ฟอสฟอรัส
- ฟอสฟอรัส (Phosphorus) เป็นแร่ธาตุที่สามารถพบได้ในทุกเซลล์ของร่างกาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันกับกระบวนการทางเคมีของร่างกายเกือบทุกส่วน มีความสำคัญต่อการทำงานที่เป็นปกติสม่ำเสมอของหัวใจ และสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของไต ต่อโครงสร้างของกระดูกและฟัน ร่างกายจำเป็นต้องใช้ฟอสฟอรัสในกระบวนการส่งต่อสัญญาณประสาท
- แหล่งที่พบฟอสฟอรัสตามธรรมชาติ ได้แก่ ไข่ ปลา สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ ถั่ว เมล็ดพืช ธัญพืชไม่ขัดสี เป็นต้น
- วิตามินดีและแคลเซียมมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของฟอสฟอรัส ถ้าหากร่างกายขาดฟอสฟอรัส วิตามินบี 3 จะไม่สามารถดูดซึมได้ และโรคจากการขาดฟอสฟอรัส ได้แก่ โรคเหงือกอักเสบและโรคกระดูกอ่อนในเด็ก โดยศัตรูของฟอสฟอรัส ได้แก่ การรับประทานธาตุเหล็ก แมกนีเซียม อลูมิเนียมมากเกินไป อาจทำให้ฟอสฟอรัสด้อยประสิทธิภาพลง
คำแนะนำในการรับประทานฟอสฟอรัส
- ฟอสฟอรัสในรูปแบบอาหารเสริม อาหารเสริมจากธรรมชาติที่มีฟอสฟอรัสสูงก็คือโบนมีล (Bonemeal) แต่ควรเลือกที่มีวิตามินดีรวมอยู่ด้วยเพื่อช่วยในการดูดซึม และข้อสำคัญ ไม่ควรมีสารตะกั่วเจือปน
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานสำหรับผู้ใหญ่ต่อวันคือ 800 – 1,200 มิลลิกรัม และสำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรรับประทานมากกว่า 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
- ควรรับประทานแคลเซียมเป็น 2 เท่าของฟอสฟอรัส
- สำหรับผู้สูงอายุหรือมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปที่มักรับประทานเนื้อสัตว์ ควรหันมารับประทานผักใบเขียวและดื่มนมแทน เพราะในช่วงที่อายุมาก ไตจะไม่สามารถขับฟอสฟอรัสออกมาได้ดีเท่าที่ควร จึงส่งผลให้แคลเซียมต่ำลง
- สำหรับผู้ที่รับประทานฟอสฟอรัสมากเกินไป อาจทำให้แร่ธาตุในร่างกายเสียสมดุลและทำให้แคลเซียมลดลง ซึ่งโดยทั่วไปอาหารที่เรารับประทานก็มักมีฟอสฟอรัสสูงอยู่แล้ว ดังนั้นแนวโน้มว่าจะพบการขาดแคลเซียมจึงเป็นไปได้สูง ดังนั้น ควรพยายามปรับการรับประทานอาหารให้เหมาะสมด้วย
ประโยชน์ของฟอสฟอรัส
- ฟอสฟอรัสสามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพเหงือกและฟันให้แข็งแรง
- ช่วยในการเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
- ฟอสฟอรัสช่วยบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบได้
- มีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญไขมันและแป้ง ทำให้ร่างกายมีพลังงานและกระปรี้กระเปร่า
แหล่งอ้างอิง : หนังสือวิตามินไบเบิล (ดร.เอิร์ล มินเดลล์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)