สะอึก
สะอึก ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea maxima Don ex Sweet จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)
หมายเหตุ : ต้นสะอึกชนิดนี้เป็นคนละชนิดกับเถาสะอึก (Merremia hederacea (Burm. f.) Hallier f.), สะอึกเกล็ดหอย (Merremia emarginata (Burm. f.) Hallier f.), และโตงวะ (Ipomoea obscura (L.) Ker Gawl.) เพียงแต่บางแห่งมีชื่อเรียกท้องถิ่นที่เหมือนกันว่า “สะอึก“
ลักษณะของต้นสะอึก
- ต้นสะอึก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเลื้อยพาดพันกับต้นอื่น ๆ หรือร้านจัดไว้ให้ หรือเลื้อยทอดนอนไปตามพื้นดิน ตามลำต้นหรือลำเถาจะมีขนค่อนข้างแข็ง ลำเถายาวได้ประมาณ 1-2.5 เมตร ส่วนรากมีลักษณะแข็ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความเต็ม เช่น แถวชายทะเลหรือชายหาด[1]
- ใบสะอึก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเรียบและมักมีสีม่วงหรือจุดเป็นสีม่วง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-3 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียว[1]
- ดอกสะอึก ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบ ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 2-3 ดอกหรืออาจมากกว่านี้ ลักษณะของดอกเป็นรูปแตร ยาวประมาณ 1 นิ้ว ปลายกลีบแยกออกเป็นแฉก มีสีชมพู สีม่วงอ่อน ๆ หรือเกือบขาว ส่วนกลางดอกเป็นสีม่วงเข้ม[1]
- ผลสะอึก ลักษณะของผลเป็นรูปวงกลม แบน ผิวผลเกลี้ยง และแบ่งออกเป็น 2 ช่อง ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 4 เมล็ด มีขนสั้นสีเทาหรือสีขาวปกคลุมอยู่หนาแน่น[1]
สรรพคุณของสะอึก
- ใบใช้ตำผสมกับเมล็ดของต้นเทียนแดง (Nigella sativa Linn.) ใช้เป็นยาพอกแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
ประโยชน์ของสะอึก
- ยอดอ่อนสามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สะอึก”. หน้า 767-768.
- ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “สะอึก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [12 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hai Le, Phuong Tran)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)