ตีนเป็ดน้ำ
ตีนเป็ดน้ำ ชื่อสามัญ Pong pong[1],[3]
ตีนเป็ดน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cerbera odollam Gaertn. (คาร์เบอรา โอดอลลาม) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[3]
สมุนไพรตีนเป็ดน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตุม[1] ตูม[2] พะเนียงน้ำ (กาญจนบุรี), สั่งลา (กระบี่), ตีนเป็ด ตีนเป็ดทะเล (ภาคกลาง), มะตะกอ (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น[1],[2],[3],[5]
ลักษณะของตีนเป็ดน้ำ
- ต้นตีนเป็ดน้ำ มีถิ่นกำเนิดในอินเดียจนถึงทางตอนใต้ของจีน มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกและนิวแคลิโดเนีย ส่วนในประเทศไทยนั้นจะพบได้เฉพาะทางภาคใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก ทรงร่ม เรือนยอดเป็นทรงกลมทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งต่ำ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา มีช่องระบายอากาศเป็นร่องยาว มีน้ำยางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดแก่ (เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด) ปลูกได้ดีในดินทั่วไป ชอบแสงแดดเต็มวัน เจริญเติบโตได้เร็ว ไม่ต้องการการดูแลมาก มักพบขึ้นตามบริเวณริมน้ำ ตามป่าชายเลน ป่าบึงน้ำจืด และป่าชายหาด[1],[2],[3],[4],[6]
- ใบตีนเป็ดน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวหรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบมีติ่งหรือหางใบแหลม โคนใบสอบหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8.9-30 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน มีเส้นแขนงใบประมาณ 12-25 เส้น เห็นเส้นใบได้ชัดเจน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 3 เซนติเมตร[1],[2],[3],[4]
- ดอกตีนเป็ดน้ำ ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 8-35 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกหลายดอก ประมาณ 10-14 ดอก ดอกย่อยเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ก้านดอกยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงซ้อนทับกันด้านซ้ายในตาดอก ปลายกลีบดอกแหลม ดอกบานมีแต้มเหลืองรอบปากหลอดกลีบดอก หลอดกลีบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร แฉกกลีบยาวประมาณ 1.2-3.8 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้านติดกลางหลอดกลีบดอก ส่วนกลีบรองดอกหรือกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปแถบหรือรูปใบหอก กลีบยาวประมาณ 0.8-2.5 เซนติเมตร ปลายกลีบเรียวแหลม เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6-7 เซนติเมตร[1],[2],[3],[4],[5]
- ผลตีนเป็นน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม หรือค่อนข้างกลมรีเป็นสองพูตื้น ๆ ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ มีขนาดกว้างประมาณ 6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเนียนเป็นมันและมีจุดเล็ก ๆ สีขาวกระจายทั่วไป ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มถึงสีม่วงเข้ม ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดแข็ง เบา และลอยน้ำได้[1],[2],[3],[5]
สรรพคุณของตีนเป็ดน้ำ
- เมล็ดมีฤทธิ์ต่อหัว ช่วยบำรุงหัวใจ (เมล็ด)[5]
- รากช่วยแก้ลม แก้ลมให้กระจาย (ราก)[5]
- แก่นมีรสเฝื่อน ช่วยกระจายลม กระจายเลือด กระจายลมอันฑพฤกษ์ แก้ลมอัณฑพฤกษ์ (ลมที่ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้) (แก่น)[5]
- ช่วยแก้โลหิตพิการ (ดอก)[5]
- ใบมีรสเฝื่อน ช่วยแก้ไข้หวัด แก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)[1],[3],[5],[7] ดอกใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ดอก)[5] เปลือกต้นและทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัด แก้ไข้เพื่อดีพิการ แก้หวัด (เปลือกต้น, ทั้งต้น)[3],[5],[7] ส่วนน้ำมันจากเมล็ดใช้ทามีสรรพคุณแก้หวัด (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[5],[7]
- รากมีรสเฝื่อน ช่วยขับเสมหะ (ราก)[1],[5],[7]
- รากช่วยแก้อาเจียน (ราก)[5] ผล เมล็ด ใบ เปลือกต้น และทั้งต้นมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ผล, เมล็ด, ใบ, เปลือกต้น, ทั้งต้น)[5]
- ใบและทั้งต้นแก้อาเจียนเป็นเลือด (ใบ, ทั้งต้น)[5]
- ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ (เปลือกต้น)[5]
- ช่วยขับผายลม (ราก)[5]
- ช่วยแก้อาการบิด (เปลือกต้น)[5]
- ช่วยสมานลำไส้ (เปลือกต้น)[5]
- ผล เมล็ด ใบ เปลือกต้น และทั้งต้นมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย (ผล, เมล็ด, ใบ, เปลือกต้น, ทั้งต้น)[4],[5],[7]
- ใบใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ ส่วนเปลือกต้นใช้ขับพยาธิไส้เดือน (ใบ, เปลือกต้น)[5]
- เปลือกต้นช่วยแก้นิ่ว ขับนิ่ว (เปลือกต้น)[5],[7]
- ดอกมีรสเฝื่อน ใช้แก้ริดสีดวงทวาร (ดอก)[1],[5],[7]
- ยางสดจากต้น เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันต้นไม้ยางนา ผสมเคี่ยวให้สุก ใช้เป็นยาแก้แผลเน่าเรื้อรัง (ยางสดจากต้น)[1],[2]
- ใบใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง (ใบ)[1],[3],[4],[5],[7] ส่วนกระพี้มีสรรพคุณแก้เกลื้อน (กระพี้)[7]
- น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาทาถูนวดทำให้ร้อนแดง ช่วยแก้อาการคันได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[5]
- เมล็ดและน้ำมันจากเมล็ดช่วยแก้หิด (เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[5],[7]
- ผลแห้งนำมาเผาไฟตำผสมกับน้ำมันพืช ใช้ทาแก้ตาปลา รักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง (ผล)[9]
- ช่วยรักษาโรคกลัวน้ำ (ผล)[5]
- ช่วยระงับอาการปวด (ผล)[5],[7]
- ผลสดนำมาขยี้ใช้ทาแก้อาการปวด ปวดตามข้อ และแก้อาการปวดตามกล้ามเนื้อ (ผล)[9]
- แก่นช่วยแก้อัมพาต (แก่น)[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นตีนเป็ดน้ำ
- มีฤทธิ์ในการกระตุ้นหัวใจ สามารถนำไปใช้กระตุ้นหัวใจ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านมะเร็ง ลดปฏิกิริยาตอบสนอง แก้อาการปวด ต้านการชัก เสริมฤทธิ์ยานอนหลับ[8]
- จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดจากใบตีนเป็ดน้ำเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 20.8 กรัมต่อกิโลกรัม[8]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรตีนเป็ดน้ำ
- ผล เนื้อในผล ใบ และน้ำยางจากต้นมีฤทธิ์ทำให้อาเจียนและเป็นยาถ่าย ยาระบาย หากรับประทานมากอาจทำให้เสียชีวิตได้[5],[7]
- ยางจากต้น ใบ ผล และเนื้อในผลมีพิษเป็นอันตราย (ยางจากต้นและผลมีสาร Cerberoside และ Thevobioside ที่เป็นพิษต่อหัวใจ) ไม่ควรสัมผัสโดยตรงเพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง โดยควรระมัดระวังในการเด็ดใบและทำให้ต้นเกิดแผล[3],[6],[7],[8] น้ำยางของตีนเป็ดน้ำหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้[9]
- เมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายและเป็นยาทำให้แท้งบุตรได้[5],[8]
- เนื้อในเมล็ด (kernel) มีสารที่เป็นพิษ ได้แก่ thevetin B, thevobioside โดยออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อบุในปากและกระเพาะอาหารก่อน แล้วค่อยตามด้วยอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะและมีอาการปวดท้อง หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากและล้างท้องไม่ทัน สารพิษจะถูกดูดซึมผ่านลำไส้และแสดงพิษต่อหัวใจ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับชนิดของไกลโคไซด์ โดยวิธีการรักษาเบื้องต้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อทำการล้างท้องและรักษาไปตามอาการ[10]
- เมล็ดตีนเป็ดน้ำมีรสขม มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจที่เรียกว่าสาร “คาร์เบอริน” (Cerberin) ซึ่งเป็นตัวยาที่มีโครงสร้างเดียวกันกับที่ใช้ในยากระตุ้นหัวใจ โดยมีการนำมาใช้ในการวางยาพิษโดยผสมกับอาหารที่มีรสจัด หากได้รับในปริมาณมากก็สามารถฆ่าคนได้เลย เพราะสารดังกล่าวจะไปสกัดกั้นช่องทางเดินของแคลเซียมไอออนในกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ไปรบกวนกระบวนการเต้นของหัวใจ และแม้จะเสียชีวิตด้วยตีนเป็ดน้ำ แต่อายุรแพทย์ก็ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าผู้ตายเสียชีวิตด้วยตีนเป็ดน้ำจริงหรือไม่ จนกว่าจะมีหลักฐานว่าผู้ตายรับประทานเข้าไปจริง ๆ ดังนั้นมันจึงถูกนำมาใช้ในการฆาตกรรมที่ดูแนบเนียน[8]
ประโยชน์ของตีนเป็ดน้ำ
- เมล็ดมีรสเฝื่อนเมา ใช้เป็นยาเบื่อปลา[1],[3],[7] ส่วนน้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาฆ่าแมลง[5]
- ผล เมล็ด และน้ำมันจากเมล็ดใช้ทำเป็นยาใส่ผมแก้ผมหงอก รักษาขน[1],[5],[7]
- น้ำมันจากเมล็ดใช้ใส่ผมเป็นยาแก้เหา โดยใช้ส่วนผสมของเมล็ดตีนเป็ดน้ำกับน้ำในอัตราส่วน 1:1 เมื่อนำไปฆ่าเหาให้ใช้ชโลมผมทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง จะทำให้เหาทั้งหมดตายและไข่ฝ่อทั้งหมด โดยเมล็ดจากลูกตีนเป็ดน้ำจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดเหาได้ดีกว่ายาฆ่าเหาที่ใช้สารเคมีที่มีวางขายตามท้องตลาด และมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการใช้ใบน้อยหน่า เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการชโลมผมน้อยกว่า อีกทั้งยังมีความปลอดภัยมากกว่าอีกด้วย[5],[6]
- เมล็ดใช้ทำเป็นไม้ประดับแห้ง[3]
- ต้นตีนเป็ดน้ำมีทรงพุ่มสวยงาม ผลและดอกสวย ดอกมีกลิ่นหอม ใบไม่ค่อยหลุดร่วง จึงใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาตามลานจอดรถหรือริมถนนได้ หรือจะใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามริมสระว่ายน้ำ ริมทะเล ฯลฯ ก็ได้เช่นกัน แต่ยางจากต้นเป็นอันตรายจึงไม่ควรปลูกใกล้กับสนามเด็กเล่นหรือบริเวณที่มีเด็กอยู่[3],[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ตีนเป็ดน้ำ (Tin Pet Nam)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 130.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ตีนเป็นน้ำ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 100.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ตีนเป็นน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [14 มี.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตีนเป็นทะเล”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [14 มี.ค. 2014].
- สมุนไพรไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “ตีนเป็นทะเล”. (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/46313433/Thaiherb/. [14 มี.ค. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ตีนเป็ดน้ำ”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [14 มี.ค. 2014].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตีนเป็ดทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [15 มี.ค. 2014].
- ผู้จัดการออนไลน์. “นักพิษวิทยาเตือน “ต้นตีนเป็ด” อาวุธฆาตกรรมอำพราง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [15 มี.ค. 2014].
- บันทึกขนำริมทุ่งปลักเหม็ด. “ตีนเป็ดน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: plugmet.orgfree.com. [15 มี.ค. 2014].
- สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตีนเป็ดทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [15 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Vietnam Plants & The USA. plants, dinesh_valke, plantscape (Ajinkya), aviac, anakkenyalang, Teo Siyang, 阿橋花譜 KHQ Flowers, Cerlin Ng)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)