ทุเรียนเทศ
ทุเรียนเทศ ชื่อสามัญ Soursop, Prickly custard apple)
ทุเรียนเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona muricata L. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)
สมุนไพรทุเรียนเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะทุเรียน (ภาคเหนือ), หมากเขียบหลด (ภาคอีสาน), ทุเรียนแขก (ภาคกลาง), ทุเรียนน้ำ เป็นต้น
ทุเรียนเทศ เป็นพืชชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับน้อยหน่า กระดังงา นมแมว และจำปี โดยลักษณะของผลนั้นจะมีรูปร่างคล้ายทุเรียน และมีหนาม เปลือกมีสีเขียว ในส่วนของเนื้อจะมีสีขาว ฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว ซึ่งพืชชนิดนี้จะปลูกมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในแถบอเมริกากลาง โดยเป็นพืชที่ชอบอากาศที่มีความชื้นสูง
ทุเรียนเทศ เป็นผลไม้ที่ขาดการให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจในไทย โดยปกติแล้วจะพบว่ามีการเพาะปลูกมากในภาคใต้ของประเทศไทย รวมไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์พบว่าทุเรียนเทศนี้ได้หายไปจากตลาดท้องถิ่น แต่กลับได้ในรูปของการแปรรูป เช่น น้ำทุเรียนเทศเข้มข้น น้ำทุเรียนเทศบรรจุกล่องพร้อมดื่มในร้านแถวรัฐปีนังของมาเลเซีย
ทุเรียนเทศ ในทางโภชนาการแล้วถือว่ามีคาร์โบไฮเดรตสูง โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโทส และยังมีวิตามินบีและวิตามินซี ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาคือส่วนของใบ ผล และเมล็ด
การรับประทานทุเรียนเทศติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลานาน อาจจะทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เนื่องจากในผลทุเรียนเทศจะมีสาร “แอนโนนาซิน” (Annonacin) ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์สมอง และในส่วนของเมล็ดและเปลือกก็จะมีสารอัลคาลอยด์อยู่หลายชนิดที่เป็นพิษต่อร่างกาย แต่ถ้ารับประทานอย่างมีสติ ไม่ได้รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็ไม่น่าจะเป็นโทษต่อร่างกาย
ประโยชน์ของทุเรียนเทศ
- ใช้รับประทานเป็นผลไม้สดหรือนำไปทำเป็นน้ำผลไม้ปั่น
- สารสกัดจากส่วนของใบ เมล็ด และลำต้นของทุเรียนเทศมีฤทธิ์ในการต่อต้านไวรัสและเซลล์มะเร็ง (งานวิจัยในอเมริกา)
- การรับประทานผลไม้ชนิดนี้จะช่วยเพิ่มน้ำนมกับหญิงให้นมบุตร
- ใบนำมาใช้ชงดื่มช่วยทำให้นอนหลับสบาย
- นำใบมาใส่ไว้ในหมอนหนุน จะช่วยทำให้หลับสบายยิ่งขึ้น (เนเธอร์แลนด์)
- ใบของทุเรียนเทศมีการนำมาใช้เป็นยาระงับประสาท
- รากและเปลือกนำมาทำเป็นชาชงดื่มแก้อาการเครียด ช่วยลดอาการเจ็บปวดและลดการเกร็ง
- ช่วยแก้อาการเมา ด้วยการใช้ใบขยี้ลงในน้ำผสมกับน้ำมะนาว 2 ลูก แล้วนำมาจิบเล็กน้อยและเอาน้ำที่่เหลือลูบหัว (ตำรา Materia medica)
- ผลสุกช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ผลดิบใช้รับประทานเพื่อรักษาโรคบิด
- เมล็ดนำมาใช้ในการช่วยสมานแผลและห้ามเลือด
- ผลดิบนำมาตำแล้วพอกเป็นยาฝาดสมาน
- เมล็ดของทุเรียนเทศนี้จะมีพิษ จึงนำมาใช้ทำยาเบื่อและทำเป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืช
- ใบทุเรียนเทศนำมาใช้ปูให้ผู้ป่วยที่เป็นไข้นอน ซึ่งจะช่วยลดอาการไข้ลงได้ทันทีเมื่อตื่นนอน (แถบคาริบเบียน)
- ใบของทุเรียนเทศมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องอืด ด้วยการนำมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทาบริเวณท้อง
- ใบใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการไอ อาการปวดตามข้อ ด้วยการนำมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทา
- เปลือก ราก และดอกมีการนำมาใช้เกี่ยวกับข้ออักเสบและผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ
- น้ำสกัดจากเนื้อยังช่วยในการขับพยาธิได้
- สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลไม้กวนต่าง ๆ ไอศกรีม เยลลี่ ซอส รวมไปถึงผลไม้กระป๋องด้วย
- ทุเรียนเทศนิยมนำมาใช้ประกอบอาหาร อย่างเช่น แกงส้มและเชื่อม (ภาคใต้)
ข้อมูลทางโภชนาการของผลทุเรียนเทศดิบต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 66 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 16.84 กรัม
- น้ำตาล 13.54 กรัม
- เส้นใย 3.3 กรัม
- ไขมัน 0.30 กรัม
- โปรตีน 1.00 กรัม
- วิตามินบี 1 0.070 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 2 0.050 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี 3 0.900 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 6 0.059 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 9 14 ไมโครกรัม 4%
- วิตามินซี 20.6 มิลลิกรัม 25%
- ธาตุแคลเซียม 14 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุเหล็ก 0.6 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุแมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุโพแทสเซียม 278 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, อุไร จิรมงคลการ (ผักพื้นบ้าน), วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ (ผลไม้พื้นเมืองภาคใต้ ความสุขที่คุณเด็ดได้)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)