ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis) คือ ภาวะที่ต่อมน้ำเหลืองเกิดการอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่มักมาจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะต่าง ๆ แล้วส่งผลทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงอักเสบตามมา (เช่น ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเนื่องจากฟันผุ) และส่วนน้อยเกิดจากการอักเสบติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองเอง (เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง) เกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ (เช่น ในโรคออโตอิมมูน) หรืออาจไม่พบสาเหตุการเกิดก็ได้
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก สามารถพบได้ในคนทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และในเพศชายและเพศหญิงมีโอกาสเป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้พอ ๆ กัน โดยต่อมน้ำเหลืองอักเสบนี้อาจเกิดขึ้นเพียงต่อมเดียว เกิดขึ้นหลายต่อมพร้อมกัน เกิดขึ้นหลายตำแหน่ง (เช่น ขาหนีบ รักแร้ คอ) หรือเกิดได้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและ/หรือตำแหน่งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดการอักเสบว่าเกิดจากอะไรหรือเกิดในตำแหน่งใด
หมายเหตุ : ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) เป็นเนื้อเยื่อในระบบน้ำเหลืองที่มีลักษณะนุ่มเป็นรูปไข่ก้อนเล็ก ๆ (ขนาดเล็กเป็นมิลลิเมตร) และเคลื่อนที่ได้เล็กน้อย โดยจะมีกระจายอยู่ทั่วไปในทุกอวัยวะยกเว้นสมอง มีหน้าที่สำคัญ คือ ช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะเชื้อโรค และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกาย ซึ่งในภาวะปกติเรามักจะคลำไม่พบต่อมน้ำเหลือง เพราะต่อมน้ำเหลืองจะอยู่ปนไปกับเนื้อเยื่อไขมันและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่าง ๆ
สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- เกิดจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะต่าง ๆ (เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ) แล้วส่งผลทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงอักเสบตามไปด้วย โดยไม่มีการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลือง เช่น
- โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย (เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด หัดเยอรมัน) ซึ่งจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่คอทั้งด้านหน้าและด้านหลังคอโต
- การอักเสบของช่องปากและช่องคอจากเชื้อแบคทีเรีย (เช่น ฟันผุ เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้มอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ) ซึ่งจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคออักเสบ
- มีการอักเสบหรือแผลที่มือ แขน หน้าอก เต้านม ซึ่งจะส่งผลทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้อักเสบ
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการมีแผล การอักเสบของเท้า ขา และอวัยวะเพศ ซึ่งจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบเกิดการอักเสบ
- เกิดจากการติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองเอง โดยอาจเกิดจากการที่ต่อมน้ำเหลืองติดเชื้อโดยตรง (การติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลืองโดยตรง มักจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีการอักเสบโตหลายต่อมพร้อมกัน และมักมีลักษณะคล้ายสายลูกประคำ เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง โรคเอดส์) หรืออาจเกิดต่อเนื่องมาจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะข้างเคียงก็ได้ (เมื่อเนื้อเยื่อและ/หรืออวัยวะข้างเคียงนั้นเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนเชื้อลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองด้วย จะทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ติดเชื้อนี้มีลักษณะบวม แดง เจ็บ เป็นหนอง)
- ต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ เช่น ในโรคออโตอิมมูน (Autoimmune), ในโรคมะเร็ง (ลักษณะสำคัญ คือ ต่อมน้ำเหลืองจะไม่ค่อยเจ็บ แต่จะโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว และมักมีขนาดโตมากกว่า 1 เซนติเมตร), ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดหรือจากการแพ้ยาบางชนิด (เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงอะทีโนลอล (Atenolol), ยากันชักเฟนิโทอิน (Phenytoin), ยาลดกรดยูริกและรักษาโรคเกาต์อัลโลพูรินอล (Allopurinol) เป็นต้น)
- ไม่พบสาเหตุการเกิด เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 0.5-1% ของผู้ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบและต่อมน้ำเหลืองโต
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
- ผู้ที่มีการติดเชื้อในอวัยวะระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
- ผู้ที่มีแผลและ/หรือมีการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ช่องปาก ผิวหนัง อวัยวะเพศ
- ผู้ป่วยมะเร็ง
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์
อาการของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ ต่อมน้ำเหลืองจะมีลักษณะโตจนคลำได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ นอกจากนั้นอาการที่พบได้อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น
- ต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโตมากกว่า 1 เซนติเมตร โดยที่ไม่มีอาการเจ็บ ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมักจะเป็นอาการของโรคมะเร็ง และมักเกิดร่วมกับอาการของโรคมะเร็งนั้น ๆ
- ต่อมน้ำเหลืองโตหลายต่อมพร้อมกัน มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร และมักมีลักษณะโตเป็นสายคล้ายลูกประคำ ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองเอง เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง โรคเอดส์
- อาการจากการมีแผลหรือการอักเสบของอวัยวะใกล้เคียง เช่น โรคเหงือก ฟันผุ, อาการไข้ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ เมื่อมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด หัดเยอรมัน, ต่อมน้ำเหลืองโต บวม แดง เจ็บ เป็นหนอง เมื่อต่อมน้ำเหลืองติดเชื้อแบคทีเรีย
ผลข้างเคียงของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ อาการเจ็บ ต่อมน้ำเหลืองเกิดเป็นหนองหรือเป็นฝีแตก สูญเสียภาพลักษณ์เมื่อต่อมน้ำเหลืองโตจนผู้อื่นสังเกตเห็นได้ และอาจทำให้เกิดความกังวลและเกรงว่าจะเป็นโรคร้ายแรง
นอกจากนี้ ในรายที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เชื้อโรคลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้กลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
การวินิจฉัยต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้จากประวัติทางการแพทย์ (เช่น โรคประจำตัว การใช้ยา แผล) อาการ การตรวจร่างกาย การตรวจอวัยวะที่มีอาการ การตรวจคลำที่ต่อมน้ำเหลือง และอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพต่อมน้ำเหลืองด้วยการอัลตราซาวนด์ การตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา การเจาะหรือดูดเซลล์เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา การตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัยโรคเอดส์
การรักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
- เมื่อมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบหรือโตจนคลำได้ โดยที่ต่อมยังโตขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีต่อมน้ำเหลืองเป็นสายคล้ายลูกประคำ หรือต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลก่อนเสมอ
- การรักษาหลัก คือ การรักษาที่สาเหตุ เช่น
- ถ้าต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือโคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) ถ้ามีอาการดีขึ้นควรให้ยาปฏิชีวนะต่อไปจนครบ 10 วัน แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ควรกลับไปพบแพทย์ เพราะยาอาจไม่ได้ผล หรือเพราะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ
- ถ้าต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากแผล ให้ทำการรักษาแผลต่าง ๆ ให้หาย
- ถ้าต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากการใช้ยา ให้หยุดยาหรือปรับเปลี่ยนยา
- ถ้าต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากเชื้อวัณโรค ให้รักษาวัณโรคให้หาย
- ถ้าต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากโรคมะเร็ง ให้รักษาแบบโรคมะเร็ง
- ถ้าต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากฟันผุ ให้รักษาฟันผุให้หาย
- นอกจากนั้นคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวดเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดต่อมน้ำเหลืองมาก การใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ ๆ และยกแขนขาส่วนที่อักเสบให้สูง เป็นต้น
- การดูแลตนเองเมื่อมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ การดูแลตนเองไปตามสาเหตุที่เกิด เช่น เมื่อต่อมน้ำเหลืองอักเสบมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้ดูแลตนเองแบบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ร่วมไปกับการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และรับประทานยาต่าง ๆ ตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา และไม่หยุดยาเอง ร่วมไปกับการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- รักษาความสะอาดของต่อมน้ำเหลืองบริเวณที่เป็น ไม่เกา ไม่คลำบ่อย ๆ เพราะจะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อมากขึ้นได้
- ดูแลตนเองไปตามสาเหตุของโรคที่เป็น เช่น วัณโรค โรคมะเร็ง เป็นต้น
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี โดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ และหมั่นออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- ไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง มีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม ต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโตขึ้น และ/หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
ข้อควรรู้เกี่ยวกับต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
- การพยากรณ์โรคของต่อมน้ำเหลืองอักเสบจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิด แต่โดยทั่วไปสาเหตุของต่อมน้ำเหลืองอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อเป็นหลัก จึงมักรักษาให้หายได้เสมอ
- ต่อมน้ำเหลืองอักเสบสามารถเกิดเป็นซ้ำได้โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น จากการติดเชื้อ หรือจากผลข้างเคียงของยา
- หลังการรักษาจนหายดีแล้ว มักจะยังคลำต่อมน้ำเหลืองได้ตลอดไป โดยจะคลำได้เป็นก้อนเล็ก ๆ และมักไม่เจ็บ แต่ก้อนจะไม่โตขึ้น (ถ้ามีการอักเสบเกิดซ้ำขึ้นอีก ต่อมน้ำเหลืองก็อาจโตขึ้นได้อีก) ทั้งนี้เกิดจากการมีพังผืดเกิดขึ้นในต่อมน้ำเหลืองนั้น ๆ
- มีรายงานว่า ในผู้ป่วยต่อมน้ำเหลืองอักเสบหรือต่อมน้ำเหลืองโต เมื่อแพทย์วินิจฉัยโรคโดยการตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา พบว่า ในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งประมาณ 1-4% ส่วนในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งประมาณ 0.4%
วิธีป้องกันต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
การป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันที่สาเหตุสำคัญ เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบมาจากการติดเชื้อ ดังนั้น จึงควรป้องกันการติดเชื้อด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี โดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ นอกจากนั้น คือ
- การดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ และหมั่นออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- ดูแลรักษาความสะอาดผิวหนังให้ดี และระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อหรือเกิดบาดแผล เช่น แผลจากการเกา
- รักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้ดี และไปพบทันตแพทย์ตามนัดหรือทุก 6 เดือน
- รักษาความสะอาดเล็บอยู่เสมอ
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมอย่างถูกวิธี
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็นหรือไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 993-994.
- หาหมอดอทคอม. “ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis)”. (พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [03 ธ.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)