ถั่วพู สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วพู 27 ข้อ !

ถั่วพู สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วพู 27 ข้อ !

ถั่วพู

ถั่วพู ชื่อสามัญ Winged bean, Goa bean, Asparagus pea, Four-angled bean, Winged pea

ถั่วพู ชื่อวิทยาศาสตร์ Psophocarpus tetragonolobus (L.) DC. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2],[3]

ถั่วพู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วพูใหญ่ ถั่วพูตะขาบ ถั่วพูจีน เป็นต้น[6]

ผักถั่วพู จัดเป็นพืชในเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แก่ ประเทศไทย ลาว พม่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี และในปัจจุบันถั่วพูก็เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในฟลอริดาของอเมริกา[3]

หลายคนคงเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่าลักษณะที่ว่าเป็นพู ๆ นั้นเป็นอย่างไร คำว่า “พู” เป็นคำสมัยก่อน ไม่ค่อยพบกันบ่อยนักในปัจจุบัน ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์บอกว่า คำว่าพู หมายถึง “กลีบใหญ่เหมือนลูกทุเรียนที่เป็นกลีบ ๆ มียวงอยู่ข้างใน” ส่วนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ.๒๕๒๕ อธิบายว่า “พูเป็นชื่อเรียกของสิ่งที่มีลักษณะนูนออกมา เช่น พูทุเรียน” จากความหมายดังกล่าวแสดงว่าคนไทยมองฝักถั่วพูว่ามีพู (4 พู) จึงนำมาตั้งเป็นชื่อของถั่วชนิดนี้ แต่สำหรับชาวต่างชาติจะมองว่ามันมีลักษณะเป็นปีกครับ หรือเป็นที่มาของชื่อ “Winged bean” นั่นเองครับ[3]

ลักษณะของต้นถั่วพู

  • ต้นถั่วพู จัดเป็นไม้เลื้อย ไม่มีเนื้อไม้แต่มีอายุหลายปี ลำต้นเลื้อยพัน เป็นพืชที่มีลำต้นสีเขียวและเขียวปนม่วง ส่วนของรากเป็นรากที่สะสมอาหารอยู่ใต้ดิน มีปมซึ่งเป็นที่อยู่ของเชื้อไรโซเบียมจำนวนมาก ถั่วพูเป็นพืชที่ปลูกง่ายและเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ยกเว้นในดินที่มีน้ำขัง ขึ้นได้ในระดับน้ำทะเลจนถึงระดับความสูงที่ 2,300 เมตร ขยายพันธุ์และเพาะปลูกด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการเพาะกล้า[1],[4]

ต้นถั่วพู

สมุนไพรถั่วพูหัวถั่วพู
  • ใบถั่วพู ใบเรียงสลับ เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมี 3 ใบ โคนใบกลมและเบี้ยว ส่วนปลายใบแหลม มีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปไข่ และรูปใบหอก[1],[4]

ใบถั่วพู

  • ดอกถั่วพู ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบเป็นแบบช่อกระจะ ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกอยู่ประมาณ 3-12 ดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันลักษณะคล้ายรูประฆัง ปลายเป็น 5 กลีบ กลีบเป็นซี่สั้น ๆ กลีบดอกมีสีระหว่างขาวและสีม่วงแดง สีน้ำเงิน สีแดง ดอกมีเกสรตัวผู้อยู่ 10 ก้าน แบ่งเป็น 2 มัด มัดหนึ่งมี 9 ก้าน ส่วนอีกมัดมี 1 ก้าน[4]

ดอกถั่วพู

  • ฝักถั่วพู ฝักเป็นรูปขอบขนานถึงรูปแถบ มีหน้าตัดเป็นรูปสีเหลี่ยม และแต่ละมุมของฝักจะมีปีกตามยาว ปีกมีลักษณะเป็นหยักแบบจักคล้ายฟันเลื่อย มีสีเขียว มีรูปร่างเป็นฝักสี่เหลี่ยม มีปีก 4 ปีก เมื่อตัดตามขวางจะแบ่งได้เป็น 4 แบบคือ rectangular, semi flat, flat on sides และ flat on suture ฝักมีความยาวประมาณ 11.2-29.9 เซนติเมตร สีของฝักมีทั้งสีเขียว สีม่วง และสีเหลือง ส่วนผิวของฝักจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบผิวเรียบและแบบผิวหยาบมาก ในฝักถั่วพูจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8-20 เมล็ด[1],[4]

ผักถั่วพู

ฝักถั่วพลู

รูปถั่วพู

  • เมล็ดถั่วพู ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกึ่งทรงกลม มีตั้งแต่สีขาว สีเหลือง สีครีม สีน้ำตาล สีดำ และแบบที่เป็นลวดลายต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วเมล็ดจะมีสีน้ำตาล และยังมีขนาดต่าง ๆ กัน โดยน้ำหนัก 100 เมล็ด อยู่ในช่วง 11-4.6 กรัม[1],[4]

ภาพถั่วพู

รูปเมล็ดถั่วพูเมล็ดถั่วพู

สรรพคุณของถั่วพู

  1. ฝักอ่อนถั่วพูช่วยบำรุงร่างกาย (ฝักอ่อน)[1] หรือจะใช้เมล็ดแก่ตากแห้งนำมาบดให้เป็นผง นำมาละลายกับน้ำครั้งละ 5-6 กรัม ใช้รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 เวลา (เมล็ด)[3] ส่วนหัวก็ช่วยบำรุงร่างกายด้วยเช่นกัน (หัว)[5]
  2. หัวใต้ดินนำมาเผาหรือนึ่งกินช่วยบำรุงกำลัง หรือจะใช้รากถั่วพูใช้ผสมกับสมุนไพรและน้ำดอกไม้ใช้เป็นยาชูกำลังก็ได้เช่นกัน (หัว, ราก)[3] และอีกตำราบอกว่าให้ใช้เมล็ดแก่นำมาต้มให้สุกแล้วรับประทาน หรือจะนำเมล็ดที่ต้มสุกแล้วมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำสุก ใช้ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 เวลาก็จะช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง เพิ่มกำลังวังชาได้เช่นกัน[5]
  3. หัวถั่วพู เมื่อนำมาตากแห้งแล้วคั่วให้เหลือง ใช้ชงกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการอ่อนเพลียได้ ส่วนฝักอ่อนก็ช่วยได้เช่นกัน (หัว, ฝักอ่อน)[1],[5]
  4. ถั่วพูอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ ซี อี และยังเป็นผักที่มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นตัวช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายและทำให้ร่างกายแข็งแรง (ฝัก)[7]
  5. หัวมีรสชุ่มเย็น ช่วยทำให้ดวงจิตชุ่มชื่น (หัว)[3]
  6. การรับประทานถั่วพูเป็นประจำจะช่วยบำรุงกระดูกและฟันได้เป็นอย่างดี เพราะถั่วพูมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง (ฝัก)[7]
  7. รากใช้ประกอบสมุนไพรและน้ำดอกไม้ ใช้เป็นยาแก้โรคหัวใจ (ราก)[3]
  8. หัวถั่วพูช่วยแก้ไข้กาฬ (หัว)[5]
  9. ช่วยแก้อาการตัวร้อน ลดไข้ในเด็กทารก (ฝักอ่อน)[1]
  10. ใบถั่วพูช่วยแก้อาการอาเจียน (ใบ)[1]
  11. หัวช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (หัว)[5]
  12. ถั่วพูเป็นผักที่มีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยระบบขับถ่ายให้ทำงานอย่างเป็นปกติ ช่วยป้องกันอาการท้องผูก (ฝัก)[5]
  13. ช่วยแก้อาการปวดมวนท้อง (ราก)[5]
  14. ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ฝักอ่อน)[1]
  15. รากถั่วพูช่วยแก้โรคลมพิษกำเริบ ทำให้คลั่งเพ้อ (ราก)[5]
  16. รากใช้ปรุงเป็นยาโรคเพื่อวาโยธาตุกำเริบ ใช้รักษาดีพลุ่งพล่าน ให้คลั่งเพ้อ อาการปวดมวนท้อง กระทำให้ตาแดง ซึ่งในตำรับยาประกอบไปด้วย รากถั่วพู, พริกไทย, จันทร์ทั้งสอง, กฤษณาเสมอภาค, น้ำกระทือ, น้ำมะนาว, น้ำอ้อย, และคุลีการละลาย (ราก)[5]

ประโยชน์ของถั่วพู

  1. ถั่วพูเป็นยอดอาหารเหนือชั้นที่มีความเหนือกว่าพี่น้องตระกูลถั่วทั้งหลาย มีประโยชน์มาก และยังเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถนำมารับประทานได้แทบทุกส่วนของต้น[7]
  2. ถั่วพูเป็นพืชที่มีสารขัดขวางต่ำ จึงช่วยทำให้การดูดซึมของแคลเซียมเป็นไปได้ด้วยดี เมื่อรับประทานถั่วพูแล้วร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้ถึง 39.1-51.9% เลยทีเดียว[7]
  3. การรับประทานถั่วพูอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง สามารถช่วยป้องกันและลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม และยังส่งผลดีต่อฮอร์โมนเพศหญิงอีกด้วย เพราะพืชตระกูลถั่วที่กินได้ทั้งฝักทั้งหลายจะมีสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส[7]
  4. การรับประทานถั่วทั้งชนิดแห้งและสด เช่น ถั่วพู นอกจากจะได้เส้นใยอาหารมากแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลได้อีกด้วย[7]
  5. ปัจจุบันนิยมปลูกถั่วพูไว้ตามริมรั้วหรือในสวนหลังบ้าน หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนาเพื่อใช้เป็นผักสวนครัว โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นอาหารได้แก่ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ฝักอ่อน รสมัน (ใช้กินเป็นผัก) และหัวใต้ดิน (ใช้กินเป็นอาหารแห้ง)[3]
  6. คนไทยทั่วไปนิยมใช้ฝักอ่อนเป็นผักสดจิ้มรับประทานกับน้ำพริก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับน้ำพริกปลาร้า หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น ผัดกับน้ำมันหอย แกงเผ็ด ลวกราดน้ำกะทิ หรือทำเป็นยำถั่วพู นำมาหั่นเป็นเครื่องเคียงขนมจีน ใช้ผสมในทอดมันเช่นเดียวกับถั่วฝักยาว ส่วนทางภาคใต้ก็นิยมกินยอดอ่อน ฝักอ่อน และดอกอ่อนเป็นผักสด หรือนำไปต้ม นำไปผัด ใส่แกงส้ม ทำแกงไตปลาก็ได้ ส่วนชาวญี่ปุ่นก็ใช้ฝักอ่อนนำมาทอดเป็นเทมปุระ และในอินเดียและศรีลังกาก็นิยมนำฝักอ่อนมาดองไว้รับประทาน นอกจากนี้ยังใช้ปรุงกับอาหารและเครื่องเทศรสจัดได้ทุกชนิด[3]
  7. ในบ้านเรามีการบริโภคหัวถั่วพู ด้วยการนำมาต้มกินคล้ายกับหัวมัน โดยหัวใต้ดินของถั่วพูนี้จะมีประมาณของโปรตีนสูงถึงร้อยละ 20-30 เลยทีเดียว จึงมีการนำหัวมาแปรรูปเป็นแป้งสำหรับใช้ประกอบอาหาร หรือนำไปเชื่อมเป็นขนมหวาน หรือจะฝานเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำมาทอดกรอบเหมือนมันฝรั่งก็ได้ แถมยังเป็นอาหารขบเคี้ยวที่มีโปรตีนสูงอีกด้วย[3]
  8. เมล็ดแก่มีน้ำมันอยู่ร้อยละ 16-18 สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันพืชสำหรับใช้ปรุงอาหารได้ และยังมีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย โดยในน้ำมันถั่วพูจะมีกรดโอเลอิก 39%, กรดไลโนเลอิก 27%, กรดบีเฮนิก, และกรดพารินาริก ซึ่งไม่ทำให้เกิดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด นอกจากนี้ในน้ำมันถั่วพูยังมีสารโทโคฟีรอลในปริมาณที่สูงมากอีกด้วย โดยเป็นสารที่ทำให้น้ำมันมีรสหวานและอยู่ตัว มีประโยชน์ในเรื่องการต่อต้านอนุมูลอิสระและช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดี[3]
  9. มีการนำถั่วพูมาใช้ในการรักษาสิวและโรคผิวหนังบางชนิด[5]
  10. ถั่วพูสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี เหมาะแก่การปลูกเป็นแปลงใหญ่ ๆ แล้วปล่อยให้สัตว์กินแทนหญ้าเลี้ยงสัตว์ทั่วไป โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง และยังได้คุณค่าอาหารมากกว่าหญ้านัก จึงช่วยทำให้สัตว์เลี้ยงเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี แถมยังเป็นพืชที่ปลูกง่ายและเจริญเติบโตได้ในดินเสื่อมโทรม[3]
  11. ถั่วพูเป็นพืชบำรุงดินได้ดี เพราะปมรากเป็นที่อาศัยของเชื้อไรโซเบียมที่มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ดังนั้นการปลูกถั่วพูจึงเป็นการเพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดินและเมื่อไถกลบต้นถั่วพูหลังการเก็บเกี่ยวไปแล้วยังกลายเป็นปุ๋ยพืชที่ดินต้องการอีกด้วย[3]

คุณค่าทางโภชนาการของฝักอ่อน ต่อ 100 กรัม

  • ประกอบไปด้วย วิตามินเอ 567 หน่วยสากล, วิตามินซี 21 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 33 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 3.7 มิลลิกรัมส่วนปริมาณโปรตีนในแต่ละส่วนของต้นถั่วพู ในส่วนของฝักจะมีโปรตีน 1.9-3%, ใบถั่วพู 5.7%, ดอกถั่วพู 5.6%, หัว 10.9%, และเมล็ดแก่ 29.8-37.4% สำหรับเมล็ดแก่จะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากเทียบเคียงกับถั่วเหลือง และในเมล็ดแก่จะประกอบด้วยน้ำมัน 15-18.3% ซึ่งประกอบไปด้วย กรดไขมันไม่อิ่มตัว แอลฟาโทโคฟีรอล เบต้าโทโคฟีรอล ในปริมาณที่สูง[1]
  • ส่วนข้อมูลอีกที่ระบุไว้ว่าคุณค่าทางโภชนาการของฝักต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 19 กิโลแคลอรี, คาร์โบไฮเดรต 2.4 กรัม, ไขมัน 0.1 กรัม, เส้นใย 1.2 กรัม, โปรตีน 2.1 กรัม, น้ำ 93.8 กรัม, วิตามินบี 1 0.35 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.14 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.8 มิลลิกรัม, วิตามินซี 32 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 5 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.5 มิลลิกรัม, และธาตุฟอสฟอรัส 43 มิลลิกรัม[5]

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดแก่ถั่วพู ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 409 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 41.7 กรัม
  • เส้นใย 25.9 กรัมลักษณะถั่วพู
  • ไขมัน 16.3 กรัม
  • ไขมันอิ่มตัว 2.3 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 6 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 4.3 กรัม
  • โปรตีน 29.65 กรัม
  • น้ำ 8.34 กรัม
  • วิตามินบี 1 1.03 มิลลิกรัม 90%
  • วิตามินบี 2 0.45 มิลลิกรัม 38%
  • วิตามินบี 3 3.09 มิลลิกรัม 21%
  • วิตามินบี 5 0.795 มิลลิกรัม 16%
  • วิตามินบี 6 0.175 มิลลิกรัม 13%
  • วิตามินบี 9 45 ไมโครกรัม 11%
  • ธาตุแคลเซียม 440 มิลลิกรัม 44%
  • ธาตุเหล็ก 13.44 มิลลิกรัม 103%
  • ธาตุแมกนีเซียม 179 มิลลิกรัม 50%
  • ธาตุแมงกานีส 3.721 มิลลิกรัม 177%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 451 มิลลิกรัม 64%
  • ธาตุโพแทสเซียม 977 มิลลิกรัม 21%
  • ธาตุโซเดียม 38 มิลลิกรัม 21%
  • ธาตุสังกะสี 4.48 มิลลิกรัม 47%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

คุณค่าทางโภชนาการของใบอ่อนถั่วพูต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 74 กิโลแคลอรี 4.9%
  • คาร์โบไฮเดรต 14.1 กรัม 4.8%
  • ไขมันไม่อิ่มตัว 0.272 กรัม 1.2%
  • ไลปิดทั้งหมด 1.1 กรัม 1.8%ลักษณะของถั่วพู
  • โปรตีน 5.85 กรัม 9.8%
  • น้ำ 76.85 กรัม
  • วิตามินเอ 8,090 หน่วยสากล 161.8%
  • วิตามินบี 1 0.833 มิลลิกรัม 55.5%
  • วิตามินบี 2 0.602 มิลลิกรัม 35.4%
  • วิตามินบี 3 3.472 มิลลิกรัม 17.3%
  • วิตามินบี 5 0.136 มิลลิกรัม 1.3%
  • วิตามินบี 6 0.232 มิลลิกรัม 11.6%
  • วิตามินซี 45 มิลลิกรัม 75%
  • ธาตุแคลเซียม 224 มิลลิกรัม 22.4%
  • ธาตุเหล็ก 4 มิลลิกรัม 40%
  • ธาตุแมกนีเซียม 8 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุแมงกานีส 1.367 มิลลิกรัม 68.3%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 63 มิลลิกรัม 6.5%
  • ธาตุโพแทสเซียม 176 ไมโครกรัม 4.4%
  • ธาตุทองแดง 0.456 ไมโครกรัม
  • ธาตุซีลีเนียม 0.9 ไมโครกรัม 1.3%
  • ธาตุโซเดียม 9 มิลลิกรัม 0.3%
  • ธาตุสังกะสี 1.28 มิลลิกรัม 8.5%

ข้อมูลจาก : มูลนิธิหมอชาวบ้าน นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 350.

เอกสารอ้างอิง
  1. สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน มหาวิทยาเกษตรศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rdi.kps.ku.ac.th.  [17 ต.ค. 2013].
  2. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Winged_bean.  [17 ต.ค. 2013].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 350.  คอลัมน์: บทความพิเศษ.  รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.,  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 219.  “ถั่วพู ถั่วพื้นบ้านที่โลกกำลังจับตามอง“.   คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [17 ต.ค. 2013].
  4. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th.  [17 ต.ค. 2013].
  5. กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย.  [ออนไลน์].  “สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วพู“.  เข้าถึงได้จาก: www.dol.go.th.  [17 ต.ค. 2013].
  6. สมุนไพรดอตคอม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com.  [17 ต.ค. 2013].
  7. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th.  [17 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.bansuanporpeang.com (by lekonshore, sothorn), www.flickr.com (by Vietnam Plants & The USA. plants, scott.zona, Culebra Venenosa, Ahmad Fuad Morad, dendroaspis2008, FotoosVanRobin)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด