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “นมควาย”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 385-386.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พีพวนน้อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [25 มี.ค. 2014].
  4. หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 568, วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557.  “นมควาย ผลกินได้ รากเป็นสมุนไพร”.  (ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์).
  5. โรงเรียนบ้านท่าเสียว.  “ดอกนมควาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tasieo.ac.th.  [25 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by worachak chimpan), www.balinghasai-farms.info (by Rey), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), phytoimages.siu.edu.

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด