ต้างใหญ่
ต้างใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Hoya pachyclada Kerr จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]
สมุนไพรต้างใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ต้าง (เลย), ป้าง (กาญจนบุรี), ดอกตั้ง, ประกายแก้ว หรือ โฮย่าประกายแก้ว เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของต้างใหญ่
- ต้นต้างใหญ่ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเลื้อยพันเกาะอาศัยบนพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ มีน้ำยางสีขาว มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง[1],[2]
- ใบต้างใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับกว้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบมีเนื้ออวบหนา ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกต้างใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มหรือรูปครึ่งวงกลม ออกบริเวณซอกใบ ดอกย่อยมีจำนวนมาก ประมาณ 20-30 ดอก ก้านช่อยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวครีม มี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ขอบกลีบม้วนลงด้านล่าง ที่กลางดอกมีเส้าเกสรเป็นแผ่นรยางค์รูปมงกุฎสีเหลืองหรือสีชมพู 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร[1],[2]
- ผลต้างใหญ่ ผลเป็นฝักยาวคู่ ปลายฝักแหลม ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร เมื่อแห้งจะแตกตามตะเข็บเดียว ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาล ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีและแบน มีขนคล้ายเส้นไหมที่ปลาย[1],[2]
สรรพคุณของต้างใหญ่
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบต้างใหญ่ นำมาอังไฟแล้วใช้นาบที่ข้อเป็นยาบรรเทาอาการปวดบวมตามข้อ (ใบ)[1]
ประโยชน์ของต้างใหญ่
- ดอกต้างใหญ่ออกดอกเป็นช่อดูสวยงาม จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ต้างใหญ่”. หน้า 127.
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3. “ต้างใหญ่”.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 杨 萍, stevenwaynebick, zet11, 澎湖小雲雀, Jessica Dial, Ben Caledonia)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)