ทองพันชั่ง
ทองพันชั่ง ชื่อสามัญ White crane flower
ทองพันชั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhinacanthus nasutus (L.) Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhinacanthus communis Nees) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
สมุนไพรทองพันชั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ท่องคันชั่ง หญ้ามันไก่ (ภาคกลาง) เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มาเลเซีย และมาดากัสการ์
ลักษณะของทองพันชั่ง
- ต้นทองพันชั่ง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร โคนของลำต้นเป็นเนื้อไม้แกนแข็ง มีกิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม
- ใบทองพันชั่ง ใบเป็นเป็นเดี่ยว ลักษณะใบเป็นรูปไข่ ปลายใบและโคนใบแหลม ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ
-
- ดอกทองพันชั่ง ออกดอกเป็นช่อตรงซอกมุมใบ กลีบดอกมีสีขาว กลีบรองดอกมี 5 กลีบและมีขน กลีบดอกติดกัน โคนเป็นหลอด มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบมีขนยาวประมาณ 0.8 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 0.1 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉกแหลมสั้น ๆ ส่วนกลีบล่างแผ่กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร แยกเป็น 3 แฉก ส่วนก้านเกสรจะสั้นติดอยู่ที่ปากท่อดอก
- ผลทองพันชั่ง ลักษณะผลเป็นฝักและมีขน ภายในฝักมีเมล็ด 4 เมล็ด
สมุนไพรทองพันชั่ง เป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เชื้อราบนผิวหนังเป็นหลัก ซึ่งส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้นก็ได้แก่ ต้น ใบสด รากสดหรือแห้ง และทั้ง 5 ส่วนของต้น (ต้น, ดอก, ใบ, ก้าน, ราก) และทองพันชั่งยังสามารถช่วยรักษาอาการอื่น ๆ และโรคต่าง ๆ ได้อีกมากมาย ไปดูกันเลยครับ
สรรพคุณของทองพันชั่ง
- ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย และใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ราก, ต้น)
- ช่วยแก้โรค 108 ประการ (ต้น)
- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ใบ)
- ช่วยรักษาวัณโรคปอดในระยะเริ่มแรก ด้วยการใช้ก้านและใบสดประมาณ 30 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 10-15 กรัม) นำมาผสมกับน้ำตาลกรวดต้มเป็นน้ำดื่ม (ก้าน, ใบ)
- ช่วยแก้ลมสาร (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ใช้เป็นยาหยอดตา (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ใบรสเบื่อเมาช่วยดับพิษไข้ หรือจะใช้รากนำมาต้มรับประทานแก้พิษไข้ก็ได้ (ใบ, ราก)
- ช่วยแก้ไข้เหนือ (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ใบ)
- ช่วยแก้อาการช้ำใน (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยทำให้ระบบกระเพาะอาหารทำงานได้ดีมากขึ้น (ใบ)
- ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยแก้ไส้เลื่อน ไส้ลาม (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย ช่วยรักษาโรคนิ่ว ด้วยการใช้ทองพันชั่งทั้งต้น ดอก ใบ ก้าน และราก นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วตากแดดให้แห้ง ต้มเป็นน้ำดื่ม (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (ใบ)
- ช่วยแก้โรคมุตกิดระดูขาวของสตรี (ใบ)
- ใช้รักษาโรคตับอักเสบ (สารแนพโทควิโนนเอสเทอร์)
- ช่วยฆ่าพยาธิ (ใบ)
- ช่วยขับพยาธิตามผิวหนัง ช่วยแก้พยาธิวงแหวนตามผิวหนัง ตามบาดแผล (ใบ, ราก, ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการปวดฝี (ใบ)
- ช่วยแก้พิษงู (ใบ, ราก)
- ช่วยถอนพิษ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการอักเสบ (ใบ)
- ช่วยรักษาคุดทะราด (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ราก, ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอกตามชายโครง คอเคล็ด มือเคล็ด (ไม่มีการระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส (สารแนพโทควิโนนเอสเทอร์)
- ช่วยต้านยีสต์ โดยสาร Rhinacanthin C, D และ N จากใบทองพันชั่งสามารถช่วยยับยั้งเชื้อ Candida albicans ได้ (ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์) (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคผมร่วง (ต้น)
- ช่วยแก้อาการผมหงอกเนื่องจากเชื้อรา (ราก)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เรื้อน ผดผื่นคันเรื้อรัง ซึ่งในปัจจุบันมีการนำทองพันชั่งไปผลิตเป็น โทนเนอร์ทองพันชั่ง เพื่อความสะดวกในการหาซื้อและการนำมาใช้งาน (ใบ, ราก, ทั้งต้น) สำหรับวิธีการใช้ก็มีหลากหลายสูตร คือ
- ใช้ใบสด 5-8 ใบ นำมาตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงผสมเล็กน้อย แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน (ใบสด)
- ใช้ใบสดตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันก๊าด หรือน้ำมันดิบ หรือแอลกอฮอล์ 75% แล้วนำมาบริเวณที่เป็นวันละ 1 ครั้งประมาณ 3 วันจนกว่าจะหายขาด (ใบสด)
- ใช้รากสด 2-3 ราก นำมาป่นแช่กับเหล้าไว้นาน 1 สัปดาห์ แล้วกรองเอาแต่น้ำยาที่แช่มาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อนบ่อย ๆ จนกว่าจะหาย (รากสด)
- ใช้รากทองพันชั่งนำมาบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำมะนาวและน้ำมะขาม แล้วนำมาชโลมทาบริเวณที่เป็น (ราก)
- ใช้รากทองพันชั่งประมาณ 6-7 รากและหัวไม้ขีดไฟ 1/2 กล่อง นำมาตำจนเข้ากันให้ละเอียด แล้วผสมน้ำมันใส่ผมหรือจะผสมกับวาสลีนเพื่อไม่ให้ยาแห้ง แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นกลากหรือโรคผิวหนังเป็นประจำ (ราก)
- ทองพันชั่งรักษามะเร็ง ช่วยยับยั้งมะเร็ง มะเร็งในกระเพาะ มะเร็งในคอ มะเร็งในปาก มะเร็งในปอด มะเร็งภายในและภายนอก ต้นทองพันชั่งมีสารสำคัญคือ “สารแนพโทควิโนนเอสเทอร์” (Naphthoquinone Ester) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีการออกฤทธิ์ในการช่วงยับยั้งมะเร็งเยื่อบุช่องปาก มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก ด้วยการใช้ทั้งต้นสดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำพอท่วมใบยา ต้มดื่มต่างน้ำ (ใบ, ราก, ทั้งต้น)
- มีผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ใช้ต้นทองพันชั่งนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม ช่วยทำให้อาการของโรคดีขึ้น ช่วยทำให้น้ำเหลืองดีขึ้น เม็ดตุ่มตามตัวน้อยลง รับประทานข้าวได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงและงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้ (ต้น)
สรรพคุณทองพันชั่งเมื่อใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ
- รากและต้นทองพันชั่ง เมื่อใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นจะช่วยยับยั้งมะเร็งเนื้องอก มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะลำไส้ มะเร็งตามร่างกาย ส่วนใบจะใช้ยับยั้งมะเร็งไช (ราก, ต้น)
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ใบทองพันชั่ง ใบชุมเห็ดไทย ไทยร่อน เมล็ดพริก ต้นเหงือกปลาหมอ นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา ใช้รับประทานหลังอาหารเช้า, เย็น ครั้งละ 5 เม็ด เป็นเวลา 1 เดือนจะช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ (ใบ)
- ช่วยแก้โรคไต โรคมะเร็ง ด้วยการใช้ใบทองพันชั่งดอกเหลืองและใบเลี่ยน นำมาตากแดดจนแห้งแล้วนำไปคั่วให้หอม ใช้ชงเป็นน้ำชาไว้ดื่มเพื่อรักษาโรค (ใบ)
- ช่วยแก้กระษัย (ราก)
- ช่วยแก้อาการใจระส่ำระสาย แก้อาการคลุ้มคลั่ง (ใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดหัวตัวร้อน (ใบ)
- แก้อาการไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด (ราก)
- รักษาโรครูมาติซึม (ราก)
- รักษาโรคตับพิการ (ราก)
- รักษาโรคไขข้อพิการ (ราก)
- แก้ลมเข้าข้อที่ทำให้มีอาการปวดบวมต่าง ๆ (ราก)
- ช่วยแก้หิดมะตอย (ใบ)
- ช่วยทำให้ผมดกดำ แก้ผมหงอก ผมร่วง จึงมีการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แชมพูทองพันชั่ง (ราก)
- ช่วยแก้แมงเคียนกินรากผม แก้เหา แก้รังแค (ใบ, ราก, ต้น)
ข้อควรระวัง : สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคหืด โรคโลหิตจาง โรคมะเร็งในเลือด โรคความดันโลหิตต่ำ ไม่ควรรับประทานสมุนไพรทองพันชั่ง
ประโยชน์ของทองพันชั่ง
- นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่ว ๆไป (ต้น)
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, รองศาสตราจารย์ ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ (นักวิจัยภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์), สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล, การแยกและการพิสูจน์เอกลักษณ์สารกลุ่มควิโนนที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ จากใบของต้นทองพันชั่ง (ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์), www.thaigoodview.com
ภาพประกอบ : เว็บไซต์ samunpri.com, www.thaiherbalmed.com, เว็บไซต์ thaiforestherb.blogspot.com, เว็บไซต์ the-than.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)