ถั่วงอก สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วงอก 27 ข้อ !

ถั่วงอก

ถั่วงอก คือ ต้นถั่วที่มีรากงอกมาจากเมล็ดถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วลันเตา และถั่วเหลือง (ถั่วงอกหัวโต) จัดว่าเป็นผักชนิดหนึ่ง (ผักที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่ชอบกินและมักจะเขี่ยทิ้ง เพราะมีกลิ่นเฝื่อนและมีรสฝาดเฉพาะตัว) ซึ่งถั่วงอกที่เพาะมาจากถั่วดำหรือถั่วเขียวจะมีวิตามินและเกลือแร่สูง ส่วนถั่วงอกที่เพาะมาจากถั่วเหลืองจะมีโปรตีนและไขมันสูง ซึ่งประเทศแรกของโลกที่มีการเพาะถั่วงอกหัวโตก็คือประเทศจีน

ถั่วงอก มีชื่อสามัญว่า Bean sprouts

คำแนะนำ : เนื่องจากถั่วงอกดิบมีกรดไฟติกมาก สำหรับผู้ที่ปวดเข่าควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เนื่องจากกรดชนิดนี้จะไปแย่งจับแคลเซียม แต่ถ้าอยากจะรับประทานก็ควรนำไปต้มหรือทำให้สุกเสียก่อน

สรรพคุณของถั่วงอก

  1. ถั่วงอกเป็นผักที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งถือว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับร่างกาย
  2. มีส่วนช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้น ผิวนุ่ม เปล่งปลั่งดูมีน้ำมีนวล (วิตามินอี)
  3. การรับประทานถั่วงอกเป็นประจำจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง
  4. วิตามินซีจากถั่วงอกช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับร่างกายและยังช่วยป้องกันหวัดได้อีกด้วย
  5. ช่วยบำรุงประสาทและสมอง รวมทั้งช่วยในการทำงานของสมอง (เลซิทิน-Lecithin)
  6. ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน เนื่องจากถั่วงอกเป็นที่ผักที่มีแคลเซียมสูง
  7. มีส่วนช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
  8. การรับประทานถั่วงอกเป็นประจำจะช่วยในการชะลอวัย ต้านความแก่ คงความอ่อนเยาว์ เนื่องจากมีสารออซินอน (Auxinon) ที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้ร่างกายคงความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้นานยิ่งขึ้น
  9. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย
  10. มีส่วนช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ (ต้องเป็นถั่วงอกปลอดสารนะ)ประโยชน์ของถั่วงอก
  11. การรับประทานถั่วงอกเป็นประจำจะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้
  12. ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองและการเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันได้ เพราะไปช่วยลดระดับไขมันเลว (LDL)
  13. การรับประทานถั่วงอกจะช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย
  14. วิตามินซีจากถั่วงอกเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างมากในการสร้างฮอร์โมนระงับความเครียดต่าง ๆ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนวัยทำงาน
  15. ช่วยดับร้อนและปรับสมดุลของร่างกายได้เป็นอย่างดี
  16. ช่วยลดระดับเอสโตรเจนในร่างกาย เพราะฮอร์โมนของผู้หญิงมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างเซลลูไลท์ ช่วยเก็บน้ำและช่วยเร่งการผลิตไขมัน ด้วยเหตุนี้ร่างกายจึงไม่ควรจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเกินไป
  17. มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย (วิตามินบี 12)
  18. ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิด
  19. ช่วยในการขับเสมหะ ทำให้ปอดโล่ง
  20. ถั่วงอกเป็นผักที่ย่อยง่ายมาก ๆ การรับประทานถั่วงอกจะช่วยประหยัดเวลาการทำงานของระบบการย่อยอาหารได้ และทำให้ขับถ่ายได้สะดวก
  21. ช่วยในการขับปัสสาวะ
  22. การรับประทานถั่วงอกก่อนมีประจำเดือนจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของประจำเดือนได้
  23. ช่วยลดและกำจัดของเสียหรือสิ่งตกค้างในร่างกายได้ (Toxin)

ประโยชน์ของถั่วงอก

  1. ถั่วงอกเป็นผักที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักเป็นพิเศษ เนื่องจากถั่วงอกมีน้ำตาลที่น้อยมาก ๆ
  2. ธาตุซิลิกาในถั่วงอกมีส่วนช่วยป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผมได้เป็นอย่างดี เพราะช่วยในการดูดซับวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เรารับประทานเข้าไป ถ้าหากไม่มีซิลิกา การรับประทานวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ก็จะไม่มีประโยชน์เลย
  3. นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในการรักษาสิวและจุดด่างดำอีกด้วย
  4. ประโยชน์ถั่วงอกกับการนำมาใช้ประกอบอาหาร เมนูถั่วงอกหรืออาหารที่ประกอบไปด้วยถั่วงอก เช่น ยำถั่วงอกกุ้งสด ผัดถั่วงอก ผัดผักต่าง ๆ แกงจืดถั่วงอกหมูสับ แกงส้ม ก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ เกาเหลาทุกชนิด ผัดหมี่ซั่ว หมี่กะทิ ปอเปี๊ยะ ขนมหัวผักกาด เกี๊ยวกุ้ง ต้มยำถั่วงอกใส่หมูสับ ขนมจีน ผัดไทย ถั่วงอกดอกกินกับน้ำพริก เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วงอก ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 30 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 5.94 กรัม
  • น้ำ 90.4 กรัม
  • น้ำตาล 4.13 กรัมถั่วงอก
  • เส้นใย 1.8 กรัม
  • ไขมัน 0.18 กรัม
  • โปรตีน 3.04 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.084 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินบี 2 0.124 มิลลิกรัม 10%
  • วิตามินบี 3 0.749 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินบี 6 0.088 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินบี 9 61 ไมโครกรัม 15%
  • วิตามินซี 13.2 มิลลิกรัม 16%
  • วิตามินอี 0.1 มิลลิกรัม 1%
  • วิตามินเค 33 ไมโครกรัม 31%
  • ธาตุแคลเซียม 13 มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุเหล็ก 0.91 มิลลิกรัม 7%
  • ธาตุแมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุแมงกานีส 0.188 มิลลิกรัม 9%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 54 มิลลิกรัม 8%
  • ธาตุโพแทสเซียม 149 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุสังกะสี 0.41 มิลลิกรัม 4%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

โทษของถั่วงอก

โทษของถั่วงอกมาดูคำแนะนำในการเลือกซื้อกันก่อน ถั่วงอกที่วางขายตามท้องตลาดส่วนมากแล้วจะมีสารปนเปื้อนอยู่มาก เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าต้องการให้ถั่วงอกดูสด ขาว กรอบ และอวบ มีคุณสมบัติคงทนและเหี่ยวช้าเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางไกล ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ อาจจะได้รับสารปนเปื้อนเหล่านี้ไปเต็ม ๆ ไม่ว่าจะเป็น สารเร่งโต, สารอ้วน, สารคงความสด (ฟอร์มาลีน), สารฟอกขาว (โซเดียมไฮโดรซัลไฟด์) ซึ่งล้วนแต่เป็นสารต้องห้ามและเป็นโทษต่อร่างกายทั้งสิ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งอย่างมาก และยังส่งผลเสียไปถึงระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบหายใจอีกด้วย ซึ่งอาจจะร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็ได้ ดังนั้นเรามาดูวิธีการเลือกซื้อถั่วงอกให้ปลอดสารพิษเหล่านี้จะดีกว่า โดยเราจะต้องดูว่า

  • รากจะต้องไม่ยาว (ปลูกโดยใช้ผ้ารองพื้น ไม่ใช่น้ำยาเคมี)
  • ควรดูที่เปลือกนอกถั่วมีปะปนอยู่บ้างหรือไม่ (เพราะการแช่สารฟอกสีจะทำให้เปลือกหลุดหมด)
  • หากไปเดินตลาดในเวลาบ่ายหรือค่ำหากยังพบว่ามีสภาพที่พองตัวและขาวอวบ ให้คิดไว้ก่อนว่ามีสารฟอกสี
  • ทางที่ดีที่สุดเมื่อซื้อมาแล้วก่อนจะนำไปบริโภคควรแช่น้ำทิ้งไว้สักประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือจะทำให้สุกก็ได้เช่นกัน จะปลอดภัยมากกว่าการรับประทานดิบ ๆ

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภาพประกอบ : เว็บไซต์ flickr.com (by polarpear)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด