ทิ้งถ่อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นทิ้งถ่อน 22 ข้อ ! (ถ่อน)

ทิ้งถ่อน

ทิ้งถ่อน ชื่อสามัญ White siris, Sit[1],[2],[5]

ทิ้งถ่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Albizia procera (Roxb.) Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1],[2],[5]

สมุนไพรทิ้งถ่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พระยาฉัตรทัน ส่วน (เชียงใหม่, เลย), ถ่อน ถินถ่อน นมหวา นุมหวา ทิ้งถ่อน (ภาคกลาง), ควะ เยกิเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เชอะบ้อง ซะบ้อง แซะบ้อง เซะบ้อง เส่บ้อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น[1],[3],[7]

ลักษณะของทิ้งถ่อน

  • ต้นทิ้งถ่อน จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านต่ำและโปร่ง ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มเป็นเรือนยอด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย ต้นแก่เป็นสีเทาถึงสีน้ำตาล เปลือกต้นมีรอยด่างเป็นสีน้ำตาลกระจาย พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นตามป่าหญ้า ตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าทุ่งตอนลุ่มในภาคกลางทั่วไป หรือในพื้นที่ต่ำน้ำท่วมถึง และยังขึ้นกระจัดกระจายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคตะวันออก ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้มักจะขึ้นเป็นกลุ่มแบบห่าง ๆ กันบนภูเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,000 เมตร ส่วนในกรุงเทพฯ ก็พบว่ามีปลูกกันบ้างประปราย และในต่างประเทศพบขึ้นทางตอนใต้ของจีน พม่า ลาว และกัมพูชา[1],[3],[4],[5],[6]

ต้นทิ้งถ่อน

ถ่อน

  • ใบทิ้งถ่อน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับกัน ช่อใบย่อยยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เหนือโคนก้านมีต่อมขนาดปลายก้าน มีต่อมเป็นรูปร่างกลมนูน ก้านใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย มีใบย่อยประมาณ 5-12 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือเป็นรูปไข่กลีบ หรือรูปขอบขนาน หรือรูปรี ปลายใบมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนใบมนหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.75-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน บ้างว่าหลังเรียบ ส่วนท้องใบมีขนสั้นปกคลุม ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร[1],[5]

ใบทิ้งถ่อน

  • ดอกทิ้งถ่อน ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะเกิดเป็นกลุ่มบนก้านช่อรวม กลุ่มละประมาณ 2-5 ช่อ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 15-25 ดอก ดอกย่อยไม่มีก้านดอก หรือมีแต่สั้นมาก ดอกเป็นสีขาวมีกลีบดอก 5 กลีบ เกสรขาวแกมสีเหลืองอ่อน ติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกมีขนเล็ก ๆ ดอกมีเพศผู้จำนวนมาก โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมีย หลอดยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ก้านชูอับเรณูเป็นสีเหลืองอ่อน ปลายก้านเป็นสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร อับเรณูมีสีขาวแกม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบติดกันเป็นรูปถ้วยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร สีเขียวผิวเรียบขอบถ้วยแยกเป็นแฉก 5 แฉก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาว[1],[5]

ดอกทิ้งถ่อน

ดอกถ่อน

  • ผลทิ้งถ่อน ออกผลเป็นฝักแบน มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ฝักเมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 6-12 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะแบนรี มีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร[1],[5]

ผลทิ้งถ่อน

ฝักทิ้งถ่อน

สรรพคุณของทิ้งถ่อน

  1. เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูม เป็นยาอายุวัฒนะ (เปลือกต้น)[1]
  2. แก่นใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)[2]
  3. เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ช่วยแก้ลมในกองธาตุ แก้ลมป่วง (เปลือกต้น)[1]
  4. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น)[1],[3]
  5. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้กษัย แก้ลมกษัย (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)[9]
  1. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)[1],[3]
  2. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้หืดไอ (เปลือกต้น)[2]
  3. เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูม มีสรรพคุณแก้อาเจียน (เปลือกต้น)[1],[3]
  4. ช่วยในการขับผายลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (เปลือกต้น)[1],[3] หรือจะใช้รากและแก่นต้มกับน้ำดื่มแก้อาการท้องอืดก็ได้เช่นกัน (รากและแก่น)[1],[3] ส่วนผลก็เป็นยาขับลม แก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อเช่นกัน (ผล)[2]
  5. เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูมเป็นยาแก้ท้องร่วง (เปลือกต้น)[1],[2],[3]
  6. ช่วยแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)[1]
  7. แก่นใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (แก่น)[2]
  8. ช่วยแก้ระดูขาวของสตรี (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)[9]
  9. รากใช้เป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (ราก)[9]
  10. เปลือกใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด ใช้ชะล้างบาดแผลและช่วยสมานแผล (เปลือกต้น)[8] ช่วยแก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรังและใช้ทาฝี (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)[9]
  11. ช่วยแก้โรคผิวหนัง (เปลือกต้น)[1]
  12. รากและแก่นทิ้งถ่อนมีรสขมร้อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว แก้เส้นตึง เส้นท้องตึง (รากและแก่น)[1],[3]

ประโยชน์ของทิ้งถ่อน

  1. ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนสามารถนำไปลวกหรือต้มรับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริกได้[7]
  2. ใบมีรสเฝื่อนเมา นำมาเผาไฟผสมกับน้ำใบยาสูบฉุน ๆ และน้ำปูนขาว ใช้เป็นยาฉีดฆ่าตัวสัตว์ หนอน และแมลงได้เป็นอย่างดี[1],[3]
  3. เปลือกต้นให้น้ำฝาดที่สามารถนำมาใช้ในการฟอกหนัง[4] ใช้ในการย้อมผ้า[6]
  4. เนื้อไม้มีความเหนียว แข็งแรงทนทาน และชักเงาได้ดี สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานแกะสลัก ทำเครื่องมือกสิกรรม เช่น ด้ามจอบ ครกตำข้าว ฯลฯ หรือใช้ทำล้อเลื่อน กระเดื่อง ฟันสีข้าว ถังไม้ ทำรถ เรือแจว เรือพาย พาย กรรเชียง ฟืนถ่าน ฯลฯ[4],[6],[8]
  5. เนื่องจากต้นทิ้งถ่อนเป็นไม้ตระกูลถั่วจึงมีการนำมาใช้ปลูกในแปลงวนเกษตร โดการปลูกร่วมกับพืชเกษตรกรรมอื่น ๆ และยังมีการนำไปปลูกไว้ตามสวนหรือริมถนนอีกด้วย[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “ทิ้งถ่อน”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 121.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ถ่อน”.  หน้า 41
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ถ่อน”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 322.
  4. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “ถ่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com.  [19 มี.ค. 2014].
  5. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “Sit, White siris”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [19 มี.ค. 2014].
  6. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ถ่อน (กลาง), ส่วน (เชียงใหม่), เชอะบ้อง (กาญจนบุรี), ทิ้งถ่อน (กลาง)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [19 มี.ค. 2014].
  7. บันทึกขนำริมทุ่งปลักเหม็ด.  “ทิ้งถ่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: plugmet.orgfree.com.  [19 มี.ค. 2014].
  8. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “สมุนไพรพื้นบ้านทิ้งถ่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [19 มี.ค. 2014].
  9. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “ผักซึก (ถ่อน)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [19 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Foggy Forest, Tony Rodd)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด