ทองแมว
ทองแมว ชื่อสามัญ Badhara bush[2]
ทองแมว ชื่อวิทยาศาสตร์ Gmelina elliptica Sm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gmelina asiatica var. villosa (Roxb.) Bakh., Gmelina villosa Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]
สมุนไพรทองแมว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ซ้อแมว (ลำปาง), ทองแมว ทำเมีย (กาญจนบุรี), ส้มแมว นมแมว (ราชบุรี), ทองแมว กันจาน (สระบุรี), กระเบี้ยเหลือง (ศรีสะเกษ), จิงจาย (นราธิวาส, นครศรีธรรมราช), ปูฉัง (สตูล), บูฉัง (พังงา), จิงจ้อ (ปัตตานี), คางแมว (ภาคกลาง), คางแมว นมแมว ส้มแมว (ภาคใต้), ซองแมว เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของทองแมว
- ต้นทองแมว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 2-4 เมตร ปลายกิ่งมักห้อยลง ตามกิ่งอ่อนมีขนอุย ลำต้นอ่อนเปลือกต้นจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วเปลือกต้นด้านนอกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีหนามแข็ง พบขึ้นกระจายทั่วไปในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]
- ใบทองแมว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี หรือรูปวงรีแกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเกือบกลม ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักไม่ชัดเจน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ หลังใบด้านบนมีขนขึ้นสั้นนุ่ม เมื่อแก่จะเกลี้ยง ส่วนท้องใบด้านล่างมีขนอุยแกมขนสั้นขึ้นหนานุ่ม มีต่อมประปรายที่ใกล้เส้นแขนงใบที่โคนใบ เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 6-10 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร[1]
- ดอกทองแมว ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวได้ประมาณ 0.6-0.9 เซนติเมตร ก้านดอกสั้นมาก ช่อดอกจะออกที่ปลายกิ่ง มีลักษณะห้อยลง มีขนสั้นหนานุ่ม มีใบประดับเป็นรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม ดอกเป็นสีเหลือง มีดอกย่อยประมาณ 17-42 ดอก สมมาตรด้านข้าง ก้านดอกอ้วนและสั้น ยาวได้ประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร มีขนขึ้นหนาแน่น ผิวด้านนอกมีขน ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก ปลายแฉกกลม แฉกบนเว้าตื้น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดกว้างและเบี้ยว หลอดกลีบมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร ปลายหลอดกลีบบานเป็นรูปปากแตร ขนาดกว้างประมาณ 1.5-1.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-2.2 เซนติเมตร ปลายแฉกกลีบเล็ก 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ขนาดกว้างประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร และกลีบใหญ่ 1 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ขนาดกว้างประมาณ 1.1-1.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.1-2 เซนติเมตร สีเหลือง ส่วนใบประดับดอกมี 1-3 อัน ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5.5-8 มิลลิเมตร โคนตัด มักหลุดร่วงได้ง่าย ที่ปลายมีต่อม 2-3 อัน ส่วนกลีบเลี้ยง ปลายตัด มี 4 แฉก ไม่ชัดเจน ผิวเกลี้ยงมีขนสั้นหนานุ่ม ใกล้ปลายกลีบมีต่อมขนาดใหญ่ 1-3 ต่อม ต่อมมีลักษณะค่อนข้างแบน ยาวได้ประมาณ 3-4 มิลลิเมตร หลอดกลีบเป็นรูปกรวย ขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายแฉกกลีบกว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่านั้น และยาวได้ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร สีเขียว มีขนขึ้นกระจายทั่วไป ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน แบ่งออกเป็น 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่บนหลอดกลีบดอกบริเวณกึ่งกลางของหลอด แบ่งเป็นอันยาว 2 อัน อับเรณู 2 พู ขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2.1-2.4 เซนติเมตร มีตุ่มขนคล้ายดอกเห็ดกระจายทั่วไป และอันสั้น 2 อัน อับเรณูกว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูเกลี้ยงสีเหลือง ยาวประมาณ 1.3-1.4 เซนติเมตร รังไข่เกลี้ยงอยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร พบขนที่ปลายสั้น ๆ เกิดจาก 4 คาร์เพล ในแต่ละคาร์เพลจะมี 1 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านเกสรเพศเมียมีลักษณะเรียว ยาวได้ประมาณ 3.7-4.5 เซนติเมตร ปลายยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 2 แฉก[1]
- ผลทองแมว ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ฉ่ำน้ำ ผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวยแกมรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 1.1-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.3-2 เซนติเมตร โคนมน ปลายกลม ผิวผลเกลี้ยง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลีบเลี้ยงสีเขียวติดคงทน ก้านผลยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ เกลี้ยง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-1.9 เซนติเมตร[1]
สรรพคุณของทองแมว
- ใบสดใช้ตำพอกศีรษะเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
- ใช้เป็นยาล้างตา (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
- ดอกใช้ผสมกับใบแจง สารส้ม ใช้น้ำเขี้ยวบึ้งเป็นกระสาย เอาน้ำมาใช้หยอดแก้ตาฟาง ต้อกระจก (ดอก)[1]
- น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหูเป็นยารักษาอาการปวดหู (ใบ)[1]
- ใบนำมาต้มเอาน้ำอมหรือใช้บ้วนปาก เป็นยารักษาอาการปวดฟัน (ใบ)[1]
- ใช้เป็นยาระบาย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
- ใช้เป็นยารักษาบาดแผล (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
- ใบใช้เป็นยาแก้บวม (ใบ)[1]
- ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากทองแมว นำมาผสมกับรากก้านเหลือง รากกระเจียน และรากต่อไส้ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเลือด ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด แก้อาการปวดเมื่อย (ราก)[1]
ประโยชน์ของทองแมว
- ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ[2]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ซองแมว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [27 ธ.ค. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ทองแมว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [27 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad), biodiversity.forest.go.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)