โคคลาน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโคคลาน 20 ข้อ !

โคคลาน มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ชนิดแรกลักษณะใบหยักลึก รูปร่างคล้ายใบโพธิ์ (ข้อมูลไม่ได้ระบุชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ แต่เข้าใจว่าคือชนิด Anamirta cocculus (L.) Wight & Arn.) ส่วนชนิดที่สองใบจะมีลักษณะเป็นรูปรีและขอบใบเป็นหยักตื้นคล้ายฟันเลื่อย หรือเรียกว่า “โคคลานใบรี” (เข้าใจว่าคือชนิด Mallotus repandus (Willd.) Müll.Arg.) จากข้อมูลระบุว่าโคคลานทั้งสองชนิดนี้มีสรรพคุณทางสมุนไพรเหมือนกัน และทั้งสองชนิดยังมีชื่ออื่นที่เหมือนกันอีกคือ กระดอหดใบขน (จันทบุรี), และกูเราะ-เปรียะ (มลายู-นราธิวาส)[8]

โคคลาน

โคคลาน ชื่อสามัญ Cocculus, Cocculus indicus, Fishberry indian berry

โคคลาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Anamirta cocculus (L.) Wight & Arn. จัดอยู่วงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรโคคลาน ชนิดนี้มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แม่น้ำนอง (เชียงใหม่), ว่านนางล้อม (แพร่), จุ๊มร่วมพนม (จันทบุรี), เถาพนม อมพนม (ชลบุรี), เถาวัลย์ทอง เถาวัลย์ทองชักโครง (ประจวบคีรีขันธ์), ลุ่มปรี (ตรัง), ขมิ้นเครือ (ภาคเหนือ), เถาขะโนม ลุมปรี (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), หวายดิน โคคลาน (ภาคกลาง), วาร์ลำลงพนม (เขมร-ปราจีนบุรี) เป็นต้น[1],[2],[3] โดยเป็นพรรณไม้มีถิ่นกำเนิดในแถบป่าของจังหวัดปราจีนบุรี[1]

ลักษณะของโคคลาน

  • ต้นโคคลาน จัดเป็นพรรณไม้เถา เถามีลักษณะกลมและมีขนาดใหญ่เท่าขาของคน หรือมีขนาดใหญ่เท่ากับต้นหมาก มีเนื้อไม้แข็ง ส่วนเถานั้นจะยาวและเลื้อยพันขึ้นไปตามต้นไม้หรือเลื้อยไปตามพื้นดิน ส่วนเถาอ่อนหรือกิ่งของเถาอ่อนจะมีหนาม เปลือกเถาเรียบเป็นสีดำแดงคร่ำและจะแตกเป็นร่องระแหง และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด โดยเป็นพรรณไม้ที่มักเกิดขึ้นตามธรรมชาติในป่าหรือตามพื้นที่ราบ[1],[3]

รูปต้นโคคลาน

ลักษณะต้นโคคลาน

  • ใบโคคลาน ลักษณะของใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วหรือรูปหัวใจ โคนใบมนตัดหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักตื้นหรือเรียบ ส่วนแผ่นใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ใบมีขนาดยาวประมาณ 7-10 เซติเมตร ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 2.4-7 เซนติเมตร[1],[3]

รูปใบโคคลาน

  • ดอกโคคลาน ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก[3]

รูปดอกโคคลาน

  • ผลโคคลาน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็ก ผลเมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีแดง ส่วนเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวและมีรสขมมาก[1]

ผลอ่อนโคคลานผลสุกโคคลาน
ผลโคคลานเมล็ดโคคลาน

สรรพคุณโคคลาน

  1. โคคลานช่วยบำรุงโลหิต (ราก)[3],[8]
  2. เถาเป็นยาแก้กษัย (เถา)[3]
  3. ผลมีสารพิโครท็อกซิน (Picrotoxin) มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง และได้มีการนำมาใช้เป็นยารักษาพิษในคนที่กินยานอนหลับจำพวกบาร์บิทูเรต (Barbiturate) เกินขนาดหรือฉีดเข้าเส้นเลือดในขนาน 2 มิลลิกรัม (ผล)[1],[2],[8]
  4. เมล็ดใช้รักษาโรคผลหนัง (เมล็ด)[3]
  5. ผลและเมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในขี้ผึ้งเพื่อช่วยบำบัดโรคผิวหนัง เช่น อาการคันที่เกิดขึ้นตามคอและหนังศีรษะซึ่งติดมาจากร้านตัดผม (ผล, เมล็ด)[1]
  6. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว แก้เส้นตึง (เถา, ราก)[3]

ประโยชน์โคคลาน

  • เมล็ดมีรสขมมาก ใช้เป็นยาเบื่อปลา[1],[3]

โคคลานใบลี

โคคลาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Mallotus repandus (Willd.) Müll.Arg. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[4],[5]

สมุนไพรโคคลาน ชนิดนี้มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โพคาน (ชัยนาท), แนวน้ำ (ประจวบคีรีขันธ์), กุระเปี้ยะ (ปัตตานี), เยี่ยวแมวเถา (นราธิวาส), มะปอบเครือ (ภาคเหนือ), เยี่ยวแมว (ภาคใต้), มะกายเครือ เป็นต้น[4]

ลักษณะของโคคลาน

  • ต้นโคคลาน จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น มีความสูงหรือยาวประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง เปลือกนอกเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนเนื้อในเป็นสีน้ำตาลอ่อน บริเวณกิ่งก้านและช่อดอกมีขนนุ่มเป็นรูปดาว ลำต้นแก่มีหนามยาว 3-5 นิ้วฟุต ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง สามารถพบได้ตามป่าที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,000 เมตร ตามที่โล่ง ป่าพรุ ป่าโปร่ง ชายป่าดิบชื้นของทุกภาค แต่จะพบได้มากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคใต้ และภาคกลางบางจังหวัด[4],[5],[8]

เปลือกต้นโคคลานลำต้นโคคลาน
เถาโคคลาน
  • ใบโคคลาน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ แผ่นใบเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม หรือเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปไข่กว้าง ใบมีความกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ฐานใบเปิดกว้างกลมปิด ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางมีลักษณะคล้ายกระดาษ ส่วนหลังใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสั้นนุ่มสีเหลืองเป็นรูปดาวขึ้นอยู่หนาแน่น ส่วนหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร และก้านใบยาวประมาณ 1.5-1.6 เซนติเมตร สามารถมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน 3 เส้นที่ฐานใบ[4]

ต้นโคคลานใบโคคลาน
รูปโคคลาน
  • ดอกโคคลาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยหลายดอกสีขาวแกมเหลือง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันดอกละต้น โดยช่อดอกตัวผู้จะออกที่ปลายยอด ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร มักแตกแขนง ดอกตัวผู้จะออกรวมกันเป็นกระจุกประมาณ 2-5 ดอก มีใบประดับเป็นรูปลิ่มแคบ ขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ก้านชูดอกย่อยมีขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร วงกลีบเลี้ยงแยกเป็นพู 3-4 พู ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม และมีเกสรตัวผู้ประมาณ 40-75 อัน ส่วนช่อดอกตัวเมียจะยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ใบประดับเป็นรูปหอก มีขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร มีก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเป็นรูปหอกมีประมาณ 4-5 อัน ขนาด 2-3 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม มีรังไข่อยู่ 2 ห้อง เป็นสีเหลืองเข้มและมีขนนุ่ม ก้านชูยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตรและมีขนยาวนุ่ม และจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[4]

ดอกโคคลาน

  • ผลโคคลาน ผลแห้งแตกเป็นแบบแคปซูลมี 2 ห้อง ลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร เป็นสีน้ำตาลเหลืองและมีขนนุ่ม ก้านผลมีความยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร เมื่อผลแก่จะแตกตรงกลางพู ในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกึ่งทรงกลมสีดำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร และจะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน[4]

สรรพคุณของโคคลาน

  1. แก่นหรือเนื้อไม้โคคลานใช้ต้มน้ำดื่มขณะอุ่นแบบเดี่ยว ๆ ช่วยชูพลังได้ดีนัก แต่ดื่มมากเกินไปจะไม่ดี จึงนิยมใช้เข้ากับยาชนิดอื่นที่มีสรรพคุณชูพลังเหมือนกัน และยังสามารถนำไปเข้ายาให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ดื่มให้มีเรี่ยวแรงได้ (แก่น, เนื้อไม้)[8]
  2. ช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้เถาปรุงเป็นยารับประทาน (เถา)[4],[8]
  3. เถาโคคลาน ใช้เข้ายาแก้โรคมะเร็ง (เถา)[5]
  4. เถาโคคลานช่วยแก้กษัย (เถา)[5]
  5. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ (เถา)[4],[5],[8]
  6. ช่วยแก้ไตพิการ (เถา)[4],[5],[8]
  7. ช่วยแก้พิษภายใน (เถา)[5]
  8. เถามีรสขมเบื่อเย็น ใช้ปรุงเป็นยารับประทานเพื่อช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง ปวดเอว แก้เส้นเอ็นตึงแข็ง ครั่นเนื้อครั่นตัว[4],[5],[8] และช่วยรักษาอาการปวดข้อ[7] (เถา)
  9. ในตำรายาพื้นบ้านอีสานใช้ลำต้นโคคลาน 100 กรัม ผสมกับทองพันชั่งทั้งต้นและโด่ไม่รู้ล้มทั้งต้น ชนิดละประมาณ 1 หยิบมือ นำมาต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (ต้น)[4],[5]
  10. ในตำรับ “ยาโคคลาน” ซึ่งเป็นตำรายาพื้นบ้านของจังหวัดยโสธร มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดกระดูก แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และแก้อาการอักเสบกล้ามเนื้อ น้ำต้มของยามีฤทธิ์แก้อาการปวดและช่วยต้านการอักเสบ โดยในตำรับยาประกอบไปด้วย เถาโคคลาน 2 ส่วน โด่ไม่รู้ล้ม ทองพันชั่ง และมะตูม อย่างละ 1 ส่วน ใช้เตรียมเป็นยาต้มหรือทำเป็นยาเม็ด รับประทาน (เถา)[4],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโคคลาน

  1. จากการทดลองในหลอดทดลองพบว่าโคคลานมีฤทธิ์ต้านเชื้อเริมที่ริมฝีปาก[4],[5]
  2. สารสกัดน้ำจากลำต้นมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ช่วยป้องกันการเกิดพิษต่อตับ และต้านการเกิดแผลที่กระเพาะอาหาร[4],[5]
  3. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการถูกทำลายโดยรังสีที่ผิวหนังและไขกระดูก[5]
  4. สารสกัดน้ำจากรากและลำต้นของโคคลานมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบและช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ด้วยการไปจับอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในสัตว์ทดลอง[4],[7]
  5. การทดสอบฤทธิ์แก้อาการปวดและฤทธิ์ต้านการอักเสบของเถาโคคลานด้วยวิธี Writhing test และ Formalin test ในหนูถีบจักรเพศผู้ โดยผลการทดลองพบว่าสามารถช่วยลดจำนวนครั้งที่เกิด Writhing test ได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนการทดลองด้วย Formalin test ด้วยการฉีด 2.5% formalin เข้าทางใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้าหลังด้านซ้าย พบว่าสามารถช่วยลดเวลาที่หนูยกเท้าข้างที่ถูกฉีด Formalin ขึ้นเลียลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลการทดลองเบื้องต้นทางเภสัชวิทยาชี้ให้เห็นว่า สารสกัดจากเถาโคคลานมีฤทธิ์ช่วยลดอาการปวดและต้านการอักเสบได้[6]
  6. มีการศึกษาถึงศักยภาพของสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนของเปลือกต้นโคคลานต่อการเคลื่อนที่ของเซลล์ในหลอดเลือดและเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี โดยเปรียบกับยาต้านมะเร็ง antimitotic เช่น paclitaxel ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่าสารสกัดโคคลานไม่มีพิษต่อเซลล์ และสามารถช่วยยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์หลอดเลือดและเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีได้ตามขนาดที่เพิ่มขึ้น ผลการทดลองนี้จึงสนับสนุนฤทธิ์ของสารสกัดโคคลานในการต้านมะเร็งด้วยการยับยั้งกระบวนการเกิดเลือดใหม่ (angiogenesis) และ Tumor cell migration และยังแสดงให้เห็นว่าสารสกัดดังกล่าวน่าจะออกฤทธิ์ต้านการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ขมิ้นเครือ“.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [12 ธ.ค. 2013].
  3. กรมวิชาการเกษตร.  “โคคลาน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th.  [12 ธ.ค. 2013].
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โคคลาน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [12 ธ.ค. 2013].
  5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โคคลาน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [12 ธ.ค. 2013].
  6. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นโคคลาน“.  (ปิยะรัตน์ ไชยธรรม, พิณรัตน์ เชี่ยวเชิงค้า).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [12 ธ.ค. 2013].
  7. ศรีนครินทร์เวชสารของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  “ฤทธิ์ของโคคลานต่อการเคลื่อนที่ของเซลล์หลอดเลือดและเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี“.  (พิศมัย เหล่าภัทรเกษม, บรรจบ ศรีภา, จริยา หาญวจนวงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.smj.ejnal.com.  [12 ธ.ค. 2013].
  8. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับที่ 17,502 วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2548 หน้า 7.  คอลัมน์ เกษตรกรบนแผ่นกระดาษ.  (นายเกษตร).

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke, cpmkutty, BioDivLibrary), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด