ทุ้งฟ้า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นทุ้งฟ้า 9 ข้อ !

ทุ้งฟ้า

ทุ้งฟ้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia macrophylla Wall. ex G.Don จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[3]

สมุนไพรทุ้งฟ้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระทุ้งฟ้าไห้ ทุ้งฟ้าไก้ (ชุมพร), ตีนเทียน (สงขลา), พวมพร้าว (ปัตตานี) เป็นต้น[1],[2]

ข้อควรรู้ : ต้นทุ้งฟ้าเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดกระบี่[3]

ลักษณะของทุ้งฟ้า

  • ต้นทุ้งฟ้า จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ที่มีความสูงได้ประมาณ 15-25 เมตร เรือนยอดเป็นรูปไข่แกมรูปกรวยแหลม ค่อนข้างโปร่ง ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง กิ่งใหญ่ตั้งฉากกับลำต้นเป็นวงรอบ โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเรียบเป็นสีขาวอมเทาหรือสีเทาอ่อน มีรูระบายอากาศทั่วไป เปลือกต้นเมื่อสับดูจะมีน้ำยางสีขาวเหนียว ๆ ซึมออกมา ส่วนเนื้อไม้มีสีค่อนข้างเหลือง เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ จะเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง เสี้ยนไม้ตรง เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลางและสม่ำเสมอ แข็ง เลื่อย ไสกบ และตกแต่งได้ง่าย ผึ่งแห้งได้ดี มีความถ่วงจำเพาะประมาณ 0.54 ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ลึกและมีการระบายน้ำได้ดี หรือในสภาพระบบวนเกษตร และควรปลูกในช่วงประมาณต้นฤดูชน เพื่อให้กล้าไม้มีเวลาตั้งตัว และระบบรากเจริญยึดดินได้ดีก่อนสิ้นฤดูฝน ซึ่งจะช่วยทำให้กล้าไม้สามารถรอดตายได้ตลอดฤดูแล้ง สามารถพบขึ้นได้ทั่วไปในป่าดงดิบและบนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือพื้นที่ที่เคยถูกแผ้วถางมาก่อนทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งบริเวณนี้จะมีปริมาณของน้ำฝนตกชุกและมีความชุ่มชื้นมาก นอกจากนี้ในต่างประเทศยังพบขึ้นกระจายในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิวกินี พม่า และมาเลเซียอีกด้วย[1],[2]

ต้นทุ้งฟ้า

  • ใบทุ้งฟ้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงรอบ ๆ ข้อ ข้อละ 3-4 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกกลับหรือรูปไข่แกมรูปหอกกลับ ปลายใบเป็นติ่งแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียว ท้องใบเป็นคราบสีขาว เส้นแขนงใบถี่และเป็นเส้นตรง[1],[2]

ใบทุ้งฟ้า

  • ดอกทุ้งฟ้า ออกดอกเป็นช่อแขนงตามซอกใบที่ปลายกิ่งจำนวนมาก ยาวประมาณ 3.5-11.5 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาว มีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[1],[4]

ดอกทุ้งฟ้า

  • ผลทุ้งฟ้า ผลมีลักษณะเป็นฝักยาวขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ ๆ ฝักมีลักษณะเรียวยาว ยาวประมาณ 30-45 เซนติเมตร พอแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก และบิดเป็นเกลียว ปล่อยให้เมล็ดที่มีพู่สีขาวปลิวไปตามลมได้[1],[2]

ฝักทุ้งฟ้า

สรรพคุณของทุ้งฟ้า

  1. ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นเป็นยาบำรุงกำลัง (เปลือกต้น)[1],[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้รากผสมยา รับประทานบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง (ราก)[2],[3]
  2. เปลือกต้นใช้เป็นยาบำรุง แก้ไข้ รักษาไข้ป่าหรือโรคมาลาเรีย (เปลือกต้น)[2]
  3. ใช้เป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น)[2],[4]
  4. ช่วยขับระดูของสตรี (เปลือกต้น)[2],[4]
  5. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำหนัด (เปลือกต้น)[1],[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้รากเป็นยาบำรุงกำหนัด (ราก)[2]
  6. เปลือกต้นใช้เป็นยารักษาบาดแผล (เปลือกต้น)[4]
  7. ใบนำมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าวทำให้ร้อน ใช้เป็นยาพอกแก้ข้อต่อเคลื่อน (ใบ)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของทุ้งฟ้า

  • จากการทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดจากเปลือกต้นและใบทุ้งฟ้ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิต[1]

ประโยชน์ของทุ้งฟ้า

  1. ไม้ทุ้งฟ้าเป็นไม้ที่มีคุณค่ามากชนิดหนึ่ง มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างดี เนื้อไม้ละเอียด เสี้ยนไม้ตรง สีเหลืองอ่อนและมีเปลือกบาง นิยมนำมาใช้ทำกระดานพื้น ฝา หีบ ลังใส่ของ เครื่องเรือน เครื่องใช้เบา ๆ รองเท้าไม้ แจว พาย กรรเชียง และยังเหมาะสำหรับที่จะนำไปปอกหรือฝานทำไม้บางเพื่อทำส่วนผิวหน้าของไม้อัด[2]
  2. ทุ้งฟ้าเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่งที่มีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี มีอัตราการเจริญเติบโตทางความสูงมากกว่า 1 เมตรต่อปี และมีอัตราเพิ่มพูนทางขนาดความโตของเส้นรอบวงโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 5 เซนติเมตร จึงมีประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารในภาคใต้ได้ เนื่องจากต้นทุ้งฟ้าในธรรมชาติจะขึ้นอยู่ในบริเวณป่าเสื่อมโทรม จึงเป็นไม้ที่ได้รับการสนับสนุนให้นำมาปลูกในบริเวณต้นน้ำลำธารที่ถูกแผ้วถางทำลาย เนื่องจากเป็นไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ทุ้งฟ้า”.  หน้า 44.
  2. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “ทุ้งฟ้า”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/.  [08 ธ.ค. 2014].
  3. พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “ทุ้งฟ้า”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th.  [08 ธ.ค. 2014].
  4. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ทุ้งฟ้าหรือกระทุ้งฟ้าไห้”.  อ้างอิงใน : หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [08 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by J. B. Friday, Dinesh Valke, Shubhada Nikharge)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด