ถุงน้ำดีอักเสบ
ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของถุงน้ำดี* ซึ่งถ้าเกิดขึ้นทันทีและมีอาการปวดรุนแรงตรงใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงด้านขวา แต่รักษาให้หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ จะเรียกว่า “โรคถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน” (Acute cholecystitis) แต่ถ้ามีการอักเสบเกิดขึ้นบ่อยครั้งเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง และแต่ละครั้งผู้ป่วยมีอาการปวดไม่รุนแรง จะเรียกว่า “โรคถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง” (Chronic cholecystitis)
โรคถุงน้ำดีอักเสบเป็นโรคของผู้ใหญ่ พบได้บ่อยปานกลาง และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า ในสหรัฐอเมริกาจะพบว่า มีการผ่าตัดถุงน้ำดีเพื่อรักษาโรคถุงน้ำดีอักเสบประมาณ 500,000 รายต่อปี
หมายเหตุ : ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะที่ช่องท้องที่มีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็กที่มีความจุประมาณ 35-50 มิลลิลิตร ซึ่งมีหน้าที่หลักในการเก็บสำรองน้ำดีที่สร้างจากตับและทำให้น้ำดีเข้มข้นขึ้น เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร (โดยเฉพาะอาหารไขมัน) โดยจะมีโครงสร้างที่ติดต่อกับตับซึ่งเป็นอวัยวะที่ผลิตน้ำดี และลำไส้เล็กตอนต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปล่อยน้ำดีออกสู่ทางเดินอาหาร
สาเหตุของถุงน้ำดีอักเสบ
โรคถุงน้ำดีอักเสบเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ สาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดี และสาเหตุที่ไม่ใช่มาจากนิ่วในถุงน้ำดี
- สาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดี เป็นกรณีที่พบได้สูงประมาณ 90-95% อาจเกิดเนื่องจากก้อนนิ่วที่ไปอุดตันท่อน้ำดีจนส่งผลให้น้ำดีไหลออกจากถุงน้ำดีเข้าสู่ลำไส้ไม่ได้ ทำให้ถุงน้ำดีมีแรงดันเพิ่มขึ้นและมีการยืดขยายตัวมากขึ้นจนไปกดเบียดหลอดเลือดต่าง ๆ ที่หล่อเลี้ยงถุงน้ำดี ทำให้เยื่อบุผนังของถุงน้ำดีขาดเลือด เป็นผลให้เกิดการบาดเจ็บและเกิดการอักเสบขึ้นตามมา หรืออาจเกิดจากการระคายเคืองของสารเคมีบางชนิดอันเป็นผลมาจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายในถุงน้ำดี หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้ออีโคไล (E.coli), เชื้อเคล็บซิลลา (Klebsiella), เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus), เชื้อสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus) เป็นต้น (การอักเสบติดเชื้อส่วนใหญ่จะเกิดจากมีการอุดตันจากนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อน้ำดีไม่มีการไหลระบายสู่ลำไส้เหมือนปกติก็ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี จึงมีการติดเชื้อและการอักเสบ หรืออาจจะสรุปได้ว่า ต้องมีการอุดตันประกอบกับการติดเชื้อนั่นเอง) ทั้งนี้ถ้าขาดเลือดมากขึ้นจะส่งผลทำให้เนื้อเยื่อถุงน้ำดีเน่าตายหรือเกิดการแตกทะลุของถุงน้ำดี ก่อให้การเกิดติดเชื้อรุนแรงในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) ได้ด้วย
- สาเหตุที่ไม่ใช่มาจากนิ่วในถุงน้ำดี เป็นกรณีที่พบได้เพียงส่วนน้อยประมาณ 5-10% โดยอาจเกิดจากถุงน้ำดีติดเชื้อแบคทีเรีย, เกิดจากเนื้องอกของถุงน้ำดีหรือของท่อน้ำดี, เกิดจากท่อน้ำดีตีบตันจากสาเหตุต่าง ๆ ที่ไม่ใช่จากนิ่ว (เช่น การเกิดพังผืด), เกิดจากโรคไทฟอยด์ (เนื่องจากเชื้อไทฟอยด์จะถูกกรองที่ตับและถูกขับออกทางน้ำดี), เกิดจากถุงน้ำดีได้รับอุบัติเหตุและเกิดการฉีกขาด นอกจากนี้ ยังอาจพบได้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่มีการทำลายของเนื้อเยื่อจำนวนมาก ภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือเจ็บป่วยหนัก เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดถุงน้ำดีอักเสบ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบ คือ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี เพราะดังที่กล่าวไปแล้วว่า ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดของโรคถุงน้ำดีอักเสบจะเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีและถุงน้ำดีอักเสบ ได้แก่
- เพศหญิง เพราะพบโรคนิ่วในถุงน้ำดีในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า โดยมักพบในหญิงตั้งครรภ์ หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิด หรือกินฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนจากภาวะหมดประจำเดือน ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยดังกล่าวจะมีผลเพิ่มปริมาณของคอเลสเตอรอลในน้ำดีและลดการเคลื่อนตัวของถุงน้ำดี จึงทำให้เกิดการตกตะกอนเป็นนิ่วได้ง่ายขึ้น
- พันธุกรรม เพราะพบโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้สูงเมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- เชื้อชาติ เพราะพบโรคนี้ได้สูงในบางเชื้อชาติ เช่น คนอเมริกาที่พบว่ามีพันธุกรรมที่ทำให้มีคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง
- ผู้สูงอายุ เพราะพบโรคนี้ได้สูงในผู้ที่มีอายุ 40-60 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเป็นเพราะคนในช่วงอายุนี้เป็นโรคไขมันในเลือดสูง สูงกว่าอายุช่วงอื่น ๆ
- อาหาร ผู้ที่ชอบประทานอาหารที่มีไขมันสูงและมีใยอาหารต่ำจะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น
- ภาวะอ้วน (โดยเฉพาะในผู้หญิง) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลเป็นอย่างมาก เนื่องจากความอ้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณของคอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มขึ้น
- การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น รวมถึงถุงน้ำดีจะบีบตัวน้อยลง น้ำดีจึงคั่งอยู่ในถุงน้ำดีนานขึ้น จึงมีโอกาสเกิดการตกตะกอนเป็นนิ่วได้ง่ายขึ้น
- การกินยาลดไขมันในเลือดบางชนิด โดยเฉพาะยาโคลไฟเบรต (Clofibrate) เพราะจะส่งผลทำให้มีการเพิ่มปริมาณของคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงขึ้น
- การอักเสบเรื้อรังของถุงน้ำดี เพราะจะส่งผลให้การบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง จึงมีน้ำดีคั่งอยู่ในถุงน้ำดีได้นาน สารต่าง ๆ ในน้ำดีจึงเกิดการตกตะกอนและเกิดเป็นนิ่วตามมาได้สูง
- โรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะมีระดับของไขมันทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride ซึ่งเป็นไขมันอีกชนิดที่เพิ่มโอกาสการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้) สูงขึ้น และถุงน้ำดีจะมีการบีบตัวน้อยในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ง่ายขึ้น
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง (เช่น ธาลัสซีเมีย) ซึ่งจะทำให้มีสารบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น และส่งผลให้มีสารนี้ในน้ำดีสูงขึ้น สารนี้จึงตกตะกอนในถุงน้ำดีได้มากขึ้น จึงเกิดเป็นนิ่วได้สูงขึ้น
- ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่ส่งผลให้กินไม่ได้และต้องให้อาหารทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่อง เพราะถุงน้ำดีจะไม่หดตัวจากการไม่มีการย่อยอาหาร (ลดการเคลื่อนไหวของถุงน้ำดี) จึงเกิดการตกตะกอนของสารต่าง ๆ ในน้ำดีได้ง่ายขึ้นและเกิดนิ่วตามมา
อาการของถุงน้ำดีอักเสบ
อาการของโรคถุงน้ำดีอักเสบแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
- อาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute cholecystitis) เป็นแบบที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ คือ
- มีอาการปวดอย่างรุนแรง (ปวดลึก ๆ) ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงด้านขวา โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึก ๆ จะทำให้ปวดมากขึ้น และอาการปวดอาจร้าวมาที่ไหล่ขวาหรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวาได้ (หลังจากที่ปวดได้สักพักกล้ามเนื้อหน้าท้องจะเกร็งและกดเจ็บ)
- มีอาการไข้สูงและหนาวสั่นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องเฟ้อ
- เมื่อเป็นมากอาจมีภาวะดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม) และอุจจาระมีสีซีด จากการที่น้ำดีไหลลงสู่ลำไส้ไม่ได้ จึงย้อนเข้ากระแสเลือด หรือเมื่อเกิดถุงน้ำดีแตกทะลุ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หน้าท้องแข็ง เจ็บทุกส่วนของช่องท้องจากการเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- อาการถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง (Chronic cholecystitis) เป็นแบบที่พบได้น้อยกว่ามาก โดยเป็นภาวะที่ผนังของถุงน้ำดีมีการหนาตัวและแข็งจากการที่บวมอยู่เป็นเวลานาน ๆ ผู้ป่วยมักมีอาการไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนเท่าอาการจากถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (ยกเว้นในรายที่เกิดการติดเชื้อเฉียบพลันซ้ำซ้อนที่จะทำให้มีอาการเหมือนการอักเสบแบบเฉียบพลันได้) จึงทำให้แยกจากภาวะปวดท้องจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ยาก โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงด้านขวาไม่รุนแรง แต่จะปวดแบบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ (โดยมากจะมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ แบบเดียวกับอาการปวดของนิ่วในถุงน้ำดี) ร่วมกับมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาการของอาหารไม่ย่อย ซึ่งมักจะเป็นหลังจากที่รับประทานอาหารมัน ๆ หรือหลังอาหารมื้อหนัก
ภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำดีอักเสบ
โดยทั่วไปถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเป็นโรคที่รักษาให้หายได้เสมอภายใน 1-2 สัปดาห์ ประมาณ 85% กระบวนการอักเสบจะค่อย ๆ หายไปได้เองโดยธรรมชาติ แต่อีกประมาณ 15% ของผู้ป่วย การอักเสบจะดำเนินต่อไปและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบริเวณรอบ ๆ ถุงน้ำดีได้ (โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มาพบแพทย์และได้รับการรักษาที่ล่าช้า) โดยถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันอาจทำให้เกิดภาวะมีหนองในถุงน้ำดี (Empyema of gallbladder), ถุงน้ำดีเป็นเนื้อตายเน่า (Gangrene of gallbladder), ถุงน้ำดีทะลุ (Gallbladder perforation), เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis), ท่อน้ำอักเสบ (Ascending cholangitis) ส่วนถุงน้ำอักเสบเรื้อรังนั้นอาจทำให้เกิดนิ่วในท่อน้ำ (Choledocholithiasis), ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) และอาจมีโอกาสทำให้เป็นมะเร็งของถุงน้ำดี (Gallbladder cancer)
นอกจากนี้ ในรายที่ถุงน้ำดีเน่าตายหรือถุงน้ำดีทะลุ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) และ/หรือติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ด้วยประมาณ 5-50% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพของผู้ป่วย ความรุนแรงของการติดเชื้อ และภาวะเชื้อดื้อยา
การตรวจวินิจฉัยถุงน้ำดีอักเสบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคถุงน้ำดีอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังได้จากการซักประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อดูการอักเสบติดเชื้อ การตรวจเลือดต่าง ๆ เช่น การตรวจดูการทำงานของตับเพื่อวินิจฉัยแยกโรค (เพราะบางครั้งอาการของโรคนี้อาจคล้ายคลึงกับโรคแผลเพ็ปติก (Peptic ulcer), โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis), โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) เป็นต้น) การตรวจภาพตับและถุงน้ำดีด้วยอัลตราซาวนด์และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อยืนยันการอักเสบและดูว่ามีนิ่วในระบบน้ำดีร่วมด้วยหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีการตรวจด้วยวิธีจำเพาะอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วยตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic retrograde cholangiopancreatography – ERCP), การตรวจ Cholescintigraphy (HIDA scan) ซึ่งเป็นวิธีการฉีดสีเข้าไปทางเส้นเลือด และสีนี้จะถูกขับออกทางน้ำดี จึงทำให้เห็นลักษณะของท่อน้ำดีว่ามีการอุดตันหรือไม่ (เหมาะในผู้ป่วยที่ค่อนข้างอ้วนที่มีหน้าท้องหนามาก ซึ่งการตรวจอัลตราซาวนด์อาจทำให้มองเห็นถุงน้ำดีได้ไม่ชัดเจน) ส่วนการตรวจเอกซเรย์ธรรมดาของท้องจะไม่ค่อยช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ แต่แพทย์อาจส่งตรวจเพื่อช่วยวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องที่คล้ายกันได้
สำหรับการตรวจร่างกายของผู้ป่วยจะพบอาการไข้และกดเจ็บมากเป็นบริเวณกว้างที่ใต้ชายโครงด้านขวา และอาจมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง) ร่วมด้วย
วิธีรักษาถุงน้ำดีอักเสบ
- ไปพบแพทย์ เมื่อมีอาการดังกล่าวหรือคล้ายคลึงกับอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป ผู้ป่วยไม่ควรดูแลรักษาด้วยตนเอง เพราะหากได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่ล่าช้าก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ (อาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ แม้อาการจะสามารถดีขึ้นได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ในอัตราที่สูง ร้อยละ 20 จากถุงน้ำดีอักเสบที่อาจเน่าตาย และร้อยละ 2 จากถุงน้ำดีทะลุ ซึ่งเป็นอันตรายมาก แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการแบบเฉียบพลันนี้จะมีอาการปวดรุนแรงมากจนต้องไปพบแพทย์อยู่แล้ว)
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้งดน้ำงดอาหารเพื่อให้ถุงน้ำดีได้พักในระยะที่มีอาการปวดมาก (โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน) การให้ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย เป็นต้น
- การให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาการติดเชื้อ
- การผ่าตัดถุงน้ำดีออกไป (Cholecystectomy) เป็นการรักษาโดยตรงที่แก้ปัญหาได้อย่างถาวร เพราะถ้าหากไม่ผ่าตัด การอักเสบมักย้อนกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ถ้าผู้ป่วยมีอาการใน 72 ชั่วโมง แพทย์จะทำการผ่าตัดได้ง่าย แต่ถ้ามีการอักเสบเกินกว่านั้นการผ่าตัดจะทำได้ยากขึ้น เพราะถุงน้ำดีจะบวมแดงและมีเลือดออกง่ายในขณะที่ทำการผ่าตัด ศัลยแพทย์จึงมักจะให้การผ่าตัดหลังจากที่ควบคุมการอักเสบติดเชื้อได้แล้ว (แต่ในบางครั้งที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาหรือมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือถุงน้ำดีเป็นหนองและมีเนื้อเน่าตาย แพทย์อาจต้องตัดสินใจผ่าตัดอย่างเร่งด่วนทันที) โดยการผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบันนั้นจะมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน ส่วนการจะเลือกใช้วิธีการใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ คือ
- การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง (Open cholecystectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบเดิม ในปัจจุบันแพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่ถุงน้ำดีมีอาการอักเสบมากหรือแตกทะลุ
- การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic cholecystectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ที่ได้กลายเป็นการรักษามาตรฐานมานานแล้ว เพราะอาการปวดแผลหลังการผ่าตัดจะมีน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิม, แผลมีขนาดเล็ก ดูแลได้ง่าย และมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่า, เมื่อแผลหายจะเป็นรอยเล็ก ๆ บนหน้าท้องเท่านั้น, ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน (การผ่าตัดแบบเดิมจะต้องอยู่โรงพยาบาลนาน 7-10 วัน) และใช้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดเพียง 1 สัปดาห์ (ทำให้กลับไปทำงานตามปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิมที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 เดือน) โดยในขั้นตอนการผ่าตัดนั้นศัลยแพทย์จะเจาะรูเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้องด้วยเครื่องมือที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการเจาะหน้าท้องอย่างปลอดภัย รวม 4 แห่ง (ขนาดของรู 1 เซนติเมตร ที่สะดือ 1 แห่ง และขนาดของรูประมาณ 0.5 เซนติเมตร อีก 3 แห่ง) และใส่กล้องที่มีก้านยาว ๆ และเครื่องมือต่าง ๆ ผ่านรูที่ผนังหน้าท้องลงไป (ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นถุงน้ำดีและอวัยวะต่าง ๆ ได้จากหน้าจอโทรทัศน์ที่กล้องส่งสัญญาณภาพมา) แล้วจึงเลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตับ และใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนการใช้ไหมเย็บแผล ก่อนจะตัดขั้วของถุงน้ำดี แล้วเลาะส่วนที่เหลือให้ออก เมื่อตัดถุงน้ำดีได้แล้ว จะบรรจุใส่ถุงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ แล้วดึงออกจากร่างกายบริเวณรูสะดือ จากนั้นศัลยแพทย์จะตรวจความเรียบร้อยเป็นขั้นสุดท้ายก่อนที่จะดึงเครื่องมือและกล้องออกแล้วค่อยเย็บปิดแผล
- ในรายที่มีนิ่วในท่อน้ำดี หากไม่สามารถผ่าตัดเอานิ่วออกได้ด้วยวิธีการดังกล่าว การรักษาจะต้องใช้วิธีการส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic retrograde cholangiopancreatography – ERCP) เพื่อคล้องเอานิ่วที่อยู่ในท่อน้ำดีออกมา
ผ่าตัดถุงน้ำดีออกแล้วจะมีผลอะไรหรือไม่
ด้วยถุงน้ำดีเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญน้อยในการดำรงชีวิต ดังนั้นในการรักษาโรคของถุงน้ำดี จึงสามารถผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไปได้ โดยผู้ป่วยหลังการผ่าตัดถุงน้ำดียังคงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่จะมีโอกาสเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้สูงกว่าคนปกติเมื่อรับประทานอาหารที่มีไขมันในปริมาณสูง เพราะร่างกายจะขาดน้ำดีที่เข้มข้นในการย่อย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะมีอายุ 40-60 ปีขึ้นไปและต้องจำกัดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเป็นกังวลครับ
วิธีป้องกันถุงน้ำดีอักเสบ
การป้องกันโรคนี้ให้ได้เต็ม 100% คงเป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่พอจะหลีกเลี่ยงการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งที่สำคัญ คือ
- จำกัดหรือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันหรือคอเลสเตอรอลสูง
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
- พยายามควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐานและเกิดโรคอ้วน
- ถ้าต้องการลดน้ำหนักตัว ควรหาวิธีลดน้ำหนักอย่างถูกต้องและค่อย ๆ ลดน้ำหนักอย่างช้า ๆ
- ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคเบาหวาน/โรคไขมันในเลือดสูงให้ดี (เช่น การไม่รับประทานอาหารที่หวานมากไปจนเกิดโรคเบาหวาน)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 512-515.
- หาหมอดอทคอม. “ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [24 ก.พ. 2017].
- Siamhealth. “ถุงน้ำดีอักเสบ Cholecystitis”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [24 ก.พ. 2017].
- MutualSelfcare. “โรคถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : mutualselfcare.org. [25 ก.พ. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)