ตีนตุ๊กแก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นตีนตุ๊กแก (หญ้าตีนตุ๊กแก)

ตีนตุ๊กแก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นตีนตุ๊กแก (หญ้าตีนตุ๊กแก)

ตีนตุ๊กแก

ตีนตุ๊กแก ชื่อสามัญ Coat buttons, Mexican daisy, Tridax daisy, Wild Daisy[2]

ตีนตุ๊กแก ชื่อวิทยาศาสตร์ Tridax procumbens (L.) L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

สมุนไพรตีนตุ๊กแก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าตีนตุ๊กแก หญ้าตีนตุ๊กโต หญ้าตุ๊บโต๋ (เชียงใหม่), เทียนเศรษฐี (แม่ฮ่องสอน), ตีนตุ๊กแก (กรุงเทพฯ) เป็นต้น[1],[2]

หมายเหตุ : ต้นตีนตุ๊กแกที่กล่าวถึงในบทความเป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับหญ้าตีนตุ๊กแกที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coldenia procumbens L. ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์หญ้างวงช้าง (BORAGINACEAE)

ลักษณะของต้นตีนตุ๊กแก

  • ต้นตีนตุ๊กแก มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกา จัดเป็นไม้ล้มลุกและเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่ทนแล้งได้ดี มีอายุเพียงฤดูเดียว มีรากแก้ว และมีอายุได้หลายปี ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน และชูส่วนยอดตั้งตรง สูงได้ประมาณ 30-50 เซนติเมตร ส่วนข้อที่สัมผัสพื้นดินจะออกราก ตามลำต้นจะมีขนยาวสีขาวขึ้นปกคลุม ต้นมีขนาดเล็กและเรียวสีขาวแกมสีเขียว แตกแจนงเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนของทางทวีปอเมริกา ปัจจุบันพบขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไป ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคตามริมทาง ที่ชื้นทั่วไป และตามทุ่งหญ้า[1],[2],[3],[4]

ต้นตีนตุ๊กแก

  • ใบตีนตุ๊กแก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแหลม รูปหอก รูปไข่ หรือรูปข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบเป็นหยักห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ตามหลังใบและท้องใบมีขนขึ้นปกคลุม ก้านใบยาวประมาณ 5-15 มิลลิเมตร ด้านบนก้านใบเป็นร่อง[1]

ใบตีนตุ๊กแก

  • ดอกตีนตุ๊กแก ออกดอกเป็นช่อชนิดเกิดจากฐานเดียว โดยจะเกิดที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกเรียวเล็กยื่นยาวชูเหนือลำต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร มีขนปกคลุม โคนช่อดอกมีใบประดับสีเขียวจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายแหลม ส่วนโคนมนหรือตัดตรง กว้างประมาณ 1-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-6 มิลลิเมตร มีขนขึ้นปกคลุม เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอกประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกย่อยจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ดอกแบบรอบนอก 1 วง จำนวน 4-6 ดอก และดอกย่อยชั้นในเป็นกระจุกหลายวง อัดกันแน่นบนฐานรองดอกและไม่มีก้านดอกย่อย โคนดอกย่อยมีใบประดับสีขาวแกมม่วง ยาวได้ประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ดอกรอบนอกเป็นแบบ ligulate type กลีบเลี้ยงเป็นสีขาวมีลักษณะเป็นเส้นขนเล็ก ๆ ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และมีจำนวนมาก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบเป็นสีขาวติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบเป็นสีเหลือง ติดกันเป็นแผ่นเดียว มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ปลายกลีบเว้าหยักเป็นพู 2-3 พู ไม่มีเกสรเพศผู้ มีแต่เกสรเพศเมีย รังไข่เป็นแบบรังไข่ใต้วงกลีบ มีขนปกคลุม ก้านเกสรเพศเมียจะยาวกว่าหลอดกลีบดอกเล็กน้อย ส่วนปลายแยกเป็นยอดเกสร 2 แฉก ดอกชั้นในเป็นแบบ tubular type กลีบเลี้ยงเป็นสีขาว มีลักษณะเป็นเส้นขนเล็ก ๆ ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และมีจำนวนมาก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเป็นสีขาวติดกันเป็นหลอด ปลายหลอดเป็นสีเหลือง แยกกันเป็นแฉก 5 แฉก หลอดกลีบกว้างประมาณ 0.5-1.2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณู แยกกันและยาวกว่าหลอดกลีบดอกเล็กน้อย ส่วนอับเรณูยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร ติดกันตามยาวล้อมรอบก้านเกสรเพศเมียเอาไว้ ส่วนเกสรเพศเมียเป็นรังไข่แบบใต้วงกลีบ มีขนปกคลุม ก้านเกสรเพศเมียจะยาวกว่าเกสรเพศผู้ ปลายแยกเป็นยอดเกสร 2 แฉก ส่วนรังไข่มีขนเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุม และมี 1 ออวุล สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[4]

ดอกตีนตุ๊กแก

ดอกหญ้าตีนตุ๊กแก

  • ผลตีนตุ๊กแก ผลเป็นผลแห้งแบบเมล็ดล่อน (achene) ยาวประมาณ 1-2 มิลลิลิตร ลักษณะของผลเป็นรูปรียาว สีดำ ผลมีขนขึ้นปกคลุม ภายในผลมีเมล็ดรูปยาวรี 1 เมล็ด สีน้ำตาล ปลายเป็นเส้นเล็ก ๆ 20 เส้น ช่วยพยุงให้ลอยลมได้[1],[4]

ผลตีนตุ๊กแก

ผลหญ้าตีนตุ๊กแก

สรรพคุณของหญ้าตีนตุ๊กแก

  • ใบหญ้าตีนตุ๊กแก มีรสเฝื่อน ใช้ตำพอกรักษาฝีได้ (ใบ)[1]
  • ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวด แก้อักเสบตามข้อ ปวดตามกระดูก (ใบ)[1]

วิธีกำจัดต้นตีนตุ๊กแก

  • ใช้วิธีการเขตกรรมทั่วไป เช่น การถาก ตัดให้สั้นเพื่อไม่ให้ออกดอก หรือขุดทิ้ง[2]
  • ใช้สารเคมีต่าง ๆ ในการกำจัด เช่น ดาร์ไฟท์ (ไกลโฟเซต, ไอโซโพฟิลามีน ซอลต์), ดามาร์ค (ไกลโฟเลท), มาร์เก็ต (ไกลโฟเซต), ทัชดาวน์ (ไกลโฟเซต, ไตรมีเซียมซอลต์) เป็นต้น[2]

ประโยชน์ของหญ้าตีนตุ๊กแก

  • ต้นอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์ได้[3]
  • ใช้ปลูกเป็นพืชประดับทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “หญ้าตีนตุ๊กแก (Ta Tin Tukkae)”.  หน้า 317.
  2. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ตีนตุ๊กแก”.  (ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [07 ก.ค. 2014].
  3. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ตีนตุ๊กแก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [07 ก.ค. 2014].
  4. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.  “ตีนตุ๊กแก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: science.sut.ac.th.  [07 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Bill & Mark Bell, Teo Siyang, Ramalingam, Burnt Umber)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด