เหรียง
เหรียง ชื่อสามัญ Nitta tree
เหรียง ชื่อวิทยาศาสตร์ Parkia timoriana (DC.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Parkia javanica auct., Parkia roxburghii G.Don) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)
สมุนไพรเหรียง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเหรี่ยง เรียง สะเหรี่ยง สะตือ (ภาคใต้), นะกิง นะริง (ภาคใต้-มาเลย์), เรียง เหรียง เมล็ดเหรียงเป็นต้น[1],[2]
เหรียง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในหมู่เกาะติมอร์และในแถบเอเชียเขตร้อน ซึ่งไล่ตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงประเทศปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยนั้นจะพบขึ้นได้ทั่วไปทางภาคใต้ ไล่ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยมักขึ้นตามป่าดิบชื้น ในระดับพื้นที่ต่ำไปจนถึงพื้นที่สูงถึง 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่อาจมีบ้างที่เจริญเติบโตในระดับความสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ลักษณะของต้นเหรียง
- ต้นเหรียง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีลำต้นเป็นเปลาตรง มีความสูงได้ถึง 50 เมตร มีพูพอนสูงถึง 6 เมตร ลักษณะโดยทั่วไปจะคล้ายคลึงกับสะตอ แต่จะแตกต่างกันตรงที่พุ่มใบของต้นเหรียงมักจะเป็นพุ่มกลม ไม่แผ่กว้างมากนัก และมีพุ่มใบแน่นเป็นสีเขียวทึบกว่าพุ่มใบของสะตอ เปลือกต้นเรียบ ที่กิ่งก้านมีขนปกคลุมขึ้นอยู่ประปราย และเป็นต้นไม้ที่ชอบแสงสว่างและพื้นที่ค่อนข้างชุ่มชื้น มักจะเริ่มผลัดใบในช่วงที่ออกช่อดอก และใบจะหลุดร่วงจนหมดต้นเมื่อผลเริ่มแก่พร้อม ๆ ไปกับใบอ่อนที่จะเริ่มผลิออกมาใหม่ ส่วนวิธีการปลูกต้นเหรียงจะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น ๆ ได้อีก เช่น การตัดกิ่งปักชำและการติดตา แต่ไม่เป็นที่นิยม[1]
- ใบเหรียง มีก้านใบยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร มีต่อมเป็นรูปมนยาว 3.5-5 มิลลิเมตร อยู่เหนือโคน ส่วนก้านแกนช่อใบจะยาวประมาณ 25-40 เซนติเมตร มีช่อใบแขนงด้านข้างประมาณ 18-33 คู่ ใต้รอยต่อของก้านช่อใบแขนงด้านข้างมักมีต่อมเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนช่อแขนงยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ในแต่ละช่อมีใบย่อยประมาณ 40-70 คู่ โดยใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ มีความกว้างประมาณ 5-7 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.8 มิลลิเมตร ส่วนปลายใบแหลมโค้งไปทางด้านหน้า ฐานใบมักยื่นเป็นติ่งเล็กน้อย เส้นแขนงของใบด้านข้างไม่ปรากฏชัดเจน[1]
- ดอกเหรียง ออกดอกเป็นช่อกลม มีขนาดของดอกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยมีก้านดอกสั้น ๆ และมีใบประดับยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตรรองรับกลีบรอง กลีบดอกของดอกสมบูรณ์เพศเชื่อมติดกันเป็นหลอด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[1]
- ผลเหรียง หรือ ฝักเหรียง ผลเป็นฝักกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 22-28 เซนติเมตร ตัวฝักตรงไม่บิดเวียนเหมือนกับสะตอบางพันธุ์ และเมล็ดก็ไม่นูนอย่างชัดเจน ฝักเมื่อแก่เต็มที่เปลือกจะแข็งและมีสีดำ ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 11 x 20 เซนติเมตร หนึ่งฝักมีเมล็ดประมาณ 20 เมล็ด โดยจะออกผลหรือฝักในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และฝักจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2]
- เมล็ดเหรียง เปลือกเมล็ดหนามีสีดำหรือสีคล้ำ ส่วนเนื้อในเมล็ดมีสีเขียวเข้มและมีกลิ่นฉุน[1],[2]
- ลูกเหรียง หรือ หน่อเหรียง มีลักษณะคล้ายกับถั่วงอกหัวโตแต่จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าและมีสีเขียว มีรสมันและกลิ่นฉุน เกิดมาจากการนำเมล็ดเหรียงของฝักแก่ไปเพาะในกระบะทรายเพื่อให้เมล็ดงอกรากและมีใบเลี้ยงโผล่ขึ้นมาเหมือนกับถั่วงอก จึงจะสามารถนำมารับประทานได้ (เมล็ดเหรียงนั้นมีเปลือกแข็งจึงไม่สามารถรับประทานได้โดยตรง)
การเพาะลูกเหรียง
วิธีเพาะหน่อเหรียง หรือลูกเหรียง ขั้นตอนแรกให้นำเมล็ดมาตัดเป็นรอยหยักเพื่อช่วยเปิดทางให้แตกหน่อ แล้วนำไปแช่ในน้ำหนึ่งคืน หลังจากนั้นให้นำเมล็ดขึ้นมาล้างเมือกออกแล้วตั้งให้สะเด็ดน้ำ นำไปใส่กระสอบและนำไปล่อนแล้วนำไปใส่ตะกร้า ถัดมาให้นำไปแช่น้ำในตอนเช้า 1 ชั่วโมง แล้วยกขึ้นตั้งไว้และแช่ในน้ำเย็นอีก 1 ชั่วโมง เสร็จแล้วก็ยกขึ้นตั้งไว้ โดยทำแบบนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน เมื่อถึงเช้าวันที่ 5 ก็ให้นำเมล็ดมาแกะเอาเปลือกออก ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำไปเพาะในกระบะทราย[1]
สรรพคุณของเหรียง
- เมล็ดเหรียงมีรสมัน ช่วยบำรุงร่างกาย (เมล็ด)[2]
- ช่วยทำให้เจริญอาหารได้ดี (เมล็ด)[3]
- ลูกเหรียงมีวิตามินเอ วิตามินซี และแคลเซียม จึงช่วยบำรุงเหงือกและฟันให้แข็งแรง
- เปลือกและเมล็ดมีคุณค่าทางสมุนไพรที่ดีกว่าสะตอ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เมล็ดเพื่อเป็นยาแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง (เมล็ด)[1]
- ช่วยขับลมในลำไส้ (เมล็ด)[3]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผล ช่วยลดน้ำเหลือง (เปลือกต้น)[3]
ประโยชน์ของต้นเหรียง
- ลูกเหรียง หรือหน่อเหรียง หรือเมล็ดเหรียง เกิดจากการเพาะเมล็ดที่เริ่มงอก สามารถนำมารับประทานเป็นผักสดได้เช่นเดียวกับสะตอ แต่เหรียงจะมีรสที่ขมกว่า โดยใช้รับประทานสดแกล้มกับน้ำพริกหรือแกงใต้ หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น การทำแกง แกงหมูลูกเหรียง ผัด หรือจะนำไปทำเป็นผักดองก็ได้[1],[2]
- ต้นเหรียงมีลำต้นเป็นเปลาตรง มีเนื้อไม้สีขาวนวล ไม่มีแก่น เสี้ยนตรงสม่ำเสมอ มีความอ่อนและเปราะ สามารถเลื่อยผ่าได้ง่าย สามารถนำมาใช้ทำเป็นส่วนประกอบที่มีน้ำหนักเบาหรือเป็นโครงร่างของการผลิตต่าง ๆ เช่น การทำรองเท้าไม้ หีบใส่ของ ไม้หนาประกบพวกเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เครื่องใช้สอยอื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ แพ และเรือที่ขุดจากต้นไม้[1]
- เหรียงจัดเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง จึงมีคุณสมบัติในการช่วยบำรุงดินได้ดี ส่วนของใบเหรียงนั้นมีขนาดเล็กจึงเหมาะแก่การนำมาใช้ปลูกควบคู่ไปกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การปลูกกาแฟ ก็จะช่วยทำให้ผลผลิตของกาแฟสูงขึ้นติดต่อกัน[1]
- เนื่องจากต้นเหรียงสามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในสภาพที่ไม่เหมาะสม จึงนิยมนำต้นเหรียงมาใช้เป็นต้นตอเพื่อใช้ในการติดตาพันธุ์สะตอ[1]
คุณค่าทางโภชนาการของเหรียงในส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 88 แคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 6.7 กรัม
- โปรตีน 7.5 กรัม
- ไขมัน 3.5 กรัม
- เส้นใยอาหาร 1.3 กรัม
- น้ำ 79.6 กรัม
- วิตามินเอ 22 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.06 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.62 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.1 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 83 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 182 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 2.0 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 3.8 มิลลิกรัม
แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.[2]
เอกสารอ้างอิง
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เหรียง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [25 พ.ย. 2013].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย. นวัตกรรมการบริหารงานวิจัย การสร้างขุมความรู้เพื่อรองรับการวิจัยเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “เหรียง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th. [25 พ.ย. 2013].
- โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนครศรีธรรมราช. “ลูกเหรียง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.skns.ac.th. [25 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by wlcutler, Starr Environmental, ner_luv ©, Shubhada Nikharge, Hesperia2007) www.bloggang.com (by ปลายแป้นพิมพ์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)