ต้อลม
ต้อลม (Pinguecula) เป็นโรคที่เกิดจากการถูกลมโกรกตาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งลมในที่นี้จะหอบเอาฝุ่นละออง ไอความร้อน และรังสีอัลตราไวโอเลตติดมากระทบตาด้วย เมื่อเกิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็จะเป็นผลทำให้เนื้อเยื่อที่ถูกกระทบเป็นก้อนนูนขึ้นมาบนเยื่อตาขาวใกล้ ๆ กับขอบตาดำ วันดีคืนดีก็อาจเกิดการอักเสบได้ และหากไม่ได้รับการป้องกันอย่างถูกต้องอาจมีการลุกลามขยายขนาดใหญ่ขึ้นกลายเป็นแผ่นเนื้อยื่นเข้ามาในบริเวณตาดำได้ เรียกว่า “ต้อเนื้อ” โรคนี้แม้จะไม่หายขาด แต่ก็ไม่มีอันตรายร้ายแรงอะไร จึงเบาใจได้
ต้อลมเป็นโรคที่พบได้บ่อยจนเกือบจะเรียกว่าเป็นโรคประจำตาของคนที่ค่อนข้างมีอายุ และแทบจะไม่พบโรคนี้เลยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี บางคนจึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคตากร้านลม กร้านแดด” เนื่องจากเป็นโรคที่มักเกิดในคนที่ผ่านโลกมายาวนานพอสมควร มิฉะนั้นคงไม่ “กร้าน” เป็นแน่
หมายเหตุ : หากเนื้องอกอยู่เฉพาะในส่วนที่เป็นตาขาวจะเรียกว่า “ต้อลม” แต่หากเนื้องอกจากตาขาวลามเข้าไปในตาดำจะเรียกว่า “ต้อเนื้อ”
สาเหตุของโรคต้อลม
ต้อลมเป็นการเสื่อมของเยื่อบุตาขาวที่พบได้บ่อย ไม่ใช่เนื้องอกหรือมะเร็ง สามารถพบเกิดได้กับแทบทุกคนที่มีความไวต่อมลภาวะหรือสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับอาหารการกินแต่อย่างใด เพราะมีผู้ป่วยหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นโรคนี้แล้วต้องงดการรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น เนื้อวัว ของทะเล ปลาร้า ของหมักดอง เห็ดโคน ฯลฯ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่
สำหรับสาเหตุการเกิดที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามลภาวะเหล่านี้ที่ตากระทบอยู่เป็นเวลานานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ ได้แก่
- ลม ลมในที่นี้หมายถึงลมที่พัดไปมาในอากาศรอบตัวเรานี่แหละครับที่พัดโกรกตาเราบ่อย ๆ โดยเฉพาะลมที่ค่อนข้างร้อนและแห้งแล้ง ในพื้นที่ที่แห้งแล้งกันดารหรือที่ราบสูง เช่น ในประเทศไทย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ส่วนลมที่มาจากพัดลมตั้งโต๊ะ พัดลมเพดาน หรือลมจากเครื่องปรับอากาศนั้นไม่ค่อยเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต้อลมครับ
- ฝุ่น ควัน สารเคมี และมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่ปลิวอยู่ในอากาศ ฝุ่นจากพื้นถนนหรือจากพื้นที่แห้งแล้ง หรือฝุ่นควันจากท่อไอเสียรถที่เข้าตาบ่อย ๆ และมักจะมากับลมในข้อแรกเสมอ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต้อลมได้ โดยฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศปกตินั้นจะไม่รุนแรงเท่าฝุ่นที่มีความเร็วจากลมหรือจากการที่เข้าไปสัมผัสฝุ่นด้วยเร็ว เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านบริเวณที่มีฝุ่นมาก ๆ ถ้าสังเกตก็จะพบว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบคนเป็นโรคต้อลมน้อยมาก เพราะบ้านเขาจะไม่ค่อยมีฝุ่นตามท้องถนนเหมือนอย่างบ้านเรา ยิ่งในต่างจังหวัดด้วยแล้วแทบจะถือว่าฝุ่นจากถนนเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเลยก็ว่าได้
- แสงแดด ในที่นี้หมายถึงแสงแดดที่ค่อนข้างรุนแรงที่มีรังสีอัลตราไวโอเลตอยู่ด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงบ่าย 3 โมงเย็น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนในประเทศเขตร้อนเป็นโรคต้อลม-ต้อเนื้อกันมาก
- ความร้อนหรือไอร้อนทั้งหลาย ได้แก่ ความร้อนจากแสงแดด ความร้อนจากเตาไฟ ความร้อนจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดจากอะไรก็ตาม ล้วนแต่มีผลทำให้เกิดโรคต้อลมได้ทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญมากที่สุด คือ ความร้อนจากแสงแดด ซึ่งคนที่อยู่กลางแดดนานเป็นวัน ๆ เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง คนงานก่อสร้าง นักกีฬากลางแจ้ง เป็นต้น ก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นโรคต้อลมได้ง่าย
- โรคตาแห้ง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคต้อลมได้
- ไม่ทราบสาเหตุ มีผู้ป่วยบางรายที่ไม่เคยสัมผัสกับสาเหตุดังกล่าวข้างต้นเลย คือ ไม่เคยทำงานกลางแจ้ง ไม่เคยขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่เคยถูกฝุ่น นั่งทำงานอยู่ในห้องแอร์ตลอดทั้งวัน อายุเพียงยี่สิบต้น ๆ แต่ก็ยังเป็นโรคต้อลมได้ ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้เราเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ปู่ย่าตาทวดที่เป็นโรคนี้เช่นเดียวกับโรคต้อเนื้อ
อาการของโรคต้อลม
- ต้อลมจะมีลักษณะเป็นก้อนนูนเล็กน้อยสีเหลืองอ่อน (ขาวเหลือง) ขนาดประมาณเท่าหัวไม้ขีดไฟ ซึ่งจะพบอยู่บนเยื่อตาขาวใกล้ ๆ กับขอบตาดำบริเวณทางด้านหัวตาหรือหางตา โดยมากมักจะพบบริเวณทางด้านหัวตามากกว่าหางตา (เพราะส่วนของหัวตาเป็นส่วนที่มีโอกาสกระทบกับสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคต้อลมได้นั่นเอง และจะไม่พบก้อนนูนสีเหลืองอ่อนของโรคนี้ที่บริเวณด้านบนหรือด้านล่างของขอบตาดำเป็นอันขาด) มีส่วนน้อยอาจพบที่หางตา โดยก้อนสีเหลืองอ่อนที่ว่านี้เมื่อนำมาตัดออกไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเป็นชิ้นเนื้อเยื่อพังผืดยืดหยุ่น (Hyaline and Elastic tissue) เท่านั้น จึงทำให้มันสามารถขยายขนาดได้ถ้าถูกกระตุ้นด้วยสาเหตุที่กล่าวมาบ่อย ๆ (ต้อลมอาจเป็นกับตาเพียงตาเดียวและด้านเดียว คือ ด้านหัวตาหรือหาง แต่ผู้ป่วยบางรายก็เป็นต้อลมทั้งสองตา หรือเป็นทั้งด้านหัวตาและหางตา ซึ่งจะสังเกตได้ง่ายมากในตาของคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ที่จะเห็นเป็นก้อนนูนสีเหลืองอ่อนที่ขอบตาดำ ขนาดเล็ก ใหญ่ มากน้อยแตกต่างกันไป)
- โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นต้อลมจะไม่มีอาการผิดปกติอะไรเช่นเดียวกับต้อเนื้อ โดยจะเป็นเพียงก้อนสีเหลืองอ่อนสงบนิ่งที่ขอบของตาดำเท่านั้น แต่บางรายอาจมีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงมากผิดปกติ ทำให้เห็นเป็นปื้นเนื้อเยื่อชัดเจนได้ ถ้าเกิดการอักเสบ
- ถ้าถูกลม ถูกฝุ่นมาก ๆ และรุนแรง ประกอบกับร่างกายอ่อนเพลียความต้านทานลดลง ก็อาจทำให้เกิดอาการอักเสบที่ต้อลมนี้ได้ ซึ่งจะทำให้เห็นเป็นก้อนสีเหลืองอ่อนนูนสูงขึ้นอย่างชัดเจน และรอบ ๆ จะมีสีแดงของเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงมากผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล เจ็บเล็กน้อย และอาจมีขี้ตาออกมาบ้างตอนตื่นนอนตอนเช้า
- โรคนี้จะไม่หายขาด เมื่อเป็นแล้วก็เป็นอีกได้ ตราบใดที่ยังมีสาเหตุดังกล่าวมากระตุ้นอยู่
ภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อลม
หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้ป้องกัน ต้อลมจะลุกลามไปที่เนื้อ เข้าชิดตาดำกลายเป็นต้อเนื้อต่อไป แต่ก็ไม่ใช่มะเร็งและจะไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งได้
วิธีรักษาโรคต้อลม
- เมื่อมีความผิดปกติของตา สายตา หรือเมื่อกังวลใจในเรื่องเกี่ยวกับตา ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เสมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ถึงแม้โรคตาส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เสียชีวิต แต่บางโรคที่ร้ายแรงก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ตาบอดได้
- ถ้าได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นต้อลม ก็ไม่ต้องตกใจอะไร เพราะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง การรักษาทำได้ไม่ยาก แต่อย่าไปใช้สมุนไพรหรือวิธีโบราณที่เรียกว่าวิธีตัดต้อด้วยก้านกระเทียมบ้าง กระชายบ้าง เพราะนอกจากจะไม่หายแล้วยังอาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อรุนแรงได้ด้วย
- ถ้าต้อลมที่เป็นอยู่ไม่มีอาการอักเสบก็ไม่ต้องทำการรักษาแต่อย่างใด เพียงแต่ปฏิบัติตนด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดการลุกลามมากขึ้นก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าก้อนโตมาก อาจใช้ยาหยอดตาลดการอักเสบที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อช่วยให้ยุบการพองตัวของต้อลมลงได้บ้าง (แต่ก็ไม่ถึงกับยุบสนิท)
- แต่ถ้าต้อลมที่เป็นอยู่มีอาการอักเสบ (Pingueculitis) ให้ใช้ยาหยอดตาลดการอักเสบที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว เช่น ฮิสตาออป (Histaoph), ออฟซิลเอ (Opsil-A) หยอดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 4-6 ครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันตา เคืองตา หลอดเลือดตาขยาย (ตาแดง) ทั้งนี้ยาหยอดตาไม่สามารถทำให้ต้อลมที่เป็นอยู่หายไปได้
- สำหรับการผ่าตัดลอกต้อออกนั้น แพทย์มักจะไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากต้อลมส่วนใหญ่มักมีขนาดเล็กและไม่มีอาการ ไม่มีอันตราย ไม่ทำให้สูญเสียการมองเห็น และที่สำคัญการผ่าตัดอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นดูไม่สวยงามและต้อมักกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
- แต่ถ้าก้อนโตมากจนเกิดความรำคาญ ผู้ป่วยมีอาการระคายเคืองอักเสบบ่อยและได้รับการรักษาด้วยยาหยอดตา หรือต้อลามเข้าไปในตาดำพอสมควรและทำให้ตามัว (เป็นต้อเนื้อ) แพทย์อาจพิจารณาให้การผ่าตัดลอกต้อออกด้วย ซึ่งการผ่าตัดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บ (เพราะมีการฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อนทำการผ่าตัด) และใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่ประมาณ 15 นาที และหลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย
วิธีป้องกันโรคต้อลม
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคต้อลม ได้แก่ ลม แสงแดด ฝุ่น ควัน ความร้อน สารเคมี มลพิษทางอากาศ และสิ่งระคายเคืองตาต่าง ๆ
- ถ้าต้องออกจากบ้านหรือต้องเผชิญกับแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน สิ่งระคายเคืองตาอื่น ๆ ควรสวมแว่นกันแดดที่สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ สวมหมวกปีกกว้าง และกางร่มอยู่เสมอก็จะช่วยได้มาก
- ควรพักสายตาเป็นพัก ๆ หรือล้างหน้าล้างตาเมื่อรู้สึกแสบตา
- สำหรับคนที่ตาแห้งควรหยอดน้ำตาเทียม
ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคต้อลม
- ต้อลมเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และไม่มียาที่ใช้กัดต้อให้หลุดออกได้ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือแผนโบราณก็ตาม (เพราะถ้ามีก็คงกัดเยื่อตาส่วนอื่นที่ยังปกติไปด้วย)
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตาที่มีตัวยาสเตียรอยด์ผสมอยู่ (Steroid eye drops) มาใช้ด้วยตัวเอง เนื่องจากหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้กลายเป็นต้อหินตาบอดได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ต้อเนื้อ (Pterygium) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อเนื้อ 5 วิธี !!
- ต้อกระจก (Cataract) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อกระจก 12 วิธี !!
- ต้อหิน (Glaucoma) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อหิน 5 วิธี !!
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ต้อเนื้อ/ต้อลิ้นหมา (Pterygium)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 948-950.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 122 คอลัมน์ : ตา…หน้าต่างโลก. “ต้อลม”. (นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [07 ธ.ค. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ต้อเนื้อ (Pterygium) ต้อลม (Pinguecula)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุตย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [07 ธ.ค. 2016].
- Laser Vision International LASIK Center,. “ต้อลม (Pinguecula)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.laservisionthai.com. [06 ธ.ค. 2016].
- Siamhealth. “โรคต้อเนื้อและต้อลม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [06 ธ.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)