ทรามาดอล (Tramadol) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ทรามาดอล

ทรามาดอล (Tramadol) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า อนาดอล (Anadol), มาทราดอล (Matradol), ทรามอล (Tramol) เป็นยาในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ที่นำมาใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง (ทรามาดอลมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดได้ดีเทียบเท่ากับมอร์ฟีนสำหรับอาการปวดระดับต่ำถึงปานกลาง แต่มีประสิทธิภาพด้อยกว่าสำหรับอาการปวดรุนแรง)

หากใช้ยาทรามาดอลในรูปแบบรับประทาน ตัวยาจะออกฤทธิ์ภายหลังการรับประทานยาประมาณ 1 ชั่วโมง ออกฤทธิ์สูงสุดหลังรับประทานประมาณ 2-3 ชั่วโมง และจะหมดฤทธิ์ภายใน 6 ชั่วโมง

กฎหมายยาในบ้านเรากำหนดให้ยาทรามาดอลเป็นยาอันตรายตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และมีขายในร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วไป การใช้ยานี้จึงต้องระมัดระวังและควรอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรซื้อหายานี้มารับประทานด้วยตัวเอง

ตัวอย่างยาทรามาดอล

ยาทรามาดอล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อแมนดา/อมานดา (Amanda), อนาดอล/อะนาดอล (Anadol), อนาแลบ (Analab), อนามอล (Anamol), แคปตานิล (Captanil), คริสมอล (Crismal), ดูโอเซตซ์ (Duocetz), ฟามาดอล (Famadol), กาตาดอล (Gatadol), เกรทตามอล (Greatamol), ฮิมมาดอล (Himmadol), เจ.วี. ดอล (J.v. dol), เคมาเท็กซ์ (K matex), มาบรอน (Mabron), มาดิเตอร์ (Maditer), มาดอล (Madol), มาโดลา (Madola), มาทราดอล (Matradol), มอดเซนอล (Modsenal), ไนทราดอล (Nytradol), แพกมาดอล (Pacmadol), เพนดอล (Paindol), พินนาดอล (Pinnadol), ฟาร์มาดอล (Pharmadol), รามาดอล (Ramadol), เซฟมอล (Sefmal), โซนามอล แคปซูลส์ (Sonamol capsules), สตาร์มาดอล (Starmadol), ทาโมลาน (Tamolan), เทมดอล (Temdol), เทอร์แพน (Terpan), ทราซิน (Tracine), ทราบาร์-50 แคปซูลส์ (Trabar – 50 capsules), ทราซีน (Tracine), ทราดอลเจสิค (Tradolgesic), ทราโดนอล แคปซูล (Tradonal capsule), ทราเจสิค (Tragesic), ทรามา (Trama), ทรามา แท็บเล็ตส์ (Trama tablets), ทรามาแคป (Tramacap), ทรามาดา (Tramada), ทรามาดิล (Tramadil), ทรามาดอล (Tramadol), ทรามาดอล สตาด้า (Tramadol Stada), ทรามาดอล ที พี (Tramadol T P), ทรามาดอล ยูโทเปียน (Tramadol Utopian), ทรามอล (Tramol), ทรามาเมด (Tramamed), ทราแม็กซ์ (Tramax), ทรามาแซค (Tramazac), ทราเมด (Tramed), ทราโมดา (Tramoda), ทราโมเมท (Tramomet), ทราซิค (Trasic), ทราพิดอล (Trapidol), ทราอูเมด (Traumed), โทรมา แคปซูลส์ (Troma capsules), โทรซิค (Trosic), อัลตราเซต (Ultracet), อัปดอล (Updol), เวสนอน-วี 100 (Vesnon-V 100), โวลซิดอล (Volcidol) ฯลฯ

รูปแบบยาทรามาดอล

  1. ชนิดยาเดี่ยว
    • ยาแคปซูล (แคปซูลเขียวเหลือง) ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/แคปซูล
    • ยาเม็ด ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/เม็ด
    • ยาเม็ดออกฤทธิ์เนิ่นนาน ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/เม็ด
    • ยาน้ำหยด ขนาด 100 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร
    • ยาเหน็บทวาร ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/เม็ด
    • ยาฉีด ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 100 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
  2. ชนิดยาผสม
    • ยาเม็ด ขนาดความแรง 37.5 มิลลิกรัม ผสมกับยาพาราเซตามอล (Paracetamol) 325 มิลลิกรัม/เม็ด

ยา tramadol
IMAGE SOURCE : howafrica.com

อนาดอล
IMAGE SOURCE : www.squarepharma.com.bd

สรรพคุณของยาทรามาดอล

  • ใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง (ทั้งชนิดอาการปวดแบบเฉียบพลันและปวดแบบเรื้อรัง) เช่น ปวดไมเกรน ปวดประสาท (Neuralgia) ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดข้อ เป็นต้น
  • ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

กลไกการออกฤทธิ์และการเสพติดยาทรามาดอล

ยาทรามาดอลจะมีกลไกการออกฤทธิ์อยู่ 2 อย่างที่สำคัญ คือ ออกฤทธิ์กระตุ้นมิวรีเซปเตอร์ (µ-receptor) ซึ่งเมื่อกระตุ้นแล้วจะมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด รวมทั้งมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาท และมีผลทำให้เกิดภาวะเคลิ้มสุข (Euphoria) ซึ่งการออกฤทธิ์นี้จะเหมือนกับการออกฤทธิ์ของยามอร์ฟีน แต่ยาทรามาดอลจะมีความแรงน้อยกว่าประมาณ 10 เท่า (บางข้อมูลระบุว่า มีความแรงน้อยกว่าประมาณ 5-20 เท่า) จึงทำให้ยานี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษเหมือนกับมอร์ฟีน (แต่ยังจัดเป็นยาอันตรายและยังมีจำหน่ายตามร้านขายยา) อย่างไรก็ตาม แม้ยาทรามาดอลจะออกฤทธิ์น้อยกว่ามอร์ฟีนถึง 10 เท่า แต่ก็ยังมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ดีเนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์อีกอย่างหนึ่งมาช่วยเสริมฤทธิ์ คือ ฤทธิ์เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้เมื่อมีปริมาณเพิ่มขึ้นที่ไขสันหลังจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้

แต่การเพิ่มขึ้นของสารเซโรโทนิน (Serotonin) จากการรับประทานยาเกินขนาด เช่น การรับประทานยาครั้งละ 3-4 เม็ด อาจส่งผลให้เกิดอาการที่เรียกว่า “Serotonin syndrome” (เป็นอาการที่เกิดจากเซโรโทนิมากเกิน) และอาจเกิดอาการในกลุ่มที่เรียกว่า Extrapyramidal เช่น กลืนลำบาก มือสั่น มีไข้ กล้ามเนื้อเกร็งตัวอย่างมาก หรืออาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น สับสน ประสาทหลอน และหวาดระแวง ส่วนการเพิ่มขึ้นของสารนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) นั้น อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ใจสั่น กระตุ้นระบบประสาทและทำให้ชักได้ ซึ่งอาการที่กล่าวมานี้จะเกิดขึ้นมากหรือน้อยนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขนาดยาที่รับประทาน การใช้ร่วมกับยาหรือสารอื่นที่อาจเพิ่มหรือลดการออกฤทธิ์ของยา การทำงานของไต พันธุกรรมของยีนที่ใช้ในการทำลายยาทรามาดอล เป็นต้น

หากมีการนำยาทรามาดอลไปใช้ในทางที่ผิด ใช้ครั้งละหลาย ๆ เม็ดต่อเนื่องกัน หรือนำไปใช้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำอัดลม อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาทได้ เช่น ทำให้รู้สึกสบายและเคลิ้มสุขได้เร็วและแรง ส่งผลให้ผู้ใช้มีความต้องการใช้ยาทุกวัน และเมื่อใช้ยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ร่างกายจะต้องการยาเพิ่มมากขึ้นจนเกิดอาการติดยา (Addiction) หากไม่ได้รับยาเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้เกิดอาการถอนยาได้ และถ้าใช้ยามากเกินไปตัวยาก็จะไปกดระบบประสาทอย่างมากจนอาจทำให้ไม่รู้สึกตัวได้ด้วย

จะเห็นได้ว่า การนำยาทรามาดอลมาใช้เสพติดเพื่อให้เกิดอาการเคลิ้มสุขนั้นเป็นอันตรายอย่างมากจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นคงไม่คุ้มค่ากับการต้องแลกชีวิตเพียงเพื่อความสุขชั่วครู่ นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว การใช้ยานี้เพื่อการเสพติดยังอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ทั้งด้านครอบครัว สังคม และประเทศชาติตามมาอีกด้วย

ก่อนใช้ยาทรามาดอล

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาทรามาดอล สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะยาทรามาดอล (Tramadol), โคเดอีน (Codeine), โอปิแอต (Opiate) ยาแก้ปวดหรือยาแก้ไอชนิดอื่น ๆ รวมทั้งอาการจากการแพ้ยาดังกล่าว เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ โดยเฉพาะยาสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St John’s Wort) เพราะยาทรามาดอลอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนั้นร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ให้มากขึ้น) เช่น
    • การรับประทานยาทรามาดอลร่วมยาแก้เศร้า เช่น อะมิทริปไทลิน (Amitriptyline) สามารถกระตุ้นให้เกิดการชักได้ โดยเฉพาะการใช้ยาในผู้ติดสุรา ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกในสมอง และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
    • การรับประทานยาทรามาดอลร่วมยาคลายเครียด เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam), ลอราซีแพม (Lorazepam) สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น วิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน การควบคุมสติสัมปชัญญะลดลง
    • การรับประทานยาทรามาดอลร่วมยาคลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine), ควินิน (Quinine), ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) อาจลดฤทธิ์ของยาทรามาดอลได้
    • การรับประทานยาทรามาดอลร่วมยาแก้ปวดกลุ่มยาเสพติด เช่น โคเดอีน (Codeine) และเฟนทานิล (Fentanyl) สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้มีอาการชัก อึดอัด และหายใจไม่สะดวกหรือหายใจลำบาก มีอาการตัวสั่น การพูดจาติดขัด เดินเซ เป็นต้น หากต้องใช้ยาร่วมกันต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป
    • การรับประทานยาทรามาดอลร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะเพิ่มการกดประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการมึนงง มีอาการคล้ายคนเมา วิงเวียนศีรษะ หรือง่วงซึมมากยิ่งขึ้น จึงไม่ควรใช้ร่วมกัน
  • เป็นโรคกระเพาะ โรคเบาหวาน โรคปอด เช่น โรคหืด (Asthma) หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอื่น ๆ
  • การมีหรือเคยมีความผิดปกติของการทำงานของปอด ตับหรือไต
  • การเป็นหรือเคยมีประวัติมีเนื้องอกในสมอง อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ การติดเชื้อในสมองหรือไขสันหลัง โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง ภาวะการชักหรือโรคลมชัก โรคซึมเศร้า หรือเคยมีประวัติการฆ่าหรือพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
  • มีประวัติการใช้ยาเสพติดและการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ๆ หรือบ่อย ๆ
  • การผ่าตัดและศัลยกรรม ซึ่งรวมถึงการผ่าตัดทางทันตกรรมและการทำฟัน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาทรามาดอล

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาทรามาดอลและยาอนุพันธ์ฝิ่น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะสลบ ผู้ที่เคยติดยานี้หรือติดแอลกอฮอล์ ผู้ที่เคยมีความพยายามฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะเป็นพิษจากแอลกอฮอล์ ยาอนุพันธ์ฝิ่น และสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้และห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว
  • ห้ามบดยานี้เพื่อสูดดมหรือฉีดสารละลายของยานี้เข้าสู่ร่างกาย เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาแอมเฟตามีน ยาอนุพันธ์ฝิ่น หรือยาแก้ซึมเศร้า (ชนิด Tricyclic และ MAOI) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาอนุพันธ์ฝิ่น และสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เพราะอาจเสริมฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการมึนงงหรือง่วงซึมมากขึ้น
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักหรือมีประวัติชักมาก่อน, ผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ, ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง และผู้ที่มีความบกพร่องในการทำงานของตับหรือไต
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม ตัดสินใจช้า หลังการรับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ และ/หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรหรือของมีคม และ/หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ดังนั้นจึงไม่ควรลุกขึ้นหรือนั่งลงอย่างรวดเร็ว

วิธีใช้ยาทรามาดอล

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 14 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 50-100 มิลลิกรัม และรับประทานยาซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ แต่สูงสุดได้ไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม (ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี รับประทานสูงสุดได้ไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม)
  • ในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ขนาดการรับประทานยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

คำแนะนำในการใช้ยาทรามาดอล

  • สามารถรับประทานยานี้ได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหาร แต่ควรรับประทานเหมือนกันทุกครั้ง (ห้ามบดหรือเคี้ยวเม็ดยา เพราะจะทำให้ยาดูดซึมเร็วเกินไป) โดยให้รับประทานยาพร้อมกับดื่มน้ำสะอาด
  • หากรับประทานยานี้ก่อนอาหารแล้วเกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร การรับประทานยาครั้งต่อไปให้เปลี่ยนไปรับประทานพร้อมอาหารหรือนมแทน
  • ยานี้ในรูปแบบยาแคปซูลและยาเม็ด โดยทั่วไปจะให้รับประทานซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการปวด หรือใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามรับประทานยาในขนาดที่น้อยกว่า มากกว่า บ่อยกว่า หรือนานกว่าที่ระบุไว้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ (โดยเฉพาะการรับประทานยามากกว่าที่ระบุไว้) หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยาทรามาดอล ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการปากแห้งและท้องผูกได้ ในระหว่างการรับประทานยาจึงควรดื่มน้ำให้มาก ๆ และเน้นรับประทานผักผลไม้หรืออาหารที่มีกากใยสูง
  • หากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ห้ามหยุดยาเองในทันที ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำในการปรับลดขนาดการใช้ยาลงอย่างถูกต้อง เพราะการหยุดยาในทันทีอาจทำให้เกิดอาการขาดยาได้ ซึ่งอาการดังกล่าวได้แก่ นอนไม่หลับ วิตกกังวล เหงื่อออก สั่น ปวดตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง ในรายที่รุนแรงอาจจะมีอาการหูแว่วหรือเห็นภาพหลอน ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ อาการกลัวและชา
  • สำหรับผู้ที่ใช้ยาและเกิดอาการดังต่อไปนี้ให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์ ได้แก่ สับสน ประสาทหลอน (เช่น หูแว่วหรือเห็นภาพหลอน) กระสับกระส่าย มีไข้หรือมีอาการเหมือนมีไข้ ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด เป็นลม หายใจเร็ว ชีพจรอ่อน ชัก มีอาการเจ็บภายในปาก จมูก ตา หรือคอ เสียงแหบ กลืนหรือหายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก มีผื่นคัน ผื่นลมพิษ ผิวหนังบางลง ลอก บวม พอง แดง ซึ่งรวมถึงเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปาก มีอาการบวมตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ใบหน้า ตา ริมฝีปาก คอ ลิ้น มือ แขน น่อง ขา ข้อเท้า

การเก็บรักษายาทรามาดอล

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้องช่วง 15-30 องศาเซลเซียส เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาทรามาดอล

โดยทั่วไปยานี้จะใช้เฉพาะเมื่อมีอาการปวดเท่านั้น หากรับประทานยาไปครั้งหนึ่งแล้วอาการปวดลดลงหรือหายไปก็ไม่ต้องรับประทานยาอีก การลืมรับประทานยานี้จึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่หากยังมีอาการปวดอยู่สามารถรับประทานยานี้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดการรับประทานยาในครั้งต่อไป และหากลืมรับประทานยาทรามาดอลในครั้งต่อไป ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับครั้งต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยาครั้งต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ

ผลข้างเคียงของยาทรามาดอล

  • ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ของการรับประทานยาทรามาดอล คือ สับสน มึนงง วิตกกังวล หงุดหงิด ประสาทหลอน ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน ง่วงซึม อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ใจสั่น มือสั่น ตาพร่ามัว การมองภาพได้ไม่ชัดเจน ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดท้อง ท้องอืด จุกแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย ปัสสาะวะบ่อยหรือปัสสาวะคั่ง ตับอักเสบ น้ำหนักตัวลด แพ้ยา (ลมพิษ ผื่นคัน หลอดลมหดเกร็ง กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)) ปฏิกิริยาอะนาไฟแล็กทอยด์ (Anaphylactoid) ฯลฯ
    • ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยานี้ คือ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน ง่วงนอน คลื่นไส้ ท้องผูก
    • ผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิต เช่น ชักกดศูนย์การหายใจของร่างกาย หรือเซโรโทนินซินโดรม (Serotonin syndrome) ซึ่งจะมีอาการแสดงในหลาย ๆ ระบบของร่างกายพร้อมกัน เช่น กล้ามเนื้อเกร็งกระตุกร่วมกับความดันโลหิตสูงและประสาทหลอน ถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
  • การใช้ยานี้เกินขนาดมาก ๆ อาจกดศูนย์การหายใจ ทำให้หายใจช้า เกิดอาการง่วงซึม หากรุนแรงจะหมดสติถึงขั้นโคม่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือเย็นและเหงื่อออก รูม่านตาหดเล็ก อาจจะมีอาการชัก หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจอาจจะหยุดเต้นได้
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจก่อให้เกิดการเสพติดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เคยเสพติดสารอนุพันธ์ฝิ่นมาก่อน
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ทรามาดอล (Tramadol)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 228-229.
  2. Drugs.com.  “Tramadol”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [03 พ.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ยาทรามาดอล (Tramadol)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [03 พ.ย. 2016].
  4. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “TRAMADOL HYDROCHLORIDE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [03 พ.ย. 2016].
  5. Siamhealth.  “ยาแก้ปวด Tramadol”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [03 พ.ย. 2016].
  6. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ทรามาดอล (Tramadol) เหยื่อของการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด”.  (รศ.ภญ.ดร.จุฑามณี สุทธิสีสังข์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [03 พ.ย. 2016].
  7. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “Tramadol ภัยร้ายที่คุณไม่รู้”.  (นศภ.ธีระภัทร ตั้งพูนทรัพย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [03 พ.ย. 2016].
  8. กองควบคุมวัตถุเสพติด, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.  “ข้อมูลวิชาการและการนำมาใช้ในทางที่ผิดของ Tramadol”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : narcotic.fda.moph.go.th.  [03 พ.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด