ธูปฤาษี
ธูปฤาษี ชื่อสามัญ Bulrush, Cattail, Cat-tail, Elephant grass, Flag, Narrow-leaved Cat-tail, Narrowleaf cattail, Lesser reedmace, Reedmace tule
ธูปฤาษี ชื่อวิทยาศาสตร์ Typha angustifolia L. จัดอยู่ในวงศ์ธูปฤๅษี (TYPHACEAE)
สมุนไพรธูปฤาษี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กกช้าง กกธูป เฟื้อ เฟื้อง หญ้าเฟื้อง หญ้ากกช้าง หญ้าปรือ (ภาคกลาง), หญ้าสลาบหลวง หญ้าสะลาบหลวง (ภาคเหนือ), ปรือ (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของธูปฤาษี
- ต้นธูปฤาษี มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรปและอเมริกา จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี เหง้ากลม แทงหน่อขึ้นเป็นระยะสั้น ๆ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 1.5-3 เมตร เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยผลหรือเมล็ด พบขึ้นตามหนองน้ำ ลุ่มน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ตามทะเลสาบหรือริมคลอง รวมไปถึงตามที่โล่งทั่ว ๆ ไป มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วโลกในเขตร้อนและในเขตอบอุ่น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาค[1],[2],[3]
- ใบธูปฤาษี ใบเป็นใบเดี่ยว มีกาบใบเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะใบเป็นรูปแถบ มีความกว้างประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 50-120 เซนติเมตร (บ้างว่า 2 เมตร) แผ่นใบด้านบนมีลักษณะโค้งเล็กน้อยเพราะมีเซลล์หยุ่นตัวคล้ายฟองน้ำหมุนอยู่กลางใบ ส่วนด้านล่างของใบแบน[1],[3]
- ดอกธูปฤาษี ออกดอกเป็นช่อแบบเชิงลด ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ช่วงดอกเพศผู้มีความยาวประมาณ 8-40 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่อประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร และมีใบประดับประมาณ 1-3 ใบ หลุดร่วงได้ ส่วนช่วงดอกเพศเมียจะมีความยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของช่อประมาณ 0.6-2 เซนติเมตร มักแยกออกจากส่วนดอกเพศผู้ด้วยส่วนของก้านช่อดอกที่เป็นหมันที่มีความยาวประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เกสรเพศผู้ส่วนมากแล้วจะมี 3 อัน มีขนขึ้นล้อมรอบ ก้านเกสรเพศผู้จะสั้น มีอับเรณูยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะมีใบประดับย่อยเป็นรูปเส้นด้าย มีรังไข่เป็นรูปกระสวย ก้านของรังไข่เรียวและยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีขนยาว ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร มีขนสั้นกว่าก้านของรังไข่ ยอดเกสรมีลักษณะเป็นรูปแถบหรือรูปใบหอก และยังสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2]
- ผลธูปฤาษี ผลมีขนาดเล็กมาก เมื่อแก่จะแตกตามยาว ลักษณะเป็นรูปรี[1],[3]
สรรพคุณของธูปฤาษี
- อับเรณูและลำต้นใช้เป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (ลำต้น, อับเรณู)[1] บ้างก็ว่าลำต้นใต้ดินและรากสามารถนำมาใช้เป็นยาบำบัดโรคบางชนิดได้ เช่น การช่วยขับปัสสาวะ (ลำต้น, ราก)[2],[3]
- ลำต้นธูปฤาษีช่วยเพิ่มน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตร (ลำต้น)[1]
ประโยชน์ของธูปฤาษี
- ยอดอ่อนใช้รับประทานได้ทั้งสดและทำให้สุก[2]
- แป้งที่ได้จากลำต้นใต้ดินและรากสามารถใช้บริโภคได้เช่นกัน[3]
- ต้นธูปฤาษีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอาจนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์เคี้ยวเอื้องได้[3]
- ใบธูปฤาษีมีความยาวและเหนียวจึงนิยมนำมาใช้มุงหลังคา และสามารถนำมาใช้สานตะกร้า ทำเสื่อ ทำเชือกได้อีกด้วย[1],[2],[3]
- ช่อดอกแห้งสามารถนำมาใช้เป็นไม้ประดับ ส่วนในประเทศอินเดียจะใช้ก้านของช่อดอกมาทำปากกา[1],[3]
- เยื่อของต้นธูปฤาษีสามารถนำมาใช้ทำกระดาษและทำใยเทียมได้ โดยมีเส้นใยมากถึงร้อยละ 40 มีความชื้นของเส้นใย 8.9%, ลิกนิก 9.6%, ไข 1.4%, เถ้า 2%, เซลลูโลส 63%, และมีเฮมิเซลลูโลส 8.7%
- เส้นใยที่ได้จะมีสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน สามารถนำมาใช้ทอเป็นผ้าเพื่อใช้สำหรับแทนฝ้ายหรือขนสัตว์ได้[2],[3]
- ดอกของต้นธูปฤาษีสามารถใช้กำจัดคราบน้ำมันได้เป็นอย่างดี โดยน้ำหนักของดอกต้นธูปฤาษี 100 กรัม สามารถช่วยกำจัดคราบน้ำมันได้มากกว่า 1 ลิตร[4]
- ต้นธูปฤาษีสามารถช่วยบำบัดน้ำเสียตามแหล่งต่าง ๆ และสามารถเจริญเติบโตได้ดี แม้จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเสียตามชุมชนหรือตามแหล่งน้ำจากโรงงานต่าง ๆ และยังทำให้น้ำเสียในบริเวณนั้นมีคุณภาพดีที่ขึ้น มีศักยภาพในการลดค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ ช่วยปรับเปลี่ยนสีของน้ำที่ไม่พึงประสงค์ให้จางลง และช่วยลดความเป็นพิษในน้ำได้[5]
- ต้นธูปฤาษีมีระบบรากที่ดี จึงช่วยป้องกันการพังทลายของดินตามชายน้ำได้[2],[3]
- ซากของธูปฤาษีสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุคลุมดินสำหรับไม้ยืนต้นตามสวนผลไม้ต่าง ๆ เพื่อช่วยลดการสูญเสียความชื้นออกจากผิวดิน และช่วยลดการชะล้างหน้าดินจากน้ำฝนได้[2],[3]
- ต้นธูปฤาษีสามารถช่วยกำจัดไนโตรเจนจากน้ำเสียในที่ลุ่มต่อไร่ได้สูงถึง 400 กิโลกรัมต่อปี และยังช่วยดูดเก็บกักธาตุโพแทสเซียมต่อไร่ได้สูงถึง 690 กิโลกรัมต่อปี จึงจัดเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่อาจมีบทบาทเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในอนาคต[2],[3]
- ธูปฤาษีอาจช่วยทำให้วัฏจักรของแร่ธาตุอาหารในดินสมบูรณ์ขึ้น เพราะมีแร่ธาตุอาหารหลายชนิด เมื่อต้นธูปฤาษีตายลงหรือถูกกำจัดก็จะเกิดการย่อยสลาย ทำให้แร่ธาตุอาหารกลับสู่ดิน ทำให้ดินมีความสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกได้[3]
- ธูปฤาษีสามารถช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้ เพราะมีแร่ธาตุอาหารหลากหลายชนิด การไถกลบเศษซากของต้นธูปฤาษีก็เท่ากับเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดิน และจะเป็นประโยชน์แก่พืชที่ปลูกโดยตรง จึงเหมือนกับการทำปุ๋ยพืชสดโดยการไถกลบดิน[3]
- ใช้เป็นปุ๋ยพืชสตูหรือใช้ทำปุ๋ยหมักบำรุงดินได้[3]
- ใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิง โดยต้นธูปฤาษีมีปริมาณของโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างสูง กากที่เหลือจากการสกัดเอาโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตออกแล้วใช้แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนย่อย จะให้แก๊สมีเทนซึ่งใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงได้[3]
วิธีกำจัดต้นธูปฤาษี : วิธีการป้องกันควรทำก่อนที่ต้นธูปฤาษีจะออกดอก เพราะเมล็ดสามารถแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดีโดยอาศัยลมและน้ำ ส่วนวิธีการกำจัดก็ทำได้โดยการตัดต้นขนาดใหญ่ โดยต้องตัดให้ต่ำกว่าระดับของผิวน้ำ[2]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สารานุกรมพืช, “ธูปฤาษี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [6 ม.ค. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ธูปฤาษี“. (นพพล เกตุประสาท หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [6 ม.ค. 2014].
- ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. “การผลิตกระดาษจากธูปฤาษีและผักตบชวา“. (นพพล เกตุประสาท หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th. [6 ม.ค. 2014].
- วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง. “ดอกต้นธูปฤาษี วัชพืชกำจัดคราบน้ำมัน“. (ศาสตราจารย์จิติ หนูแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nano.kmitl.ac.th. [6 ม.ค. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ดาราศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา. ” ต้นธูปฤาษี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nano.kmitl.ac.th. [6 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise, mingiweng, Photos by Beth K, Jim Mayes, Superior National Forest, Plantas Brazal, Vietnam Plants & The USA. plants, Jardín Botánico Nacional, Viña del Mar, Chile)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)