ถั่วเหลือง สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วเหลือง 58 ข้อ !

ถั่วเหลือง

ถั่วเหลือง ภาษาอังกฤษ Soybean, Soya bean

ถั่วเหลือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันคือ Glycine max (L.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dolichos soja L., Soja max (L.) Piper, Phaseolus max L., Glycine soja sensu auct.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2],[5],[8]

ถั่วเหลือง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วแระ ถั่วพระเหลือง ถั่วแม่ตาย (ภาคกลาง), มะถั่วเน่า ถั่วเน่า ถั่วหนัง (ภาคเหนือ), เถ๊าะหน่อ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ตบยั่ง (เมี่ยน), อาทรึ่ม (ปะหล่อง), โชยุ (ญี่ปุ่น), โซยาบีน (อังกฤษ), อึ่งตั่วเต่า เฮ็กตั่วเต่า (จีน-แต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[2],[7] และถั่วเหลืองได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งถั่ว” อีกด้วย[6]

ถั่วเหลืองจัดเป็นพืชสำคัญและเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก ตามประวัติศาสตร์แล้วถั่วเหลืองนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนทางตอนกลางหรือทางเหนือ ซึ่งชาวจีนได้รู้จักการใช้ประโยชน์จากถั่วเหลือง และมีการปลูกถั่วเหลืองมายาวนานมากกว่า 4,700 ปีแล้ว ซึ่งประโยชน์ของถั่วเหลืองมีมากมายหลายประการและยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ในปัจจุบันถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกกันอย่างแพร่หลายในเขตร้อนและเขตอบอุ่น แต่ให้ผลผลิตได้ดีในเขตอบอุ่น เพราะเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตอบอุ่นนั่นเอง[4] แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญที่สุดกลับเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลผลิตมากถึง 56% ของผลผลิตทั่วโลก รองลงมาคือประเทศบราซิลและจีน[2]

ลักษณะของถั่วเหลือง

  • ต้นถั่วเหลือง ลำต้นตั้งตรง ลักษณะเป็นพุ่ม แตกแขนงค่อนข้างมาก มีความสูงประมาณ 30-150 เซนติเมตร โดยความสูงจะขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของดิน ความชื้น และฤดูที่เพาะปลูก ลำต้นมีขนปกคลุมอยู่ทั่วไป ยกเว้นในส่วนของใบเลี้ยงและกลีบดอก และต้นถั่วเหลืองยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ชนิดทอดยอดและชนิดไม่ทอดยอด[3],[4] เมื่อเมล็ดแก่ฝักจะแห้งและต้นจะตายตามไปด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อ “ถั่วแม่ตาย”[10]

ต้นถั่วเหลือง

  • รากถั่วเหลือง มีระบบเป็นรากแก้ว หากเป็นดินร่วนอาจหยั่งรากลึกถึง 0.5-1 เมตร แต่โดยทั่วไปแล้วระบบรากจะอยู่ในความลึกประมาณ 30-45 เซนติเมตร ซึ่งประกอบไปด้วยรากแก้วที่เจริญมาจากรากแรกของต้น และมีรากแขนงที่เจริญมาจากรากแก้ว ส่วนบริเวณปมรากนั้นเกิดจากแบคทีเรียไรโซเบียมที่เข้าไปอาศัยอยู่[3],[4]
  • ใบถั่วเหลือง ระยะต้นอ่อนจะมีใบเลี้ยง ใบจริงคู่แรกเป็นใบเดี่ยว โดยใบจริงที่เกิดขึ้นต่อมาจะเป็นใบประกอบแบบ 3 ใบย่อย คือ มีใบย่อยด้านปลาย 1 ใบและมีใบย่อยด้านข้างอีก 2 ใบ ลักษณะของใบมีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปไข่จนถึงเรียวยาว ส่วนที่โคนของก้านใบประกอบจะมีหูใบอยู่ 2 อัน และส่วนที่โคนของก้านใบย่อยมีหูใบย่อยอยู่ 1 อัน ที่ใบมีขนสีน้ำตาลหรือเทาปกคลุมอยู่ทั่วไป[3],[4]

ใบถั่วเหลือง

รูปใบถั่วเหลือง

  • ดอกถั่วเหลือง ออกดอกเป็นช่อ มีช่อดอกเป็นแบบกระจะ ดอกมีสีขาวหรือสีม่วง โดยสีขาวเป็นลักษณะด้อย เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 3-8 มิลลิเมตร โดยดอกจะเกิดตามมุมของก้านใบหรือตามยอดของลำต้น ในหนึ่งช่อดอกจะมีดอกตั้งแต่ 3-15 ดอก โดยช่อดอกที่เกิดบนยอดของลำต้น มักจะมีจำนวนดอกในช่อมากกว่าช่อดอกที่เกิดตามมุมใบ และในส่วนของดอก ประกอบไปด้วยก้านช่อดอกและก้านดอกย่อย กลีบเลี้ยงที่อยู่นอกสุดมีสีเขียว สั้น มีอยู่ 2 กลีบและมีขนปกคลุม ถัดมาคือกลีบรองดอกที่อยู่ในชั้นถัดจากกลีบเลี้ยง ฐานติดกันมีแฉก 5 แฉก ถัดมาคือส่วนของกลีบดอก มี 5 กลีบ คือ กลีบใหญ่ 1 กลีบ กลีบกลางด้านข้าง 2 กลีบ และกลีบเล็ก 2 กลีบ[3],[4]

ดอกถั่วเหลือง

รูปดอกถั่วเหลือง

  • ฝักถั่วเหลือง ออกฝักเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 2-10 ฝัก ที่ฝักมีขนสีเทาหรือสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ทั่วฝัก ฝักมีความยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-5 เมล็ด แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีอยู่ 2-3 เมล็ด ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเมื่อฝักแตกออกจะทำให้เมล็ดร่วงออกมา[4]

ฝักถั่วเหลืองฝักถั่วเหลืองแก่

รูปถั่วเหลือง

  • เมล็ดถั่วเหลือง เมล็ดอาจมีสีเหลือง สีเขียว สีน้ำตาล หรือสีดำก็ได้ โดยเมล็ดจะมีขนาดและรูปร่างต่างกัน ลักษณะของเมล็ดมีตั้งแต่กลมรีจนถึงยาว หากเป็นเมล็ดขนาดเล็กจำนวน 100 เมล็ด จะมีน้ำหนักประมาณ 2 กรัม แต่ถ้าหากเป็นเมล็ดใหญ่อาจมีน้ำหนักมากกว่า 40 กรัม แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 12-20 กรัม[4]

เมล็ดถั่วเหลือง

ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ.2516 ระบุว่า “ถั่วแม่ตายเป็นชื่อถั่วอย่างหนึ่งที่เขาปลูกตามไร่ พอเป็นฝักต้นก็ตาย เมล็ดมันเช่นถั่วแระ” แสดงให้เห็นว่าคนไทยสมัยก่อนเรียกถั่วเหลืองว่า “ถั่วแม่ตาย” และในคำอธิบายที่ว่า “เมล็ดมันเช่นถั่วแระ” ก็ทำให้เราทราบอีกว่า ถั่วเหลืองกับถั่วแระเป็นพืชคนละชนิดกัน ซึ่งในปัจจุบันคนไทยภาคกลางจะเรียกฝักถั่วเหลืองที่นำมาต้มว่า “ถั่วแระ” จึงอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดหรือทำให้เกิดความสับสนได้ ส่วนพืชที่เป็นถั่วแระจริง ๆ ก็คือ ถั่วมะแฮะ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pigeon pea[10]

สรรพคุณของถั่วเหลือง

  1. ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต ด้วยการใช้เปลือกเมล็ดแห้งประมาณ 10-15 กรัมมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกเมล็ด)[8]
  2. กากถั่วเหลืองช่วยป้องกันการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด (กากเมล็ด)[8]
  3. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และมีบางการศึกษาระบุว่า การบริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย และมะเร็งเต้านมในเพศหญิงวัยที่ยังมีประจำเดือน แต่อาจเพิ่มโอกาสของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในเพศหญิงวัยที่หมดประจำเดือนแล้วได้ ซึ่งเป็นผลมาจากสารไฟโตเอสโตรเจน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน และยังไม่สามารถระบุได้ว่า ถั่วเหลืองสามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้[9] ช่วยป้องกันโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อระบบสืบพันธุ์ (สารไฟโตเอสโตรเจน)[11] ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องคลอด มะเร็งต่อมลูกหมาก (Isoflavones)[14],[15] และจากงานศึกษาในประเทศญี่ปุ่นและจีนพบว่า
    • ผู้ที่กินซุปเต้าเจี้ยวมากจะมีอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่ำกว่า[12]
    • ผู้ที่ชอบรับประทานซุปที่ทำจากถั่วเหลือง จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเพียง 1 ใน 3 ของผู้ที่ไม่ได้รับประทาน[10]
    • ผู้ที่รับประทานเต้าหู้มากจะมีอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหารต่ำ [12]
    • ผู้ที่กินถั่วเหลืองมากกว่า 5 กิโลกรัมต่อปี จะมีอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารลดลง 40%[12]
    • ผู้ชายที่กินเต้าหู้มากกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะมีอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ชายที่กินเต้าหู้น้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์[12]
    • ผู้ที่รับประทานอาหารที่ประกอบด้วยถั่วเหลืองน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม 2 เท่า และมะเร็งปอดเป็น 3.5 เท่าของผู้ที่กินอาหารที่ประกอบด้วยถั่วเหลืองทุกวัน[12] สำหรับมะเร็งปอด สารไอโซฟลาโวนจะช่วยถ่วงการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งไว้ (แต่ต้องไม่ใช้ถั่วเหลืองที่ผ่านการหมัก และจะได้ประโยชน์เฉพาะกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่)[14]
    • การบริโภคอาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลืองจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้ถึง 30% (ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ)[14]
    • จากการศึกษาทดลองพบว่า Isoflavones สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็งในสัตว์ทดลองได้[15]
  4. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง[11]
  5. กรดไขมันไม่อิ่มตัวในถั่วเหลืองสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้[11] และจากการศึกษาพบว่า ถั่วเหลืองมีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ถึง 15-20% โดยผลจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียนที่ได้ทำการทดลองในคนไข้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลมากกว่า 300 เนื่องมาจากพันธุกรรม[10] และจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง 25 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีระดับไขมันเลว (LDL) ลดลงร้อยละ 18 และมีระดับไขมันดี (HDL) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20[12]
  6. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ และสมาคมแพทย์โรคหัวใจในสหรัฐฯ ให้คำแนะนำว่า ให้รับประทานโปรตีนจากถั่วเหลืองวันละ 25 กรัม จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้[11],[12] และช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด (สารไฟโตเอสโตรเจน)[12]
  7. เส้นใยอาหารจากถั่วเหลือง สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ (แอนดริว พี โกลด์เบิร์ก) และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ดร.เดวิด เจนคินส์ ยังกล่าวว่า ถั่วเหลืองเป็นพืชที่ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีที่สุด[10]
  8. ช่วยป้องกันการขาดแคลเซียม ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก[6] ช่วยลดความรุนแรงของโรคกระดูกผุ[10] ช่วยลดการสลายของกระดูก และป้องกันโรคกระดูกพรุน[12],[14]
  9. ช่วยบำบัดและรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต เนื่องจากถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวน ที่ช่วยทำให้เลือดลมเดินสะดวก ซึ่งเป็นผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ทำการศึกษากับคนไข้ 102 รายที่เป็นอัมพาตเพราะเส้นเลือดเลี้ยงสมองอุดตันมาก่อนและเป็นโรคหัวใจในเวลาต่อมา[14]
  10. ช่วยขับร้อน สลายน้ำ ถอนพิษ[6]
  1. ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง เนื่องจากถั่วเหลืองมีธาตุเหล็กสูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีสารต้านการดูดซึมธาตุเหล็กด้วย ดังนั้นการจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้จะต้องรับประทานร่วมกับอาหารชนิดอื่น ๆ เช่น เนื้อสัตว์หรือวิตามินซีจากผลไม้ เป็นต้น[14]
  2. ดอกสดใช้เป็นยารักษาต้อกระจก (ดอก)[8]
  3. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (เปลือกเมล็ด)[8]
  4. การบริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำจะช่วยบำรุงปอดให้แข็งแรงขึ้น และช่วยลดโอกาสของการเป็นโรคถุงลมโป่งพอง[14]
  5. ช่วยแก้ตานขโมย (เมล็ด)[8]
  6. แก้ผอมแห้งหรือซูบผอม[6]
  7. ช่วยบรรเทาอาการเหงื่อออก ด้วยการใช้เปลือกเมล็ดแห้งประมาณ 10-15 กรัมมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกเมล็ด)[8]
  8. ช่วยบำบัดอาการลำไส้ทำงานไม่ปกติ[6]
  9. ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกาย ช่วยในการเผาผลาญอาหารในกระเพาะอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ไขมันไม่อิ่มตัว)[14]
  10. ช่วยแก้โรคบิด อาการแน่นท้อง[6],[8]
  11. เมล็ดใช้เป็นยาระบาย (เมล็ด)[8]
  12. ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูก และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคริดสีดวงทวาร[14]
  13. ช่วยหล่อลื่นลำไส้ (เมล็ด)[8]
  14. ช่วยขับปัสสาวะ ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-90 กรัมนำมาต้มกิน หรือจะใช้เปลือกเมล็ดแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้ (เมล็ด, เปลือกเมล็ด)[8]
  15. ช่วยปรับสภาพของฮอร์โมนในสตรีให้สมดุล ช่วยลดความรู้สึกไม่สบายตัว อาการร้อนวูบวาบในระยะหมดประจำเดือนของสตรี รวมไปถึงอาการหงุดหงิด เหงื่อแตก ช่องคลอดแห้ง อารมณ์แปรปรวน หรือมีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุบริเวณช่องคลอดแห้งหรืออักเสบ (Isoflavones)[10],[12],[15] และช่วยลดอาการผิดปกติของหญิงวัยหมดประจำเดือนได้[11]
  16. ตามตำราแพทย์ของจีนระบุว่า ถั่วเหลืองมีฤทธิ์บำรุงม้ามและลมปราณในร่างกาย[14] โดยใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-90 กรัม นำมาต้มกินเป็นยาบำรุงม้าม[8]
  17. สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตที่ต้องจำกัดการรับประทานโปรตีนและคอเลสเตอรอล แต่โปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถรับประทานทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ โดยพบว่าการทำงานของไตดีขึ้น และยังช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนิ่วในไตได้อีกด้วย[14]
  18. ช่วยรักษาแผลเปื่อย[6] แผลเน่าเปื่อย (เปลือกเมล็ด)[8]
  19. ช่วยรักษาบาดแผลภายนอกที่มีเลือดออก (เมล็ด)[8]
  20. ใบสดใช้ต้มกับน้ำดื่มรักษาเลือดออก (ใบ)[8]
  21. ใบสดใช้เป็นยารักษาภายนอก ด้วยการนำมาตำแล้วพอกรักษาคนที่ถูกงูกัด โดยพอกวันละ 3 ครั้ง (ใบ)[8]
  22. แก้สตรีมีครรภ์โดนพิษเฉียบพลัน (เมล็ด)[8]
  23. ช่วยแก้ปวด[6] โดยถั่วเหลืองอุดมไปด้วยสารไอโซฟลาโวนที่มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการอักเสบตามไขข้อ ซึ่งการรับประทานถั่วเหลืองวันละ 40 กรัมก็จะช่วยแก้และป้องกันอาการปวดได้[14]

ประโยชน์ของถั่วเหลือง

  1. ถั่วเหลืองเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและหลากหลาย เพราะอุดมไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน มีไขมันชนิดดีสูง มีเส้นใยอาหารสูง มีวิตามินและเกลือแร่สูง และยังเป็นอาหารที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง การเก็บรักษาก็ง่าย และผู้ผลิตยังเติมสารอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ลงไปอีกด้วย โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองสำเร็จรูป[9]
  2. การบริโภคนมถั่วเหลืองเป็นประจำยังมีประโยชน์ต่อรูปลักษณ์ภายนอกอีกด้วย เช่น ช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส เปล่งปลั่ง ดูมีน้ำมีนวล เป็นต้น[17]
  3. การรับประทานถั่วเหลืองเป็นประจำจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัว โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน[6],[17]
  4. ช่วยบำรุงประสาทและสมอง[6] ช่วยเพิ่มความจำ เนื่องจากถั่วเหลืองอุดมไปด้วยวิตามินบีหลายชนิด[14]
  5. โปรตีนในถั่วเหลือง ถือเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี มีโปรตีนสูงเทียบเท่ากับนมวัว (แต่มีแคลเซียมน้อยกว่า เพียง 1 ใน 5 ของนมวัวเท่านั้น) สามารถใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ เพราะมีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่หลายชนิดในปริมาณที่สมดุลมากกว่าถั่วชนิดอื่น[5],[9],[11]
  6. ถั่วเหลืองมีไขมันสูง โดยมีน้ำมันอยู่ร้อยละ 12-20 น้ำมันจากถั่วเหลืองมีส่วนประกอบของไขมันไม่อิ่มตัวอยู่หลายชนิด ที่เป็นกรดไขมันจำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กและทารก ช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ผิวหนัง จึงเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ และยังมีวิตามินอีซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันอีกด้วย[5]
  7. นมถั่วเหลือง สามารถใช้เป็นอาหารเสริมได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่แพ้นมวัวและไม่สามารถดื่มนมมารดาได้ จึงสามารถดื่มนมถั่วเหลืองทดแทนได้[9]
  8. นมถั่วเหลือง มีสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ที่มีคุณสมบัติบางอย่างคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง[9] ช่วยทำให้ระบบเลือดดีขึ้น แล้วยังช่วยทำให้สิวลดน้อยลงอีกด้วย[14]
  9. การดื่มนมถั่วเหลืองอุ่น ๆ ก่อนนอนจะช่วยทำให้นอนหลับสบายยิ่งขึ้น เพราะในถั่วเหลืองนั้นมีกรดอะมิโน “ทริปโตเฟน” ที่จะช่วยเปลี่ยนให้เป็นฮอร์โมนเซโรโทนินซึ่งช่วยควบคุมการนอนหลับ จึงทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น[14]
  10. ถั่วเหลืองเป็นอาหารเสริมที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่บริโภคอาหารได้น้อย หรือมีอาการแพ้นมวัว หรือคลื่นไส้อาเจียน หรือมีอาการเจ็บเวลากลืนอาหาร[9]
  1. สำหรับผู้ที่ท้องเสียหรือเพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย การดื่มนมวัวอาจทำให้ท้องเสียได้ แต่ถ้าหากดื่มนมถั่วเหลืองจะไม่มีปัญหาเรื่องการย่อยเหมือนนมวัว ทำให้ดูดซึมได้ดี ผู้ป่วยก็ฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น[13]
  2. น้ำเต้าหู้ถือเป็นเครื่องดื่มเสริมความงามที่เหมาะแก่สุภาพสตรีเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงมักมีอาการโลหิตจาง ประสิทธิภาพการปรับความสมดุลในเลือดของน้ำเต้าหู้ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยเฉพาะสุภาพสตรีวัยกลางคนและวัยชราที่ดื่มน้ำเต้าหู้อยู่เป็นประจำ จะช่วยปรับการขับของเหลวภายในร่างกาย ชะลอความแก่ ผลการวิจัยพบว่า ไอโซเฟลโวนีส โปรตีน และเลซิตินที่อยู่ในถั่วเหลืองช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม นอกจากนี้ สารอาหารบางชนิดที่อยู่ในน้ำเต้าหู้ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่า ทำให้ไขมันใต้ผิวหนังไม่จับตัวกันเป็นก้อน จึงช่วยเสริมสร้างความงามให้แก่เรือนร่าง หากรับประทานก่อนมื้ออาหารพร้อม ๆ กับอาหารที่มีกากไขมันสูง จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
  3. สารอาหารบางชนิดที่อยู่ในน้ำเต้าหู้สามารถช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่เพื่อทดแทนเซลล์เก่า ทำให้ไขมันใต้ผิวหนังไม่จับตัวกันเป็นก้อน จึงช่วยเสริมสร้างความงามให้กับเรือนร่างได้[14]
  4. การรับประทานถั่วเหลืองก่อนมื้ออาหารพร้อมกับอาหารที่มีกากไขมันสูง จะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มได้เร็วขึ้น มีผลทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง จึงช่วยควบคุมน้ำหนักไปด้วยในตัว[14]
  5. เราสามารถเลือกรับโอเมก้า 3 ที่ได้จากถั่วเหลืองแทนการรับประทานจากปลาได้เลย แถมยังปลอดภัยต่อสารปนเปื้อนที่มักพบในปลาบางชนิดอีกด้วย[14]
  6. ถั่วเหลืองมีโปรตีนสูง จึงช่วยเสริมสร้างเส้นผมใหม่ได้[14]
  7. ประโยชน์ถั่วเหลือง หลัก ๆ แล้วคงหนีไม่พ้นการใช้เป็นอาหาร โดยเมล็ดที่ยังไม่แก่อาจนำมาต้มรับประทานหรือที่เรียกว่า “ถั่วแระ”[4] หรือบางสายพันธุ์มีเมล็ดโตก็นำมาใช้ปรุงรับประทานเป็นถั่วเหลืองฝักสด หรือนำไปแปรรูปบรรจุกระป๋อง[4]
  8. ส่วนเมล็ดแก่ก็อาจนำมาใช้ทำเป็น “ถั่วงอก” เพื่อใช้รับประทานผัก หรืออาจนำมาใช้ทำเป็นเต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว ซอส เต้าหู้ เต้าฮวย ขนมเทียน ขนมหม้อแกงถั่ว ถั่วงอกหัวโต แป้งถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง น้ํามันถั่วเหลือง ทำเป็นเนื้อเทียม สำหรับใช้เป็นอาหารมังสวิรัติ หรือใช้ในกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์[2],[4],[8],[10] หรือจะนำมาใช้ปรุงอาหารโดยตรง เช่น การนำมาต้มกับหมูก็ได้ หรือนำมาทำน้ำพริกเผาถั่วเหลือง นำไปคั่วหรืออบแล้วบดเป็นผงชา กาแฟ เป็นต้น[10]
  9. เมล็ดสามารถเก็บไว้หมักทำถั่วเน่าเพื่อเก็บไว้ใช้ปรุงรสชาติของอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น แกง น้ำพริก เป็นต้น[8]
  10. แป้งถั่วเหลือง นำมาใช้ผสมหรือปรุงอาหารได้หลายอย่าง เช่น การนำมาทำเป็นขนมต่าง ๆ อาหารสำหรับทารก ฯลฯ[4]
  11. ประโยชน์ของน้ำมันถั่วเหลือง สามารถนำมาใช้ในการปรุงอาหาร ผัดอาหาร ทำมาการีน ทำเป็นน้ำสลัด ฯลฯ[4]
  12. น้ำต้มเมล็ดถั่วเหลือง สามารถนำมาใช้สระผมได้ (ปะหล่อง)[8]
  13. ประโยชน์ของกากถั่วเหลือง กากที่เหลือจากการสกัดทำเป็นน้ำมันสามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ย[4] หรือใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ หรือใช้รับประทานแทนเนื้อสัตว์[8] และกากเกลือจากการทำน้ำนมถั่วเหลืองก็ยังนำไปทำอาหารได้อีกด้วย เช่น กรอบเค็ม หรือใช้เลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมักก็ได้[10]
  14. เศษซากที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์จำพวกเคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ ได้เป็นอย่างดี หรือนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักก็ได้[10]
  15. ถั่วเหลืองเป็นพืชบำรุงดิน เมื่อไถกลบถั่วเหลืองลงไปในดินก่อนที่ถั่วเหลืองจะแก่ ก็จะเป็นปุ๋ยพืชสดที่ช่วยบำรุงดินได้เป็นอย่างดี ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และมีคุณสมบัติที่ดี ส่วนรากของถั่วเหลืองที่มีปมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียไรโซเบียม แบคทีเรียชนิดนี้จะช่วยดูดตรึงไนโตรเจนให้มาอยู่ในรูปพืช สามารถใช้เป็นปุ๋ยได้ เมื่อเก็บถั่วแล้วรากและปมก็จะขาดตกค้างอยู่ในดิน แล้วกลายเป็นปุ๋ยของพืชต่อไป[4]
  16. ถั่วเหลืองมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เนื้อเทียม โปรตีนเกษตร หรือโปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง โปรตีนถั่วเหลือง โปรตีนถั่วเหลืองเข้มข้น แป้งถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง เต้าหู้ เต้าหู้ยี้ เต้าเจี้ยว เต้าเจี้ยวญี่ปุ่น ซอสถั่วเหลือง ซีอิ๊ว ถั่วเน่า นัตโตะ เทมเป้ อาหารเสริมเลซิติน ฯลฯ หรือใช้ในอุตสาหกรรมสัตว์ สบู่ เครื่องสำอาง ผ้า กระดาษ เส้นใย ฉนวนไฟฟ้า หมึกพิมพ์ ใช้ผลิตกาว สี เบียร์ วิตามินและยาต่าง ๆ ทำปุ๋ย หรือใช้เป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลง ฯลฯ โดยอาจเป็นทั้งส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์หรือเป็นตัวช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น[2],[4]

เต้าเจี้ยวเต้าหู้โปรตีนเกษตร

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วเหลือง ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 446 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 30.16 กรัม
  • น้ำ 8.54 กรัมถั่วงอกหัวโต
  • น้ำตาล 7.33 กรัม
  • เส้นใย 9.3 กรัม
  • ไขมัน 19.94 กรัม
  • ไขมันอิ่มตัว 2.884 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 4.404 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 11.255 กรัม
  • โปรตีน 36.49 กรัม
  • ทริปโตเฟน 0.591 กรัม
  • ทรีโอนีน 1.766 กรัม
  • ไอโซลิวซีน 1.971 กรัม
  • ลิวซีน 3.309 กรัม
  • ไลซีน 2.706 กรัม
  • เมทไธโอนีน 0.547 กรัม
  • ซิสทีน 0.655 กรัม
  • ฟีนิลอะลานีน 2.122 กรัม
  • ไทโรซีน 1.539 กรัม
  • วาลีน 2.029 กรัมนมถั่วเหลือง
  • อาร์จินีน 3.153 กรัม
  • ฮิสตามีน 1.097 กรัม
  • อะลานีน 1.915 กรัม
  • กรดแอสพาร์ติก 5.112 กรัม
  • กลูตามิก 7.874 กรัม
  • ไกลซีน 1.880 กรัม
  • โพรลีน 2.379 กรัม
  • ซีรีน 2.357 กรัม
  • วิตามินเอ 1 ไมโครกรัม 0%
  • วิตามินบี 1 0.874 มิลลิกรัม 76%
  • วิตามินบี 2 0.87 มิลลิกรัม 73%
  • วิตามินบี 3 1.623 มิลลิกรัม 11%
  • วิตามินบี 5 0.793 มิลลิกรัม 16%
  • วิตามินบี 6 0.377 มิลลิกรัม 29%
  • วิตามินบี 9 375 ไมโครกรัม 94%
  • โคลีน 115.9 มิลลิกรัม 24%น้ำมันถั่วเหลือง
  • วิตามินซี 6.0 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินอี 0.85 มิลลิกรัม 6%
  • วิตามินเค 47 ไมโครกรัม 45%
  • ธาตุแคลเซียม 277 มิลลิกรัม 28%
  • ธาตุเหล็ก 15.7 มิลลิกรัม 121%
  • ธาตุแมกนีเซียม 280 มิลลิกรัม 79%
  • ธาตุแมงกานีส 2.517 มิลลิกรัม 120%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 704 มิลลิกรัม 101%
  • ธาตุโพแทสเซียม 1,797 มิลลิกรัม 38%
  • ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุสังกะสี 4.89 มิลลิกรัม 51%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

ข้อควรระวังในการรับประทานถั่วเหลือง

  • สำหรับบางรายอาจมีอาการแพ้ถั่วเหลืองได้ (แต่พบได้น้อยมาก) โดยจะเกิดผื่นคันหลังจากการรับประทาน[9]
  • การบริโภคโปรตีนจากถั่วเหลือง อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยและไม่รุนแรงมาก โดยมากแล้วจะเป็นอาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น มีอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องผูก เป็นต้น แต่มักจะเกิดในเด็กที่มีประวัติเป็นโรคหอบหืด หรือผู้ที่มีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์จากถั่ว[12]
  • เด็กทารกที่ดื่มน้ำนมถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียวจะมีโอกาสที่ต่อมไทรอยด์จะทำงานต่ำกว่าปกติได้ (แต่ในปัจจุบันนมถั่วเหลืองสำหรับทารกมักจะมีการเติมไอโอดีนเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวอยู่แล้ว)[12]
  • สำหรับในเด็กผู้ชาย การบริโภคถั่วเหลืองในปริมาณสูงและเป็นประจำ อาจทำให้มีเต้านมที่โตผิดปกติ จากสารไฟโตเอสโตรเจน[9] และอาจส่งผลต่อปริมาณของอสุจิในเพศชายได้[9] โดยพบว่าอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนผสมอาจทำให้จำนวนอสุจิลดลงถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งหากบริโภคเพียง 1 ครั้ง ในทุก ๆ 2 วัน ก็จะทำให้อสุจิที่ปกติจะมีอยู่ 80-120 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร จะเหลือค่าเฉลี่ยไม่ถึง 41 ล้านตัว (ดร.จอร์จ ชาวาร์โร แห่งวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด) แต่การศึกษาดังกล่าวยังมีเสียงคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญบางราย เพราะในบางรายที่บริโภคถั่วเหลืองในปริมาณมากกว่า แต่ไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการเจริญพันธุ์แต่อย่างใด[14] แต่มีอีกข้อมูลที่ระบุว่า เพศชายสามารถดื่มนมถั่วเหลืองเป็นประจำทุกวันได้ โดยไม่ต้องกังวลว่า สารเจนิสติน (Genistein) ที่มีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงจะทำให้เกิดการผิดปกติในร่างกาย[11]
  • ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า อาจทำให้เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในเพศชายได้ เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิงจะไปกดการทำงานของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของเพศชาย[16]
  • การรับประทานโปรตีนจากถั่วเหลืองชนิดผงวันละ 30 cc. อาจทำให้เกิดความผิดปกติที่เต้านมจากฤทธิ์ของไฟโตเอสโตรเจน (Petrakis, N.L.,1996)[16]
  • จากการศึกษาการทำงานของต่อมไทรอยด์ในผู้ที่รับประทานถั่วเหลืองพบว่า ต่อมไทรอยด์ถูกกดการทำงาน และทำให้เกิดคอพอกในหลายงานวิจัย (Ishizuki,Y.,et al.,1991 : Divi,R.I. and D.R. Doerge,1997)[16]
  • ไฟโตเอสโตรเจนในถั่วเหลืองเป็นตัวขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ และมีแนวโน้มทำให้เป็นหมัน อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมในเพศหญิงอีกด้วย[16]
  • โปรตีนถั่วเหลืองอาจทำให้มีการสร้างน้ำนมที่ผิดปกติ ทำให้เนื้อเยื่อเต้านมหนาตัวยิ่งขึ้น ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดเพิ่มมากขึ้น ในเพศหญิงก่อนวัยทองและวัยทอง[16]
  • โปรตีนในถั่วเหลืองมี Phytic acid สูงมาก ซึ่งเป็นตัวยับยั้งการดูดซึมเกลือแร่ในร่างกาย โดยเฉพาะกับแคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และสังกะสี (Fallon,S.W. and Mary G.Enig 1995)[16]
  • ถั่วเหลืองมีสาร Hemagglutinin ที่เป็นตัวทำให้เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวจับตัวกันเป็นก้อน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดเสียไป (Fallon,S.W. and Mary G. Enig 1995)[16]
  • ในกระบวนการผลิตโปรตีนถั่วเหลือง อาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่ชื่อว่า ไนโตรซามีน (Nitrosamines) และสารพิษที่เรียกว่า ไลซิโนอะลานีน (Lysinoalanine)[16]
  • ในสัตว์ตั้งท้อง หากเลี้ยงด้วยโปรตีนจากถั่วเหลือง อาจทำให้ลูกของสัตว์ที่เกิดมามีอวัยวะเพศที่ผิดปกติ และอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเอสโตรเจน (Estrogen Syndrome) ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เป็นโรคต่อมไทรอยด์ โรคถุงน้ำดี โรงมะเร็ง โรคหัวใจ โรคกระดูกผุ หรือเป็นหมันได้[16]
  • การรับประทานถั่วเหลืองเป็นประจำอาจทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroidism) โดยอาการที่พบได้บ่อย ๆ ก็คือ เจ็บส้นเท้า มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง กินนิดเดียวก็อ้วน และอาจทำให้มะเร็งดื้อต่อการรักษาแบบธรรมชาติบำบัด[16]
  • มีบางการศึกษาที่ระบุว่า การรับประทานถั่วเหลืองในปริมาณสูงเป็นประจำ อาจเกิดปัจจัยเสี่ยงทำให้สมองฝ่อได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันอย่างชัดเจน[9] และมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารดีเมนเทียส์ แอนด์ เกเรียทริก ค็อกนิทีฟ ดิสออร์เดอร์ส ได้ระบุว่า การได้รับไฟโตเอสโตรเจนในปริมาณมากอาจทำให้จิตเสื่อมได้ (งานวิจัยของมหาวิทยาลัยลัฟโบโรห์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และนักวิจัยจากอินโดนีเซีย) โดยการรับประทานเต้าหู้มากกว่าวันละหนึ่งมื้อ อาจทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลงถึง 20% แต่การรับประทานเทมเป้หมักกลับช่วยเพิ่มความจำ เพราะอาหารชนิดนี้อุดมไปด้วยโฟเลตและยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคจิตเสื่อมได้[14]
  • การรับประทานถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ไม่ควรบริโภคในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ควรระมัดระวังในการบริโภคด้วย เพราะโรคมะเร็งดังกล่าวมีปัจจัยเสี่ยงมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน[9]

แป้งถั่วเหลืองถั่วเน่าซอสถั่วเหลือง

คำแนะนำในการรับประทานถั่วเหลือง

  • สำหรับวิธีการเพิ่มการบริโภคถั่วเหลืองในชีวิตประจำวันมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การดื่มนมถั่วเหลือง ใช้เนื้อเทียมหรือโปรตีนเกษตร ใช้น้ำนมถั่วเหลืองในการทำเค้ก ใช้แป้งถั่วเหลืองแทนแป้งสาลี ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลืองต่าง ๆ หรือใช้ถั่วเหลืองฝักอ่อนและถั่วงอกหัวโตเป็นส่วนประกอบในอาหาร หรือใช้ถั่วงอกในการทำอาหารเมนูต่าง ๆ เช่น ผัดกับผัก ทำเป็นแกงจืด เป็นต้น[14]
  • เมล็ดถั่วเหลืองแก่มีสารยับยั้งเอนไซม์บางชนิดที่ช่วยย่อยโปรตีน จึงต้องทำให้สุกเสียก่อนจึงจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่[10] และสำหรับผู้ที่เกิดอาการอาเจียนหรือมีอาการท้องร่วงหลังการดื่มน้ำเต้าหู้ จนเข้าใจว่าเป็นอาการแพ้ สาเหตุอย่างหนึ่งของอาการดังกล่าวอาจเกิดจากการดื่มน้ำเต้าหู้ที่ไม่เดือดเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถทำลายสารซาโพนีนได้[14]
  • แม้ว่านมถั่วเหลืองจะสามารถใช้ทดแทนนมวัวได้ แต่สำหรับในเด็กที่ไม่ได้แพ้นมวัวก็ไม่ควรที่จะดื่มนมถั่วเหลืองแทนนมวัว เนื่องจากอยู่ในช่วงวัยเจริญเติบโต เพราะนมวัวมีแคลเซียมมากกว่านมถั่วเหลือง ให้พลังงานมากกว่า มีโปรตีนที่สมบูรณ์กว่า แต่ทั้งนี้ยังสามารถดื่มร่วมกับนมวัวได้[11]
  • การเลือกซื้อนมถั่วเหลือง ควรดูรายละเอียดที่ข้างกล่องด้วย ซึ่งนมถั่วเหลืองที่ดีต่อสุขภาพนั้นนอกจากจะมีโปรตีนที่สูงแล้ว ยังต้องมีแคลเซียมสูงด้วย[14]
  • น้ำมันถั่วเหลือง ไม่ควรนำมาใช้ในการทอดอาหาร เพราะเป็นน้ำมันที่ไม่คงตัวและเสื่อมสภาพเร็ว[14] แต่น้ำมันถั่วเหลืองจะนิยมนำมาใช้ผัด (จากประสบการณ์นะครับ)
  • การเก็บถั่วเหลืองไว้นานเกินไป หรือเก็บรักษาไม่ดี เต้าหู้หรือเต้าเจี้ยวอาจมีการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ได้ ซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งตับ[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) องค์การมหาชน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.arda.or.th.  [27 ต.ค. 2013].
  2. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.sc.mahidol.ac.th.  [27 ต.ค. 2013].
  3. ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.  “ถั่วเหลือง (Soybean)“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : gri.kps.ku.ac.th.  [27 ต.ค. 2013].
  4. คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.natres.psu.ac.th.  [27 ต.ค. 2013].
  5. ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร.  “Soybean / ถั่วเหลือง”.  (ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณดร.นิธิยา รัตนาปนนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.foodnetworksolution.com.  [23 ต.ค. 2013].
  6. สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน.  “มหัศจรรย์พลังของถั่ว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dol.go.th.  [27 ต.ค. 2013].
  7. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.  (เต็ม สมิตินันทน์).
  8. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [27 ต.ค. 2013].
  9. สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย.  (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : portal.in.th/thastro.org.  [26 ต.ค. 2013].
  10. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 222 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  “ถั่วเหลือง พืชพื้นบ้านที่เป็นอนาคตของมนุษยชาติ“.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [27 ต.ค. 2013].
  11. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 370 คอลัมน์ : เรื่องน่ารู้.  “นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม“. (อรพินท์ บรรจง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [27 ต.ค. 2013].
  12. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 314 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก.  “ผู้หญิงวัยทองกับประโยชน์ของถั่วเหลือง“.  (ผศ.ดร.ศรีวัฒนา ทรงจิตสมบูรณ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [27 ต.ค. 2013].
  13. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 30 คอลัมน์ : กินถูก…ถูก. “นมถั่วเหลือง นมเพื่อชนทุกชั้น“.  (ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [27 ต.ค. 2013].
  14. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaihealth.or.th.  [27 ต.ค. 2013].
  15. GotoKnow.  “นมถั่วเหลือง…ดีจริง ๆ“.  (ฉันทลักษณ์ อาจหาญ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.gotoknow.org.  [27 ต.ค. 2013].
  16. ainews1.  “ประโยชน์และโทษของถั่วเหลือง“.  อ้างอิงใน : นายแพทย์เปี่ยมโชค ชลิดาพงศ์, Dr.Lita Lee, และ The Weston A. Price Foundation for Wise Traditions in Food, Farming, and the Healing Arts.  “Soy Alert!“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.westonaprice.org., ainews1.com.  [27 ต.ค. 2013].
  17. Mthai.  “ไขปริศนาประโยชน์ของนมถั่วเหลือง“.  (แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : talk.mthai.com.  [27 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.doa.go.th, www.livingcropmuseum.info, www.flickr.com (by jhyerczyk, Carl E Lewis, rodrigogzz, IITA Image Library), www.bloggang.com (by Hard-call, แม่น้องกะบูน, พนอจัน, เนเวอร์แลนด์)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด