ถั่วแดง สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วแดงหลวง 29 ข้อ !

ถั่วแดง

ถั่วแดงหลวง หรือ ถั่วแดง ชื่อสามัญ Kidney bean, Red kidney bean

ถั่วแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Phasecolus vulgaris L. จัดอยู่ในวงศ์ FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE เช่นเดียวกันกับถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วลันเตา ถั่วลิสง ถั่วพู และถั่วฝักยาว

ถั่วแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วแดงหลวง ถั่วท้องนา บ้านนา ถั่วนาเต็มกำ เป็นต้น[1]

ความเป็นมาของถั่วแดง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสต้นบนดอยเมื่อปี พ.ศ.2512 พระองค์ทอดพระเนตรเห็นการปลูกฝิ่นของชาวเขา จึงมีรับสั่งให้หาพืชมาปลูกทดแทน โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัศนี ซึ่งตามเสด็จไปถวายงานได้เสนอว่าควรให้ชาวเขาทดลองปลูก Red kidney bean

ภายหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพันธุ์ถั่วแดงที่สั่งซื้อมาจากแคลิฟอร์เนียเพื่อให้ชาวเขาได้ปลูก และปรากฏว่าได้ผลดีมาก ซึ่งแต่เดิมแล้วถั่วแดงนั้นยังไม่ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในภาษาไทย และมีผู้เสนอให้ตั้งชื่อว่า “ถั่วไตแดง” เพราะมีลักษณะเหมือนไต แต่ก็มีผู้คัดค้านว่าหากตั้งชื่อแบบนี้คนได้ยินอาจจะไม่ซื้อถั่วชนิดนี้ไปกินแน่ และได้มีการเสนอให้ตั้งชื่อว่า “ถั่วแดง” เพราะเป็นถั่วที่มีสีแดง และก็มีผู้แย้งว่าถั่วแดง จะแดงเฉย ๆ ไม่ได้ ในที่สุดก็นึกขึ้นได้ว่า เมล็ดถั่วชนิดนี้มันมีขนาดใหญ่ ซึ่งคำว่าใหญ่นั้นทางเหนือจะเรียกว่า “หลวง” เลยได้ข้อสรุปว่าควรใช้ชื่อว่า “ถั่วแดงหลวง” เพราะยังมีความหมายอีกอย่างก็คือ พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพันธุ์มา จึงใช้ชื่อนี้เป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับในปัจจุบันเรามักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ถั่วแดง[2] 

ฝักถั่วแดง

ใบถั่วแดง

ดอกถั่วแดง

ถั่วแดงหลวง

การปลูกถั่วแดง สำหรับสายพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูก คือ สายพันธุ์หมอกจ๋าม[2]

สรรพคุณของถั่วแดง

  1. ถั่วแดงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดในสมองปริแตกได้[4]
  2. ช่วยขับพิษในร่างกาย[3]
  3. ในถั่วยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารที่สามารถละลายน้ำได้ จึงช่วยในขบวนการทำความสะอาดของร่างกายได้ตามธรรมชาติ นอกจากจะช่วยทำความสะอาดลำไส้แล้ว ยังช่วยขจัดการสะสมของสารพิษในลำไส้ได้อีกด้วย[4]
  4. ช่วยบำรุงลำไส้[4]
  5. ช่วยในการขับถ่าย ช่วยในการย่อยอาหาร ป้องกันอาการท้องผูก และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่[4]
  6. ช่วยบรรเทาอาการจุกเสียดแน่นท้อง[4]
  7. ช่วยขับปัสสาวะ[3],[6]
  8. ช่วยบำบัดอาการประจำเดือนผิดปกติของสตรี[3]
  9. ช่วยลดอาการบวมน้ำ[6]
  10. ช่วยกำจัดหนอง[3]
  11. ช่วยลดอาการผื่นคันตามผิวหนัง[3]
  12. ช่วยป้องกันและลดอาการเหน็บชา[4]
  13. ช่วยบรรเทาอาการปวดบวมหรือปวดตามข้อต่อ[3]
  14. ช่วยบำรุงช่องคลอด รักษามดลูก สำหรับสตรีที่มักมีอาการปวดช่วงท้องน้อย ซึ่งอาจเกิดจากการมีเลือดคั่งหรือมีความเย็นสะสมอยู่รอบ ๆ สะดือ รังไข่ และมดลูก ให้คุณนำถั่วแดงครึ่งกิโลกรัมใส่ลงในถุงผ้าแล้วมัดปากถุงด้วยเชือกปอ แล้วนำไปอบในไมโครเวฟประมาณ 3-4 นาที (ใช้ไฟปานกลาง) แล้วให้นำถุงถั่วแดงมาประคบบริเวณท้องน้อยเพื่อช่วยบรรเทาอาการเลือดคั่ง บรรเทาอาการอักเสบ และลดบวมได้ (แต่ก่อนจะนำมาประคบให้ใช้มือลูบไล้เบา ๆ ที่ผิวหนังซึ่งตรงกับรังไข่แล้วค่อยประคบ)[4]

ประโยชน์ของถั่วแดง

  1. ประโยชน์ของถั่วแดงหลวง ถั่วแดงจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างหนึ่ง โดยโปรตีนที่ได้จากถั่วแดงนั้นมีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์เลยทีเดียว แถมยังไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย[4]
  2. การรับประทานถั่วแดงนอกจากจะให้พลังงานแก่ร่างกายที่สูงแล้ว ยังทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นานอีกด้วย[4]
  3. ถั่วแดงมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ได้[4]
  4. ถั่วแดงเป็นแหล่งอาหารที่ดีของธาตุเหล็ก ที่ช่วยบำรุงโลหิต[4] ช่วยปรับสภาพเลือดในร่างกาย[3] และธาตุเหล็กยังช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง สมองไม่ค่อยดี คิดอะไรไม่ค่อยออกได้ ฯลฯ[4]
  5. การรับประทานถั่วแดงเป็นประจำจะช่วยบำรุงหัวใจประเภทมีอาการใจสั่น และช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี[4],[6]
  6. ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง เนื่องจากถั่วแดงอุดมไปด้วยวิตามินบีหลายชนิด[4],[6]
  7. ถั่วแดงเป็นถั่วที่มีแคลเซียมสูง การรับประทานเป็นประจำสามารถช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ป้องกันภาวะกระดูกเสื่อม ป้องกันโรคกระดูกพรุน และแคลเซียมยังมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อ[4]
  8. ช่วยรักษาและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอาการดีขึ้น[4]
  9. ถั่วแดงอุดมไปด้วยแมกนีเซียมที่ช่วยในการควบคุมการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ช่วยในการผลิตโปรตีนและการหดตัวของกล้ามเนื้อ ฯลฯ[4]
  10. ถั่วแดงลดน้ำหนัก ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล[4] เนื่องจากถั่วแดงมีโปรตีนสูงแต่มีไขมันอิ่มตัวต่ำมาก ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถของระบบเผาผลาญในร่างกาย มีผลทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการได้รับโปรตีนจากถั่วแดงร่วมกับถั่วชนิดอื่น ๆ เป็นประจำแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์นอกจากจะช่วยลดน้ำหนักตัวแล้วยังช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ดีในระยะยาว (ศาสตราจารย์ Mark Brick จาก Colorado State University)[3]
  11. ช่วยควบคุมน้ำหนัก เพราะถั่วแดงมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยดูดซับน้ำและพองตัวได้ดี และมีคุณสมบัติที่ช่วยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอล ทำให้ระบบการย่อยและการดูดซึมอาหารช้าลง ทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน จึงช่วยลดการกินจุบจิบได้ดี ซึ่งแตกต่างจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มีเส้นใยอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจึงไม่อิ่มท้องเท่ากับการรับประทานถั่วแดง ส่งผลทำให้น้ำหนักตัวโดยรวมลดลง[3],[4]
  12. ในถั่วเมล็ดรูปไตซึ่งรวมถึงถั่วแดง จะมีสารลิกแนน สารซาโปนิน และสารยับยั้งโปรติเอส ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันและลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก[4]
  13. ถั่วแดงนอกจากจะอุดมไปด้วยโปรตีนแล้ว ยังเป็นแหล่งของสารอาหารต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงโฟเลต แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์สำหรับหญิงตั้งครรภ์แทบทั้งสิ้น เพราะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคระบบประสาทของทารก ป้องกันความผิดปกติของทารกในครรภ์ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการคลอดบุตรก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ หรือทารกมีไอคิวลดลง ฯลฯ[4
  14. ปัจจุบันถั่วแดงถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ บางแห่งมีการเพาะปลูกเพื่อเป็นรายได้หลัก หรือใช้ปลูกเสริมหมุนเวียนกับพืชไร่ชนิดอื่น ๆ[2] โดยเกษตรกรนิยมปลูกถั่วแดงร่วมกับข้าวโพด เพราะนอกจากจะได้ผลผลิตข้าวโพดและถั่วแดงแล้ว ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินด้วย และต้นข้าวโพดก็ทำหน้าที่เป็นค้างให้แก่ต้นถั่วแดง[1]
  15. ประโยชน์ถั่วแดง ส่วนใหญ่แล้วจะนำถั่วไปใช้ทำเป็นไส้ขนมต่าง ๆ เมนูถั่วแดง เช่น ถั่วแดงกวน ขนมปังไส้ถั่วแดง น้ำถั่วแดง เค้กชาเขียวถั่วแดง วุ้นถั่วแดงกวน โดรายากิ ซุปถั่วแดง ถั่วแดงอัดเม็ด ฯลฯ หรือใช้ทำเป็น แป้งถั่วแดง[1]

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วแดง ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 337 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 61.29 กรัม
  • น้ำ 11.75 กรัม
  • น้ำตาล 2.1 กรัมฝักถั่วแดง
  • เส้นใย 15.2 กรัม
  • ไขมัน 1.06 กรัม
  • โปรตีน 22.53 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.608 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.215 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 2.11 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 0.397 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 9 394 ไมโครกรัม
  • วิตามินซี 4.5 มิลลิกรัม
  • วิตามินอี 0.21 มิลลิกรัม
  • วิตามินเค 5.6 ไมโครกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 83 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 6.69 มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม 138 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 406 มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม 1,359 มิลลิกรัม
  • ธาตุโซเดียม 12 มิลลิกรัม
  • ธาตุสังกะสี 2.79 มิลลิกรัม

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

คำแนะนำในการรับประทานถั่วแดง

  • ถั่วแดงมีสารพิวรีน (Purine) ระดับปานกลาง ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด เพราะสารดังกล่าวอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการของข้ออักเสบกำเริบขึ้นได้[4]
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ควรระวังในการรับประทานถั่วแดง เพราะถั่วแดงเป็นอาหารที่โปรตีนและฟอสฟอรัสสูง ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง[5]
  • การรับประทานถั่วสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว[4]
  • วิธีต้มถั่วแดง ให้นิ่มน่ารับประทาน ขั้นตอนแรกให้ล้างเมล็ดถั่วให้สะอาด หลังจากนั้นนำมาแช่ในน้ำร้อนหรือน้ำเย็นพอท่วม ทิ้งไว้ประมาณ 6-18 ชั่วโมง แล้วนำมาต้มพร้อมกับน้ำที่แช่เมล็ด (เพราะการนำมาแช่น้ำจะทำให้สารอาหารละลายออกมาในน้ำ เราจึงใช้น้ำที่แช่ถั่วมาประกอบอาหารด้วยนั่นเอง) แล้วเยื่อหุ้มเมล็ดของถั่วแดงจะนิ่ม และสุกง่ายขึ้น[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. สำนักงานส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.agriman.doae.go.th.  [25 ต.ค. 2013].
  2. มูลนิธิโครงการหลวง.  “ประวัติถั่วแดงหลวง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.royalprojectthailand.com.  [25 ต.ค. 2013].
  3. ชีวจิต.  อ้างอิงใน: นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 208.  “มหัศจรรย์พลังของถั่ว“.,  นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 338.  “ถั่วแดง…ความลับลดอ้วน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.cheewajit.com.  [25 ต.ค. 2013].
  4. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th.  [25 ต.ค. 2013].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 323 คอลัมน์: เรื่องน่ารู้.  “กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคไตเรื้อรัง“.  (ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [25 ต.ค. 2013].
  6. ASTV ผู้จัดการออนไลน์.  “กินถั่วแดงหัวใจเข้มแข็ง“.  (16 มีนาคม 2553).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [25 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by andreasbalzer, ComputerHotline)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด