คาง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคาง 16 ข้อ !

คาง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคาง 16 ข้อ !

คาง

คาง ชื่อสามัญ Black siris, Ceylon rose wood[1]

คาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Albizia lebbekoides (DC.) Benth. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia lebbekoides DC., Albizia lebbekioides (DC.) Benth.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1]

สมุนไพรคาง มีชื่ออื่น ๆ ว่า กาง, ก๋าง, ข่าง, คาง, คางแดง, จามจุรีดง, จามจุรีป่า เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นคาง

  • ต้นคาง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ตามกิ่งก้านมีขนขึ้นปกคลุม เป็นพรรณไม้ที่เกิดขึ้นตามพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำอาจขึ้นลงท่วมถึงได้ โดยพบได้ตามลำธารทางภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ส่วนในกรุงเทพฯ ก็พอหาได้บ้าง[1],[2]

ต้นคาง

  • ใบคาง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มี 3-4 ใบ ใบย่อยของแต่ละใบประกอบมี 15-25 คู่ เรียงตรงข้ามกัน ไม่มีก้าน ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลม มีขนขึ้นปกคลุมทั้ง 2 ด้าน[1]

ใบคาง

  • ดอกคาง ออกดอกเป็นช่อด้านข้าง เป็นดอกช่อชนิดกลุ่มย่อย กลีบเลี้ยงเป็นรูปกระดิ่ง กลีบดอกเป็นหลอด[1]

ดอกคาง

  • ผลคาง ผลมีลักษณะฝักแบนโต สีน้ำตาลเข้ม มีขนขึ้นปกคลุม[1],[2]

ฝักคาง

สรรพคุณของคาง

  1. ดอกมีรสหวาน ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ดอก)[1],[2]
  2. เปลือกต้นมีรสฝาดเฝื่อน ใช้เป็นยาอายุวัฒนะและบำรุงหนังเส้นเอ็นให้บริบูรณ์ (เปลือกต้น)[2]
  3. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ดอก)[1]
  4. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ด้วยการใช้เปลือกต้น 3-4 ชิ้น นำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (เปลือกต้น)[1]
  5. ผลใช้เป็นยารักษาโรคในจักษุ (ผล)[2]
  6. เปลือกต้นและใบใช้เป็นยาแก้ไอ (เปลือกต้น, ใบ)[1],[2]
  7. รากและดอกใช้เป็นยาแก้ลงท้อง (ราก, ดอก)[1]
  8. ใช้เป็นยารักษาลำไส้พิการ (เปลือกต้น)[2]
  9. ใช้เป็นยาแก้โรคพยาธิ (เปลือกต้น)[2]
  10. ช่วยรักษาอาการตกเลือด (เปลือกต้น)[2]
  11. ดอกใช้เป็นยาแก้พิษงู (ดอก)[2]
  12. ใช้เป็นยารักษาคุดทะราด และรักษาอาการไข้ที่เกิดจากพิษอักเสบตา (ดอก)[2]
  13. ใบใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้ฝี (ใบ)[1]
  14. รากใช้เป็นยาแก้ฝีเปื่อย แก้บวม (ราก)[1]
  15. ดอกใช้เป็นยาแก้ฝี แก้บวม แก้ฟกช้ำบวม รักษาอาการปวดบาดแผล (ดอก)[1],[2]
  16. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้พิษฝี รักษาฝี แก้แผลเน่า แก้อาการบวม ปวดบาดแผล (เปลือกต้น)[1],[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของคาง

  • สารสกัดจากเปลือกต้นคางด้วยเอทานอล : น้ำ (1:1) ขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ให้ทางปากหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ไม่พบความเป็นพิษ[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.1976 ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากเปลือกต้นคาง นำมาทดลองในหนูขาว พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวได้[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “คาง”.  หน้า 70.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “คาง”.  หน้า 182-183.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Michel Gavin, Navida Pok), science.sut.ac.th, www.biogang.net (by jiree)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด