ถอบแถบเครือ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นถอบแถบเครือ 12 ข้อ !

ถอบแถบเครือ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นถอบแถบเครือ 12 ข้อ !

ถอบแถบเครือ

ถอบแถบเครือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Connarus semidecandrus Jack จัดอยู่ในวงศ์ถอบแถบ (CONNARACEAE)[1]

สมุนไพรถอบแถบเครือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือไหลน้อย (เชียงราย), เครือหมาว้อ (หนองคาย), ขางขาว ขางแดง ขางน้ำครั่ง ขี้อ้ายเครือ (ภาคเหนือ), กะลำเพาะ จำเพาะ ทอบแทบ (ภาคกลาง), ตองตีน ลำเพาะ ไม้ลำเพาะ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), ลาโพ หมากสง (ภาคใต้), บบเจ่ยเพย (เมี่ยน) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของถอบแถบเครือ

  • ต้นถอบแถบเครือ จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดเล็กถึงใหญ่ พาดพันต้นไม้อื่น มีความสูงได้ประมาณ 2-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ผิวเปลือกเป็นตุ่มเล็ก ๆ ถั่วทั้งเถา ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อและเพาะเมล็ด ชอบแสงแดดปานกลาง ชอบขึ้นในที่ค่อนข้างชื้น ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ ป่าแพะ ตามริมฝั่งแม่น้ำ และตามที่รกร้างว่างเปล่าที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,000 เมตร[1],[2],[3]

ต้นถอบแถบเครือ

  • ใบถอบแถบเครือ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 3-7 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปรียาวหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือสอบแคบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-25 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาและมันคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเรียบลื่นและเป็นมัน สีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบเป็นมัน เส้นใบมีประมาณ 4-12 คู่[1],[2],[3]

ใบถอบแถบเครือ

  • ดอกถอบแถบเครือ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีความยาวประมาณ 35 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีขนสีน้ำตาลปนเหลืองหรือสีสนิมเหล็ก ขึ้นปกคลุม ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นหอกหรือรูปขอบขนานแคบ ด้านนอกเกลี้ยง แต่ตรงขอบและตรงปลายมักจะมีต่อ ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีน้ำตาลอ่อน ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายทู่หรือแหลม ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนด้านในเกลี้ยง ดอกมีเกสรยื่นออกมาจากดอก ดอกเริ่มบานจะเป็นสีขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีขาวแกมน้ำตาล มักออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3]

ดอกถอบแถบเครือ

  • ผลถอบแถบเครือ ผลมีลักษณะเป็นกระเปาะ รูปทรงกระบอกเบี้ยวและสั้น มีสันเล็กน้อย ไม่มีเนื้อ มีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง ผิวผลด้านนอกเรียบเกลี้ยง ส่วนด้านในจะมีขนนุ่ม และโคนสอบเข้าหาก้าน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม เมื่อผลแก่จัดจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำมีเยื่อหุ้มสีเหลืองอมส้มที่โคนเมล็ด ก้านผลยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ออกผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3],[4]

ผลถอบแถบเครือ

รูปถอบแถบเครือ

เมล็ดถอบแถบเครือ

เมล็ดถอบแถบเครือ

สรรพคุณของถอบแถบเครือ

  1. เครือนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (เครือ)[4]
  2. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้พิษตานซาง (โรคพยาธิในเด็กที่มีอาการซูบซีด อ่อนเพลีย พุงโร ก้นปอด ท้องเสีย) ตัดรากตานขโมย (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  3. รากมีรสเอียนเบื่อ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ราก, ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  4. ใช้เป็นยาถ่ายเสมหะ (ทั้งต้น)[1]
  5. ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคเจ็บหน้าอก (ใบ)[1],[2],[3]
  6. ทั้งต้นและใบมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  7. ใช้ใบถอบแถบเครือ 3 ใบ ใส่เกลือต้มให้เด็กกินเล็กน้อยเป็นยาแก้ท้องผูก (ใบ)[1]
  8. เปลือกมีรสเอียนเบื่อ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง (เปลือก)[1]
  9. ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  10. รากใช้ตำพอกแก้หิด (ราก)[1]
  11. ใบนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผลที่เกิดจากน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ (ใบ)[4]

ประโยชน์ของถอบแถบเครือ

  • ยอดอ่อนมีรสมันฝาดเล็กน้อย ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ก้อย หรือนำมาลวก ต้มรับประทานร่วมกับน้ำพริก[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ถอบแถบเครือ (Thopthaep Khruea)”.  หน้า 135.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “ถอบแถบเครือ”.  หน้า 118.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ถอบแถบเครือ”.  หน้า 324-325.
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ถอบแถบเครือ”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [15 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Apurba Kumar), www.bansuanporpeang.com (by เสิน), www.phytoimages.siu.edu (by P.B. Pelser & J.F. Barcelona), www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด